ชิริกหมายถึงอะไร โทษของชิริก ดุอาให้พ้นจากชิริก


22,491 ผู้ชม

ชิริกหมายถึงอะไร ชิริกคือ การยึดถือยึดมั่นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มองเห็น หรือที่มองไม่เห็นที่มีอยู่แล้ว หรือที่คิดสร้างขึ้นมาว่า ....


ชิริกหมายถึงอะไร โทษของชิริก ดุอาให้พ้นจากชิริก

ชิริกหมายถึงอะไร ชิริกคือ การยึดถือยึดมั่นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มองเห็น หรือที่มองไม่เห็นที่มีอยู่แล้ว หรือที่คิดสร้างขึ้นมาว่า มีพลังอำนาจความสามารถที่ให้คุณประโยชน์หรือให้โทษต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยอำนาจของตนเอง โดยมิใช่เป็นอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า รวมไปถึงการกราบไหว้บูชาต่อสิ่งใด ๆ นอกเหนือจากพระผู้เป็นเจ้า เช่น การที่บุคคลใดเชื่อว่า ก้อนหิน ต้นไม้ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ฯลฯ สามารถให้คุณประโยชน์หรือ ให้โทษต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยอำนาจของตนเอง

อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า :

إِنَّ اللَّهَ لَا يَغْفِرُ أَنْ يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَلِكَ لِمَنْ يَشَاءُ وَمَنْ يُشْرِكْ بِاللَّهِ فَقَدِ افْتَرَى إِثْمًا عَظِيمًا

"แท้จริงอัลลอฮฺ จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้มีภาคีขึ้นแก่พระองค์ และพระองค์จะ ทรงอภัยให้แก่สิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่พระองค์แล้ว แน่นอนเขาก็ได้อุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวง" (ซุเราะห์ อันนิซาอฺ :48)

ศาสนาอิสลามถือว่า ชิริกหรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺนั้น เป็นความชั่วที่ร้ายแรงที่สุดและเป็นบาปที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบาปทั้งหลาย

ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

«أَلَا أُنَبِّئُكُمْ بِأَكْبَرِ الْكَبَائِرِ (ثَلَاثًا) قَالُوا بَلَى يَا رَسُولَ اللَّهِ قَالَ الْإِشْرَاكُ بِاللَّهِ» [البخاري ومسلم]

ความว่า “เอาไหมฉันจะบอกแก่พวกเจ้าถึงสิ่งที่เป็นบาปใหญ่ที่สุดในบรรดาบาปใหญ่ทั้งหลาย(สามครั้ง)?” เศาะหาบะฮฺตอบว่า “แน่นอน โอ้ท่านรอสูลุลลอฮฺ” ท่านได้ตอบว่า “(นั่นคือ)การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ”  [บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม]

ชิริกนั้นมีทั้งที่ร้ายแรงจนถึงขั้นที่ทำให้ออกนอกศาสนาและทำให้คนที่กระทำต้องตกนรกอย่างถาวรหากเขาตายในสภาพที่ทำชิริก

ชิริกหมายถึงอะไร โทษของชิริก ดุอาให้พ้นจากชิริก

ชิริกหรือการตั้งภาคี แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

1.ชิริกใหญ่

2.ชิริกเล็ก

ชิริกใหญ่ คือ การปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าเพียงองค์เดียว หรือการนำสิ่งอื่นมาเป็นหุ้นส่วนกับอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ปฏิเสธพระนาม คุณลักษณะของพระองค์ และ การให้สิทธิต่อสิ่งอื่นที่พึงมีแด่พระองค์เพียงผู้เดียว

ชิริกใหญ่ ได้แก่ การกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากการบูชา ต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เช่น การขอดุอาอฺต่อสิ่งอื่น นอกเหนือจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) การแสวงหาความใกล้ชิด ด้วยการเชือดหรือบนบานต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เช่น จากคนตายในกุบูร ญิน บรรดานบี และชัยฏอนต่างๆ หรือการกลัวผู้ที่ตายไปแล้ว ในการที่พวกต่าง ๆ เหล่านี้จะก่อให้ เกิดอันตราย หรือ ทำให้เขาป่วยไข้ได้ หรือ การมอบความหวังต่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกมันสามารถให้ได้เว้นแต่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อันได้แก่ การช่วยเหลือจากความต้องการต่าง ๆ หรือขอให้ขจัดความทุกข์โศกต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ปฏิบัติกันอยู่ในทุกวันนี้

อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

وَيَعْبُدُونَ مِنْ دُونِ اللَّهِ مَا لَا يَضُرُّهُمْ وَلَا يَنْفَعُهُمْ وَيَقُولُونَ هَؤُلَاءِ شُفَعَاؤُنَا عِنْدَ اللَّهِ قُلْ أَتُنَبِّئُونَ اللَّهَ بِمَا لَا يَعْلَمُ فِي السَّمَاوَاتِ وَلَا فِي الْأَرْضِ سُبْحَانَهُ وَتَعَالَى عَمَّا يُشْرِكُونَ

"และพวกเขาจะบูชาสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ ที่มิได้ให้โทษกับพวกเขา และมิได้ให้ประโยชน์กับ พวกเขา และพวกเขากล่าวอ้างว่า เหล่านี้คือผู้ช่วยเหลือเรา ณ อัลลอฮฺ จงกล่าวเถิด (มูฮำมัด) พวกท่าน จะแจ้งข่าวกับอัลลอฮฺด้วยสิ่งที่พระองค์ไม่รู้ในบรรดาชั้นฟ้าและ แผ่นดินกระนั้นหรือ พระองค์ทรงมหา บริสุทธิ์ และทรงสูงส่งเหนือสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี" (ซูเราะห์ ยูนุส :18)

ชิริก คือ การตั้งภาคีกับเอกภาพของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงขัดแย้งกับหลักการที่สำคัญที่สุดในอิสลาม คือ หลักการแห่งเตาฮีด (การยืน ยันเอกภาพของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)) ชิริกจึงถือว่า เป็นบาปที่ร้ายแรงที่สุดในอิสลาม

ดังนั้นการทำความเข้าใจในเรื่องของชิริกให้กระจ่าง แจ้งและชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ จึงเป็นสาระสำคัญของคำสอนอิสลาม

ชิริกเล็ก คือ ทุกสิ่งที่เป็นสื่อนำไปยังการทำชิริกใหญ่

ชิริกเล็กแบ่งได้อีก 2 ชนิด

1.การตั้งภาคีอย่างเปิดเผย คือ สิ่งที่ปรากฏออกมาเป็นคำพูดและการกระทำ เช่น การกราบต่อวัตถุ หรือสิ่งใด ๆ การบูชาต่อสิ่งใด ๆ การทำไสยศาสตร์ การเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ การเชื่อหรือนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งใดๆ การสาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

مَنْ حَلَفَ بِغَيْرِ اللَّهِ فَقَدْ كَفَرَ أَوْ أَشْرَكَ

"ใครก็ตามที่สาบานด้วยสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ แน่นอน เขาได้ทำการกุฟรฺหรือชิริกแล้ว"

(ติรมีซี สุนัน หมวดการสาบานและการบนบาน บรรพการบนบานที่น่ารังเกียจ เลขที่ :1455)

รายงานจากอิบนุอับบาสว่า

أَنَّ رَجُلًا قَالَ لِلنَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَا شَاءَ اللَّهُ وَشِئْتَ فَقَالَ لَهُ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجَعَلْتَنِي وَاللَّهَ عَدْلًا بَلْ مَا شَاءَ اللَّهُ وَحْدَهُ

"ได้มีชายคนหนึ่งกล่าวกับท่านท่านนบี (ซ.ล.) ว่า เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และท่านประสงค์ ท่านนบี (ซ.ล.) จึงกล่าวว่า ท่านได้ทำให้ฉันได้เท่าเทียมกับอัลลอฮฺ (ซ.บ.) กระนั้นหรือ? หากแต่ให้ท่าน กล่าวว่า เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ประสงค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น"

(อะหฺหมัด มุสนัด หมวดมุสนัดบะนีฮาชิม บรรพมุสนัดฟัฏลุบินอับบาส. เลขที่ : 1732)

