ชีวิตที่มีบารอกัตเป็นเช่นไร หากพิจารณาไตร่ตรองสภาพความเป็นอยู่ของคนดี นักวิชาการศาสนาที่เป็นแบบอย่างที่ดี ผู้ใฝ่หาความรู้และปฏิบัติศาสนะกิจอย่างสม่ำเสมอ ...
10 สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีบารอกัต ริสกีเพิ่มพูน
บารอกัต คือ ความจำเริญ ซึ่งบารอกัตจะมีมากในกิจการงานอันเกี่ยวกับการเชื่อฟัง (ฏออะฮ์) พร้อมหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความยำเกรง และประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างเคร่งครัด
ชีวิตที่มีบารอกัตเป็นเช่นไร หากพิจารณาไตร่ตรองสภาพความเป็นอยู่ของคนดี นักวิชาการศาสนาที่เป็นแบบอย่างที่ดี ผู้ใฝ่หาความรู้และปฏิบัติศาสนะกิจอย่างสม่ำเสมอ เราจะเห็นความจำเริญปรากฎเป็นร่องรอยในวิถีชีวิตของพวกเขานั้นได้เป็นอย่างดี ชีวิตที่มีความจำเริญสามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้โดยง่าย เช่น บางคนเป็นผู้มีความรู้น้อยนิด ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขตามอัตภาพอย่างเรียบง่าย
หากแต่เขายินดีที่จะเสียสละความสุขและเวลาของตนเองและครอบครัว เพื่อช่วยเหลืองานสังคมตามโอกาสที่อำนวย เช่นนี้จึงสามารถเรียกได้ว่า ชีวิตที่มีบารอกัต อีกทางตรงข้าม บางคนเป็นผู้มีความรู้มากมาย แต่สังคมไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้ของเขาเลย เช่นนี้สามารถเรียกได้ว่า ชีวิตไม่มีบารอกัต
อัลลอฮ์ ทรงเมตตาให้มีความจำเริญอยู่ในชีวิตของมุสลิม เพื่อให้เหมาะแก่การดำรงชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขสันติ บารอกัตสามารถอยู่ในหลากหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน คู่ครอง ความรู้ การเผยแผ่และเชิญชวนอิสลาม ยานพาหนะ บ้านพักอาศัย สติปัญญา ร่างกาย ญาติมิตรเพื่อนฝูง อื่นๆ และการที่มุสลิมขอให้ชีวิตของเขามีความจำเริญจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ
มาดู 10 สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีบารอกัต ริสกีเพิ่มพูน
1. มีความยำเกรง (ตักวา) ต่ออัลลอฮ์
อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำชีวิตไปสู่ความมีบารอกัต
ด้วยพระองค์ตรัสไว้ว่า “และถ้าหากว่าชาวเมืองเชื่อมั่นศรัทธาและเกรงกลัวอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ก็จะทรงเปิดประตูแห่งความดี (บารอกัต) ให้ทุกๆด้านจากชั้นฟ้าและแผ่นดิน” (ซูเราะฮ์อัลอะอ.รอฟ : อายะฮ.96)
2. การอ่านกุรอาน
เนื่องด้วยอัลกุรอานเป็นคำดำรัสของอัลลอฮ์ เป็นคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งประกอบไปด้วยคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม จึงเป็นคัมภีร์ที่มีบารอกัตอยู่อย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งเป็นยาของผู้ที่ป่วยทั้งทางกายและทางใจ นอกจากการอ่านอัลกุรอานในทุกๆการละหมาดแล้ว ต้องอ่านอัลกุรอานพร้อมกับศึกษาความหมายไปพร้อมๆกันเป็นประจำ ดังที่อัลลอฮ์ตรัสไว้ว่า
“ คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่าง ๆของอัลกุรอาน และเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ” (ซูเราะฮ์ศอด 38: อายะฮ์ 29)
3. การยกมือขอดุอาอ์ให้มากๆ ท่านนบีมุฮัมมัด ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ อาทิ ท่านขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ ขอให้มีความจำเริญในเรื่องต่างๆ เช่น ขอให้คู่บ่าวสาวมีบารอกัต โดยท่านกล่าวว่า “ขออัลลอฮ์ทรงประทานความจำเริญ ขอให้มีบารอกัตแด่ท่านและขออัลลอฮ์ทรงรวมท่านทั้งสองให้ชีวิตคู่อยู่ในความดีงาม” (บันทึกโดย ติรมิซีย์)
4. เมื่อมีทรัพย์อย่าตระหนี่ถี่เหนี่ยว
เมื่อใดก็ตามที่เราทำมาหากินหรือได้รับปัจจัยยังชีพเป็นเงินทองทรัพย์สินมาแล้ว อย่าทำตนเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ควรใช้จ่ายทรัพย์และแบ่งปันบริจาคทานตามกำลังความสามารถ ท่านนบีกล่าวกับท่านฮะกีม อิบนิ ฮะชามว่า
“โอ้ ฮะกีม ทรัพย์สินนั้นเขียวขจีหวานฉ่ำ ใครมีไว้และมีใจโอบอ้อมอารีแก่ผู้อื่น จะทำให้ทรัพ์และผู้เป็นเจ้าของมีบารอกัต แต่ถ้าผู้ใดมีทรัพย์ไว้ เพื่อทำตัวเด่นเหนือกว่าคนอื่น ทรัพย์นั้นและเจ้าของก็จะไม่มีบารอกัต เหมือนคนที่กินไม่รู้จักอิ่ม” (บันทึกโดย มุสลิม)
5. เมื่อทำธุรกิจซื้อขาย ต้องตรงไปตรงมาและมีสัจจะ
ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นแบบอย่างมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ในการค้าขายตามแบบฉบับของอิสลาม ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ค้าขายกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความจำเริญมากยิ่งขึ้น ดังที่ท่ากล่าวไว้ว่า
“ผู้ชื้อและผู้ขาย จะต้องให้มีการเลือกสินค้ากันได้ตราบใดที่ยังไม่ตกลงกัน ยังไม่แยกกันไป ถ้าหากทั้งสองมีสัจจะและนำเสนออย่างเปิดเผย การซื้อขายของทั้งสองก็จะมีบารอกัต แต่ถ้าหากทั้งปกปิดและกล่าวเท็จ การซื้อขายของทั้งสองนั้นก็จะไม่มีบารอกัต” (บันทึกโดย บุคอรีย์)
6. ปฏิบัติตนตามซุนนะฮ์ของท่านนบี โดยมีตัวอย่างหนึ่งจากการปฏิบัติตนตามแบบฉบับของท่านรอซูล โดยมีรายงานจากท่านญาบิร อิบนุ อับดุลลาฮ์ กล่าวว่า
ท่านรอซูลใช้ให้เลียนิ้วมือ (เก็บกินอาหารที่ติดนิ้ว) และจานที่ใส่อาหาร โดยท่านกล่าวว่า “พวกท่านไม่รู้หรอกว่า ในส่วนใดของอาหารมีบารอกัตอยู่” (ดังนั้น ต้องรับประทานให้หมด) (บันทึกโดย มุสลิม )
7. ไม่ขอจากผู้คนที่ทำมาหากินด้วยน้ำพักน้ำแรง
อิสลามส่งเสริมและสนับสนุนให้มุสลิมที่มีความรู้ความสามารถ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ทำมาหากินประกอบสัมมาอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ในทางตรงกันข้ามไม่สนับสนุนให้ผู้หนึ่งผู้ใด ขอทรัพย์สินเงินทองจากผู้อื่น ตามนัยยะนี้คือ อิสลามไม่ส่งเสริมให้มุสลิมเป็นมือล่างของใคร ตราบเท่าที่บุคคลนั้นมีความสามารถและคุณสมบัติดังกล่าวอยู่
8. จงหลีกห่างจากทรัพย์สินที่เป็นของต้องห้าม
ด้วยการดำเนินชีวิตตามครรลองของอัลอิสลาม จะต้องทำมาหากินเพื่อให้ได้ทรัพย์สินเงินทองและสิ่งอุปโภคต่างๆ (อาหารและเครื่องดื่ม) ซึ่งเป็นที่อนุมัติ (ฮะลาล) ตามข้อบัญญัติของอัลอิสลาม และเช่นเดียวกันอิสลามสอนให้เราหลีกเลี่ยง ห่างไกลจากการแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่ต้องห้าม (ฮะรอม) ตามข้อบัญญัติอิสลามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพราะหากเราจับจ่ายใช้สอยหรือบริโภคสิ่งที่ต้องห้าม (ฮะรอม)แล้ว ชีวิตเราก็จะไม่มีความจำเริญ
9. รักษาละหมาดวันละ 5 เวลา อย่าให้ขาดตกบกพร่อง เสาหลักประการสำคัญของอัลอิสลาม
รองจากการปฏิญาณตนว่าเป็นมุสลิมแล้ว คือการดำรงไว้ซึ่งการละหมาดฟัรฎูวันละ 5 เวลา ซึ่งนับว่าเป็นศาสนาบัญญัติที่ถูกบังคับเหนือมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เมื่อเข้าสูเกณฑ์บังคับที่จะต้องปฏิบัติศาสนากิจและมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์แล้ว เราจะต้องทำการละหมาดให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด อย่าให้ขาดตกบกพร่อง จวบจนร่างกายของเราหมดสภาพหรือความสามารถที่จะปฏิบัตได้แล้ว ตามข้อยกเว้นทางศาสนา
10. การขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์เป็นประจำและสม่ำเสมอ มนุษย์เมื่อเกิดมาและดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้จนกระทั่งตายลง ย่อมกระทำความดีและกระทำความผิดพลาดมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
สำหรับมุสลิมหากรู้ตัวว่า ได้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็น บาปเล็กหรือใหญ่ ก็ตามจะต้องขออภัยโทษและสำนึกผิดในสิ่งที่กระทำลงไปต่ออัลลอฮ์
แม้ในบางครั้งอาจไม่รู้ตัวว่าได้กระทำอะไรผิดลงไปบ้าง ดังนั้น อิสลามจึงสอนให้สำนึกผิดและขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยหวังในความเอ็นดูเมตตาจากพระองค์เท่านั้นที่จะให้อภัยโทษแก่เรา
ที่มา: www.islammore.com