การเตาบัตในความผิดมีแนวทาง วิธีการอย่างไร


82,311 ผู้ชม

เคยไหม สุญูดร้องไห้ เพื่อตัวเองเข้มแข็งในดุนยาและอาคีเราะห์


เคยไหม สุญูดร้องไห้ เพื่อตัวเองเข้มแข็งในดุนยาและอาคีเราะห์

การเตาบัตในความผิดใดความผิดหนึ่งมีแนวทาง วิธีการอย่างไรบ้าง

เงื่อนไขการเตาบะฮ์


การเตาบะฮ์จากบาปนั้นมีสองประเภท คือ: 

1. การเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์ [حَقُّ اللهِ] เช่น ละทิ้งการละหมาด การออกซะกาต การถือศีลอด การคลุมฮิญาบ การดื่มเหล้า การทำซินา การกินดอกเบี้ย เป็นต้น

2. การเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์ [حَقُّ الآدَمِيِّ] เช่น การทรพีต่อบิดามารดา การยักยอกทรัพย์สินผู้อื่น การนินทา เป็นต้น

เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์

เงื่อนไขของการเตาบะฮ์จากบาป ที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์มี 3 ข้อ

1. ต้องละเลิกจากบาปที่เขาได้กระทำ

ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์กล่าวว่า “การละเลิกจากบาปนั้น คือละเลิกจากบาปเพื่ออัลเลาะฮ์ ดังนั้นถ้าหากเขาละทิ้งบาปเพราะกลัว(คนอื่นจะตำหนิ) หรือเพื่อโอ้อวด(ให้คนอื่นรู้ว่าเขาไม่ได้ทำบาปแล้ว) และกรณีอื่นๆ ที่มิได้มีเป้าหมายเพื่ออัลเลาะฮ์ ก็นับว่าเขายังไม่ใช่เป็นผู้ละเลิกบาปอย่างแท้จริง” ดู มุฮัมมัด บิน อัลลาน อัศศิดดีกีย์, ดะลีลฟาลิฮีน, เล่ม 1, หน้า 70.

ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์กล่าวว่า “ให้ผู้เตาบะฮ์ละเลิกกระทำบาปเพราะยอมสยบต่อความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะฮ์และกลัวการลงโทษของพระองค์เท่านั้น มิใช่ละเลิกจากบาปเพราะปรารถนาในเรื่องของดุนยา กลัวผู้คนจะประณาม ต้องการที่จะได้รับการสรรเสริญและมีชื่อเสียง หรือเพราะว่าร่างกายอ่อนแอ(ไม่สามารถไปทำชั่วได้) หรือเพราะยากจน(จึงไม่มีเงินไปเล่นการพนันได้) เป็นต้น” ดู อัลฆ่อซาลีย์, มินฮาญุลอาบิดีน, เล่ม 1, หน้า 151.

2. โศกเศร้าเสียใจต่อการกระทำบาปนั้น

ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์กล่าวอธิบายว่า “ความโศกเศร้าเสียใจเพราะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะฮ์และกลัวการลงโทษของพระองค์นั้น (ไม่ใช่โศกเศร้าเสียใจเพราะกลัวว่าผู้คนจะประณามหรือโศกเศร้าเสียใจเพราะถูกลดเกลียรติจากสายตาของผู้คนทั้งหลาย เนื่องจากเป็นการโศกเศร้าเสียใจเพื่อมนุษย์ไม่ใช่เพื่ออัลเลาะฮ์) เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทำการเตาบะฮ์อย่างจริงใจ” ดู อัลฆ่อซาลีย์, มินฮาญุลอาบิดีน, เล่ม 1, หน้า 154.

