“ตักวา”(ความยำเกรง) กุญแจมหัศจรรย์ แห่งอิสลาม


2,166 ผู้ชม

บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำว่า “ตักวา”(ความยำเกรง) ได้ยินบ่อยจนชาชินโดยไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำๆนี้อีก


บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินคำว่า “ตักวา”(ความยำเกรง) ได้ยินบ่อยจนชาชินโดยไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำๆนี้อีก ความคุ้นชินทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ตักวา” (ความยำเกรง) มีนัยยะอันทรงพลังยิ่งใหญ่มากในชีวิตของมนุษย์ผู้หนึ่งที่ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และประชาชาติมุสลิมทั้งหมดที่น้อมรับการศรัทธาต่อพระองค์

ตักวา (ความยำเกรง) ในเชิงนิรุกติศาสตร์มีความหมายว่า การป้องกัน การหลีกเลี่ยง การระมัดระวัง (ดู ลิสานุล อะหรับ)

อุละมาอ์ทางภาษาอาหรับบางท่านเช่น อิบนุ ฟาริส บอกว่า “ตักวา”(ความยำเกรง) ในความหมายทางภาษามาจาก “การพูดน้อย” !!

ในตัฟสีรของอิมาม อัล-กุรฏุบีย์ มีการอธิบายตักวาที่น่าสนใจว่า

“ระดับของผู้ตักวา(ยำเกรง)นั้นสูงกว่าผู้ศรัทธาและผู้เชื่อฟัง(ฏออัต) ผู้ตักวา(ยำเกรง)หมายถึงผู้ที่ปกป้องตนเองจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติความดีและด้วยการขอดุอาอ์ที่บริสุทธิ์ใจ คำนี้นำมาจากความหมายของการป้องกันสิ่งมิชอบด้วยการนำเครื่องกีดขวางมากั้นระหว่างท่านกับสิ่งนั้น” (เล่ม 1 หน้า 161)

อบู ยะซีด อัล-บุสฏอมีย์ กล่าวว่า “ผู้ตักวา (ยำเกรง)หมายถึง ผู้ที่เมื่อเขาพูด เขาพูดเพื่ออัลลอฮฺ และเมื่อเขาทำ เขาทำเพื่ออัลลอฮฺ” (เล่มเดิม)

อบู สุลัยมาน อัด-ดารอนีย์ กล่าวว่า “บรรดาผู้ตักวา(ยำเกรง)นั้นคือผู้ที่อัลลอฮฺดึงเอาความหลงใหลในตัณหาออกจากหัวใจของพวกเขา” (เล่มเดิม)

อุมัร บิน อัล-ค็อฏฏ็อบ ได้ถามอุบัยย์ ถึงความหมายของตักวา

อุบัยย์ ถามอุมัรกลับไปว่า “ท่านเคยเดินผ่านทางที่เต็มไปด้วยหนามบ้างไหม?”

อุมัรตอบไปว่า “ใช่ เคย”

อุบัยย์ถามอีกว่า “แล้วท่านทำเช่นไร?”

อุมัรกล่าวว่า “ฉันก็ตื่นตัวและระแวดระวัง”

ผู้ถูกถามครั้งแรกจึงตอบว่า “เช่นนั่นแหล่ะคือตักวา(ความยำเกรง)”

(เล่มเดิม หน้า161-162)

มีการอธิบายและให้ความหมายคำว่าตักวา(ยำเกรง)อีกมากมายในตำราของอุละมาอ์ แต่ข้อสรุปที่น่าจะทำความเข้าใจได้ง่ายและกระชับที่สุดก็คือ การประพฤติตนโดยใช้เกณฑ์ของอาคิเราะฮฺ

เพราะอาคิเราะฮฺคือเกณฑ์ที่บริสุทธิ์ต่อเอกองค์อัลลอฮฺเพียงผู้เดียว นี่หมายความว่า ทุกสิ่งที่เราปฏิบัติและทุกความเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันจะต้องมีการผูกไว้กับการตอบแทนของอัลลอฮฺ ณ ชีวิตหลังความตาย มิใช่สักทำไปแต่เพื่อความสำราญในโลกนี้ โดยไม่ได้คำนึงถึงดินแดนอันนิรันดรในโลกหน้า ดินแดนที่หากเป็นการผลตอบแทนที่ดีก็จะได้มีความสุขยั่งยืนไม่สูญสลาย แต่หากเป็นการทรมานก็จะทุกข์สาหัสไม่มีวันรอดพ้นเว้นแต่ผู้ที่อัลลอฮฺทรงประสงค์เท่านั้น

