การครองตนเป็นโสด นั้นมีสาเหตุอยู่หลายประการ จะนำเสนอเพียงบางส่วนเพื่อว่า จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้...
อย่าตั้งใจครองตนเป็นโสด ที่ท่านนบีห้ามไว้!
จากท่านหญิงอะอิชะห์ มารดาของศรัทธาชน รอฎิยัลลอฮุอันฮา แท้จริงท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า:
“ห้ามการครองตนเป็นโสด” (ตั้งใจจะอยู่เป็นโสด โดยละทิ้งการแต่งงาน) [หะดีษความรัก: ศอฮีฮุนนะซาอีย์ (3213) ]
อัตตะบัตตุล التبتل :
คือ การละทิ้งการแต่งงาน โดยที่เขามีความสามารถที่จะแต่งงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เช่น การตัดขาดจากทางโลก โดยมุ่งเน้นในการทำอิบาดะห์ต่ออัลลอฮฺเพียงอย่างเดียว เสมือนที่บรรดานักบวชของนัสรอนีย์ (คริสเตียน) กระทำ อันเป็นเหตุของการละทิ้งการแต่งงาน หรือต้องการที่จะอยู่เป็นโสด เพราะมันทำให้ชีวิตสะดวกสบาย และอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ สิ่งดังกล่าว ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่อิสลามได้ห้ามไว้ทั้งสิ้น
อัลอีหม่ามอะฮ์หมัด บิน ฮัมบัล กล่าวว่า :
“ผู้ใดที่เรียกร้องท่านไปสู่การเป็นโสด (การไม่แต่งงาน) เขาได้เรียกร้องท่านไปสู่สิ่งที่ไม่ใช่อิสลาม” [หะดีษความรัก: อัลมุฆนี (7/334) ]
การแต่งงานเป็นวาญิบต่อเมื่อกลัวว่า จะเกิดฟิตตะห์สำหรับตัวของเขา หากว่าเขามั่นใจว่า จะไม่เกิดฟิตนะห์ การแต่งงานสำหรับเขาจะเป็นแค่การส่งเสริม
ผลเสียของการครองตนเป็นโสด
การครองตนเป็นโสด นั้นมีสาเหตุอยู่หลายประการ จะนำเสนอเพียงบางส่วนเพื่อว่า จะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้
1. หมกมุ่นอยู่กับการเรียน เป็นเหตุให้ปฏิเสธการแต่งงานไปโดยปริยาย กระทั่งอายุอานามล่วงเลยวัยสาวไปมาก จนทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะแต่งงานกับเธออีก ทั้งที่ในหลายครั้งหลายโอกาสก็มีความเป็นไปได้ในการที่จะนำเรื่องทั้งสอง(การเรียนและการแต่งงาน)มารวมกันไว้ในคราวเดียวกัน และหากว่ามีอุปสรรคที่จะรวมทั้งสองอย่างไว้ในเวลาเดียวกันแล้วไซร้ ก็ยังถือว่าการแต่งงานมีความจำเป็นยิ่งกว่าการศึกษาเสียอีก
2. การเรียกสินสอดที่สูงเกินไปและบวกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกมากมาย บรรดาผู้รู้กล่าวว่า สำหรับในเรื่องสินสอดมีบทบัญญัติให้เป็นเรื่องเล็กน้อยและง่ายดายมากที่สุด มีปรากฏในหนังสืออัล-มุสตัดร็อกของอิมาม อัล-หากิม จากหะดีษ อุกบะฮฺ บิน อามิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
ความว่า: “สินสอดที่ดีที่สุดคือ สิ่งที่ง่ายดายมากที่สุด” (มุสตัดร็อก อัล-หากิม 2/198หมายเลขหะดีษ 2742)
ขณะที่ท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
ความว่า: “พวกท่านทั้งหลายอย่าได้เกินเลยในเรื่องสินสอดของผู้หญิง หากว่าสินสอดนั้นเป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีเกียรติหรือเป็นการยำเกรงต่ออัลลอฮฺแล้วไซร์ แน่นอนว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม คงจะปฏิบัติก่อนพวกท่านแล้ว แต่ทว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่เคยให้สินสอดแก่ภริยาคนใดและไม่เคยเอาสินสอดบุตรสาวคนใดของท่านมากกว่า 12 อูกิยะฮฺ ซึ่ง 1 อูกิยะฮฺก็เท่ากับ 40 ดิรฮัมเท่านั้น(เท่ากับทองคำ 29.75 กรัมโดยประมาณ)" (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 3/423 หมายเลขหะดีษ 1114)
ชัยคุล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “ผู้ใดที่จิตใจเขามีความต้องการจะเพิ่มสินสอดให้แก่บุตรสาวของเขามากกว่าสินสอดของบรรดาบุตรสาวของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งพวกเธอทั้งหลายมีความดีงามมากกว่าผู้ที่อัลลอฮฺทรงสร้างในทุกๆ ความดีงาม และพวกเธอมีความประเสริฐยิ่งกว่าบรรดาอิสตรีทั้งโลกนี้ในทุกๆ ด้าน ก็ย่อมถือว่าเขาคนนั้นเป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญา และในทำนองเดียวกันกับสินสอดของบรรดามารดาแห่งศรัทธาชน (อุมมะฮาต อัล-มุอ์มินีน) เรื่องที่ว่านี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำในสภาพขณะที่ท่านมีความสามารถและความสะดวก ดังนั้น ในส่วนของคนที่ยากจนและผู้ที่อยู่ในสถานะเดียวกันยิ่งไม่เป็นการสมควรที่จะให้ค่าสินสอดแก่ผู้หญิงเกินความสามารถที่พึงจะกระทำได้” (มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 32/194)
อิบนุ อัล-ก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวหลังจากนำสำนวนหะดีษบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินสอดว่า“สรุปได้ว่า การเรียกสินสอดแพงเป็นการแต่งงาน(นิกาหฺ)ที่น่าตำหนิ เป็นการแต่งที่มีความศิริมงคลน้อย และเป็นการแต่งที่จะสร้างความยากลำบาก” (ซาด อัล-มะอาด 5/178)
3. ครอบครัวส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นพิจารณาฝ่ายชายผู้มาสู่ขอโดยคำนึงถึงสภาพทางด้านมายาวัตถุ (ดุนยา) อาทิ ยศตำแหน่ง ทรัพย์สิน และเกียรติยศหน้าตา หากไม่มีในสิ่งดังกล่าว เขาก็จะถูกปฏิเสธไปโดยปริยาย ถึงแม้ว่าเขาจะมีจรรยามารยาทดีและมีศาสนาก็ตาม ซึ่งในเรื่องนี้จะค้านกับคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งมีหะดีษที่บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ในหนังสือสุนันของท่าน จากหะดีษอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุว่า
ความว่า: “เมื่อผู้ที่พวกท่านพอใจในเรื่องศาสนาและจรรยามารยาทของเขาได้มาสู่ขอกับท่าน ก็จงจัดการแต่งงานให้กับเขา หากพวกท่านไม่กระทำเช่นนั้น ย่อมต้องเกิดความปั่นป่วนขึ้นบนผืนแผ่นดินและจะสร้างความเสื่อมเสียอย่างยิ่งใหญ่” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 3/395 หมายเลขหะดีษ 1085)
4. มีผู้ปกครองบางส่วนที่ใช้อำนาจครอบงำคอยกินเงินเดือนหรือค่าตอบแทนของบุตรสาวที่ทำงาน และด้วยกับเหตุผลดังกล่าวพวกเธอจึงถูกห้ามจากการแต่งงาน เพราะบรรดาผู้ปกครองเหล่านั้นยังต้องการแสวงรายได้จากพวกเธอต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้อัลลอฮฺได้ทรงห้ามการบีบบังคับผู้หญิง พระองค์ตรัสว่า
ความว่า: “ดังนั้นอย่าได้ขัดขวางพวกเธอ ในการที่พวกเธอจะแต่งกับบรรดาคู่ครองของพวกเธอ เมื่อพวกเขาต่างพอใจกันระหว่างพวกเขาด้วยความชอบธรรม” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 2:232)