3. ตั้งใจอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่กลับไปทำบาปนั้นอีก

ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์ได้กล่าวอธิบายว่า “เขาต้องมั่นใจและตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่กลับไปทำบาปอีก ดังนั้นถ้าหากเขาละทิ้งบาป โดยที่จิตใจนั้นยังลังเลว่า บางทีอาจจะกลับไปกระทำบาปหรือไม่มีความมั่นใจว่าจะละทิ้งบาปนั้นได้ แน่นอนว่าเขาเพียงแค่ละทิ้งบาปเฉยๆโดยมิได้เป็นผู้เตาบะฮ์จากบาปเลย” เรื่องเดียวกัน.

ดังนั้นถ้าหากผู้ทำการเตาบะฮ์ได้ขาดเงื่อนไขหนึ่งจากสามเงื่อนไขนี้ การเตาบะฮ์ของเขาถือว่าใช้ไม่ได้และไม่สมบูรณ์

เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของมนุษย์

เงื่อนไขของการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์มี 4 ข้อ ซึ่งข้อ 1-3 นั้น เป็นเงื่อนไขเดียวกับการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์

ส่วนข้อที่ 4. คือ ผู้เตาบะฮ์ต้องคืนสิทธิ์ของผู้อื่นที่เขาละเมิดมาหรือต้องขอมะอัฟเขา 

وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ

....................

เตาบะฮฺ เป็นคำศัพท์ที่สำคัญยิ่ง ศัพท์คำนี้มีความหมายที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เป็นดังที่คนจำนวนมากคิดกัน โดยเป็นเพียงถ้อยคำที่ถูกเอ่ยมาจากลิ้น แล้วก็ยังคงกระทำบาปกันต่อไป ขอให้ท่านได้ใคร่ครวญ ในพระดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ความว่า และพวกท่านจงขออภัยโทษ (อิสติฆฟารฺ) จากพระเจ้าของพวกท่าน แล้วจงสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮฺ) ต่อพระองค์ [1]

ท่านจะพบว่า เตาบะฮฺ (การสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว) เป็นเรื่องที่เพิ่มจากอิสติฆฟารฺ (การขออภัยโทษ)

เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง มันจึงต้องมีเงื่อนไขเข้ามา บรรดาอุละมาอ์ได้กล่าวถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ของการเตาบะฮฺ ซึ่งได้นำมาจากอัล-กุรอานและอัล-ฮะดีษ ดังเงื่อนไขที่อุละมาอ์บางท่านได้วางไว้ ดังต่อไปนี้

1.ต้องละทิ้งบาปนั้นโดยทันที

2.มีความเสียใจต่อการกระทำที่ผ่านมา

3.มีความตั้งใจที่แน่วแน่ที่จะไม่หวนกลับไปกระทำอีก

4.การคืนสิทธิต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่ถูกอธรรม หรือการขอให้ผู้ที่ถูกอธรรมอภัยให้

อุละมาอ์บางท่านได้วางรายละเอียดอื่นๆ เพื่อเป็นเงื่อนไขของการเตาบะฮฺที่จริงใจ เราจะขอยกมาเป็นตัวอย่างบางส่วน ดังต่อไปนี้

1.จะต้องละทิ้งบาปเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา เท่านั้น มิใช่เพื่อสิ่งอื่น ๆ เช่น การละทิ้งบาปเนื่องจากไม่มีความสามารถที่จะทำบาป หรือกลัวคนนำไปพูด เป็นต้น

เรายังไม่เรียกว่าเป็น “ผู้กลับเนื้อกลับตัว” เพียงแค่ละทิ้งบาปอันเนื่องจากกลัวว่ามันจะกระทบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของเขาในหมู่ผู้คน หรือบางทีกลัวว่าจะถูกไล่ออกจากงาน

เรายังไม่เรียกว่าเป็น “ผู้กลับเนื้อกลับตัว” เพียงแค่ละทิ้งบาปเพื่อรักษาสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย ดังผู้ที่ละทิ้งการผิดประเวณ ี(ซีนา) หรือความลามกอนาจารอื่นๆ อันเนื่องจากความกลัวโรคติดต่อที่ร้ายแรงต่าง ๆ หรือกลัวว่ามันจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและความจำเสื่อมลง