ชิริกหมายถึงอะไร โทษของชิริก ดุอาให้พ้นจากชิริก

2. การตั้งภาคีอย่างซ่อนเร้น คือ การตั้งภาคีที่มีอยู่ภายในจิตใจ ที่ไม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากภายนอก ตนเองกับพระเจ้าเท่านั้นที่รู้ ได้แก่

- การ ยโสโอหัง หยิ่ง ลำพองตน เช่น การปฏิเสธความจริง เพราะกลัวเสียเกียรติ

- การโอ้อวด คือการทำให้ผู้อื่นเห็น ถึงความเด่น ความเก่ง ความโอ่อ่า อลังการ เพื่อให้ตนเองชื่นชมว่าเลอเลิศ และให้ผู้อื่นสรรเสริญเยินยอ

- การคุยโว คือการโอ้อวดด้วยคำพูด ว่าตนเอง พวกของตนดี เลอเลิศประเสริฐกว่าผู้อื่นในเรื่องใดๆทั้งหมด

- การลำพองตนภายในจิตใจ คือการคิดภายในจิตใจลึกๆโดยไม่แสดงให้ผู้ใดรับรู้ แต่คิดอยู่ในใจว่าเลิศกว่าผู้อื่น ในเรื่องใดๆก็ตาม

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า

قُلْ إِنَّمَا أَنَا بَشَرٌ مِثْلُكُمْ يُوحَى إِلَيَّ أَنَّمَا إِلَهُكُمْ إِلَهٌ وَاحِدٌ فَمَنْ كَانَ يَرْجُوا لِقَاءَ رَبِّهِ فَلْيَعْمَلْ عَمَلًا صَالِحًا وَلَا يُشْرِكْ بِعِبَادَةِ رَبِّهِ أَحَدًا

"จงกล่าวเถิด (มูหัมมัด)แท้จริงฉันเป็นเพียงสามัญชนคนหนึ่งเยี่ยงพวกท่าน ซึ่งมีวะฮียฺมายังฉัน แท้จริง พระเจ้าของพวกท่านนั้นคือ พระเจ้าองค์เดียวกัน ดังนั้นผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็ให้ประ กอบการงานที่ดี และอย่าตั้งภาคีในการเคารพภักดีต่อ พระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย" (อัล-กะฮฺฟี่ :110)

มีรายงานจากท่านมะหฺมูดบินดุบัยดฺท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

إِنَّ أَخْوَفَ مَا أَخَافُ عَلَيْكُمْ الشِّرْكُ الْأَصْغَرُ قَالُوا وَمَا الشِّرْكُ الْأَصْغَرُ يَا رَسُولَ اللَّهِ قَالَ الرِّيَاءُ

"สิ่งที่น่ากลัว ที่ฉันกลัวจะเกิดกับพวกท่านคือ ชิรกฺเล็ก พวกเขา (เศาะฮาบะฮฺ) ถามว่า “โอ้ร่อสู้ล ศ็อลลัล ลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมของ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา อะไรคือชิรกฺเล็ก” ท่านกล่าวว่า “คือการโอ้อวด (ริยาอฺ)"

(อะหฺหมัด มุสนัด หมวดมุนะดุลอันศอร บรรพหะดีษที่รายงานโดยมะหฺบินดุบัยดฺ เลขที่: 22528)

ทั้งหมดนี้คือ การทะนงตน หรือการยโสโอหัง ซึ่งเป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น เพราะความเลอเลิศประเสริฐ การสรรเสริญเยินยอทั้งหลาย เป็นของพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

- อัลลอฮฺจะไม่ทรงให้อภัย คนทำชิริก ในบรรดาบาปทั้งหลายนั้นชิริกคือบาปชนิดเดียวที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงให้อภัยนอกจากว่าผู้ที่ทำชิริกต้องทำการเตาบัตกลับเนื้อกลับตัวอย่างจริงจังและด้วยความบริสุทธิ์ใจ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغۡفِرُ أَن يُشۡرَكَ بِهِۦ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ وَمَن يُشۡرِكۡ بِٱللَّهِ فَقَدِ ٱفۡتَرَىٰٓ إِثۡمًا عَظِيمًا ٤٨ ﴾ [النساء: ٤٨] 

