ความฝันในอิสลาม มีว่าไว้อย่างไร


18,139 ผู้ชม

ผู้ใดฝันเห็นสิ่งที่ตนไม่พึงปรารถนา ก็ให้ผู้นั้นลุกขึ้นและทำละหมาดโดยไม่ต้องเล่าให้ผู้ใดรับทราบ


ในภาษาอาหรับมีคำว่า อัรรุอฺยะฮฺ (اَلرُّؤيَةُ) คือการมองเห็นที่เกี่ยวกับประสาทสัมผัสทางตา และคำว่า อัรฺรุอฺยา (اَلرُّؤيا) หมายถึงสิ่งที่คนนอนหลับมองเห็นในขณะหลับ ซึ่งก็คือ ความฝันนั่นเอง นักวิชาการแบ่งความฝันออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1) ความฝันที่มาจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) -الرؤيامن الله-

2) ความฝันที่มาจากชัยฏอน (الحُلْمُ مِن الشيطان)

สังเกตได้ว่าถ้าเป็นความฝันประเภทแรก จะใช้คำว่า (الرُّؤيا) แต่ถ้าเป็นความฝันประเภทที่สอง จะใช้คำว่า (الحُلْمُ) มีรูปพหูพจน์ว่า อะหฺลามฺ (أَحْلاَمٌ) ความฝันที่เป็นเรื่องจริง (الرؤياالصادقة) เป็นสภาพแรกที่เกิดขึ้นกับท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในเรื่องวะฮีย์ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะไม่เห็นความฝันใดนอกจากมันจะปรากฏเยี่ยงแสงอรุณเบิกฟ้า (บุคอรี-มุสลิม)

และความฝันของผู้ศรัทธานั้นเป็นส่วนหนึ่งจาก 46 ส่วนของการเป็นนบี นักวิชาการบางท่านแบ่งความฝันออกเป็น 3 ชนิด คือ

1) ฝันดี (الرؤياالصالحة) เป็นข่าวดีจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.)

2) ความฝันอันเกิดจากการสร้างความเศร้าหม่นหมองของชัยฏอน

3) ความฝันอันเกิดจากความครุ่นคิดในใจของบุคคล

และผู้ใดฝันเห็นสิ่งที่ตนไม่พึงปรารถนา ก็ให้ผู้นั้นลุกขึ้นและทำละหมาดโดยไม่ต้องเล่าให้ผู้ใดรับทราบ (มุสลิม) และคนที่ปฏิเสธตลอดจนคนฟาซิก (คนชั่ว) ก็อาจจะเห็นความฝันที่เป็นจริงได้เช่นกัน ฝันร้ายนั้นมาจากชัยฏอนเป็นความฝันที่ชัยฏอนใช้สร้างความหวาดกลัวหรือความโศกเศร้าให้เกิดขึ้นกับผู้ที่ฝันนั้น ผู้ใดฝันร้ายก็ขอให้ความคุ้มครองต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ถ่มน้ำลายทางด้านซ้ายและปกปิดความฝันนั้น โดยท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้สัญญาว่าหากทำเช่นนั้นแล้ว ความฝันนั้นก็จะไม่ส่งผลอันใด

และความฝันที่เป็นเท็จ (الرؤياالباطلة) มี 7 ประเภท

1) ฝันที่เกิดจากการครุ่นคิดในใจ, ฟุ้งซ่าน, เศร้าหมอง, วาดหวังและฝันมั่วแบบสับสน (الأضغاثُ)

2) ฝันเปียก (الحُلْمُ) ที่จำต้องอาบน้ำยกหะดัส

3) การเตือนหรือขู่ให้กลัวจากชัยฏอน

4) ความฝันที่พวกนักไสยศาสตร์ทั้งญินและมนุษย์ทำให้ผู้นอนหลับฝันเห็น

5) ฝันเท็จไร้สาระ ซึ่งชัยฏอนทำให้ผู้นอนหลับฝันเห็น

6) ความฝันที่เกิดโดยนิสัยหรือธาตุแท้ของผู้ฝัน

7) ความฝันที่เป็นความเจ็บปวดรวดร้าว (الوجَع) คือการที่ผู้นั้นฝันเห็นเรื่องราวฝังใจที่อาจจะผ่านพ้นเวลามานานนับสิบปี