5. หญิงสาวจำนวนมากจะปฏิเสธผู้ชายที่แต่งงานแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ผิดและหลงประเด็นมาก ดังนั้น คุณผู้หญิงจะต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญในเรื่องนี้ให้มาก การที่เธอได้อยู่ร่วมชายคาภายใต้ร่มเงาอันแสนอบอุ่นของสามีย่อมเป็นการดีกว่าอยู่เพียงลำพังอย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างด้วยการครองตนเป็นโสดในบ้านของผู้เป็นบิดา ดั่งหะดีษที่ได้กล่าวผ่านมา
ความว่า: “เมื่อผู้ที่พวกท่านพอใจในเรื่องศาสนาและจรรยามารยาทของเขาได้มาสู่ขอกับท่าน ก็จงจัดการแต่งงานให้กับเขา หากพวกท่านไม่กระทำเช่นนั้น ย่อมต้องเกิดความปั่นป่วนขึ้นบนผืนแผ่นดินและจะสร้างความเสื่อมเสียอย่างยิ่งใหญ่” (สุนัน อัต-ติรมิซีย์ 3/395 หมายเลขหะดีษ 1085)
ในยุคปัจจุบัน ปริมาณจำนวนของผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย ไหนผู้หญิงที่ถูกหย่าร้าง ผู้หญิงที่สามีต้องตายจาก ผู้หญิงที่อายุมากแต่ยังมิได้แต่งงาน หากผู้ชายคนหนึ่งถูกจำกัดไว้กับภรรยาเพียงหนึ่งคนแล้วผู้หญิงอีกจำนวนมากมายก็จะถูกปล่อยไว้โดยไม่ได้แต่งงาน และเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ฝืนต่อธรรมชาติดั้งเดิม(ฟิฏเราะฮฺ)ที่อัลลอฮฺบันดาลขึ้นแก่มนุษย์ และยังจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุนี้ พระองค์อัลลอฮฺจึงมีบทบัญญัติให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า
ความว่า: “จงแต่งงานกับผู้ที่ดีสำหรับพวกเจ้า จากบรรดาสตรี สองคน หรือสามคน หรือสี่คน” (อัน-นิสาอ์ 4:3)
6. ผู้หญิงที่ถูกหย่าร้างบางคนจะหวาดผวาในสิ่งที่เคยประสบมาเลยไม่คิดที่จะแต่งงานอีกเป็นครั้งที่สอง สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาด อัลลอฮฺจะทรงอยู่กับปวงบ่าวผู้ที่มองโลกในแง่ดีต่อพระองค์ และจำเป็นที่ผู้หญิงจะต้องมองโลกในแง่ดีต่อพระผู้อภิบาลของเธอเช่นกัน พระองค์ทรงเป็นผู้จัดสรรแบ่งปันปัจจัยยังชีพ(ริซกี) และเป็นผู้ประทานความสำเร็จให้แก่คู่สามีภรรยา อัลลอฮฺ ตะอะลา ตรัสว่า
ความว่า: “และหากทั้งสองจะแยกกัน อัลลอฮฺก็จะทรงให้ความพอเพียงแก่เขาทั้งหมด จากความมั่งมีของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัน-นิสาอ์ 4:130)
และสาเหตุอีกประการหนึ่งที่เริ่มแพร่หลายในบางสังคม ก็คือ มีคนหนุ่มบางกลุ่มที่พวกเขาจะครองตนเป็นโสดปฏิเสธการแต่งงาน เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงจากหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นสามี การกระทำในลักษณะเช่นนี้เป็นการก้าวออกจากธรรมชาติดั้งเดิม(ฟิฏเราะฮฺ)ของมนุษย์และจริยวัตรของบรรดาศาสนทูต บางส่วนของพวกเขาก็อาจจะเป็นเพราะมีทรัพย์สินไม่เพียงพอ เมื่อนำไปเทียบกับสภาพสังคมหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และบางส่วนของพวกเขาก็มีเหตุมาจากการบริโภคสื่อที่เลวๆ มากเกินไปจนกระทั่งสิ่งเหล่านั้นเจริญงอกงามเข้าสถิตในจิตใจของเขา พร้อมทั้งเสพอยู่เป็นระยะเวลายาวนานและเกิดมโนภาพในสิ่งที่ไม่ดีจนในที่สุดมีอคติต่อบรรดาผู้หญิงโดยภาพรวม
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล การเศาะละวาตและความศานติจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัดของเรา รวมถึงบรรดาวงศาคณาญาติ และบรรดาอัครสาวกของท่านทั้งหมดด้วยเทอญ
ภาพจาก: bsrayarar
ที่มา: islamhouse.com