มุสลิมใหม่จะปฏิบัติต่อพ่อแม่ต่างศาสนาอย่างไร?


18,477 ผู้ชม

สำหรับ คนที่เจอปัญหาพ่อแม่ไม่พอใจที่ตัวเองเข้ารับอิสลาม ลองอ่านเรื่องราวจากบทความนี้ดู เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยในการปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนซึ่งถือว่าเป็นผู้มีพระคุณสูงสุดในบรรดามนุษย์ด้วยกัน ...


มุสลิมใหม่จะปฏิบัติต่อพ่อแม่ต่างศาสนาอย่างไร?

อัลฮัมดุลิลละห์  คนที่เข้ารับอิสลามและไม่ถูกพ่อแม่ต่อต้านนั้นถือว่า เป็นผู้โชคดี แต่มิใช่ว่าทุกคนที่เข้ารับอิสลามจะโชคดีเช่นนั้นเสมอไป เพราะบางคนถูกพ่อแม่แอนตี้จนลำบากใจในการที่จะดำรงชีวิตมุสลิม ความจริงแล้ว เรื่องเช่นนี้มิใช่เพิ่งจะมีในปัจจุบัน หากแต่มีมานานแล้ว แม้แต่ในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัดเอง       

สำหรับ คนที่เจอปัญหาพ่อแม่ไม่พอใจที่ตัวเองเข้ารับอิสลาม ลองอ่านเรื่องราวจากบทความนี้ดู เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยในการปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนซึ่งถือว่าเป็นผู้มีพระคุณสูงสุดในบรรดามนุษย์ด้วยกัน         

ครั้งหนึ่ง แม่ของซะด์ บิน อบีวักกอศ สาวกคนหนึ่งของท่านศาสดามุฮัมมัด  สาบานว่านางจะไม่พูดกับเขาและนางจะไม่กินและไม่ดื่มจนกว่าเขาจะเลิกนับถืออิสลาม นางหยิบยกเอาคำสอนของอิสลามมากล่าวอ้างว่า “อัลลอฮฺได้สั่งเจ้าให้เชื่อฟังพ่อแม่ ฉันเป็นแม่ของเจ้า ดังนั้น เจ้าจะต้องเชื่อฟังฉัน”

หลังจากนั้น นางก็ทำตามที่นางได้กล่าวไว้ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงได้ประทานกุรอานต่อไปนี้ลงมาเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้มาเข้ารับอิสลามและประสบปัญหาดังกล่าวได้นำไปปฏิบัติ :         

“เราได้กำชับมนุษย์ให้ทำดีต่อพ่อแม่ของเขา แต่ถึงกระนั้น หากเขาทั้งสองบังคับให้สูเจ้าเคารพสักการะสิ่งใดควบคู่ไปกับฉันซึ่งสูเจ้าไม่มีความรู้ ก็จงอย่างเชื่อฟังทั้งสอง” (กุรอาน 29 : 8)       

นอกจากนี้แล้ว อัลลอฮฺยังได้ทรงกล่าวอีกว่า :          

“หากทั้งสองบังคับสูเจ้าให้นำสิ่งใดมาเป็นพระเจ้าร่วมกับฉันโดยที่สูเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น สูเจ้าจงอย่าได้เชื่อฟังเขาทั้งสอง แต่ถึงกระนั้นก็จงอดทนอยู่กับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำความดี” (กุรอาน 31:15)         

คัมภีร์กุรอานทั้งสองวรรคที่กล่าวมาข้างต้นนั้นพูดถึงเรื่องการปฏิบัติต่อพ่อแม่ที่มิใช่มุสลิมไว้อย่างชัดเจน เราจะต้องไม่คิดว่าการเชื่อฟังพ่อแม่ในเรื่องของการปฏิเสธพระเจ้าและเรื่องบาปเป็นสิ่งดีหรือเห็นว่าเป็นเรื่องของการทำความดีต่อพ่อแม่ สิทธิของอัลลอฮฺนั้นต้องมาก่อนใครอื่นใดเสมอสำหรับมุสลิม         

นอกจากนั้นแล้ว การเชื่อฟังก็มิได้หมายถึงการเข้าไปทำสิ่งต้องห้ามหรือสิ่งที่ละเมิดขอบเขตคำสั่งของอัลลอฮฺ ยิ่งในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมหลายศาสนาด้วยแล้ว ผู้ที่มาเข้ารับอิสลามจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในเทศกาลต่างๆซึ่งบางครั้งเราอาจจะมีความจำเป็นต้องกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ เช่น วันตรุษจีน วันคริสต์มาส วันสงกรานต์ ปีใหม่ หรือแม้แต่วันเวลาไทน์ที่คนไทยกระแดะทำเกินฝรั่งและอื่นๆ เทศกาลเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากความเชื่อทางศาสนาหรือไม่ก็จะมีเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น มุสลิมจึงไม่อาจไปเข้าร่วมได้เลย 

ดังนั้น ถ้าคิดว่าความศรัทธาเราไม่แข็งพอหรือเราไม่สามารถทนการรบเร้าของพ่อแม่ญาติพี่น้องให้ทำในสิ่งที่เกินขอบเขตของอิสลามก็ไม่ควรจะกลับไปพบปะพ่อแม่ญาติพี่น้องของตนในระหว่างเทศกาลดังกล่าว

อิสลาม อย่าตัดความสัมพันธ์กับพ่อแม่และญาติพี่น้อง         

ถึงจะถูกต่อต้านอย่างไรก็ตาม อิสลามก็ห้ามตัดความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

ประการแรก ขอให้เราตระหนักว่านี่คือการทดสอบจากอัลลอฮฺ เพราะอัลลอฮฺได้กล่าวไว้แล้วว่าพระองค์จะไม่ปล่อยให้ใครกล่าวว่าตัวเองเป็นผู้ศรัทธาโดยไม่ถูกทดสอบ 
และประการที่สอง ลองอ่านความหมายของกุรอาน 31:15

ข้างต้นดีๆ อีกทีหนึ่ง เราจะพบว่ากุรอานมิได้สั่งให้ “ตัดความสัมพันธ์” หากแต่สั่งว่า “จงอย่าเชื่อฟัง” ในเรื่องของการนำสิ่งใด

มาเป็นที่เคารพสักการะและวิงวอนควบคู่ไปกับอัลลอฮฺต่างหาก 

ส่วนในเรื่องอื่นๆ ที่เป็นการทำความดีต่อพ่อแม่ในชีวิตแห่งโลกนี้ เราก็ยังคงต้องปฏิบัติอยู่เหมือนเดิมและต้องดีกว่าเก่าด้วย เพราะพ่อแม่ของเรายังคงมีสิทธิ์เหนือเราอยู่ ดังนั้น เราจึงต้อง

รักษาความสัมพันธ์กับท่านไว้ให้ดีที่สุด         

ครั้งหนึ่ง อัสมาลูกสาวของอบูบักรฺเพื่อนสนิทของท่านศาสดามุฮัมมัด  ได้อพยพมายังมะดีนะฮฺกับพ่อของเธอ หลังจากการทำสัญญาฮุดัยบียะฮฺซึ่งทำให้มุสลิมสามารถไปมาหาสู่กันได้ แม่ของเธอได้มาเยี่ยมเธอที่มะดีนะฮฺ ก่อนที่จะเดินทางกลับ นางได้ขอของขวัญบางอย่างจากอัสมา แต่อัสมาไม่แน่ใจเพราะว่าแม่ของเธอเกลียดชังอิสลามและเป็นผู้บูชาเทวรูป เธอจึงไปหาท่านศาสดามุฮัมมัด  (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) และถามว่าเธอควรจะปฏิบัติตัวกับแม่ของเธออย่างไรและสามารถให้ของขวัญแก่แม่ของเธอได้หรือไม่ 

ท่านศาสดาได้ตอบว่า “ได้สิ และจงปฏิบัติกับแม่ของเธออย่างดี”       

สิ่งที่ดีที่สุดที่ลูกจะทำได้ในขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิต       

ผู้ที่มีพ่อแม่มิใช่มุสลิมสามารถที่จะวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺให้พ่อแม่ของตัวเองได้ อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า “ไม่เป็นการเหมาะสมสำหรับนบีและบรรดาผู้ศรัทธาที่จะวิงวอนขอพระเจ้าให้อภัยโทษแก่บรรดาผู้ตั้งภาคีถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นญาติสนิทก็ตามหลังจากที่ได้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นชาวนรก” (กุรอาน 9:13)   ที่กล่าวมานั้นหมายความว่า หลังจากที่พ่อแม่ของเราได้เสียชีวิตไปแล้วในสภาพที่มิใช่มุสลิม 

อย่างไรก็ตาม อิสลามก็อนุญาตให้ลูกชักชวนพ่อแม่มาสู่อิสลามในขณะที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิต  ในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด  (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) อบูฮุร็อยเราะฮฺสาวกของท่านคนหนึ่งได้มาเข้ารับอิสลาม แต่แม่ของเขายังคงเป็นผู้ปฏิเสธพระเจ้า ท่านได้พยายามที่จะชักชวนแม่ของเขาให้มาเข้ารับอิสลามอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคงเคารพและเชื่อฟังแม่มาโดยตลอด 

ครั้งหนึ่ง เมื่อเขาพยายามเชิญชวนแม่ให้มาสู่อิสลาม แต่แม่ของเขากลับกล่าวคำพูดที่ดูถูกท่านศาสดา อบูฮุร็อยเราะฮฺรู้สึกเจ็บปวดมาก ดังนั้น เขาจึงได้ไปหาท่านศาสดาและกล่าวว่า “ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ฉันพยายามทุกอย่างที่จะทำให้แม่ของฉันยอมรับอิสลาม แต่แม่ปฏิเสธตลอดเวลา วันนี้ เมื่อฉันขอให้แม่ศรัทธาในอัลลอฮฺผู้สูงส่ง แม่กลับไม่พอใจเป็นอย่างมากและพูดจาดูถูกท่านจนฉันต้องน้ำตาไหลเพราะทนไม่ได้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ โปรดวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้ทรงเปิดหัวใจของแม่ฉันให้มาสู่อิสลามด้วยเถิด” 

ท่านศาสดามุฮัมมัด  (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ได้ยกมือของท่านขึ้นทันทีและวิงวอนว่า “ข้าแต่อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ โปรดทรงนำทางแม่ของอบูฮุร็อยเราะฮฺด้วยเถิด” เมื่อได้ยินเช่นนั้น อบูฮุร็อยเราะฮฺก็ดีใจและได้กลับไปบ้านเมื่อเขามาถึงบ้าน เขาก็พบว่าประตูถูกปิดสลักอยู่ทางด้านใน แต่เขาได้ยินเสียงน้ำไหลซึ่งแสดงว่าแม่ของเขากำลังอาบน้ำอยู่ 

หลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว แม่ของเขาก็มาเปิดประตู และเมื่อเขาเข้าไปข้างในบ้าน แม่ของเขาก็กล่าวว่า “ลูกเอ๋ย อัลลอฮฺทรงได้ยินเจ้า จงเป็นพยานด้วยว่าแม่กล่าวชะฮาด๊ะฮฺ(คำปฏิญาณเข้ารับอิสลาม)” เมื่อได้ยินเช่นนั้น อบูฮุร็อยเราะฮฺก็ร้องไห้ออกมาด้วยยินดีและเขาได้ไปหาท่านศาสดาเพื่อบอกท่านว่าอัลลอฮฺได้ทรงรับคำวิงวอนของท่านแล้ว ท่านศาสดาได้สรรเสริญอัลลอฮฺและได้ให้ข้อแนะนำบางอย่างแก่อบูฮุร็อยเราะฮฺ 

หลังจากนั้นท่านก็วิงวอนต่ออัลลอฮฺว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ได้ทรงประทานความรักของอบูฮุร็อยเราะฮฺกับแม่ของเขาลงในหัวใจของมุสลิมที่แท้จริงทุกคนและขอพระองค์ทรงประทานความรักของมุสลิมที่แท้จริงทุกคนลงในหัวใจของคนทั้งสองด้วยเถิด”         

สรุปก็คือ ถ้าหากว่ามันไม่ใช่เรื่องของความเชื่อและเรื่องรากฐานของอิสลามแล้ว กฎที่จะต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่และญาติใกล้ชิดก็คือจงทำดีกับคนเหล่านั้นให้มากที่สุด การให้ความรักและการปฏิบัติด้วยดีต่อคนเหล่านั้นมิใช่แค่เพียงหน้าที่ของเราเท่านั้น หากแต่มันยังเป็นสิ่งที่จะทำให้คนเหล่านั้นยอมรับอิสลามด้วย นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำให้แก่พ่อแม่ของเราที่มิใช่มุสลิม

บทความโดย: อ.บรรจง บินกาซัน

อัพเดทล่าสุด