เรายังไม่เรียกว่าเป็น “ผู้กลับเนื้อกลับตัว” เพียงแค่ละทิ้งการเอาสินบน อันเนื่องจากความกลัวว่าผู้ที่มาติดสินบน อาจมาจากหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ (ที่ปลอมตัวมา) เป็นต้น

เรายังไม่เรียกว่าเป็น “ผู้กลับเนื้อกลับตัว” เพียงแค่เลิกดื่มสุราและการเสพยาเสพติด อันเนื่องจากความกลัวว่าตนเองจะไร้สิ้นเงินทองที่จะไปหาซื้อมัน

เช่นเดียวกัน เรายังไม่เรียกว่าเป็น “ผู้กลับเนื้อกลับตัว” เพียงแค่เขาหมดทางที่จะทำบาป เนื่องจากมีเหตุที่เป็นอุปสรรคอันไม่อาจทำให้ความตั้งใจของเขาเป็นจริงได้ เช่น คนโกหกที่ไม่อาจโกหกได้ เพราะเป็นอัมพาตจนไม่สามารถออกเสียงได้ หรือคนผิดประเวณี(ซีนา)ที่ไม่อาจกระทำเรื่องนี้ได้ เพราะหมดสมรรถภาพทางเพศ หรือโจรลักขโมยที่ไม่อาจขโมยอะไรใครได้ เพราะประสบอุบัติเหตุ จนสูญเสียแขนขาไป

เพราะฉะนั้น คนที่อยู่ในสภาพเหล่านี้ จำต้องมีความเสียใจในความผิด และต้องละทิ้งความกระหาย ในการทำบาปเหล่านี้ หรือต้องเศร้าสลดในการกระทำที่ผ่านมาในอดีต กรณีเช่นนี้ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวความว่า ความเสียใจ คือ การเตาบะฮฺ (การสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว) [2]

ในทรรศนะของอัลลอฮฺ ตะอาลา ผู้ที่ไม่มีความสามารถแต่ยังกระหายจะกระทำบาปด้วยวาจาอยู่อีก เทียมเท่ากับผู้ที่กระทำบาปนั้น ๆ ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวความว่า ในโลกนี้มีคนอยู่ 4 กลุ่ม (1) บ่าวที่อัลลอฮฺประทานทรัพย์สิน และความรู้ให้ ด้วยสิ่งเหล่านี้ เขาได้ยำเกรงพระผู้เป็นเจ้าของเขา และด้วยสิ่งเหล่านี้ เขาได้เชื่อมความสัมพันธ์กับเครือญาติของเขา และเขารู้ถึงสิทธิของอัลลอฮฺ อยู่เหนือสิ่งที่เขาได้รับ นี่เป็นสถานะอันประเสริฐสุด

(2) บ่าวที่อัลลอฮฺประทานความรู้ให้ โดยที่ไม่พระองค์ไม่ได้ประทานทรัพย์ให้ ดังนั้น เขาเป็นที่มีความตั้งใจที่สัตย์จริง โดยเขากล่าวว่า หากฉันมีทรัพย์สิน ฉันจะกระทำดังเช่นที่คนผู้นั้นได้กระทำ ดังนั้น ด้วยความตั้งใจนี้ รางวัลของทั้งสองคนนี้จึงเหมือนกัน

(3) บ่าวที่อัลลอฮฺได้ประทานทรัพย์สินให้ โดยที่พระองค์ไม่ได้ประทานความรู้ให้ เขาได้ผลาญทรัพย์สิน โดยปราศจากความรู้ เขาไม่มีความยำเกรงพระผู้เป็นเจ้าของเขา ในเรื่องนี้ เขาไม่เชื่อมความสัมพันธ์กับเครือญาติของเขาในเรื่องนี้ และเขาไม่รู้ถึงสิทธิของอัลลอฮฺในเรื่องนี้ ดังนั้น นี่คือสถานะที่ต่ำที่สุด

