ไปทำฮัจย์ อุมเราะห์ แต่มีหนี้สินอยู่ ไปได้หรือไม่?


38,711 ผู้ชม

อยากไปทำฮัจย์มากแต่ว่ามีหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระสามารถไปทำฮัจย์ได้ไหม ถ้าไปก็รู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกโกหกตัวเอง....


การประกอบพิธีฮัจย์ เป็นหลักการที่ 5 ของรุก่นอิสลาม อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 97

ความว่า : และสำหรับอัลลอฮฺ (มีบทบัญญัติ) เหนือบรรดามนุษย์ คือการทำฮัจย์ ณ บัยตุลลอฮฺ สำหรับผู้ที่มีความสามารถเดินทางไปได้

หมายถึงว่า มุสลิมที่มีสุขภาพแข็งแรง สติปัญญาสมบูรณ์ มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายโดยมิต้องเป็นหนี้สินและเดือดร้อนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ และเส้นทางที่จะเดินทางไปจะต้องปลอดภัย

ไปทำฮัจย์ อุมเราะห์ แต่มีหนี้สินอยู่ ไปได้หรือไม่?

การไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่นครมักกะฮ์ อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต คือ ความฝันของมุสลิมทุกๆ คน และอีกหนึ่งฝัน คือการไปประกอบพิธีอุมเราะห์ ทั้งนี้ กรณีอุมเราะห์ สามารถเดินทางไปได้ตลอดทั้งปี แต่การประกอบพิธีฮัจย์ จะมีช่วงระยะเวลาที่กำหนดชัดเจน

คำถาม :  อยากไปทำฮัจย์มาก เนื่องจากได้รับเงินพิเศษหรือโบนัสมา พอที่จะสามารถเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำฮัจย์ได้ตามราคาที่เขากำหนดทั่วๆ ไป แต่ว่ามีหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระสามารถไปทำฮัจย์ได้ไหม ถ้าไปก็รู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกโกหกตัวเอง จะต้องบอกเจ้าหนี้อย่างไร และภาคผลบุญที่เราตั้งใจนั้นจะถูกต้องตามหลักของศาสนาหรือไม่?

ตอบโดย: อาลี เสือสมิง

กรณีการไปทำฮัจย์ของผู้มีหนี้สินนั้น สามารถไปกระทำฮัจย์ได้ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

1. ให้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  (พินัยกรรมหรือคำสั่งเสีย-วะซียะฮฺ)  เอาไว้ถึงส่วนที่เป็นภาระหนี้สินนั้นว่ามีอะไรบ้าง  โดยให้มีพยานรับรู้ในการทำบันทึกนั้น

2. ให้มอบหมาย  (เตากีล)  ผู้ทำหน้าที่แทนในการชำระหนี้สินนั้นโดยเฉพาะหนี้สินที่จำต้องชำระในขณะนั้น  ถือว่า การมอบหมายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น  (วาญิบ)  และถือเป็นเรื่องที่ส่งเสริมให้กระทำ  (มันดูบ)  ในกรณีของหนี้สินที่ผ่อนชำระตามกำหนดเวลา

3. ให้บอกกล่าวและขออนุญาตผู้เป็นเจ้าหนี้ในการเดินทางไปทำฮัจย์ หากผู้เป็นเจ้าหนี้อนุญาต  ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเมื่อกระทำเงื่อนไข  2  ประการแรกที่กล่าวมา  

ไปทำฮัจย์ อุมเราะห์ แต่มีหนี้สินอยู่ ไปได้หรือไม่?

แต่ถ้าไม่อนุญาตก็ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามในการเดินทาง  แต่การประกอบพีธีฮัจย์นั้นถือว่า ใช้ได้  ถ้ากระทำครบถ้วนตามหลักพิธีกรรมที่กำหนดไว้  เพียงแต่การเดินทางในกรณีนี้เป็นสิ่งที่มีโทษ  

นักวิชาการระบุว่า  "หากผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจย์มีภาระหนี้สินที่จำต้องชำระในขณะปัจจุบันโดยผู้นั้นมีความสามารถจะชำระหนี้สินได้  ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิห้ามไม่ให้ผู้นั้นออกเดินทางและกักเขาเอาไว้ได้  และถ้าหากผู้นั้นเป็นผู้ขัดสน  ผู้เป็นเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิร้องขอผู้นั้น  (เพราะจำเป็นที่เจ้าหนี้ต้องประวิงเวลาหรือผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้)  และผู้นั้น (ลูกหนี้)  มีสิทธิเดินทางโดยไม่ต้องคำนึงถึงความพอใจของเจ้าหนี้ได้  

และทำนองเดียวกันถ้าหากหนี้สินเป็นประเภทผ่อนชำระ  (مُؤَجَّلٌ)  ลูกหนี้ก็มีสิทธิเดินทางได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความพอใจของเจ้าหนี้ได้  แต่ส่งเสริมให้ลูกหนี้อย่าเดินทางจนกว่าจะมอบหมายผู้ทำหน้าที่  (ว่ากีล)  ในการชำระหนี้แทนตนเสียก่อนเมื่อครบกำหนดการชำระหนี้  "

(กิตาบ  อัลอีฎอฮฺ  ฟี  มะนาซิก  อัลฮัจญ์  วัลอุมเราะฮฺ  ; อิหม่ามอันนะวาวีย์  , มักตะบะฮฺ  อัลอิมดาดียะฮฺ  มักกะฮฺ  (1996)  หน้า  49-50

ที่มา:  alisuasaming.org

เรียบเรียงโดย: สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ 

 https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/22522

อัพเดทล่าสุด