มุสลิมควรจะตอบแทนบุญคุณแม่ได้อย่างไร?


18,070 ผู้ชม

สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา มุสลิมสามารถทดแทนบุญคุณแม่ได้อย่างไร?


มุสลิมควรจะตอบแทนบุญคุณแม่ได้อย่างไร?

“สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา” มุสลิมสามารถทดแทนบุญคุณแม่ได้อย่างไร?

ความกตัญญูต่อบิดา มารดา ลูกที่ดีจงปฏิบัติทำดีต่อท่านทั้งสอง เชื่อฟังคำสั่งสอน พูดจาอ่อนน้อม ไพเราะ ต่อท่านทั้งสอง ถึงแม้ว่าท่านทั้งสองจะไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว ก็จงทำความดี เป็นคนดีตามคำสอนของท่าน ความดีของเราก็จะส่งผลบุญไปหาบิดามารดาของเราด้วยเช่นกัน ลูกๆ จงตระหนักอยู่เสมอว่า สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา จงทำดีต่อท่าน อย่าทำให้ท่านทั้งสองต้องเสียใจ

ความเห็นเกี่ยวกับการตอบแทนคุณพ่อแม่จากอาจารย์หลายท่าน

“อ.อาลี เสือสมิง” ครูใหญ่ ร.ร.มัจลิซุดดีนี

“ตอบแทนพ่อแม่ได้โดยการเป็นลูกที่ดีที่ซอและห์ คำจำกัดความมันมากกว้าง ลูกที่ดีของแม่และเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ เป็นลูกที่ดีของแม่แต่เป็นบ่าวที่เลวของอัลลอฮฺก็ไม่ได้ เป็นบ่าวที่ดีแต่เป็นลูกที่ไม่ดีก็ไม่ได้ ทั้งสองอย่างต้องควบคู่กัน ส่วนรายละเอียดก็มีมากมายเป็นเรื่องสากลที่รับรู้กัน”

อ.ไฟซ้อล ลีวัน ครูสอนศาสนา ร.ร.มัจลิซุดดีนี (ประธานสมาพันธ์ศิษย์เก่าอัล-อัซฮัรโลก)

“ ถ้าเราจะพูดกันกว้างๆ คือ การเชื่อฟัง ปฏิบัติตามนั่นคือคำกว้างๆ ที่เมื่อพูดถึงบิดามารดาอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ผิดต่อหลักการ แล้วเราปฏิบัติตามทั้งหมดนั่นคือเท่ากับเราทดแทนและทำให้เขาได้สบายใจ ในเรื่องของที่เขาใช้เราบอกเราแนะนำเรานี่คือง่ายที่สุดเรื่องกว้างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีอะไรก็แล้วแต่”

บทความที่น่าสนใจ

อ.สมยศ หวังอับดุลเลาะ หัวหน้าภาควิชาอิสลามศึกษาเพื่อการพัฒนา ม.กรุงเทพธนบุรี

“ศาสนาอิสลามได้ให้ความสำคัญต่อบิดามารดาเป็นอย่างยิ่ง ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะห์อัลอิสรออฺ อายะห์ที่ 23 ความว่า

“ และพระเจ้าของเจ้ามีบัญชาว่า สูเจ้าอย่าสักการะสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์เท่านั้น และจงปฏิบัติดีต่อบิดามารดา และเมื่อใดในทั้งสองหรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้าท่านอย่ากล่าวแก่ท่านทั้งสองว่า “อุฟ” และอย่าขูเข็ญท่านทั้งสองและจงพูดแก่ท่านทั้งทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน ”

และท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) กล่าวว่า “สวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา” จากคำสอนดังกล่าวชี้ให้ว่าศาสนาอิสลามได้ให้ความสำคัญต่อบิดามารดา โดยเฉพาะมารดาต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมารดามีความผูกพันและได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อยกับลูกมากมาย นับตั้งแต่การตั้งครรภ์นานถึงเก้าเดือน ต้องเจ็บปวดในช่วงคลอด หลังจากนั้นต้องให้ดื่มนมจากเต้านมของแม่ซึ่งเป็นน้ำนมที่บริสุทธิ์ แม่ได้เลี้ยงดูทารกน้อยอย่างถนุถนอมให้ความรักให้ความอบอุ่นจนกว่าจะเจริญเติบโต เติบใหญ่เป็นหนุ่มสาว ส่วนผู้เป็นพ่อก็ต้องลำบากตรากตรำหาเงินหารายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว

เมื่อลูกเจริญเติบโตขึ้นลูกจะต้องมีจิตสำนึกที่ตอบแทนบุญคุณของแม่ นึกถึงค่าน้ำนมที่เคยดื่มกิน นึกถึงตักนุ่มๆ ที่เคยหนุนอน นึกถึงสอนแขนแม่ที่แกว่งไกวเปลให้ลูกได้หลับอย่างมีความสุขแม้ว่าจะต้องทนทุกข์ทรมานบ้างแต่ก็ไม่เคยบ่น แม่จะไม่ยอมนอนจนกว่าลูกน้อยจะหลับลง ดังนั้นผู้เป็นลูกจะต้องทดแทนบุญคุณแม่โดยการปฏิบัติดีต่อท่าน เชื่อฟังท่า อย่าทำให้ท่านเสียใจ ช่วยท่านทำงานแบ่งเบาภาระ

และเมื่อท่านเจ็บป่วยหรือแก่ชราต้องเฝ้าดูแลท่าน เลี้ยงดูท่านเป็นพิเศษ คอยป้อนน้ำป้อนอาหารป้อนยาให้ท่าน ให้กำลังใจท่าน อยู่ใกล้ชิดท่านจนกว่าท่านจะสิ้นลมปราณ หลังจากแม่เสียชีวิตแล้วหน้าที่ของลูกยังไม่จบสิ้นลูกจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งเสียของแม่ หมั่นขอดุอาให้ท่านอยู่เสมอ ติดต่อและเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับเครือญาติใกล้ชิด การปฏิบัติดีต่อพ่อแม่และไม่เคยทำให้ท่านทั้งสองต้องเสียใจจะทำให้ชีวิตของลูกมีความจำเริญ

ในทางตรงกันข้ามหากผู้ใดทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจพระองค์อัลลอฮฺจะไม่ทรงตอบรับอะมั้ลคุณงามความดีของเขา ดุอาอฺของเขาจนกว่าท่านทั้งสองจะอภัยให้ ดังที่ท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) กล่าวว่า

“ ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของบิดามารดา และความกริ้วของอัลลอฮฺนั้นขึ้นอยู่กับความกริ้วโกรธของบิดามารดา” ดังนั้นการตอบแทนบุญคุณบิดามารดาไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ลูกทุกคนต้องหมั่นความดีต่อท่านทั้งสอง ดูแลท่านทั้งสอง เชื่อฟังท่านทั้งสอง อย่าทำให้ท่านเสียใจ และสวรรค์จะอยู่ไม่ไกลตัวท่านหรอก “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าฝ่าเท้ามารดา”

อ.นัจญมี ใบกาเด็ม (ลีวัน) ครูสอนศาสนา ร.ร.มัจลิซุดดีนี

“เป็นสิ่งที่ชัดเจนที่อิสลามเน้นหนัก เรื่องของบุญคุณพ่อแม่ เราไม่ได้กล่าวถึงแม่อย่างเดียวแต่บุญคุณของพ่อแม่ อิสลามต้องตระหนักตรงนี้เพื่อที่ไม่ให้เราละทิ้งเพราะท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กให้เราเติบโต เฝ้าดูเราเพื่อที่จะเห็นเราประสบความสำเร็จแต่นับวันท่านก็แก่ตัวลง ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำอะไรให้ท่านได้เราต้องทำทุกวิถีทาง คือการเอาใจใส่ดูแลไม่ใช่การตะคอก บางคนพ่อแม่อยู่ใกล้ตัวอาจจะเกิดความรู้สึกแบบรำคาญยิ่งพ่อแม่คนแก่ต้องเอาใจใส่ให้มากๆ ถ้าพ่อแม่อยู่ไกลก็ไปหาท่านบ้าง