(4) บ่าวที่อัลลอฮฺไม่ได้ประทานทั้งทรัพย์สินและความรู้ให้ เขาจึงได้กล่าวว่า หากฉันมีทรัพย์สิน ฉันจะทำเหมือนกับที่ชายคนนั้นทำ (ชายคนที่ 3) ในเรื่องนี้ ดังนั้น ด้วยความตั้งใจนี้ บาปของเขาทั้งสองคนนี้ จึงเสมอเหมือนกัน [3]

2. ต้องรู้สึกถึงความน่ารังเกียจ และอันตรายของบาปนั้น

เตาบะฮฺที่แท้จริง จะไม่สามารถอยู่กับความรู้สึกเอร็ดอร่อย และอิ่มอกอิ่มใจ เมื่อหวนรำลึกถึงบาปที่ก่อไว้ในอดีต หรือยังมีความหวังอยู่ว่าจะกลับไปทำเรื่องดังกล่าวอีกในอนาคต

อัลลามะฮฺ อิบนุ กอยยิม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ดาอ์ วัด ดาวาอ์ และหนังสือ อัล-ฟาวาอิด ถึงอันตรายอันมากมายของบาปต่าง ๆ ดังเช่น

ความรู้จะถูกดึงออก – หัวใจจะอ้างว้าง – การงานจะยุ่งยาก – ร่างกายจะอ่อนแอ – การฏออะฮฺ(เชื่อฟังอัลลอฮฺ)จะขาดหาย – บะเราะกะฮฺ(ความเป็นสิริมงคล)จะลบเลือน – ความสำเร็จจะลดน้อย – หัวอกจะตีบตัน(ไร้ความสุข) – จะก่อเกิดความเลวร้าย – จะเคยชินกับบาป – จะถูกลดเกียรติ ณ อัลลอฮฺ – จะถูกดูหมิ่นจากผู้คน – จะถูกสาปแช่งจากสิงสาราสัตว์ – ความต่ำต้อยจะปกคลุม – หัวใจจะถูกประทับตราและจะเข้าไปอยู่ใต้การสาปแช่ง(จากอัลลอฮฺ) – ดุอาอ์(คำวิงวอน)จะไม่ถูกตอบรับ – จะเกิดความเสื่อมเสียทั้งบนผืนดินและในทะเล – จะหมดความน่าเชื่อถือ – จะสูญเสียความอาย – ความโปรดปรานจะหายไป – ความหายนะจะลงมา – ความหวาดกลัวจะเข้าไปอยู่ในหัวใจ – จะตกไปอยู่ในคอกของชัยฏอน – จะพบกับจุดจบของชีวิตที่เลวร้าย – จะพบกับการลงทัณฑ์ในวันแห่งชีวิตหลังความตาย

การรับรู้ต่ออันตรายของบาปเหล่านี้ จะทำให้ห่างไกลจากบาปทั้งหมด แท้จริงบางคนได้ถอนตัวจากบาปหนึ่ง แต่ก็ต้องตกไปสู่การกระทำอีกบาปหนึ่ง ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

อาจเกิดจากความเชื่อว่า บาปนั้นมีน้ำหนักที่เบากว่า

อาจเกิดจากตัวเขามีอารมณ์โน้มเอียงไปสู่บาปนั้นมากกว่า และความปรารถนาในบาปนั้นเข้มข้นกว่า

อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำบาปนั้นทำง่ายกว่าบาปอื่น ๆ บาปนี้จึงแตกต่างกับบาปที่ต้องการการตระเตรียม ต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยในการทำบาปนั้นจึงต้องมีความพร้อมมากกว่า

อาจเกิดจากเขามีเพื่อนฝูงที่อยู่กับการทำบาปนั้น และเป็นเรื่องยากที่เขาจะแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนเหล่านี้

