ตามหลักการอิสลาม ถูกต้อง หรือที่มุสลิมะฮฺออกมาทำงานนอกบ้าน?...
ตามหลักการอิสลาม ถูกต้อง หรือที่มุสลิมะฮฺออกมาทำงานนอกบ้าน?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
ตามหลักการอิสลามไม่ส่งเสริมให้มุสลิมะฮฺทํางานนอกบ้าน
ประเด็นแรก : เนื่องจากการทำงานนอกบ้านหรือผู้ที่แสวงหาปัจจัยยังชีพเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย หมายถึง สามี
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“ทุกๆ คนมีหน้าที่รับผิดชอบ และ ทุกๆ คนจะถูกสอบสวน จากความรับผิดชอบของเขาผู้นำที่รับผิดชอบ และหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่รับผิดชอบบุคคลภายในครอบครัวของเขา” (เล่าโดยอิบนุ อุมัร บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) เคยถูกถามเกี่ยวกับหน้าที่ของสามีที่มีต่อภรรยา ท่านรสูล (ซ.ล.) กล่าวตอบว่า
“ท่านจะต้องให้อาหารนางเมื่อท่านได้อาหาร และท่านจะต้องให้นางสวมเครื่องนุ่งห่มเมื่อท่านสวมเครื่องนุ่งห่ม”
(เล่าโดยมอาวิยะฮฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด และนะสาอีย์)
เมื่อหน้าที่การแสวงหาปัจจัยยังชีพเป็นหน้าที่ของฝ่ายสามีจึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่มุสลิมะฮฺจะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน
ประเด็นที่สอง : สถานที่ของมุสลิมะฮฺที่ดีที่สุดคือบ้านของนาง พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในอัล-กุรอานว่า
“และจงอยู่ในบ้านเรือนของพวกนางเถิดและอย่าโอ้อวดความงาม (ของพวกนาง) เช่นการโอ้อวดความงาม (ของพวกสตรี) แห่งสมัยงมงายในยุคก่อน” (ซูเราะฮฺอัล-อะหฺซาบ: 33)
พระองค์อัลลอฮฺไม่ส่งเสริมให้มุสลิมะฮฺออกนอกบ้าน กล่าวคือ เกรงว่าครั้นพอออกนอกบ้าน พวกนางจะโอ้อวดความงามของพวกนาง เนื่องจากสตรีในยุคญาฮิลียะฮฺ (ยุคงมงาย) ออกนอกบ้านเพื่ออวดความสวยงามของนาง และเปิดเผยส่วนที่ไม่สมควรจะเปิดเผย
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“และพวกท่านจงอย่าห้ามสตรีของพวกท่านไปมัสญิด (พวกนางปรารถนาที่จะไป) และบ้านเรือนของพวกนางดียิ่งสำหรับพวกนาง” (บันทึกโดยอบู ดาวูด และอะหฺมัด)
หะดีษข้างต้นบ่งชี้ว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) มิได้ห้ามสตรีมา ละหมาดที่มัสญิดหากนางประสงค์ ทว่าการที่นางละหมาดที่บ้านของนาง ถือว่าประเสริฐกว่า ทั้งนี้เกรงว่าจะเกิดฟิตนะฮฺระหว่างการเดินทางไป และกลับจากมัสญิด หรือเกิดการปะปนกันระหว่างชายหญิง สังเกตดูเถิดว่าการประกอบอิบาดะฮฺมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด กระนั้นก็ตามท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ยังส่งเสริมให้ บรรดามุสลิมะฮฺละหมาดที่บ้านของพวกนาง
- 6 ดุอาอฺเพิ่มพูนริสกีจากคัมภีร์อัลกุรอาน
- เรียนศาสนาแล้วจะไปทำอะไรกินหรือจะทำงานอะไร?
- ทำไมบางคนทำไม่ดี แต่กลับรวยมีริสกีนับล้าน
ส่วนกรณีที่ฝ่ายสามีไม่สามารถแสวงหาปัจจัยยังชีพให้เพียงพอ กับค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว เมื่อเกิดความจำเป็น ศาสนาก็อนุญาต ให้มุสลิมะฮฺทํางานนอกบ้านได้ แต่อย่างน้อยที่สุด การทำงานนอกบ้านของมุสลิมะฮฺจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้
63.1 ต้องได้รับอนุญาตจากสามีเสียก่อน
ซึ่งตามหลักการของศาสนาไม่อนุญาตให้ภรรยาฝ่าฝืนสามี ตราบเท่าที่สามีได้สั่งใช้ให้กระทำสิ่งที่ขัดกับหลักการของศาสนา แต่ถ้านางฝ่าฝืนสามีโดยออกไปทำงานนอกบ้านศาสนาถือว่านางมีความผิด
ท่านอบู ฮุรีอยเราะฮฺเล่าว่า :
“มีผู้ที่ถามท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ว่า ภรรยาประเภทใดดีที่สุด? ท่านรสูล (ซ.ล.) กล่าวตอบว่า ภรรยาที่ทุกครั้งเมื่อสามีมองยังนางแล้วเกิดความสุขใจ และภรรยาที่เชื่อฟังสามีเมื่อเขาสั่งใช้นาง และภรรยาที่ไม่ขัดแย้งสามีไม่ว่าจะเป็นตัวของนางและทรัพย์สินของเขาในสิ่งที่เขารังเกียจ” (บันทึกโดยนะสาอีย์)
63.2 จะต้องไม่แสดงตนให้เป็นจุดสนใจแก่เพศตรงข้าม
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“สตรีคือสิ่งจึงสงวน แท้จริงเมื่อนางออกจากบ้านของนาง ชัยฏอนจะเพ่งมองยังนาง และไม่ปรากฏว่านางจะใกล้ชิดยังพระองค์อัลลอฮฺมากไปกว่าภายในบ้านของนาง” (บันทึกโดยฏ็อบรอนีย์ ด้วยสายสืบที่ดี)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า “อุปมาสตรีที่แสดงอากัปกิริยา ยั่วยวนต่อบุรุษที่มิใช่สามีของนาง อุปมัยดั่งความมืดในวันกิยามะฮฺที่ไม่มีรัศมีใดแก่นางเลย” (บันทึกโดยติรฺมิซีย์)
โดยเฉพาะในปัจจุบัน แฟชั่นที่กำลังระบาดต่ออย่างดาษดื่น ย่อมสามารถกล่อมเกลาให้บรรดาสตรีหันมาสนใจในเรื่องความสวยความงามเป็นอันดับแรก และแฟชั่นปัจจุบันกำลังสอนให้บรรดาสตรี แสดงอากัปกิริยาที่ทำให้เพศตรงข้ามเกิดความพึงพอใจ อีกทั้งยังมีการแข่งขันกันในเรื่องการมีแฟนหลายๆ คนเพราะถือว่าเป็นความภาคภูมิใจและเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ หากจะกล่าวง่ายๆ ก็คือพวกนางถูกขัดเกลาจากสังคมให้ไร้ยางอายที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ นี่คือความเสื่อมทรามทางศีลธรรมอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม สตรีมุสลิมะฮฺมีวิถีชีวิตเยี่ยงผู้ปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะสตรีมุสลิมที่คิดว่าจะทำงานนอกบ้าน ท่านหญิงอาอิชะฮฺกล่าวไว้ว่า
“หากว่าท่านรสลลลอฮุ (ซ.ล.) เห็นสตรีในปัจจุบันนี้ เชื่อแน่ว่าท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) จะต้องห้ามพวกนางนอกบ้าน) หรือการออกนอกบ้านถูกห้ามสําหรับพวกนาง”
(บันทึกโดยบุคอรีย์ มุสลิม และอบู ดาวูด)
63.3 ไม่อนุญาตให้มุสลิมะฮฺทำงานร่วมกับผู้ชายสองต่อสองในห้อง และต้องหลีกเลี่ยงการปะปนกับผู้ชาย
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“พึงทราบเถิดไม่อนุญาตให้บุรุษกับสตรีอยู่ด้วยกันสองต่อสอง เว้นแต่ชัยฏอนจะเป็นบุคคลที่สาม”
(บันทึกโดยติรฺมีซีย์ และอะห์มัด)
63.4 ไม่อนุญาตให้ปะพรมน้ำหอมขณะออกนอกบ้าน หรืออยู่ร่วมกับบุรุษที่แต่งงานได้ที่สํานักงาน
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“สตรีใดที่ปะพรมน้ำหอมแล้วเดินผ่านชนกลุ่มหนึ่งเพื่อทําให้ พวกเขาได้กลิ่นน้ำหอมของนางเช่นนั้นแหละถือว่านางทำซินาแล้ว” (เล่าโดยอัชอะรีย์ บันทึกโดยอะหมัด, อบู ดาวูด, ติรฺมิซีย์ และนะสาอีย์)
63.5 มุสลิมะฮฺจำเป็นจะต้องปกปิดเอาเราะฮฺขณะทำงานนอกบ้าน
พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า “โอ้นบีเอ่ย เจ้าจงกล่าวแก่บรรดาภริยาของเจ้า และบุตรสาวของเจ้า และบรรดาสตรีของผู้ศรัทธา โดยให้พวกนางดึงเสื้อคลุมของพวกนางมาปิดตัวของนาง นั้นเป็นการเหมาะสมกว่าที่นางจะเป็นที่รู้จัก เพื่อพวกนางจะไม่ถูกรบกวน และพระองค์อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย และผู้ทรงเมตตาเสมอ” (ซูเราะฮฺอัล-อะหฺซาบ :59)
ท่านฏ็อบรอนีย์ รายงานจากอิบนุ อับบาส ซึ่งกล่าวเกี่ยวกับอายะฮฺข้างต้นว่า พระองค์อัลลอฮฺทรงสั่งใช้บรรดาสตรีผู้ศรัทธาว่า เมื่อพวกนางจะออกนอกบ้านให้พวกนางคลุมศีรษะ
การปกปิดเอาเราะฮฺของสตรีมุสลิมถือว่าจำเป็นตามหลักการของศาสนา ทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหรืออยู่ต่อหน้าบุรุษที่แต่งงานกับนางได้ ฉะนั้น หากสตรีมุสลิมต้องการจะทำงานนอกบ้านโดยไม่ปกปิดเอาเราะฮฺนั้นย่อมส่งผลเสียแก่นางทั้งในด้านศาสนาและสังคม
63.6 การทำงานนอกบ้านของมุสลิมะอจะต้องไม่ทำให้เกิดฟิตนะฮฺ
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“ฉันมิได้ทิ้งฟิตนะฮฺใดภายหลังจากฉัน ที่รุนแรงสำหรับผู้ชาย มากไปกว่าสตรี”
(เล่าโดยอุสามะฮฺ บันทึกโดยบุคอรีย์, มุสลิม และติรฺมิซีย์)