ประโยชน์ทางการแพทย์ของการละหมาดตะรอเวียะห์ แท้จริงการละหมาดตะรอเวียะห์นั้นสามารถส่งผลดีต่อมนุษย์ทั้งทางสุขภาพกาย จิตใจและอารมณ์ได้เป็นอย่างดี...
ประโยชน์ละหมาดตะรอเวียะห์ ผลดีที่หลายคนอาจยังรู้!
ตะรอเวียะห์ คือ การละหมาดยามค่ำคืนที่มุสลิมผู้ศรัทธาส่วนใหญ่มักปฏิบัติกันอย่างคร่ำเคร่งตลอดช่วงเดือนรอมฎอน โดยปกติมุสลิมจะละหมาดตะรอเวียะห์กันอย่างน้อย 8 รอกะอัตในแต่ละคืน ละหมาดตะรอเวียะห์จึงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจที่ต้องอาศัยความอดทนในการเปลี่ยนท่วงท่าอิริยาบถสลับกับการฟังอิหม่ามอ่านอัลกุรอานอย่างตั้งใจเป็นระยะเวลานาน
Dr. Ibrahim B. Syed ประธานมูลนิธิเพื่องานวิจัยอิสลามนานาชาติได้เผยแพร่งานงานเขียนหัวข้อ “ประโยชน์ทางการแพทย์ของการละหมาดตะรอเวียะห์” ในเว็บไซต์ IRFI งานวิจัยดังกล่าวค้นพบความจริงที่น่าสนใจว่า แท้จริงการละหมาดตะรอเวียะห์นั้นสามารถส่งผลดีต่อมนุษย์ทั้งทางสุขภาพกาย จิตใจและอารมณ์ได้เป็นอย่างดี
ตะรอเวียะห์ส่งผลดีต่ออารมณ์และจิตใจ
Dr. Ibrahim กล่าวว่า แท้จริงแล้วการละหมาดตะรอเวียะห์ที่มุสลิมเราปฏิบัติกันนั้นมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการออกกำลังกายเบาๆ มันเป็นการช่วยปรับสมดุลทางด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เราจึงได้รับประโยชน์ทั้งทางสรีระและจิตใจเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย
นอกจากนี้การละหมาดตะรอเวียะห์ยังช่วยให้เรารู้สึกเหมือนสุขภาพดีมีพลังมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความวิตกกังวลและความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้า ส่งผลดีต่ออารมณ์ ทำให้รู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองและเพิ่มความมั่นใจ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะการจำในผู้ใหญ่ที่ได้จากการฟังอัลกุรอานเป็นประโยคซ้ำๆ บ่อยๆ อีกด้วย
เหตุผลหนึ่งของความสงบทางจิตใจที่เราได้รับจากการละหมาดตะรอเวียะห์นั้นมาจากการที่สมองของเราเกิดการตอบสนองทางเคมี โดยมันได้ทำงานประสานกันกับกิจกรรมเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่เราทำซ้ำๆ ผนวกกับการได้ยินประโยคจากอัลกุรอานที่อิหม่ามกล่าวนำละหมาดซ้ำๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
การออกกำลังกายในรูปแบบกิจกรรมอื่นเช่นการนั่งสมาธิหรือการละหมาดนั้นช่วยให้ร่างกายเกิดการหลั่งของสารสื่อประสาทต่างๆ เช่นสารเอ็นโดฟินส์และสารเอ็นเคฟาลินส์ ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อสมองของร่างกายทั้งสิ้น การหลั่งของสารเอ็นเคฟาลินส์และเบต้าเอ็นโดฟินส์ทำปฏิกิริยาต่อระบบประสาทนอกส่วนกลางที่ช่วยในการบรรเทาความเจ็บปวด จึงส่งผลให้เกิดความสงบในจิตใจ
เอ็นเคฟาลินส์คือสารที่มีลักษณะคล้ายฝิ่นที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติและขึ้นชื่อว่าทรงอำนาจที่สุด ในขณะที่สารเอ็นโดฟินส์มีผลช่วยในการระงับความเจ็บปวด ช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดจากความตึงเครียด จึงทำให้ร่างกายของเรารู้สึกเคลิบเคลิ้ม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอีกด้วย
ตะรอเวียะห์ให้ความผ่อนคลาย
Dr. Ibrahim ระบุในงานวิจัยของเขาด้วยว่าการละหมาดตะรอเวียะห์นั้นช่วยในการตอบสนองด้านการผ่อนคลายของสมอง การตอบสนองด้านการผ่อนคลายคือทฤษฎีที่คิดค้นโดยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด Dr. Herbert Benson ที่ศึกษาวิจัยด้านผลกระทบของความเชื่อด้านจิตและวิญญาณต่อสุขภาพกาย งานวิจัยของ Dr. Benson จึงเปรียบเสมือนสะพานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงศาสนากับการแพทย์และจิตใจกับร่างกายเข้าไว้ด้วยกัน
งานวิจัยของ Dr.Benson ระบุว่า การกล่าวคำหรือประโยคทวนซ้ำอย่างต่อเนื่องดังที่เราปฏิบัติกันขณะละหมาดหรือนั่งสมาธิ หรือระหว่างปฏิบัติกิจกรรมเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในรูปแบบใดก็ตาม กอปรกับการไม่ใส่ใจต่อความคิดที่คร่ำเครียดที่อาจรุมเร้าเข้ามา เหล่านี้จะสามารถช่วยลดอัตราความดันเลือดและควบคุมการเต้นของหัวใจและการหายใจได้ Dr. Benson กล่าวด้วยว่า “การตอบสนองด้านการผ่อนคลายคือการที่สภาพร่างกายได้พักผ่อนอย่างจริงจัง จนสามารถปรับเปลี่ยนการตอบสนองของร่างกายและอารมณ์ต่อความเครียดได้ดีขึ้น” การตอบสนองด้านการผ่อนคลายจึงทำให้จิตใจรู้สึกสงบผ่อนคลาย ช่วยลดผลกระทบจากความเครียดและเพิ่มทัศนคติที่ดีด้านการเปิดใจยอมรับได้มากยิ่งขึ้น
แม้ว่า Dr.Benson จะไม่ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการละหมาดตะรอเวียะห์หรือการละหมาดอื่นๆ ในอิสลามโดยตรง เนื่องจากท่านได้ศึกษาเกี่ยวกับการนั่งสมาธิของนักโยคะมากกว่า แต่ทฤษฎีของท่านก็สามารถสอดคล้องกับการอธิบายถึงประโยชน์ด้านการบำบัดบรรเทาของการละหมาดตะรอเวียะห์และการรำลึกถึงพระเจ้า (ซิกรุลลอฮฺ) ที่ชาวมุสลิมประพฤติปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งงานวิจัยที่สามารถหยิบยกมาอ้างอิงได้ ณ ที่นี้คืองานวิจัยหัวข้อ “ผลของการละหมาดตะรอเวียะห์ต่อสุขภาพจิตและการควบคุมตนเอง” โดย Assoc.Prof. Quadri Syed Javeed หัวหน้าแผนกจิตวิทยาจาก M.S.S. Art’s Commerce & Science College ประเทศอินเดีย งานวิจัยของท่านได้ค้นพบว่าการละหมาดตะรอเวียะห์สามารถยกระดับสุขภาพจิตใจและทักษะการควบคุมตนเองอย่างได้ผลจริง ท่านได้ทำการวิจัยด้วยการตรวจสุขภาพจิตของกลุ่มผู้เข้าร่วมที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปี จำนวน 50 ราย ทั้งก่อนและหลังการละหมาดเพื่อนำไปประมวลผล ปรากฎว่าเป็นไปตามสมมุติฐานที่วางไว้และได้ข้อสรุปจากการวิจัยว่า การละหมาดตะรอเวียะห์นั้นสามารถผลดีต่อสุขภาพจิตใจและจิตวิญญาณได้จริง
ตะรอเวียะห์กับกิจกรรมทางสมอง
งานวิจัยที่บ่งบอกว่าการละหมาดตะรอเวียะห์สามารถส่งผลดีต่อสุขภาพจิต คือ งานวิจัยโดย Brick Johnstone นักประสาทจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิสซูรี่ และงานวิจัยของ Andrew Newberg จากศูนย์วิจัย Myrna Brind
งานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาถึงกิจกรรมทางสมองของแม่ชีชาวคริสต์และนักบวชชาวพุทธในระหว่างปฏิบัติธรรม ผลการวิจัยพบว่าในขณะปฏิบัติธรรมสมองส่วนกลีบข้างด้านขวาของมนุษย์จะลดการทำงานลงอย่างเห็นได้ชัด สมองกลีบข้างด้านขวาคือส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของสมองที่อยู่ใกล้สมองส่วนหลัง ซึ่งทำหน้าที่คำนวณตำแหน่งที่ว่าง เป็นสมองส่วนที่รับผิดชอบความรู้สึกของตนเอง
ในช่วงการละหมาดหรือนั่งสมาธิ สมองส่วนกลีบข้างด้านขวาจะกลายเป็นดินแดนโอเอซิสอันนิ่งเงียบและเฉื่อยชา “มันจะปรากฏภาพเบลอของความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้อื่น และหากยิ่งดื่มด่ำกับตรงนั้นลึกเข้าไปอีกก็จะทำให้ความรู้สึกเพื่อตัวเอง ความรู้สึกเป็นพรรคพวกกัน ความรู้สึกไร้ขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดก็จะหายออกไปโดยสิ้นเชิง”
การลดกิจกรรมของสมองกลีบข้างด้านขวาจะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกไม่เห็นแก่ตัว และความรู้สึกไม่เห็นแก่ตัวนี่เองที่ช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพจิตเป็นผลตามมา โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อพระเจ้าที่ตนนับถือ
งานวิจัยชิ้นนี้ได้ข้อสรุปว่า “แม้แต่ละคนจะมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าหรืออำนาจเบื้องบนหลากหลายรูปแบบต่างกันไป แต่เราทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาหรือความเชื่อใดก็ตาม ล้วนต่างมีประสบการณ์กับความสัมพันธ์เหล่านั้นในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น”
แม้การทำงานของสมองในขณะปฏิบัติกิจกรรมด้านจิตวิญญาณยังคงเป็นเนื้อหาที่มีงานวิจัยไม่กว้างขวางนัก แต่งานศึกษาวิจัยของ Johnstone และ Newberg ตลอดจนทฤษฎีตอบสนองด้านการผ่อนคลายของ Benson และการอธิบายถึงกลไกการทำงานของระบบสารสื่อประสาทในร่างกายของ Syed ก็สามารถเป็นคำตอบให้กับประเด็นศึกษาที่ว่าแท้จริงแล้วการละหมาดทั่วไปและการละหมาดตะรอเวียะห์ในเดือนรอมฎอนของมุสลิมนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพใจและจิตวิญญาณได้จริง
และแม้ว่าปัจจุบันเราจะยังคงหาคำตอบมาอธิบายในส่วนของคำถาม “อย่างไร” ได้ไม่มากนัก แต่กระนั้นการละหมาดตะรอเวียะห์ในเดือนรอมฎอนและการละหมาดห้าเวลาในแต่ละวันของชาวมุสลิมก็ยังคงมีข้อดีให้เห็นอย่างกระจ่างชัดเจน ที่ต่อให้ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน ความดีงามในบัญญัติแห่งพระเจ้าก็ยังคงมอบประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ได้ไม่ลดน้อยแต่อย่างใด
ดังเช่นที่อัลลอฮ (ซ.บ.) ได้ทรงสัญญากับมวลมนุษย์แล้วว่า
ٱلَّذِينَ ءَامَنُوا۟ وَتَطْمَئِنُّ قُلُوبُهُم بِذِكْرِ ٱللَّهِ ۗ أَلَا بِذِكْرِ ٱللَّهِ تَطْمَئِنُّ ٱلْقُلُوبُ
“บรรดาผู้ศรัทธา และจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮเท่านั้นที่ทำให้จิตใจสงบ” (อัร-เราะอฺดุ : 28)
- ส่วนหนึ่งจากเรื่องประหลาดใจ ในเดือนรอมฎอน
- 7 อารมณ์ของมนุษย์ นัฟซู วิธีต่อสู้กับนัฟซู
- การเตรียมความพร้อมสู่เดือนรอมฎอน
- ทำไมอิสลามต้องมีการถือศีลอด? คำถามที่คนสงสัยมากที่สุด
- 11 สิ่งที่คุณควรทำในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน
- หะดีษปลอม! ผลบุญการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ 30 คืนในเดือนรอมฎอน
- วิธีการถือศีลอด ข้อห้าม การถือศีลอด
- อย่าขี้เกียจ ละหมาดตะรอเวียะห์ เพราะได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด!
- การถือศีลอดของผู้เดินทาง เนียตไม่ถือศีลอดได้ไหม?
- ลืมเหนียตถือศีลอด จนเข้าเวลาซุบฮิ ทำไงดี?
- เผลอกินหรือดื่ม โดยลืม เสียศีลอดหรือไม่?
ที่มา: www.halallifemag.com