เนียตอาบน้ำละหมาด คำกล่าวอาบน้ำละหมาด เงื่อนไขการอาบน้ำละหมาด 7 ประการ


54,494 ผู้ชม

เนียตอาบน้ำละหมาด คำกล่าวอาบน้ำละหมาด เงื่อนไขการอาบน้ำละหมาด 7 ประการ


เนียตอาบน้ำละหมาด คำกล่าวอาบน้ำละหมาด เงื่อนไขการอาบน้ำละหมาด 7 ประการ

การอาบน้ำละหมาดแปลตามศัพท์ศาสนา หมายถึง การใช้น้ำในอวัยวะที่ถูกเจาะจงไว้ โดยเริ่มจากการเหนียต

การอาบน้ำละหมาดได้ถูกวางบทบัญญัติมาในค่ำคืนอิสเราะ เมียะอฺรอจญ์พร้อมกับการละหมาด ก่อนที่ท่าน นบีจะอพยพ ในช่วงแรกการอาบน้ำละหมาดถือเป็นวายิบเมื่อจะทำละหมาดทุกๆครั้ง ต่อมาฮุก่มดังกล่าวได้ถูกยกเลิกกลายเป็นวายิบจะต้องอาบน้ำละหมาดเมื่อมีฮะดัส

เงื่อนไขการอาบน้ำละหมาด 7 ประการ

1.จะต้องเป็นมุสลิม

2.จะต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว

3.จะต้องรู้วิธีการอาบน้ำละหมาด

4.จะต้องมั่นใจว่ามีฮะดัส

5.น้ำจะต้องเป็นน้ำมุตลัก

6.ต้องไม่มีสิ่งที่มากันน้ำกับอวัยวะที่อาบน้ำละหมาด เช่น ขี้เล็บ พลาสเตอร์แปะแผล เป็นต้น

7.ต้องไม่มีสิ่งที่มาห้ามการอาบน้ำละหมาด เช่นเฮด เป็นต้น

เนียตอาบน้ำละหมาด คำกล่าวอาบน้ำละหมาด เงื่อนไขการอาบน้ำละหมาด 7 ประการ

เงื่อนไขที่เพิ่มมาสำหรับผู้ที่มีเหตุจำเป็น

สำหรับผู้ที่มีเหตุจำเป็น เช่น ผู้ที่มีปัสสาวะกระปริดกระปรอย หรือ ผู้ที่มีเลือดอิสติฮาเดาะห์ เป็นต้น การอาบน้ำละหมาดของเขาจะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มมาอีก 3 ข้อ คือ

1.จะต้องเข้าเวลาละหมาดก่อน

2.จะต้องขจัดนะยิสที่ออกมา ได้แก่ปัสสาวะและเลือดให้หมดและต้องป้องกันไม่ให้ไหลออกมาอีกด้วยกับสำลีหรือผ้าอนามัยก็ใช้ได้

3.จะต้องต่อเนื่องกันระหว่างการขจัดนะยิสและการอาบน้ำละหมาด และการอาบน้ำละหมาดต้องต่อเนื่องกันหลังจากนั้น ให้รีบละหมาดทันที [หมายเหตุ ทั้ง 3 ข้อนี้ จะต้องปฏิบัติทุกครั้งที่จะละหมาดฟัรดู]

เนียตอาบน้ำละหมาด คำกล่าวอาบน้ำละหมาด ฟัรดูของการอาบน้ำละหมาดมี 6 ประการ

1.เหนียต[การเหนียตินั้นวายิบในทุกๆอิบาดะห์ ยกเว้นการอาบน้ำมัยยิต ไม่ต้องมีเหนียติก็ได้] คือ การมุ่งทำสิ่งหนึ่งพร้อมทั้งลงมือทำสิ่งนั้น ให้เหนียติอาบน้ำละหมาดตอนที่น้ำถูกส่วนหนึ่งส่วนใดของใบหน้า และมีสุนัตให้กล่าวคำนำเหนียติดังนี้

نَوَيْتُ الْوُضُوْءَ فَرْضًا عَلَيَّ للهِ تَعَالَى

ให้เหนียตว่า ข้าพเจ้าอาบน้ำละหมาดซึ่งเป็นฟัรดูเหนือข้าพเจ้าเพื่ออัลลอฮ์ตะอาลา

2.ล้างใบหน้าให้ทั่วเขตของใบหน้า เขตของใบหน้าก็คือตั้งแต่ชายผมที่หน้าผากจนถึงใต้คางและช่วงระหว่างติ่งหูทั้งสองข้าง   และ ถ้าหากมีขนในเขตใบหน้า วายิบต้องล้างขนดังกล่าวจนถึงผิวหนังใต้ขนนั้น

ส่วนเคราของผู้ชายที่หนา[หมายถึงเคราที่ผู้ที่อยู่ต่อหน้าเขาไม่สามารถเห็นผิงหนังใต้เครานั้นได้] และขนที่แก้มที่หนา ให้ล้างแต่เพียงภายนอกเท่านั้น ต่างกันกับเคราของผู้หญิงถึงแม้ว่ามันจะหนาก็ตาม วายิบต้องล้างเข้าไปถึงผิงหนังใต้เครานั้น [เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงจะไม่มีเครา]

วายิบจะต้องล้างผิวหนังที่อยูใกล้บริเวณใบหน้า เช่น ที่ชายผม ที่ใต้คาง ที่ลำคอข้างใบหน้าเป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าการล้างใบหน้านั้นทั่วจริงๆ

3.ล้างแขนทั้งสองข้างพร้อมทั้งข้อศอก หากเขาไม่มีข้อศอก ก็ให้พิจารณาล้างเขตที่น่าจะเป็นข้อศอกโดยเปรียบเทียบกับคนปกติที่รูปร่างใกล้เคียงกับเขา

วายิบต้องล้างขน และก้อนเนื้อที่งอกออกมาจากแขนของเขา และวายิบล้างเล็บจนถึงส่วนที่อยู่ใต้เล็บ และนิ้วมือที่เกินมา หากใต้เล็บมีขี้ไคล ก็วายิบต้องเอาออกให้หมด

4.เช็ดบางส่วนของศีรษะ หรือเช็ดบางส่วนของผมที่อยู่ในเขตศีรษะเมื่อดึงผมลงมาด้านล่าง ไม่ว่าหญิงหรือชาย หากเขาใช้การล้างแทนการเช็ดก็ถือว่าใช้ได้ [เพราะถือว่าการล้างนั้นมันทั่งถึงกว่าการเช็ด]

5.ล้างเท้าทั้งสองข้างพร้อมทั้งตาตุ่มทั้งสอง และวายิบต้องล้างขน เนื้อที่งอกออกมาจากเท้า หรือนิ้วเท้าที่เกินมา และถ้าหากเท้าของเขาไม่มีตาตุ่ม ก็ให้พิจารณาล้างเขตที่น่าจะเป็นตาตุ่มโดยเทียบกับคนที่รูปร่างใกล้เคียงกับเขา

6. เรียงตามลำดับตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อห้า

เนียตอาบน้ำละหมาด คำกล่าวอาบน้ำละหมาด เงื่อนไขการอาบน้ำละหมาด 7 ประการ

สุนัตต่างของการอาบน้ำละหมาด

1.กล่าว “อะอูซุบิ้ลลาฮิมินัชชัยตอนิ้รร่อญีม บิ้ลมิ้ลลาฮิ้รเราะห์มานิ้รร่อฮีม” ในตอนเริ่มอาบน้ำละหมาด คือกล่าวในขณะล้างมือทั้งสองข้าง

2.ล้างมือทั้งสองจนถึงข้อมือ ก่อนที่จะบ้วนปาก หากล้างมือหลังจากบ้วนปากไปแล้ว ถือว่าไม่ได้สุนัตของการล้างมือ

3.บ้วนปากหลังจากล้างมือทั้งสอง

4.สูดน้ำเข้าจมูกหลังจากบ้วนปาก

5.เช็ดให้ทั่วศีรษะ [ส่วนการเช็ดบางส่วนของศีรษะนั้นเป็นวายิบ]

6.เช็ดใบหูทั้งสองข้าง ทั้งภายนอกและ ภายใน ด้วยกับน้ำใหม่ที่ไม่ใช่รอยเปียกจากการเช็ดศีรษะ วิธีการเช็ด ให้เอานิ้วชี้แหย่เข้าไปในรูหู แล้ววนนิ้วชี้ตามกลีบหูให้ทั่ว แล้วลากนิ้วหัวแม่มือที่ใบหูด้านนอก หลังจากนั้นให้เอามือทั้งสองข้างประกบที่หูทั้งสอง เพื่อให้การเช็ดหูนั้นทั่วถึง

7.ใช้นิ้วมือสางเคราที่หนาของผู้ชาย วิธีที่ดีที่สุด ให้สางเคราจากทางด้านล่าง

8.สางนิ้วมือและนิ้วเท้า สำหรับนิ้วที่น้ำสามารถเข้าได้โดยไม่ต้องสาง แต่หากน้ำไม่สามารถเข้าถึงได้ วายิบต้องสาง

วิธีการสาง ให้สางนิ้วมือทั้งสองโดยเอามือซ้ายทับลงบนหลังมือขวา แล้วเอานิ้วมือซ้ายสางในซอกนิ้วหลังมือขวา แล้วสลับกันและสางนิ้วเท้าทั้งสองโดยเอานิ้วก้อยมือซ้ายสอดเข้าช่องนิ้วก้อยเท้าขวา  แล้วดึงขึ้นเรียงตามลำดับจนถึงช่องนิ้วก้อยเท้าซ้าย

9.ให้ล้างข้างขวาก่อนข้างซ้าย สำหรับอวัยวะที่ต้องล้างทีละข้าง

10.ล้างและเช็ดอย่างละ สามครั้ง

11.ทำน้ำละหมาดแบบต่อเนื่อง กล่าวคือ การล้างหรือเช็ดแต่ละอวัยวะจะต้องต่อเนื่องกัน ไม่ทิ้งช่วงกันนาน โดยที่อวัยวะที่ถูกล้างแล้วจะต้องยังไม่แห้ง ก่อนที่จะล้างอวัยวะถัดไป

12.ล้างให้เกินเขตใบหน้าและแขน ขา  [ส่วนที่ล้างเกินมานั้นจะเป็นรัศมีในวันกิยามะห์ในตอนที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากหลุมกุโบร์]

13.การถูอวัยวะต่างๆในตอนที่ล้าง

14.อย่าพูดคุย หากไม่มีเหตุจำเป็นในขณะที่กำลังอาบน้ำละหมาดอยู่

15.อย่าซับน้ำออกจากอวัยวะที่อาบน้ำละหมาด

16.ให้ละหมาด 2 ร่อกาอัตหลังจากอาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว  [ โดยให้เหนียตว่า “ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตหลังจากอาบน้ำละหมาด เพื่ออัลลอฮ์ตะอาลา” แล้วละหมาด 2 ร่อกาอัตเหมือนละหมาดทั่วไป]

17.เมื่ออาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว  ให้ผินหน้าไปทางกิบละห์พร้อมยกมือขึ้นดุอา  ดังต่อไปนี้:

اَشْهَدُ اَنْ لاَّ اِلَهَ اِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَشَرِيْكَ لَهُ / وَاَشْهَدُ اَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ / اَللَّهُمَّ اجْعَلْنِيْ مِنَ التَّوَّابِيْنَ/ وَاجْعَلْنِيْ مِنَ اْلمُتَطَهِّرِيْنَ/ وَاجْعَلْنِيْ مِنْ عِبَادِكَ الصَّالِحِيْنَ/سُبْحَانَكَ اللَّهُمَّ وَبِحَمْدِكَ/ اَشْهَدُ اَنْ لاَّ اِلَهَ اِلاَّ اَنْتَ/ اَسْتَغْفِرُكَ وَاَتُوْبُ اِلَيْكَ / وَصَلَّى اللهُ عَلَى سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ /وَعَلَى اَلِهِ وَصَحْبِهِ وَسَلَّمَ / وَالْحَمْدُللهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ

ประการต่างๆที่มักโระห์ในการอาบน้ำละหมาด

1.ใช้น้ำอาบน้ำละหมาดอย่างฟุ่มเฟือย

2.ทำข้างซ้ายก่อนข้างขวา

3.ทำเกิน 3 ครั้ง

4.ขอความช่วยเหลือผู้อื่นให้มาล้างอวัยวะให้โดยไม่มีเหตุจำเป็น

5.บ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกลึกเกินไปสำหรับผู้ที่ถือศีลอด

เนียตอาบน้ำละหมาด คำกล่าวอาบน้ำละหมาด เงื่อนไขการอาบน้ำละหมาด 7 ประการ

เหตุที่ทำให้เสียน้ำละหมาด มี 5 ประการ

1.มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกมาจากทวารหนักหรือทวารเบา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ออกมาตามปกติ หรือไม่ปกติก็ตาม เช่น ปัสสาวะ เลือด เป็นต้น หรือไม่ว่าสิ่งที่ออกมาจะเป็นน่ายิสหรือไม่ก็ตาม เช่นพยาธิ เป็นต้น ยกเว้น น้ำอสุจิที่ออกมาโดยไม่มีการสัมผัสฝ่ามือกับอวัยวะเพศ

2.นอนหลับโดยก้นไม่แนบชิดกับพื้นที่ตนนั่ง เช่นนอนตะแคง นอนหงาย เป็นต้น

3.หมดสติด้วยเหตุเป็นลม เป็นบ้า ป่วย หรือเมา

4.การกระทบกันระหว่างชาย หญิง ด้วยกับผิวหนังโดยไม่มีของกั้น ซึ่งชายหญิงนั้นซาเราะอฺยอมให้แต่งงานกันได้  และมีความรู้สึกทางเพศแล้วทั้งคู่ 

ส่วนการกระทบที่ไม่เสียน้ำละหมาด คือ ผู้ที่ห้ามแต่งงานด้วย  1.พ่อแม่  ลูกของลูก  ถัดๆ  ขึ้นหรือถัดๆ  ลงไป 2.พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน  หรือร่วมพ่อ หรือร่วมแม่เดียวกัน 3.ลูกของพี่น้อง  หรือลูกของลูกพี่น้อง  ถัด ๆ ไป   4.พี่น้องของพ่อหรือของแม่  5.แม่ยายกับลูกเขย  พ่อผัวกับลูกสะใภ้  6.ลูกเลี้ยง  หรือลูกของลูกเลี้ยง ถัดๆ ไป 7.ผู้ที่ดื่มนมร่วมกัน

5.กระทบทวารหนักหรือทวารเบา  ของตนเองหรือคนอื่น  คนเป็นหรือคนตาย  จะติดอยู่ที่ร่างกายหรือจากไปแล้วก็ตาม  ด้วยฝ่ามือโดยปราศจากของกั้น

ข้อห้ามสำหรับผู้ไม่มีน้ำละหมาดมี  3  ประการ

1.ห้ามละหมาดทั้งฟัรดูและสุนัต

2.ห้ามตอว้าฟ ทั้งฟัรดูและสุนัต

3.ห้ามจับ กระทบ  ทูน  ถือ  พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน  เว้นแต่ในกรณีคับขัน  เช่น  ตกอยู่ที่น่ายิสทางเดิน  ไฟจะไหม้ หรือสถานที่อันไม่สมควร  เป็นต้น [ส่วนการที่เด็กที่รู้เดียงสาที่ไม่มีน้ำละหมาดได้กระทบกุรอ่านในตอนที่เรียนกุรอ่านถือว่าอนุญาต ]

ที่มา:  ilmulfik.blogspot.com

อัพเดทล่าสุด