อาจเกิดจากบาปที่บางคนได้ทำนั้น มันนำมาซึ่งหน้าตาและความมีระดับในหมู่เพื่อน ๆ ของเขา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากสำหรับเขาที่จะยอมสูญเสียสถานะดังกล่าว เขาจึงยังคงทำบาปนั้นต่อไป ดังที่เกิดขึ้นกับพวกหัวหน้าแก๊งที่ก่อความชั่วและสร้างความเสื่อมเสียทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้น อบู นาวาส กวีสัปดนคนหนึ่ง ในกรณีเมื่อกวีอีกท่านหนึ่งคืออบุล อะตาฮียะฮฺ ซึ่งเป็นกวีที่ให้ข้อคิดข้อเตือนใจได้ตำหนิถึงความไร้ยางอายของเขาในการทำบาปนี้

เขากลับตอบเป็นบทกวีว่า

ท่านอยากเห็นข้า โอ้ อะตาฮียฺ

ทอดทิ้งความสนุกจำพวกนี้ !!!

ท่านอยากเห็นข้า ทำลายเกียรติยศของข้าต่อผู้คนเหล่านี้

ด้วยกับการอุทิศตนเพื่อความดี !!!

3.ต้องรีบเร่งไปสู่การเตาบะฮฺ(การสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว)แท้จริงการล่าช้าในการเตาบะฮฺถือว่าเป็นการกระทำผิดในตัวมันเองอีกอย่าง ซึ่งต้องการการเตาบะฮฺด้วยเช่นกัน

4. ต้องหวั่นเกรงว่าการเตาบะฮฺของเขานั้น จะมีความบกพร่อง อย่าปักอกปักใจว่ามันจะถูกตอบรับ ด้วยการมั่นอกมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองรอดปลอดภัยแล้ว จากการวางแผนจัดการโดยอัลลอฮฺ ตะอาลา

5. ต้องคืนสิทธิของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่หายไป หากมีความสามารถ เช่นการออกซะกาตที่ไม่ได้จ่ายในอดีต และถือว่าเป็นการคืนสิทธิของคนยากจนที่อยู่ในซะกาตนั้นด้วย

6. ต้องแยกตัวออกจากสถานที่ทำบาป หากว่าการมีอยู่ของมันอาจทำให้เขาต้องตกสู่การกระทำบาปนั้นอีกครั้ง

7. ต้องแยกตัวออกจากบุคคลที่ช่วยเหลือในการทำบาป กรณีนี้นำมาจากฮะดีษเกี่ยวกับผู้ที่ฆ่าคน 100 ศพ ซึ่งเราจะนำเรื่องนี้มาเสนอข้างหน้าต่อไป

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสไว้ความว่า ในวันนั้น บรรดามิตรสหาย จะเป็นศัตรูกัน นอกจากบรรดาผู้ยำเกรง [4]

เพื่อนชั่วนั้นจะสาปแช่งซึ่งกันและกันในวันกิยามะฮฺ ด้วยเหตุนี้ – โอ้ ผู้กลับเนื้อกลับตัว – ท่านต้องปลีกตัวออกจากพวกเขา ท่านต้องแยกตัวและตัดขาดจากพวกเขา ท่านต้องสำทับพวกเขา หากท่านไม่อาจทำการดะอฺวะฮฺ(เชิญชวน)พวกเขาได้ ท่านอย่าให้ชัยฏอนหลอกลวงท่าน โดยทำให้ท่านต้องหวนกลับไปยังพวกเขาอีก ด้วยเหตุผลเพื่อดะอฺวะฮฺ (เชิญชวน) พวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านรู้ตัวท่านเองว่า ท่านนั้นอ่อนแอและไม่สามารถต้านทานสิ่งล่อลวงต่าง ๆ ได้

มีสภาพมากมายที่ทำให้คนหลายคนต้องหวนกลับไปสู่การทำบาป อันเนื่องจากการกลับไปมีความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงในอดีต

8.ต้องขจัดสิ่งที่ต้องห้ามต่างๆที่ยังมีอยู่ที่ตัวของเขา ดังเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดนตรี เช่น อูด (เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่มีสาย) และมิซมาร (เครื่องดนตรีที่ใช้เป่า) ภาพและภาพยนตร์ที่ต้องห้าม นิยายประโลมโลก และรูปปั้นต่างๆ สิ่งของจำพวกนี้แหละที่จะต้องทำลาย ขจัด หรือเผาทิ้งเสีย

ประเด็นที่ผู้กลับเนื้อกลับตัวต้องถอดสิ่งประดับแห่งญาฮิลียะฮฺตรงธรณีประตูแห่งการยืนหยัดนั้นจำต้องทำให้ได้ มีเรื่องเล่าเท่าไรแล้วที่เกิดขึ้นกับผู้กลับเนื้อกลับตัวที่ยังคงไว้ซึ่งสิ่งต้องห้ามเหล่านี้ไว้ จนเป็นสาเหตุให้เขาเตาบะฮฺไม่สำเร็จ และต้องหลงออกไปจากทางนำ เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ให้ประทานความมั่นคงด้วยเถิด

9.ต้องเลือกเพื่อนที่ดี ผู้ที่จะช่วยเขาแทนที่เพื่อนชั่ว ผู้ที่ช่วยให้เขาสนใจเข้าร่วมวงรำลึก (ฮะละเกาะฮ ซิกรฺ)ถึงอัลลอฮฺ ตะอาลา และวงความรู้ (มัจญลิสุล อิลมฺ) และช่วยทำให้เวลาของเขาเต็มไปด้วยสิ่งที่ให้ประโยชน์ จนกระทั่งชัยฏอนไม่พบว่าเบื้องหน้าของเขามีช่องว่างที่ทำให้เขานึกถึงอดีตได้

10.ต้องปรับปรุงร่างกายที่เติบโตด้วยสิ่งต้องห้าม โดยเขาต้องเปลี่ยนการเชื่อฟังไปเชื่อฟังอัลลอฮฺ ตะอาลา และแสวงหาสิ่งที่ฮะลาล(อนุมัติ) จนกระทั่งเลือดเนื้อที่ดีได้เติบโตขึ้นมาแทนที่

11.การเตาบะฮฺนั้นต้องเกิดขึ้นก่อน ฆ็อรเฆาะเราะฮฺ - เสียงดังที่ลูกกระเดือก (หมายถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต) และก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก (เป็นสัญญานสำคัญที่ชี้ถึงช่วงเวลาสุดท้ายก่อนวันสิ้นโลก)

คำว่า ฆ็อรเฆาะเราะฮฺ - เสียงดังที่ลูกกระเดือก คือ เสียงที่ออกมาจากลูกกระเดือกขณะที่วิญญาณถูกดึงออกมา

ความหมายของทั้งสองเหตุการณ์ คือต้องเตาบะฮฺก่อนกิยามะฮฺ ศุฆรอ (กิยามะฮฺเล็ก คือความตาย) และกิยามะฮฺ กุบรอ(กิยามะฮฺใหญ่ คือวันสิ้นโลก)

ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวความว่า ใครที่เตาบะฮฺ (สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว) ไปยังอัลลอฮฺก่อน ฆ็อรเฆาะเราะฮฺ - เสียงดังที่ลูกกระเดือก (ลมหายใจสุดท้าย) อัลลอฮฺจะรับการเตาบะฮฺจากเขา [5]

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวความว่า ใครที่เตาบะฮฺ (สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว)ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก อัลลอฮฺจะรับการเตาบะฮฺจากเขา [6]

เชิงอรรถ

[1] อัล-กุรอาน 11:3
[2] รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด , อิบนุ มาญะฮฺ, เศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ 6802
[3] รายงานโดยอะหฺมัด, อัต ติรมิซียฺ, จัดว่าเป็นฮะดีษ เศาะฮีฮฺ ใน อัต ตัรฆีบ วัต ตัรฮีบ 1/9
[4] อัล-กุรอาน 43:67
[5] รายงานโดยอะหฺมัด, ติรมิซียฺ, เศาะฮีฮฺ อัล ญามิอฺ 6163
[6] รายงานโดยมุสลิม

 

บทความที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด