การหย่า3ตอลาก การกล่าวคำหย่าร้างในอิสลาม มีว่าอย่างไร


14,377 ผู้ชม

การกล่าวคำหย่า จะไม่มีผลกับผู้พลั้งพูดผิดหรือเลินเล่อหรือหลงลืมหรือหรือบ้าและผู้ที่มีลักษณะเดียวกันกับบุคคลเหล่านี้...


การหย่า3ตอลาก การกล่าวคำหย่าร้างในอิสลาม มีว่าอย่างไร

เป้าหมายของการแต่งงาน คือ การดำรงไว้ซึ่งชีวิตคู่อย่างมั่นคง และเป็นปึกแผ่น และเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่สามี ภรรยา แต่ข้อกำหนดและระเบียบต่างๆบางครั้งไม่ได้รับการเอาใจใส่ ไม่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตร่วมกัน จึงทำให้มีเหตุบาดหมางไม่เข้าใจกัน ไม่อาจปรับความเข้าใจกันได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบัญญัติกฎเกณฑ์ขึ้น นั่นก็คือ การหย่า

หลักฐานจากอัลกรุอ่าน ได้ดำรัสว่า

«ياأ يهاٱلنَّبِىُّ إِذَا طَلَّقْتُمُ ٱلنِّسَآءَ فَطَلِّقُوهُنَّ لِعِدَّتِهِنَّ وَأَحْصُواْ ٱلْعِدَّةَ»

ความว่า:  "โอ้ผู้เป็นนบี เมื่อพวกท่านประสงค์จะหย่าภรรยาพวกท่าน จงหย่าพวกนางให้ได้รับประโยชน์ในการนับระยะการกักตัวของพวกนางด้วย" (อัฏเฏาะลาก 1)

การหย่า จะมีผลบังคับใช้ถ้าผู้กล่าวคำหย่าเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ มีสติสัมปชัญญะ และตัดสินใจด้วยตนเองได้ และการหย่าจะไม่มีผลถ้าผู้กล่าวคำหย่าเป็นผู้ที่ถูกบังคับ หรือมึนเมาโดยเจ้าตัวไม่รู้ว่าตัวเองพูดอะไร หรือโกรธที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่นเดียวกัน

การกล่าวคำหย่า จะไม่มีผลกับผู้พลั้งพูดผิดหรือเลินเล่อหรือหลงลืมหรือหรือบ้าและผู้ที่มีลักษณะเดียวกันกับบุคคลเหล่านี้

ข้อชี้ขาดในเรื่องการหย่าร้างในอิสลาม

อนุญาตให้หย่าได้ เมื่อมีความจำเป็น เช่น ภรรยามีนิสัยไม่ดีไม่งาม ไม่สุภาพต่อสามี และการหย่าเป็นที่ต้องห้ามถ้าไม่มีความจำเป็น เช่น คู่สามีภรรยาอยู่รวมกันอย่างราบรื่น และการหย่าจะเป็นที่ส่งเสริมเมื่อเห็นว่าอาจจะมีอันตรายเกิดขึ้น เช่น ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วภรรยาจะได้รับอันตราย หรือภรรยามีความเกลียดชังสามี และพฤติกรรมอื่นๆในทำนองเดียวกันนี้

สามีจำเป็นต้องหย่าเมื่อภรรยาของเขาเป็นผู้ที่ไม่ทำการละหมาด หรือนางปล่อยปะละเลยไม่สงวนเนื้อสงวนตัวจนกว่านางจะกลับตัวหรือยอมรับคำตักเตือน

ไม่อนุญาตให้สามีหย่าภรรยาของเขา ในขณะที่นางกำลังมีรอบเดือน หรือมีเลือดหลังคลอด หรือนางสะอาดจากรอบเดือนแต่ได้มีเพศสัมพันธ์กับนางแล้วและไม่เป็นที่ประจักษ์ว่านางกำลังตั้งครรภ์ หรือหย่านางสามครั้งโดยกล่าวคำหย่าครั้งเดียว หรือหย่านางสามครั้งในพิธีการเดียวกัน

การหย่ามีผลบังคับใช้กับสามีหรือตัวแทน และตัวแทนมีสิทธิ์จะหย่าเพียงครั้งเดียวและเมื่อไรก็ได้เมื่อเขาปรารถนา เว้นแต่สามีได้เจาะจงเวลาที่แน่นอนและจำนวนที่ชัดเจน

การกล่าวคำหย่าร้างในอิสลาม จำแนกประเภทได้ 2 ประเภท

1. การกล่าวคำหย่าร้างด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน เป็นการหย่าด้วยถ้อยคำที่มิได้ให้หมายความ เป็นอย่างอื่นนอกจากการหย่า อย่างเช่น (طلقتك) ฉันได้หย่าเธอแล้ว หรือ ( أنت طالق )เธอได้หย่าแล้ว หรือ( أنت مطلقة ) เธอถูกหย่าแล้ว หรือ ( علي الطلاق ) สำหรับฉันได้หย่าแล้ว หรือถ้อยคำอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้

2. การกล่าวคำหย่าร้างด้วยถ้อยคำที่เป็นนัย เป็นการหย่าด้วยถ้อยคำที่อาจจะหมายถึงการหย่าและอย่างอื่นด้วย เช่น กล่าวว่า ( أنت بائن )เธอได้ขาดจากฉันแล้ว หรือ ( ألحقي بأهلك )เธอจงไปอยู่กับญาติพี่น้องของเธอเถิด หรือถ้อยคำอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้

การกล่าวคำหย่าร้าง จะมีผลบังคับใช้ทันที ถ้าใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน อันเนื่องจากถ้อยคำที่ใช้นั้นมีความหมายที่เด่นชัด แต่การหย่าด้วยถ้อยคำที่เป็นนัยนั้นจะไม่มีผลบังคับใช้นอกจากต้องมีเจตนาและตั้งใจที่จะหย่าพร้อมกับกล่าวคำหย่า

เมื่อผู้เป็นสามีกล่าวคำหย่าร้างแก่ภรรยาของเขาว่า ( أنت علي حرام ) เธอเป็นที่ต้องห้ามแก่ฉัน การบอกว่า เป็นที่ต้องห้ามในที่นี้มิใช่เป็นการหย่า หากแต่ว่าเป็นการสาบาน ที่ผู้กล่าวนั้นต้องไถ่ถอนการสาบาน (เสียกัฟฟาเราะฮฺ )

การหย่าจะมีผลทั้งกับผู้ที่จริงจังและล้อเล่น

 จากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ รอฏอยัลลอฮุ อันฮู แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« ثلاث جدهن جد وهزلهن جد : النكاح ، والطلاق ، والرجعة»

"สามประการที่การจริงจังกับมันจะถือเป็นจริง และการทำเล่น ๆ กับมันก็ถือเป็นจริง นั้นก็คือ การแต่งงาน การหย่าร้าง และการกลับมาคืนดีกัน" ( รายงานโดยอบูดาวูด และอิบนุมาญะฮ )

รูปแบบของการหย่าร้างในอิสลาม

การหย่าร้างในอิสลามนั้น อาจเป็นการหย่าที่มีผลทันที หรือเป็นการหย่าร้างที่พาดพิงอิงกับอนาคต และในบางครั้งก็เป็นการหย่าที่มีข้อแม้และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1. การหย่าที่มีผลบังคับใช้ทันที เมื่อเขาได้กล่าวแก่ภรรยาของเขา ว่า ( أنت طالق )เธอได้หย่าแล้ว หรือ (طلقتك) ฉันได้หย่าเธอแล้ว หรือคำกล่าวอื่นๆในทำนองนี้ การกล่าวคำหย่ารูปแบบนี้ จะมีผลทันทีเนื่องจากผู้กล่าวคำหย่ามิได้พาดพิงถึงสิ่งอื่น

2. การหย่าที่พาดพิงเกี่ยวพันกับอนาคต อย่างเช่น เขาได้กล่าวแก่ภรรยาของเขาว่า ( أنت طالق غدا ) เธอได้หย่าแล้ววันพรุ่งนี้ หรือ ( أنت طالق رأس الشهر ) เธอได้หย่าเมื่อขึ้นเดือนใหม่ การกล่าวคำหย่าแบบนี้จะมีผลเมื่อเวลาที่มีการพาดพิงมาถึง

3. การหย่าที่มีข้อแม้และเงื่อนไข คือ การกล่าวถ้อยคำที่ใช้เพื่อการหย่าที่มีข้อแม้และเงื่อนไข ซึ่ง มีสอง ประเภท

3.1 เป้าหมายในการกล่าวคำหย่านั้น เพื่อการเตือนให้กระทำ หรือให้เลิกการกระทำ หรือให้ระวัง หรือหักห้าม หรือเน้นในการแจ้งให้ทราบ หรืออื่นๆในทำนองนี้ อย่างเช่น เขากล่าวว่า
( إن ذهبت إلى السوق فأنت طالق ) ถ้าหากเธอไปตลาดเธอได้หย่ากับฉัน โดยมีเป้าหมายเพื่อหักห้ามนางไม่ให้ไปตลาด การกล่าวคำหย่าเช่นนี้จะไม่มีผล แต่จะเป็นการสาบาน ซึ่งสามีจำเป็น( واجب ) ต้องไถ่ถอนสาบาน ( كفارة ) เมื่อนางละเมิด และการไถ่ถอนการสาบานนั้น ( الكفارة ) คือ เลี้ยงอาหารหรือให้เครื่องนุ่งห่มแก่ผู้ยากจน 10 คน หรือปล่อยทาส ถ้าไม่มีความสามารถ ก็ให้ถือศีลอด เป็นเวลา 3 วัน

3.2 หากว่าการกล่าวคำหย่านั้นมีเป้าหมายเพื่อการหย่าจริงเมื่อข้อแม้หรือเงื่อนไขที่อ้างถึงเกิดขึ้น อย่างเช่น เขากล่าวว่า ( إن أعطيتني كذا فأنت طالق ) ถ้าหากเธอยกทรัพย์สินจำนวนเท่านั้นให้ฉัน เธอก็ได้หย่า การหย่าเช่นนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อข้อแม้หรือเงื่อนไขที่อ้างถึงเกิดขึ้น

เมื่อสตรีที่ยังไม่ได้กำหนดสินสอดถูกหย่าก่อนที่จะมีการสมสู่กับนาง ผู้เป็นสามีจำเป็นต้องให้สิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่นาง สำหรับผู้มั่งมีก็ตามกำลังความสามารถของเขา และผู้ยากจนก็ตามกำลังความสามารถของเขา และสตรีที่ยังไม่ได้กำหนดสินสอดถูกหย่าหลังจากได้มีการสมสู่นางแล้ว นางจะต้องได้รับสินสอดอันเหมาะสมตามสภาพ โดยจะไม่ได้รับสิ่งที่อำนวยประโยชน์ใด ๆ

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า

«لَا جُنَاحَ عَلَيْكُمْ إِنْ طَلَّقْتُمُ النِّسَاءَ مَا لَمْ تَمَسُّوهُنَّ أَوْ تَفْرِضُوا لَهُنَّ فَرِيضَةً وَمَتِّعُوهُنَّ عَلَى الْمُوسِعِ قَدَرُهُ وَعَلَى الْمُقْتِرِ قَدَرُهُ مَتَاعًا بِالْمَعْرُوفِ حَقًّا عَلَى الْمُحْسِنِينَ»

ความว่า:  "ไม่มีบาปใดๆ แก่พวกเจ้า ถ้าหากพวกเจ้าหย่าหญิง โดยที่พวกเจ้ายังมิได้แตะต้องพวกนาง หรือยังมิได้กำหนดมะฮัรใดๆ แก่พวกนาง และจงให้นางได้รับสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่พวกนาง โดยที่หน้าที่ของผู้มั่งมีนั้น คือตามกำลังความสามารถของเขา และหน้าที่ของผู้ยากจนนั้นคือตามกำลังความสามารถของเขา เป็นการให้ประโยชน์โดยชอบธรรม เป็นสิทธิเหนือผู้กระทำดีทั้งหลาย"  (อัลบะเกาะเราะฮฺ : 236)

การหย่า3ตอลาก  การหย่าที่เป็นซุนนะฮฺ  คือ การที่ฝ่ายชายหย่าภรรยาของตนเพียง 1 ครั้ง และถ้าหากประสงค์หย่า  3  ครั้ง  ก็ให้แยกการหย่าในช่วงที่ภรรยาไม่มีรอบเดือนแต่ละช่วง  1  ครั้ง  เพื่อออกจากความขัดแย้งของนักวิชาการ  

แต่ถ้ารวมการหย่าทั้ง 3 ครั้งเอาไว้ (รวดเดียว) ในช่วงไม่มีรอบเดือน(เกลี้ยง) ก็เป็นที่อนุญาตและไม่เป็นที่ต้องห้ามตามมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ส่วนในทัศนะของมัซฮับฮะนะฟีย์  ถือว่าการหย่ารวดเดียว 3  ครั้งนี้เป็นสิ่งที่เข้าข่ายมักรูฮฺตะฮฺรีม และถือว่าผู้หย่าฝ่าฝืนและมีโทษ (อ้างแล้ว เล่มที่ 7 หน้า 326,329) 

 ที่มา: www.islammore.com , alisuasaming.org

อัพเดทล่าสุด