นบีมูฮัมหมัดรับมือกับบรรดาวัยรุ่นอย่างไร


1,075 ผู้ชม

นบีมูฮัมหมัดรับมือกับบรรดาวัยรุ่นอย่างไร


นบีมูฮัมหมัดรับมือกับบรรดาวัยรุ่นอย่างไร 

นบีมูฮัมหมัดรับมือกับบรรดาวัยรุ่นอย่างไร

เรียบเรียงจากข้อความของดร ฮิชาม อัลอะลาวะดียฺ
โดย บินติ อัลอิสลาม

นบีมุหัมมัดรับมือกับบรรดาเยาวชนอย่างไร

1. ท่านไม่ได้ขัดแย้งต่อต้าน หรือโต้เถียง และท่านไม่ได้ตัดสินใจหรือกล่าวโทษใคร

ท่านอนัส อิบนุ มาลิก ผู้ที่รับใช้นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัลฮิ วะสัลลัม ตลอดระยะช่วงเวลาที่ท่านยังอยู่ในวัยหนุ่ม เคยกล่าวว่า “เวลาที่ฉันทำสิ่งใดก็ตาม ท่านนบีไม่เคยพูดเลยว่า “ทำไมเจ้าจึงทำสิ่งนั้น” และเวลาที่ฉันไม่ได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ท่านก็ไม่เคยพูดเลยว่า “ทำไมเจ้าจึงไม่ทำสิ่งนั้น”

ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่านบีมุหัมมัดไม่เคยสอนหรืออบรมบรรดาเยาวชนแต่อย่างใด หากทว่าเมื่อท่านสอนหรืออบรมพวกเขา ท่านจะไม่สร้างความอับอายหรือทำร้ายความรู้สึกของพวกเขา แต่ท่านจะรักษาเกียรติและความภาคภูมิใจในตัวเองของพวกเขาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่อยู่ต่อหน้าญาติพี่น้องหรือเพื่อนๆ ของพวกเขา

และท่านอนัสได้เล่าด้วยว่า “ครั้งหนึ่งนบีมุหัมมัดขอให้ฉันไปทำงานอย่างหนึ่ง แต่ระหว่างทางฉันเห็นกลุ่มเด็กๆ กำลังเล่นกันอยู่ ฉันจึงลืมเกี่ยวกับงานที่ท่านขอให้ฉันไปทำจนหมดสิ้น และฉันก็เข้าไปเล่นกับพวกเขา จากนั้นได้มีใครบางคนมาจับที่หูของฉันและยกตัวฉันขึ้น และเมื่อฉันหันไป ฉันก็พบท่านนบีกำลังยิ้มให้ฉัน”

แค่เพียงรอยยิ้มของท่านเท่านั้น และท่านไม่ได้ทำสิ่งใดนอกเหนือจากนั้น มันเหมือนเป็นการบอกกับท่านอนัสว่า “ฉันเข้าใจว่าการเล่น (กับเพื่อนๆ) นั้นสำคัญสำหรับเธอมากเพียงใด” ทั้งที่จริงๆ แล้ว ท่านนบีสามารถตำหนิท่านอนัสได้ว่า “เจ้ากล้าดียังไงถึงละเลยคำสั่งของนบี” หรือ “ทำไมเจ้าถึงไม่มีความรับผิดชอบอย่างนี้” หรือ “เจ้ามาอยู่ที่นี่เพื่อมาปรนนิบัติรับใช้ฉัน หรือมาที่นี่เพื่อมาเล่นกับเด็กๆ กันแน่”

บ่อยครั้งที่เราโกรธเคืองบรรดาเยาวชน และระบายความโกรธของเราด้วยการด่าทอ กล่าวโทษ ตัดสิน เรียกฉายาหรือชื่อ (ที่เขาไม่ชอบ) ซึ่งไม่ได้เป็นการกระทำที่เป็นการอบรมสั่งสอนเขา หากแต่เป็นการลดเกียรติ ลดความภาคภูมิใจในตัวของเขา และนั่นคือสิ่งที่ท่านนบีไม่เคยทำกับบรรดาเยาวชนหรือใครก็ตาม

และอีกบทเรียนจากเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่บันทึกไว้ในหะดีษบทหนึ่ง มีการรายงานว่าเขาได้เข้าไปพบศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมและขออนุญาตท่านเพื่อไปทำซินา (ทำผิดประเวณี) เพราะเขาขาดมันไม่ได้หลังจากที่เขาได้เข้ารับอิสลาม ซึ่งขณะนั้นบรรดาเศาะหาบะฮฺต่างปฏิเสธและทำการต่อต้านเด็กหนุ่มคนดังกล่าวอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามนบีมุหัมมีดกลับเรียกเด็กหนุ่มให้เข้าไปหาท่านใกล้ๆ และถามเขาว่า ‘เธอจะยอมรับได้หรือไม่หากว่าเธอเห็นมารดาของเธอกระทำผิดประเวณี?’ เด็กหนุ่มได้ตอบปฏิเสธกับท่าน ดังนั้นนบีมุหัมมัดจึงกล่าวว่า ‘ด้วยเหตุนี้ ผู้คนอื่นๆ ต่างก็ปฏิเสธที่จะเห็นมารดาของพวกเขา (หรือสตรีในครอบครัวของเขา) ยุ่งเกี่ยวกับการทำผิดประเวณี’

จากนั้นท่านจึงถามเด็กหนุ่มต่อไปว่า ‘เธอจะยอมรับได้หรือไม่หากว่าเธอเห็นพี่สาวน้องสาวของเธอกระทำผิดประเวณี?’ เด็กหนุ่มก็ตอบปฏิเสธเช่นเดิม นบีมุหัมมัดจึงกล่าวว่า ‘ด้วยเหตุนี้ ผู้คนอื่นๆ ต่างก็ปฏิเสธที่จะเห็นพี่สาวน้องสาวของเขายุ่งเกี่ยวกับการทำผิดประเวณีเช่นกัน’

ซึ่งท่านนบีไม่ได้แสดงความแข็งกร้าวต่อเขาแต่อย่างใด อีกทั้งท่านยังขอดุอาอฺให้แก่เขาด้วยการกล่าวว่า‘โอ้ อัลลอฮฺ โปรดชำระล้างหัวใจของเด็กหนุ่มคนนี้ให้สะอาดบริสุทธ์ด้วยเถิด และปกป้องอวัยวะพึงสงวนของเขา และทำให้เขามีความสามารถที่จะลดสายตาลงต่ำด้วยเถิด’

และในหะดีษได้รายงานว่าจากนั้น เด็กหนุ่มคนดังกล่าวได้กล่าวออกมาว่า ‘ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ กระผมจะไม่แสวงหาความสัมพันธ์ที่หะรอมอีกต่อไปแล้วขอรับ’ (รายงานโดยฏ็อบะรอนียฺ)
จากหะดีษข้างต้น นบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม รู้ว่าควรต้องรับมือกับวัยรุ่นเยาวชนอย่างไร

เมื่อมีเด็กหนุ่มโสดคนหนึ่งได้บอกแก่ท่านนบีถึงความปรารถนาที่จะร่วมหลับนอนกับสตรีของเขา ซึ่งเด็กหนุ่มคนนั้นรู้ดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตามเขาก็ยังกล้าที่จะแสดงความรู้สึกนั้นออกมาต่อท่านนบี และเขาไม่ได้บอกเล่าหรือปรึกษากับพ่อแม่ของเขาหรือเพื่อนสนิทของเขา (หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺ) หากทว่าเขาเลือกที่จะบอกเล่ากับท่านนบีเอง นั่นเป็นเพราะว่าเขารู้สึกว่า ท่านนบีจะเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากกว่าใคร

แน่นอนว่าเด็กหนุ่มไม่ได้คาดหวังว่านบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัมจะชื่นชอบในความใคร่ปรารถนานี้ของเขา แต่อย่างน้อยที่สุดเขาก็คาดหวังว่าท่านนบีจะพูดคุยกับเขาด้วยดี และไม่ใช่การบอกเขาว่าความต้องการของเขานั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาไม่อนุมัติเท่านั้น และไม่ใช่การบอกเขาว่าอัลลอฮฺจะทรงโยนเขาลงไปในไฟนรกเช่นนั้น ซึ่งเด็กหนุ่มเองก็รู้ถึงข้อเท็จจริงนี้อยู่แล้ว

นบีมุหัมมัดทราบดีว่า “บรรดาเยาวชน (วัยรุ่น)” มักจะทำอะไรที่พวกเขาปรารถนาที่จะทำอยู่แล้วไม่ว่าจะต่อหน้าคุณ หรือลับหลังคุณก็ตาม และหากว่าคุณขับไล่พวกเขาออกไปเพื่อระบายอารมณ์โกรธของคุณ การกระทำเช่นนั้นอาจเป็นการสร้างความหวาดกลัวแก่พวกเขาแต่นั่นก็อาจไม่ได้หมายความว่าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดหรือแม้แต่พฤติกรรมของพวกเขาได้

คุณอาจจะขู่ลูกสาวของคุณด้วย “ไฟนรก” หากว่าเธอไม่ยอมสวมฮิญาบ หรือหากว่าลูกชายของคุณสูบบุหรี่ และการตักเตือนเช่นนี้อาจจะได้ผลแต่อาจจะได้ผลแค่เพียงตอนที่พวกเขาอยู่ต่อหน้าคุณ และด้วยเพราะคุณเห็นเธอสวมฮิญาบเวลาที่เธออยู่กับคุณ หรือคุณไม่เห็นพวกเขาสูบบุหรี่ต่อหน้าคุณ ทำให้คุณคิดว่าคุณได้ทำหน้าที่ของคุณและประสบความสำเร็จในฐานะพ่อแม่แล้ว

นี้คือ “แนวคิด” ของบรรดาเศาะฮาบะฮฺที่พวกท่านได้ตำหนิเด็กหนุ่มคนดังกล่าวที่เข้าไปหาท่านนบีพร้อมด้วยการพูดคุยเรื่องที่ผิดศีลธรรมกับท่าน พวกท่านเหล่านั้นเลือกที่จะยับยั้งการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่าที่จะพูดคุยเกี่ยวกับมัน พวกท่านเหล่านั้นต้องการที่จะระบายความโกรธของพวกท่านมากกว่าที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กหนุ่มคนนั้น และนี่คือสิ่งเดียวกันที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำกับลูกๆ ที่อยู่ในวัยรุ่นของพวกเขา

หากทว่านบีมุหัมมัดได้กระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะท่านทราบว่าการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงนั้น คุณจำต้องกล้าที่จะเปิดประเด็นและเริ่มบทสนทนา แน่นอนว่าวิธีการนี้นั้นต้องอาศัยเวลาและความพยายาม และด้วยเพราะพวกเราต่างยุ่งกับการหาเลี้ยงครอบครัวเพื่อที่จะปกป้องอนาคตที่สดใสให้กับลูกของเรา เราจึงมักจะไม่มีเวลาที่จะพูดคุยและเปิดบทสนทนากับพวกเขา

ขออัลลอฮฺโปรดประทานความง่ายดายแก่พวกเราในการที่จะได้รับแรงบันดาลใจจากแบบอย่างของนบีในการรับมือกับเยาวชนและความท้าทายที่ยากเย็นทั้งหลายที่พวกเขาประสบด้วยเถิด อามีน

บทความที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด