มุสลิมสูบกัญชาคลายเครียด ได้หรือไม่?


4,207 ผู้ชม

การสูบกัญชาเป็นครั้งคราวเช่นเมื่อรู้สึกเครียดจะทำได้หรือไม่...


การสูบกัญชาเป็นครั้งคราวเช่นเมื่อรู้สึกเครียดจะทำได้หรือไม่?

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

กัญชาเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะเรียกในชื่อกัญชา มารีฮวนนา หรือชื่ออื่น ๆ ก็ตาม 

อิบนุ ฮะญัร อัลหัยตะมี กล่าวไว้ในหนังสือ ฟะตาวา อัลฟิกฮิยฺยะฮ์ (4/233) ท่านได้พูดเกี่ยวถึงกับกัญชาไว้ดังนี้ 

หลักฐานสำหรับการห้ามปรากฏในรายงานจากอิมามอะหมัดใน มุสนัดของท่าน และจากอบูดาวุดใน สุนันของท่านด้วยสายรายงานที่เชื่อถือได้จาก อุมมุสะลามะฮ์ (ขออัลลอฮทรงพึงพอใจเขา) กล่าวว่า “ท่านศาสนทูตได้ห้ามทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาและขาดสติ” นักวิชาการอิสลามกล่าวว่า การขาดสติคืออาการง่วงนอนและแขนขาเฉื่อยชา หะดีษนี้เป็นการบ่งชี้ว่ากัญชาเป็นสิ่งที่หะรอม เพราะมันทำให้มึนเมาและเคลิบเคลิ้มขาดสติ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่สูบกัญชาถึงนอนมาก อัลเกาะรอฟีและอิบนุตัยมิยะฮ์รายงานว่ามีมติเอกฉันท์ว่ามันหะรอมและกล่าวด้วยว่าใครก็ตามที่ถือว่าหะลาลแน่แท้เขาได้กลายเป็นผู้ปฏิเสธศาสนา ท่านกล่าวว่า เหตุผลที่อิมามมัซฮับทั้งสี่ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาพวกเขา) มิได้กล่าวถึงมัน ก็เนื่องมาจากในยุคของพวกเขากัญชายังไม่เป็นที่รู้จัก แต่มันปรากฏขึ้นในโลกมุสลิมเมื่อตอนท้ายของศตวรรษที่หกและช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่เจ็ดเมื่อรัฐของพวกตาร์ตาร์ปรากฏขึ้นมา 

มุสลิมสูบกัญชาคลายเครียด ได้หรือไม่?

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮ์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวไว้ในฟะตาวา อัลกุบรอ(3/425) ว่า การสูบกัญชาเป็นสิ่งที่หะรอมอย่างชัดเจน และนับเป็นพืชหะรอมที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะบริโภคมันเพียงเล็กน้อยหรือมากก็ตาม 

การบริโภคสิ่งที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ว่าพวกเขาจะบริโภคในรูปแบบใดก็ตาม 

อัลอัลลามะฮฺ อิบนุกอศิม อัชชาฟิอีย์ กล่าวว่า สิ่งที่หมายถึงการดื่มคือการบริโภค ไม่ว่ามันจะเป็นการดื่มหรือบริโภคในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นมติเอกฉันท์ว่าต้องห้ามหรือมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่ามันจะเป็นของแข็ง ของเหลว ดิบ ๆ หรือมีการปรุง 

ชะรีอะฮ์ห้ามการบริโภคยาเสพติดและสิ่งมึนเมาเนื่องมันเป็นอันตรายต่อ ความคิด สติปัญญา จิตวิญญาณ ครอบครัวและสังคมโดยรวม 

สำหรับความเครียดและความวิตกกังวล ท่านจงมั่นใจเถิดว่ามันไม่อาจบำบัดได้ด้วยการสูบกัญชาและบริโภคสิ่งหะรอมอื่นๆ อัลลอฮฺไม่ทรงวางการบำบัดให้แก่ประชาชาตินี้ในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามไว้ ในหะดีษที่บันทึกโดยมุสลิม(3670) ฏอริก บินสุวัยด์ อัลญุอฟีได้ถามท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)เกี่ยวกับเหล้า ท่านนบีได้ห้ามไว้และห้ามไม่ให้ผลิต เขากล่าวว่า “แต่ฉันผลิตมาเพื่อเป็นยารักษา” ท่านนบีตอบว่า “แท้จริง มันไม่ใช่ยา แต่มันคือโรค” 

หากท่านต้องการกำจัดความวิตกกังวล เราขอแนะนำท่านด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

1. ดุอาอฺขอการอภัยโทษด้วยด้วยความตระหนัก

2. อาบน้ำละหมาดและละหมาด เพราะสิ่งนี้เป็นวิธีการที่สำคัญที่ช่วยคนหนึ่งให้มีความอดทนในการรับมือกับตวามยุ่งยากและปัดเป่าความวิตกกังวล 

3. การรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก ๆ เพราะนี่เป็นวิธีการที่มั่นใจได้ว่าบรรลุถึงสันติและความสงบ

4. เศาะลาวาตให้แก่ท่านนบี((ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)มาก ๆ ในสุนันอัตติร์มิซีย์(2381) เล่าว่า อุบัยย์ (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) กล่าวว่า “ฉันกล่าวว่า โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันได้กล่าวเศาะละวาตให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก ดังนั้นจะให้ฉันทำการดุอาอฺแก่ท่านเท่าไหร่ดี?”

ท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)ตอบว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิด”

อุบัยย์กล่าวว่า “ฉันกล่าวว่า หนึ่งในสี่(ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันได้ขอดุอาอฺ) ”

ท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตอบว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิด แต่ถ้าหากท่านเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน”

ฉันจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ครึ่งหนึ่ง(ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันขอดุอาอฺ)”

ท่านนบี( ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิด หากท่านกระทำเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน”

ฉันกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก็สองในสาม(ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันได้ขอดุอาอฺ)”

ท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)ได้กล่าว “ท่านจงทำตามที่ท่านปรารถนาเถิด หากท่านกระทำเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน”

ฉันกล่าวว่า “ฉันจะทุ่มเทการดุอาอฺ(หรือการศ่อละวาต)ของฉันในช่วงเวลาทั้งหมดนั้นมีให้แด่ท่าน”

ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ในขณะนั้นท่านจะถูกปลดเปลื้องความโศกเศร้าและบาปของท่านจะได้รับการอภัยโทษให้ (อัลอัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษที่ดี(หะสัน)) 

นอกจากนี้แล้ว ทางเลือกหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงความเครียดความกังวลเท่าที่จะเป็นไปได้มากที่สุด หากว่าเป็นความเครียดความกังวลเกี่ยวกับอนาคต เช่นจะใช้ชีวิตอย่างไร ท่านจะต้องคิดต่ออัลลอฮฺในแง่บวกและไว้วางใจต่อพระองค์อย่างบริสุทธิ์ใจ พระองค์ตรัสไว้มีความหมายว่า 

“และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว" [อัฏเฏาะลาก 65:3] 

ขออัลลอฮฺโปรดทรงช่วยเหลือพวกเราให้ทำความดีด้วยความง่ายดาย

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

ที่มา :Islamqa.Info

อัพเดทล่าสุด