ยุคนี้เป็นยุคเทคโนโลยี โทรศัพท์ก็เห็นหน้า อัลฮัมดุลิลลาห์ อาจารย์พยายามที่จะทำและทำได้บ่อย เพราะสำหรับอาจารย์แม่อยู่ไกล มันเป็นอะไรที่พอเราพูดหมายถึงว่าเมื่อได้เห็นหน้ากัน มันทำให้แม่ดีใจมากๆ ว่าบางครั้งเราไม่ได้ทานอาหารกับเค้า แต่คุยกันถ่ายรูปส่งถึงกัน มันทำให้ความรู้สึกของคนเป็นแม่รู้สึกอิ่มใจ สุขใจ หากเราสามารถให้อะไรได้ยิ่งดี เช่น ซื้อของไปให้ ของฝาก เสื้อผ้า ที่สำคัญที่อาจารย์ตระหนักมากที่สุดคือคนเป็นลูกทุกคนน่าจะมีรายได้ให้ท่าน เมื่อเรามีเงินเดือนพ่อแม่เลี้ยงส่งเสียเรามาบางคนมัวคิดถึงครอบครัวเราอย่างเดียวแต่บางคนลืมพ่อแม่

อาจารย์อยากเตือนส่งเสริมเอาเงินส่วนหนึ่งแบ่งให้พ่อแม่ ถ้ามีลูกหลายคนก็นำมารวมกันและส่งให้ท่าน พ่อแม่บางคนอาจไม่มีรายได้ เมื่อท่านอยากได้อะไรจะได้นำไปใช้ได้บ้าง เมื่อมีลูกหลานท่านก็ให้ลูกหลานเป็นความผูกพัน อยากจะให้ทุกคนรณรงค์ร่วมกันทำ ถ้าพ่อแม่ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งอยากให้พ่อแม่ทุกคนตระหนักมากๆ คำพูดที่พ่อแม่แก่เฒ่าบางคนรำคาญ อาจารย์เคยดูคลิปวีดิโอ พ่อถามลูกเพราะพ่อเป็นอัลไซเมอร์ ถามๆซ้ำๆ ลูกเกิดความรำคาน พ่อเลยไปเอาสมุดโน้ตมาวาง “ตอนที่เธอยังเด็กๆ เธอเฝ้าถามคำถามเดียวกันแต่ฉันก็ตอบเธอไม่เคยเบื่อเลย” บางครั้งพ่อแม่ต้องการอะไรก็เหมือนกับเราตอนเด็ก ต้องการความรักต้องการความอบอุ่น ตรงนี้ถ้าเราทำได้สัญญาของอัลลอฮฺไม่เป็นหมันแน่นอน “สวรรค์อยู่ใต้เท้าของมารดา”

อ.มันซูร สาสะกุล ประจำ ร.ร.มัจลิซุดดีนี (กิจกรรมนักศึกษา)

“สิ่งสำคัญที่เราจะต้องคิดกันให้มากในสิ่งที่คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่ท่านได้เลี้ยงดูเรามา ความลำบากที่เกิดขึ้นกับตัวเขา บางครั้งคนที่เป็นลูกอาจจะไม่รู้สึกถึงความรู้สึกอันแท้จริงของท่านโดยเฉพาะผู้ที่เป็นแม่ ความยากลำบากการเลี้ยงดู ลูกของเรากว่าจะโตมาเราลำบากแค่ไหน สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือจิตใต้สำนึกของผู้ที่เป็นลูก จะต้องคิดว่าผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่เขารู้สึกอย่างไรบ้างในการเลี้ยงดูเรา

ดังนั้น การทำดีก็จะออกมาเป็นในรูปของการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติดี การพูดดีต่อท่าน จากสิ่งที่อายะห์อัลกุรอานได้บอกเอาไว้ว่า “ให้ทำดีต่อบิดามารดา” และในหะดิษของท่านนบีก็ได้เน้นย้ำเอาไว้ ที่มีซอฮาบะห์มาถามว่าต้องทำดีกับใคร และท่านนบีได้เน้นย้ำถึง 3 ครั้ง ว่าผู้ที่เป็นแม่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นลูกที่อยากจะได้รับสรวงสวรรค์ที่อัลลอฮฺจะประทานให้ นั่นคือการที่เขาพูดให้ดีกับผู้ที่เป็นแม่ เพราะเขารู้สึกได้ถึงความห่วงใยสำหรับผู้ที่เป็นลูก”

ที่มา:  เพจศาสนาอิสลาม - الإسلام
https://islamhouse.muslimthaipost.com

บทความที่น่าสนใจ

อัพเดทล่าสุด