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้มีภาคี ขึ้นแก่พระองค์และพระองค์ทรงอภัยให้แก่สิ่งอื่นจากนั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮฺแล้วแน่นอนเขาก็ได้อุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวงขึ้น” [สูเราะฮฺอัน-นิซาอฺ อายะฮฺที่ 48]

 ﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغۡفِرُ أَن يُشۡرَكَ بِهِۦ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ وَمَن يُشۡرِكۡ بِٱللَّهِ فَقَدۡ ضَلَّ ضَلَٰلَۢا بَعِيدًا ١١٦ ﴾ [النساء: ١١٦] 

 ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้เป็นภาคีกับพระองค์  แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ประสงค์  และผู้ใดให้มีภาคีขี้นแก่อัลลอฮฺแล้ว  แน่นอน  เขาก็ได้หลงทางไปแล้วอย่างไกล”  [สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 116]

-  ความดี ผลบุญกลายเป็นผุยผง นอกจากอัลลอฮฺจะไม่ให้อภัยแล้ว การงานความดีที่ทำมาแม้ว่าจะมากมาย ใหญ่โต ขนาดไหน ก็มลายหายไปกลายเป็นผุยผงได้ ถ้าทำชิริก ดังที่ อัลลอฮฺได้กล่าวแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

﴿ وَلَقَدۡ أُوحِيَ إِلَيۡكَ وَإِلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكَ لَئِنۡ أَشۡرَكۡتَ لَيَحۡبَطَنَّ عَمَلُكَ وَلَتَكُونَنَّ مِنَ ٱلۡخَٰسِرِينَ ٦٥ ﴾ [الزمر: ٦٥] 

ความว่า “และโดยแน่นอน ได้มีวะฮียฺ(วิวรณ์)มายังเจ้า (มุหัมมัด) และมายังบรรดาคนก่อนหน้าเจ้า ว่า หากเจ้าตั้งภาคี (กับอัลลอฮฺ) แน่นอนการงานของเจ้าก็จะไร้ผล และแน่นอนเจ้าจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน” [สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัรฺ 65]

และอัลลอฮฺได้ตรัส ความว่า

﴿ وَقَدِمۡنَآ إِلَىٰ مَا عَمِلُواْ مِنۡ عَمَلٖ فَجَعَلۡنَٰهُ هَبَآءٗ مَّنثُورًا ٢٣ ﴾ [الفرقان: ٢٢] 

ความว่า “และเรามุ่งสู่ส่วนหนึ่งของการงานที่พวกเขา(บรรดาผู้ตั้งภาคี)ได้ปฏิบัติไป แล้วเราจะทำให้มันไร้คุณค่ากลายเป็นละอองฝุ่นที่ปลิวว่อน” [สูเราะฮฺ อัล-ฟุรกอน 23]

ชิริกหมายถึงอะไร โทษของชิริก ดุอาให้พ้นจากชิริก

  • ดุอาให้พ้นจากชิริก

اللَّهُمَّ إِنِّي أَعُوذُ بِكَ أَنْ أُشْرِكَ بِكَ وَأَنَا أَعْلَمُ ، وَأَسْتَغْفِرُكَ لِمَا لا أَعْلَمُ 

คำอ่าน:  อัลลอฮุมมะอินนี อะอูซุบิก้า อันอุชริก้า บิก้า วะอาน่าอะลัม วะอัสตัฆฟิลุก้า ลิมาลาอะลัม

ความหมายดุอาให้พ้นจากชิริก : โอ้อัลลอฮฺ ข้าพเจ้าขอความคุ้มครองด้วยพระองค์ท่าน จากการตั้งภาคีกับพระองค์ท่านทั้งๆที่ข้าพเจ้ารู้ และขอความอภัยโทษจากพระองค์ท่านในสิ่ง(การตั้งภาคี)ที่ข้าพเจ้า(ทำโดย)ไม่รู้”

 ที่มา: www.warasatussunnah.net  , www.islammore.com

เรียบเรียงโดย: สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ / islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด