อ่านยาซีนและทำอาม้าล ในคืนนิสฟูชะอ์บาน ไม่เป็นบิดอะห์


3,611 ผู้ชม

ดารุ้ลอิฟตาห์ ประเทศอียิปต์ ฟัตวาว่า การอ่านยาซีนและทำอาม้าลในคืนนิสฟูชะอ์บานไม่ถือว่าเป็นบิดอะห์และกระทำได้....


ดารุ้ลอิฟตาห์ ประเทศอียิปต์ ฟัตวาว่า การอ่านยาซีนและทำอาม้าลในคืนนิสฟูชะอ์บานไม่ถือว่าเป็นบิดอะห์และกระทำได้

บิดอะห์ หมายถึง สิ่งที่ถูกอุตริกรรมขึ้นมาใหม่โดยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคำพูด การกระทำ ในศาสนาและบทบัญญัติ โดยที่ไม่มีความชัดเจนจากท่านรอซูลุลลอฮฺ และบรรดาศอฮาบะห์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ

บทความโดย: อิสมาแอล มูซา อัล-มัยซูดีย์

คำถาม: เรารวมตัวกันจัดการเฉลิมฉลอง​ในคืนนิสฟูชะอ์บานมาอย่างยาวนาน ด้วยการที่คนในตำบลมารวมตัวกันไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาว เด็กหรือผู้หญิง ณ มัสยิดเพื่อทำการละหมาดมัฆริบ และหลังจากละหมาด เราก็จะมีการอ่านซูเราะห์ยาซีน 3 ครั้ง หลังจบแต่ละครั้ง เราก็จะทำการขอดุอาอฺด้วยสำนวนดุอาอฺที่ปรากฎในกุรอ่าน และขอดุอาอฺให้พี่น้องมุสลิมและอิสลาม และก่อนหน้านี้เราขอดุอาอฺด้วยดุอาอฺคืนนิสฟูชะอ์บานที่เป็นที่รู้กัน โดยรวมตัวกันเพื่อทำการขอดุอาอฺดังกล่าว ต่อมาเราได้เปลี่ยนไปใช้สำนวนดุอาอฺจากกุรอ่าน ดังนั้นเราจึงอยากทราบว่า อะไรคือหุก่มของศาสนาต่อการเฉลิมฉลอง​คืนนิสฟูชะอ์บานด้วยรูปแบบดังกล่าว?

คำตอบโดย มุฟตี ศาสตราจารย์​ ดร.อาลี ยุมอะห์

คืนนิสฟูชะอ์บาน คือ ค่ำคืนแห่งความสิริมงคล ​มีฮะดีษมากมายที่พูดถึงความประเสริฐ​ของคืนนิสฟูชะอ์บานค่ำคืนนี้ และแต่ละฮะดีษก็มาสนับสนุนกันจนยกระดับไปสู่ขั้นฮะดีษฮะซันและมีความแข็งแรง

ดังนั้น การให้ความสำคัญ​ต่อค่ำคืนนี้และฟื้นฟูมัน ถือเป็นเรื่องราวของศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นหลังจากละทิ้งการพิจารณา​(มองข้าม)  ​บรรดาฮะดีษที่อาจเป็นฮาดีษดออีฟ (เพราะมันถูกยกระดับไปสู่ขั้นฮะซันแล้ว) ​หรือบรรดาฮะดีษเมาดูอ์ที่กล่าวถึงความประเสริฐ​ของค่ำคืนนิสฟูชะอ์บาน

อ่านยาซีนและทำอาม้าล ในคืนนิสฟูชะอ์บาน ไม่เป็นบิดอะห์

และส่วนหนึ่งของฮาดีษที่กล่าวถึง ความประเสริฐ​ของค่ำคืนนี้ก็คือ ฮะดีษที่รายงานโดยพระนางอาอิชะห์ รอดิยัลลอฮุอันฮุมา พระนางได้กล่าวว่า

فَقَدْتُ النَّبِيَّ صلى الله عليه وآله وسلم ذَاتَ لَيْلَةٍ، فَخَرَجْتُ أَطْلُبُهُ فَإِذَا هُوَ بِالْبَقِيعِ رَافِعٌ رَأْسَهُ إِلَى السَّمَاءِ، فَقَالَ: «يَا عَائِشَةُ، أَكُنْتِ تَخَافِينَ أَنْ يَحِيفَ اللهُ عَلَيْكِ وَرَسُولُهُ؟» فقُلْتُ: وَمَا بِي ذَلِكَ، وَلَكِنِّي ظَنَنْتُ أَنَّكَ أَتَيْتَ بَعْضَ نِسَائِكَ، فَقَالَ: «إِنَّ اللهَ تَعَالَى يَنْزِلُ لَيْلَةَ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ إِلَى السَّمَاءِ الدُّنْيَا فَيَغْفِرُ لأَكْثَرَ مِنْ عَدَدِ شَعرِ غَنَمِ كَلْبٍ» رواه الترمذي وابن ماجه وأحمد

ความว่า:  ในค่ำคืนหนึ่งท่านรอซู้ลได้หายไป ฉันเลยออกตามหาท่าน และฉันพบว่าท่านนั้นอยู่ที่บะเกียะอ์(ชื่อสถานที่)​ในสภาพที่ท่านเงยหน้าขึ้นสู่ฟากฟ้า และกล่าวว่า: "โอ้อาอิชะห์เอ๋ย เธอกลัวว่าอัลเลาะห์และรอซู้ลของพระองค์จะอธรรมต่อเธอกระนั้นหรือ?(ความหมายในตรงนี้คือ เธอคิดว่าฉันจะอธรรมต่อเธอด้วยการเอาคืนที่เป็นเวรของเธอไปอยู่กับภรรยาท่านอื่นงั้นหรือ)​" ฉันเลยตอบกลับไปว่า: ฉันหาได้คิดลบเช่นนั้นไม่ แต่ทว่าฉันคาดคิดว่าท่านได้มาหาภรรยาบางคนของท่าน(ความหมายตรงนี้คือ พระนางไม่ได้คิดว่าท่านรอซู้ลอธรรมต่อนาง แต่พระนางคาดคิดว่าท่านรอซู้ลได้มาอยู่กับภรรยาท่านอื่น ๆ ด้วยคำสั่งของอัลเลาะห์หรือด้วยการวินิจฉัยของรอซู้ลเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องอนุญาตสำหรับรอซู้ลอยู่แล้ว จุดนี้ชี้ถึงสติปัญญาอันเฉลียวฉลาด และความหึงของนาง)​

ท่านรอซู้ล จึงได้พูดขึ้นมาว่า : อัลเลาะห์ตะอาลาจะให้มาลาอิกะห์ลงมายังชั้นฟ้าชั้นที่หนึ่งในคือนิสฟูชะอ์บาน และจะทรงอภัยโทษ(แก่ปวงบ่าว)​มากกว่าจำนวนขนแกะของเผ่ากัลป์เสียอีก(เผ่ากัลป์ คือเผ่าอาหรับเผ่าหนึ่งที่มีจำนวนแกะมากที่สุดในบรรดาเผ่าต่าง ๆ ตรงนี้เป็นการเปรียบเทียบแบบอนุมาน ความหมายก็คือ จะอภัยโทษให้อย่างมากมายเหลือคณานับ)​

และฮะดีษที่ท่านมุอาซฺ บิน ญะบัล ได้รายงานจากท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า

يَطَّلِعُ الله إِلَى خَلْقِهِ فِي لَيْلَة النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ فَيَغْفِرُ لِجَمِيعِ خَلْقِهِ إِلا لِمُشْرِكٍ أَوْ مُشَاحِنٍ

ความว่า:  “อัลลอฮฺทรงมองยังปวงบาวของพระองค์ในคืนนิสฟูชะอ์บาน พระองค์ก็จะทรงอภัยโทษแก่พวกเขาทั้งหมด นอกจากผู้ที่ตั้งภาคีและผู้บาดหมางต่อกัน" รายงานโดยอีหม่ามต๊อบรอนีย์

อ่านยาซีนและทำอาม้าล ในคืนนิสฟูชะอ์บาน ไม่เป็นบิดอะห์

และฮาดีษที่ท่านอาลี บุตรของ อะบีตอลิบได้รายงานจากท่าน รอซู้ล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

«إِذَا كَانَتْ لَيْلَةُ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ فَقُومُوا لَيْلَهَا وَصُومُوا يَوْمَهَا؛ فَإِنَّ اللهَ يَنْزِلُ فِيهَا لِغُرُوبِ الشَّمْسِ إِلَى سَمَاءِ الدُّنْيَا فَيَقُولُ: أَلَا مِنْ مُسْتَغْفِرٍ فَأَغْفِرَ لَهُ؟ أَلَا مُسْتَرْزِقٌ فَأَرْزُقَهُ؟ أَلا مُبْتَلًى فَأُعَافِيَهُ؟ أَلا كَذَا أَلا كَذَا ...؟ حَتَّى يَطْلُعَ الْفَجْرُ» رواه ابن ماجه

ความว่า:  เมื่อถึงคืนนิสฟูชะอ์บาน พวกเจ้าจงละหมาดในยามค่ำคืน และถือบวชในยามกลางวัน แท้จริงแล้วพระองค์จะส่งมาลาอิกะห์ลงมายังชั้นฟ้าของดุนยาตั้งแต่พระอาทิตย์​ลับขอบฟ้า" โดยจะประกาศก้องว่า ไม่มีผู้ที่ทำการขออภัยโทษดอกหรือ? ข้าจะได้อภัยโทษแก่เขา ไม่มีผู้ที่ร้องขอริสกีดอกหรือ? ข้าจะได้ให้ริสกีแก่เขา ไม่มีผู้ที่ถูกทดสอบดอกหรือ? ข้าจะได้ทำให้เรารอดพ้น ไม่มีผู้แบบนั้นแบบนี้ดอกหรือ… (จะร้องเรียกไปเรื่อยๆ)" จนกระทั่งถึงเวลาซุบฮิ"  รายงานโดยอิบนุมาญะห์

และไม่ถือเป็นเรื่องผิดใดๆ ที่จะรวมตัวกันอ่านซูเราะห์ยาซีนดัง ๆ 3 ครั้งหลังละหมาดมัฆริบ เพราะการกระทำดังกล่าวเข้าอยู่ภายใต้คำสั่งให้ฟื้นฟูคืนนิสฟูชะอ์บานและภายใต้คำสั่งกว้าง ๆ ที่ใช้ให้ทำการรำลึกถึงพระองค์

การเจาะจงบางสถานที่ หรือบางเวลา เพื่อทำบรรดาอาม้าลที่ซอและห์ พร้อมกับคงรักษาการทำอาม้าลเหล่านั้นไว้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกบัญญัติ​ไว้(ทำได้)​ ตราบใดที่คนทำไม่ได้เชื่อมั่นว่า การกระทำอาม้าลดังกล่าวเป็นวายิบและหากละทิ้งก็จะได้รับบาป

เพราะมีรายงานจากท่านอับดุลเลาะห์ บุตรของอุมัร รอดิยัลลอฮุอันฮุมา รายงานว่า

«كَانَ النَّبِيُّ صلى الله عليه وآله وسلم يَأْتِي مَسْجِدَ قُبَاءٍ كُلَّ سَبْتٍ مَاشِيًا وَرَاكِبًا» رواه البخاري

ความว่า: "ปรากฎว่าท่านรอซู้ล ศอลลัลลอฮุอาลัยฮิวะซัลลัมจะมายังมัสยิดกุบาอ์ในทุก ๆ วันเสาร์ ด้วยกับการเดินมา หรือขี่พาหนะ​มา" รายงานโดยอีหม่ามบุคคอรี