ส่วนฝันที่เป็นจริง (الرؤياالحق) มี 5 ประเภท

1) ฝันที่เป็นความสัจจริง (الرؤياالصادقة) ความฝันประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งจากความเป็นนบี (النبوة) เช่นความฝันที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ฝันเห็นว่าท่านและเหล่าสาวกได้เข้าสู่นครมักกะฮฺโดยปลอดภัยและฏอว๊าฟรอบบัยติลลาฮฺ เชือดสัตว์และโกนศีรษะและขลิบผมเมื่อครั้งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เดินทางถึงอัลหุดัยบียะฮฺ ดังปรากฏในอายะฮฺที่ว่า (لقدصدق الله رسوله الرؤيابالحق) หรือการฝันของท่านนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) ว่าท่านจะเชือดบุตรชายของท่าน (يابُنَىَّ إنى أرى فى المَنَامِ أنى أذبَحُكَ) เป็นต้น

2) ความฝันที่ดี (الرؤياالصالحة) เป็นการแจงข่าวดีจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

3) ความฝันที่ม่าลักแห่งความฝันทำให้ผู้นอนหลับฝันเห็น ซึ่งม่าลักท่านนีมีชื่อว่า ซิดดีกูนฺ

4) ฝันเป็นนัย (الرؤياالمرموزة)

5) ฝันประจักษ์พยานคือดีกลายเป็นร้าย ร้ายกลายเป็นดี เช่น คนหนึ่งฝันเห็นว่าตนกำลังตีกลองในมัสญิด คนๆ นั้นจะสำนึกผิดจากสิ่งที่ไม่ดีและจะกลายเป็นผู้มีชื่อเสียง หรือคนหนึ่งฝันเห็นว่าตนกำลังอ่านอัลกุรอ่านในห้องอาบน้ำหรือกำลังเต้นรำ คนๆ นั้นจะเป็นคนที่ผู้คนรู้จักในทางเสื่อมเสีย เป็นต้น

และความฝันของสตรีที่มีรอบเดือนและผู้มีญุนุบถือว่าเป็นฝันที่ถูกต้องได้เพราะพวกกาฟิรและมะญูซีย์ไม่อาบน้ำยกหะดัสและท่านนบียูซุฟ (อ.ล.) ก็อธิบายฝันให้แก่กษัตริย์อียิปต์ซึ่งเป็นกาฟิร และฝันของเด็ก ๆ ก็ถูกต้องได้ เพราะนบียูซุฟ (อ.ล.) เคยฝันเห็นขณะมีอายุได้ 7 ขวบแล้วเล่าให้นบียะอฺกู๊บ (อ.ล.) ฟัง (สรุปความจากตำราตะอฺฏีรุ้ลอะนามฺ ฟี ตัฟซีร อัลอะหฺลามของอันนาบุลิซีย์ บทนำ)

การตีความความฝันในอิสลาม

อัลลอฮฺทรงสื่อสารกับมนุษย์หลายวิธี ได้แก่

-การประทานคัมภีร์ ต่อรอซูลต่างๆ (เป็นวะฮีย์ที่เป็นกะลามุลลอฮฺ)

-หะดีษ (เป็นวะฮีย์ที่เป็นความรู้ผ่านรอซูลแต่ไม่ใช่กะลามุลลอฮฺ)

-รุยา หรือความฝันที่มีความหมาย (เป็นวะฮีย์อีกส่วนที่ไม่ใช่เฉพาะนบีที่ได้รับ แต่คนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือปฏิเสธมีสิทธิ์ได้รับ)

-การสร้างและกำหนดสิ่งต่างๆ ดังกล่าวถือว่า เป็นสัญญานให้มนุษย์รำลึกถึงอัลลอฮฺ

-การตอบรับดุอาอฺ และการปกป้อง หรือการช่วยเหลือต่างๆ

-การประทานปัจจัยยังชีพ และการอภิบาลเลี้ยงดู

-การประทานปาฏิหารย์กับตัวมนุษย์เองหรือในธรรมชาติ เพื่อให้รำลึกถึงพระองค์

เรื่องการทำนายฝันในอิสลามไม่ใช่การดูดวง หรือการเชื่อถือโชคลาง ดังที่มีการนำเสนอบทความที่คลาดเคลื่อนทางเว็บไซท์ ใครก็ตามที่มีการบรรยาย หรือเขียนบทความว่า ในอิสลามไม่มีการทำนายฝัน ดังกล่าวถือว่ามีกุฟรฺ คือปฏิเสธอัลกุรอานและหะดีษ (อาจโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ส่วนถ้าบอกว่า การทำนายฝันเป็นเรื่องของนบีเท่านั้น คนทั่วไปทำนายไม่ได้ ดังกล่าวถือว่าปฏิเสธหะดีษเช่นกัน และขั้นต่ำถือว่ามีอะกีดะฮฺที่เป็นบิดอะฮฺ

การทำนายฝันในอิสลาม

อัลกุรอานและหะดีษ อัลลอฮฺเป็นผู้ประทานผ่านนบี ส่วนอุละมาอฺ คือผู้มาอธิบาย มาตีความจากความรู้ที่สืบทอดมา

ส่วนความฝันหรือรุยา อัลลอฮฺเป็นผู้ประทานให้ผู้ฝันเพื่อตักเตือนหรือแจ้งเหตุการณ์ ส่วนอุละมาอฺคือผู้ที่จะมาตีความหรืออธิบายจากสิ่งที่เรียนมา รวมถึงคนทั่วไปที่เรียนมาก็พอที่จะตีความได้ เฉกเช่นที่เขาสามารถเข้าใจอัลกุรอานและหะดีษได้หากศึกษามา ซึ่งนัยยะต่างๆในความฝันนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในอัลกุรอาน หะดีษ และความเข้าใจของคนในวัฒนธรรมทั่วไป เช่น เสื้อผ้า ในกุรอานหมายถึงคู่ครอง หรือน้ำท่วมหมายถึงหายนะ ส่วนเรือคือความรอดพ้น เป็นต้น

การตีความความฝันของคนที่ไม่ใช่นบี

นอกจากการฝันที่มาจากความกังวลตกค้างในสมองแล้ว ยังมีความฝันอีก 3 ประเภท คือ

1.ฝันที่ดี (มาจากอัลลอฮฺ)

2.ฝันที่เลวร้าย (มาจากชัยฏอน)

3.รุยา ความฝันที่มีความหมาย

ข้อแรกกับข้อสอง ไม่มีความหมาย ให้ปล่อยผ่านไป ส่วนข้อสาม เป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้มีการศึกษา และมีการตีความกัน

บันทึกของมุสลิม รายงานว่า “ท่านนบีเมื่อละหมาดศุบฮิเสร็จ ท่านจะหันมาหาศอฮาบะฮฺ และกล่าวว่า ใครได้เห็นรุยาอะไรเมื่อคืนบ้าง” อิมามนะวาวีย์อธิบายว่า เป็นการส่งเสริมให้สอบถามรุยา และรีบเร่งทำนายในช่วงเช้าตรู่

ตัวอย่างจากสะลัฟ

หลังจากท่านนบีเสียชีวิต ท่านหญิงอะอิชะฮฺกล่าวว่า “ฉันฝันเห็นดวงจันทร์ 3 ดวงตกอยู่ในห้องฉัน” อบูบักร พ่อของนางจึงกล่าวว่า “หากที่เธอฝันเป็นจริง คนที่ประเสริฐที่สุดบนหน้าแผ่นดิน 3 คนจะถูกฝังที่บ้านของเธอ” อิบนุอับดิลบัร กล่าวในอัตตัมฮีดว่า “หะดีษนี้เป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าจิตใจของชาวสะลัฟนั้นต่างจดจ่ออยู่กับความฝันและการทำนายฝัน”

ตัวอย่างการทำนายฝันของ อิบนุ ซีรีน ตาบิอีนผู้ขึ้นชื่อเรื่องทำนายฝัน

ชายคนหนึ่งกล่าวแก่อิบนุ ซีรีนว่า “ฉันเห็นเคราของฉันได้ยาวขึ้นแล้วฉันได้มองไปยังเครานั้น” อิบนุ ซีรีนจึงพูดว่า “ท่านเป็นมุอัซซินหรือ?” เขาตอบว่า “ใช่” อิบนุ ซีรีนจึงพูดว่า “ท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ และอย่าได้มองไปยังบ้านของเพื่อนบ้าน”

*การทำนายฝันของอิบนุ ซีรีน ถูกรวบรวมในตำราชื่อ “ตะอฺบีรฺ อัรรุอฺยา” หรือการทำนายฝันของอิบนุ ซีรีน ซึ่งเป็นตำราที่นิยมใช้ศึกษาการตีความความฝันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน*

นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นการนำเสนอเพื่อความเข้าในหลักอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง ยังมีตัวอย่างการทำนายฝันจากศอฮาบะฮฺอีกมาก ที่น่าศึกษาเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูซุนนะฮฺเรื่องนี้

โดย อ.อาลี เสือสมิง

อัพเดทล่าสุด