คำอธิบายนี้ยืนยันได้ด้วยโองการอัลกุรอานที่ระบุอย่างชัดเจนให้เรา “ตักวา”(ยำเกรง) ต่อวันอาคิเราะฮฺ ในขณะที่บางอายะฮฺระบุให้ “ตักวา”(ยำเกรง) หรือป้องกันตนจากไฟนรกซึ่งอยู่ในบริบทของวันอาคิเราะฮฺเช่นกัน ดังสองอายะฮฺต่อไปนี้

«وَاتَّقُوا يَوْمًا تُرْجَعُونَ فِيهِ إِلَى اللَّهِ ثُمَّ تُوَفَّى كُلُّ نَفْسٍ مَا كَسَبَتْ وَهُمْ لا يُظْلَمُونَ»

“พวกเจ้าจงตักวา (ยำเกรง) ต่อวันที่พวกเจ้าจะถูกนำกลับสู่อัลลอฮฺ แล้วทุกชีวิตก็จะได้รับผลตอบแทนอย่างสมบูรณ์ต่อสิ่งที่เขาได้กระทำไว้ และพวกเขาจะไม่มีการถูกอธรรมแต่อย่างใดไม่”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 281)

«وَاتَّقُوا النَّارَ الَّتِي أُعِدَّتْ لِلْكَافِرِينَ»

“และจงตักวา(ยำเกรง)ต่อไฟนรกที่ซึ่งถูกเตรียมไว้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา”

(อาล อิมรอน : 131)

ผู้ตักวา(ยำเกรง)จึงหมายถึงผู้ที่มองการณ์ไกลทะลุถึงวันหน้า ความสำเร็จที่พวกเขาหมายปองมีจุดหมายเป็นสวรรค์อันไม่มีวันสลาย และเป็นความสำเร็จที่ทำให้พวกเขารอดพ้นจากความล้มเหลวและการขาดทุนด้วยการต้องรับโทษในไฟนรกอันร้อนระอุอย่างทุรนทุราย

การมองเช่นนี้มิได้หมายถึงว่าต้องละเลยดุนยา ทว่าแผนการเพื่อความสำเร็จระยะยาวในอาคิเราะฮฺยังมักจะสร้างผลพลอยได้เป็นความสำเร็จบนโลกนี้ด้วย เพราะผู้ที่ปฏิบัติตนด้วยความระมัดระวังต่อแผนการในระยะยาว ย่อมต้องละเอียดอ่อนต่องานในระยะสั้นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้น ตักวา (ความยำเกรง) จึงเป็นกุญแจหลักของผู้หวังความสำเร็จ และเป็นคำสั่งที่อัลลอฮฺสั่งใช้บ่าวของพระองค์อย่างชัดเจนว่า

«وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ»

“จงตักวา(ยำเกรง)ต่ออัลลอฮฺเถิด เผื่อว่าสูเจ้าจะประสบความสำเร็จ”

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 189, อาล อิมรอน : 130, 200)

นี่คือคำสั่งในภาพรวม ถ้าลงลึกในรายละเอียดปลีกย่อย เราจะพบว่าอัลกุรอานสั่งและชี้แนะให้เราใช้ตักวา(ความยำเกรง)ในการประพฤติปฏิบัติและกิจกรรมทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม การเมือง และเรื่องในระดับสากล ดังจะเห็นได้จากดัชนีพฤติกรรมและคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการตักวา(ยำเกรง)โดยคร่าวๆ ต่อไปนี้


ด้านความเชื่อ การศรัทธา อะกีดะฮฺ จิตวิญญาณ

การยึดมั่นในคำสอนของอัลลอฮฺ 3:102, การเลือกเส้นทางที่เที่ยงตรง 6:153, การหักล้างข้อสงสัยในคัมภีร์ 2:24, วันกิยามะฮฺ 2:48, 123, การเอาชนะกับไสยศาสตร์ 2:103, คำสั่งต่อชาวคัมภีร์ 2:41, การศรัทธาต่ออัลกุรอาน 6:155, เหตุแห่งปัจจัยยังชีพ 7:96, ความปลอดภัยจากชัยฏอน 7:210, การซื่อสัตย์ต่ออิสลาม 30:31, คำสั่งแก่ท่านรอซูล 23:1, การศรัทธาต่อรอซูล 57:28, บรรยายลักษณะของนรก 39:16, บรรยายลักษณะของสวรรค์ 39:20, 73, การไม่ล้ำหน้าอัลลอฮฺและรอซูล 49:1, การตามท่านรอซูล 59:7, การเข้าใจชีวิตบนโลกดุนยา 47:36, การเชิญชวนของบรรดานบี 26:108, 110, 126, 131, 132, 144, 150, 163, 179, 184, การเชิญชวนของนบีนูหฺ 23:23, 71:3, การเชิญชวนของนบีฮูด 7:65, การเชิญชวนของนบีอิบรอฮีม 29:16, การเชิญชวนของนบีมูซา 7:128, การเชิญชวนของนบีอิลยาส 37:124, การเชิญชวนของนบีอีซา 3:50, 43:63


ด้านการปฏิบัติ ข้อบัญญัติ มารยาท

ความรู้ 2:282, การละหมาด 20:132, การถือศีลอด 2:183, การให้เกียรตินครมักกะฮฺ 5:2, หัจญ์ 2:196, 197, 203, การล่าสัตว์ของผู้ทำหัจญ์ 5:96, การเชือดสัตว์พลี 22:37, ความยุติธรรมและการเป็นพยาน 5:8,108, การสั่งเสียก่อนตาย 2:180, การสั่งเสียแก่ภรรยาที่ถูกหย่า 2:241, การใช้จ่าย 64:16, ดอกเบี้ย 2:278, 3:130, การจ่ายหนี้สิน 2:281, 282, อาหารการกิน 5:4, 88, 93, ของดีกับของไม่ดี 5:100, การปกปิดร่างกายด้วยเสื้อผ้า 7:26, การเข้าบ้าน 2:189, คำสั่งแก่ภรรยาท่านรอซูลและมารยาทการพูดของผู้หญิง 23:32, การปกปิดเอารัตของผู้หญิง 23:55, การพูดสิ่งที่ดี 23:70, มารยาทของมุอ์มิน การกล่าวหา การไม่ไว้วางใจ การนินทา 49:12, การกระซิบกระซาบ 58:9, การนอบน้อมและไม่หยิ่งยโส 28:83,


ด้านครอบครัว สังคม การเมือง การปกครอง สงคราม

การร่วมกับภรรยา 2:223, การหย่าร้าง 2:231, 65:1, การไกล่เกลี่ยระหว่างสามีภรรยา 4:128, ค่าดูแลบุตร 2:233, ครอบครัว เครือญาติ 4:1, การมีภรรยาหลายคน 4:129, 131, การระวังฟิตนะฮฺของภรรยาและบุตร 64:16, การเป็นพี่น้องของมุอ์มิน 49:10, การรับผิดชอบร่วมกันต่อสังคม 8:25, พวกรักร่วมเพศ 11:78, 15:69, การลงโทษฆาตกร 2:179, อาชญากรรม 2:194, 206, การสงคราม 3:123, การให้เกียรติเดือนต้องห้าม 9:36, การผูกสัมพันธ์กับผู้ปฏิเสธ 5:57, การแบ่งทรัพย์สงคราม 8:1, การใช้ทรัพย์สินที่ยึดจากสงคราม 8:69, การทำสัญญากับคู่สงคราม 9:4, 7, การอดทนต่ออุปสรรคในการทำงานเพื่ออิสลาม 16:127-128, การอดทนต่อการปะทะต่อสู้ทางความคิดและจิตวิทยา 3:120, 125, 184, การปะทะเผชิญหน้ากับความเท็จและบททดสอบ 3:172, 198, 200, การเป็นประชาชาติเดียวกัน 23:52


ดัชนี้ข้างบนนั้นชี้ให้เห็นว่า ถ้าคุณต้องการให้ชีวิตส่วนตัวประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านจิตวิญญาณและร่างกาย คุณต้องอาศัยตักวา(ความยำเกรง)เป็นตัวนำ ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จในเรื่องครอบครัว การดูแลภรรยาและลูกๆ คุณต้องมีตักวา(ความยำเกรง)อยู่ในใจ ถ้าคุณต้องการความสูงส่ง เป็นที่เชิดชูและมีเกียรติต่อหน้าประชาชาติอื่นๆ คุณไม่อาจมองข้ามตักวา(ความยำเกรง)ไปได้ ... ฯลฯ

ปัญหาทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องพลานามัย สุขภาพจิต ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ พฤติกรรมทางเพศ อาชญากรรม ฯลฯ สามารถใช้ ตักวา(ความยำเกรง)เพื่อแก้ไขได้ !!!

ช่างน่าทึ่ง ที่มีคำสั่งเกี่ยวกับ ตักวา(ความยำเกรง)ครอบคลุมทุกอิริยาบทของวิถีชีวิตมากมายเช่นนี้ กระนั้น เราทั้งหลายก็มิพักจะเข้าใจและนำคำสั่งเหล่านี้มาใช้จริงๆ น้อยคนนักที่มุ่งมั่นเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสอนของอัลลอฮฺและรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในการใช้คำสั่งตักวา(ความยำเกรง)อย่างจริงจัง ระยะห่างระหว่างประชาชาติมุสลิมกับชัยชนะและความสำเร็จจึงยังไกลโขอยู่อย่างน่าสงสารและน่าสมเพชยิ่ง

เรามีกุญแจแห่งชัยชนะและการรอดพ้นอยู่ในมือ แต่มองไม่เห็นคุณค่า จึงทิ้งขว้างไม่ใยดีมัน ทุกวันนี้จึงต้องกล้ำกลืนกับการถูกย่ำยีเหยียดหยาม และมีชีวิตอยู่ในจมปลักแห่งความแหลกเหลวอย่างสุดแสนขมขื่น มันคงจะเป็นเช่นนี้อีกนานตราบกระทั่งเราทั้งหมดสำนึกและปรับปรุงตัวเองอีกครั้ง เพราะจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นหากไม่ใช่เราเองที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง

«إِنَّ اللَّهَ لا يُغَيِّرُ مَا بِقَوْمٍ حَتَّى يُغَيِّرُوا مَا بِأَنْفُسِهِمْ»

“แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงหมู่ชนใด กระทั่งพวกเขาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในตัวพวกเขา”

(อัร-เราะอฺด์ : 11)

คำสั่งให้ตักวา(ความยำเกรง)คงเป็นเพียงคำสั่งเดียวที่อาจจะเป็นกุญแจมหัศจรรย์ เพื่อจะใช้ไขทางออกให้แก่ประชาชาติอิสลามที่ประสบกับความเพลี่ยงพล้ำและความเป็นจริงอันน่ารันทดในปัจจุบัน

แน่นอนที่สุด ไม่มีทางอื่นนอกจากต้องศึกษา “ตักวา”(ความยำเกรง) อย่างจริงจัง ตีความหมายของมันให้ชัดเจน อธิบายให้แจ่มแจ้งในทุกเรื่อง ตักเตือนซึ่งกันให้ทุกคนรับรู้ และปฏิบัติใช้มันอย่างแข็งขันให้มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด สมกับที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สั่งเสียกับเราว่า

“ท่านจงตักวา (ยำเกรง) ต่ออัลลอฮฺ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม”

(อัต-ติรมิซีย์ : 1987)

อย่างน้อยที่สุด “ตักวา” (ยำเกรง) ควรต้องเป็นจุดเริ่มต้นที่มุสลิมจะใช้วางแผนเป็นจุดสตาร์ทเพื่อการดั้นด้นสู่หลักชัยที่ยังอยู่อีกไกลข้างหน้า มันควรต้องถูกปลูกฝังในทุกอณูความรู้สึกนึกคิดและการปฏิบัติของพวกเรา รวมทั้งต้องถ่ายทอดให้อนุชนทุกรุ่นเปี่ยมด้วยพลังนี้ ถ้าหากเราหวังที่จะเห็นความสำเร็จและชัยชนะอีกครั้ง


โดย : ซุฟอัม อุษมาน

อัพเดทล่าสุด