และท่านอิบนุฮะญัร ได้กล่าวไว้ในหนังสือฟัตหุ้ลบารีย์ว่า

"ฮะดีษดังกล่าวด้วยสำนวนที่แตกต่างกัน ชี้ชัดว่า อนุญาติเจาะจงบางวันเพื่อทำบรรดาอาม้าลที่ซอและห์ และคงรักษาการทำอาม้าลดังกล่าวในวันดังกล่าว​ไว้"

และท่านฮาฟิส อิบนุรอญับได้กล่าวในหนังสือ  لطائف المعارف ไว้ว่า

"บรรดานักวิชาการของประเทศชาม มีความเห็นที่แตกต่างกันถึงลักษณะ​ของการฟื้นฟูคืนนิสฟูชะอ์บาน ออกเป็นสองทัศนะด้วยกัน

อ่านยาซีนและทำอาม้าล ในคืนนิสฟูชะอ์บาน ไม่เป็นบิดอะห์

ทัศนะแรก: ถือว่าเป็นสุนัตในการรวมตัวกันเพื่อทำอาม้าลในมัสยิด

และมีรายงานว่า خالد بن معدان  และท่าน لقمان بن عامر​ และท่านอื่นๆ พวกเขาจะสวมใส่อาภรณ์​ที่งดงาม ชโลมน้ำหอม ทาตา และรวมตัวกันที่มัสยิดในคืนดังกล่าว(เพื่อทำอิบาดะห์) ​และท่าน إسحاق بن راهويه ก็มีความเห็นที่สอดคล้อง​กับพวกเขาในเรื่องดังกล่าว และท่านอิสฮากได้กล่าวถึงการทำอิบาดะห์ในคืนดังกล่าว​ว่า มิใช่เป็นบิดอะห์แต่ประการใด

ทัศนะที่สอง: มักโรห์ที่จะรวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อทำการละหมาด รวมตัวเล่าถึงประวัติ​ต่างๆ รวมถึงรวมตัวกันเพื่อขอดุอาอฺ

แต่ไม่มักโรห์ที่จะทำการละหมาดแบบส่วนตัวในมัสยิด และนี่คือทัศนะของอีหม่ามเอาซาอีย์ ซึ่งเป็นอีหม่ามของเมืองชามและเป็นนักวิชาการแนวหน้าของพวกเขา

บทสรุปของเรื่องราวดังกล่าว

การฟื้นฟูค่ำคืนนิสฟูชะอ์บาน ในรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติ​ไว้ และไม่เป็นเรื่องบิดอะห์ รวมถึงไม่เป็นสิ่งมักโรห์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่ทำอาม้าลในรูปแบบที่ถือว่ามันเป็นสิ่งที่วายิบ(จำเป็น)​ต้องกระทำ

หากทำอาม้าลในรูปแบบที่ถือว่า เป็นวายิบที่ผู้อื่นต้องกระทำ และถือว่ามีบาปหากใครไม่กระทำ ก็ถือว่าเป็นเรื่องบิดอะห์ เพราะไปทำให้เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องวายิบทั้ง ๆ ที่อัลเลาะห์และรอซู้ลของพระองค์ไม่ได้กำหนดให้เป็นวายิบ

และด้วยประเด็นนี้แหละที่ ชาวสลัฟรังเกียจที่จะฟื้นฟูคืนนิสฟูชะอ์บาน ในรูปแบบที่ทำร่วมกัน ดังนั้น หากไม่ได้กำหนดให้เป็นวายิบ ก็ถือว่าไม่มักโรห์ใด ๆ (ที่จะทำอาม้าลในค่ำคืนนี้)

​والله سبحانه وتعالي اعلم

ปล.สำหรับใครที่ไม่เห็นด้วยกับการทำอ้าม้าลในคืนดั่งกล่าว ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใดๆ แต่จะเป็นเรื่องแปลกทันที่ ถ้ากล่าวหาคนที่ทำอ้าม้าลในค่ำคืนนี้ว่าเป็นคนทำบิดอะห์ สุดท้าย โปรดตั้งใจอ่าน และเปิดใจให้กว้าง อินชาอัลเลาะห์เราจะได้รับผลบุญทุกคน อามีน

ที่มา : www.dar-alifta.org

อัพเดทล่าสุด