อิสลามสามารถทำประกันชีวิตได้หรือไม่ ?


13,126 ผู้ชม

อิสลามสามารถทำประกันชีวิตได้หรือไม่ ?


อิสลามสามารถทำประกันชีวิตได้หรือไม่ ?

อิสลามสามารถทำประกันชีวิตได้หรือไม่ ?

คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี

เรื่อง: การทำประกันชีวิตของผู้นับถือศาสนาอิสลาม

คำถาม : ผู้นับถือศาสนา

คำวินิจฉัย

ด้วยรูปแบบการทำประกันชีวิตที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน เป็นประเด็นการทำธุรกรรมที่นักนิติศาสตร์อิสลามร่วมสมัยมีความเห็นต่างกัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ทัศนะดังนี้

1. นักนิติศาสตร์อิสลามส่วนมากมีทัศนะว่า ไม่อนุญาตให้ทำธุรกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิตหรือการประกันภัยก็ตาม ส่วนหนึ่งในบรรดานักนิติศาสตร์กลุ่มนี้ ได้แก่ ชัยค์มุฮัมมัดบะคีต อดีตมุฟตีย์ของประเทศอียิปต์และชัยค์อับดุรเราะห์มาน ตาจญ์อดีตชัยคุลอัซฮัร เป็นต้น

2. นักวิชาการร่วมสมัยบางส่วนมีความเห็นว่า อนุญาตให้ทำธุรกรรมประกันภัยได้ทุกประเภท โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องปลอดจากดอกเบี้ย

3. นักวิชาการบางส่วนมีความเห็นว่า ประกันภัยบางประเภทเป็นสิ่งที่อนุญาตและบางประเภทไม่เป็นที่อนุญาต ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ให้น้ำหนักไปทางทัศนะของนักวิชาการกลุ่มที่สาม กล่าวคือ

การประกันบางประเภทเป็นสิ่งที่อนุญาต เช่น ประกันสังคม (Social Insurance) ที่ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจ และการประกันแบบตะกาฟุล (Jointly Insurance) ซึ่งมีคำฟัตวา (คำวินิจฉัย) ของดารุลอิฟตาอ์อัล-มิศรียะฮ์ (สำนักมุฟตีย์อียิปต์) ได้รับรองไว้ เป็นต้น ในขณะที่รูปแบบการทำประกันบางประเภทเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนบัญญัติในหมวดการทำธุรกรรม (อัล-มุอามะลาต) ว่าด้วยประเภทสัญญาที่เป็นโมฆะ การค้ำประกัน การชดใช้ค่าเสียหาย การเข้าร่วมหุ้น การลงทุน การหาผลกำไรและการมีระบบดอกเบี้ยเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการทำธุรกรรม เป็นต้น ซึ่งการกระทำที่เข้าข่ายว่าขัดต่อหลักศาสนบัญญัติในการประกันประเภทที่ไม่อนุญาตนี้ ถือเป็นสัญญาที่โมฆะ ไม่เข้าข่ายว่าเป็นการค้ำประกัน (กะฟาละฮ์) และการชดใช้ค่าเสียหาย (เฎาะมาน) และไม่เข้าข่ายว่าเป็นการเข้าร่วมหุ้น (ชะริกะฮ์) ขาดองค์ประกอบสำคัญในเรื่องการลงทุน (มุฎอเราะบะฮ์) และการแสวงหาผลกำไร (มุรอบะหะฮ์) ตลอดจนการมีระบบดอกเบี้ย (ริบา) เข้ามาเกี่ยวข้องตามหลักนิติศาสตร์อิสลามในหมวดการทำธุรกรรม (อัล-มุอามะลาต) อันได้แก่ การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันวินาศภัยและการทำประกันชีวิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนมีทัศนะว่า เฉพาะการทำประกันชีวิตเท่านั้นที่ไม่อนุญาต ส่วนการประกันประเภทอื่นๆ นั้นเป็นที่อนุญาตให้กระทำได้ เช่น การทำประกันภัยรถยนต์อัคคีภัย และการประกันสุขภาพ เป็นต้น ในขณะที่ ชัยค์ อาลีญุมอะฮ์มุฟตีย์ของอียิปต์ มีความเห็นว่าการประกันทุกรูปแบบเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้โดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อพิจารณาทัศนะทั้งหมดของบรรดานักนิติศาสตร์อิสลามร่วมสมัยและหลักฐาน ตลอดจนการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการเพื่อสนับสนุนทัศนะของแต่ละฝ่ายแล้ว จึงวินิจฉัยได้ว่า การประกันบางประเภทซึ่งเป็นการทำธุรกรรมในปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้เมื่อปลอดจากเรื่องของดอกเบี้ย และการประกันบางประเภทเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนบัญญัติในทัศนะของนักวิชาการมุสลิมร่วมสมัยส่วนใหญ่ เช่น การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและการทำประกันชีวิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยนี้เป็นการให้น้ำหนักแก่ทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่เท่านั้น มิใช่เป็นคำวินิจฉัยที่เด็ดขาด เนื่องจากประเด็นปัญหาเรื่องการประกันภัยหรือการทำประกันชีวิตนั้น เป็นประเด็นของความเห็นต่างในหมู่นักนิติศาสตร์อิสลามและนักวิชาการผู้สันทัดกรณีอันเกิดจากการวิเคราะห์ด้วยกำลังสติปัญญา การตีความตามหลักเกณฑ์ทางนิติศาสตร์อิสลามและการตั้งสมมติฐานที่ต่างกัน เป็นผลทำให้มีคำวินิจฉัยต่างกัน จึงต้องละเรื่องนี้ไว้ให้อยู่ในดุลยพินิจของพี่น้องมุสลิมที่จะต้องใช้วิจารณญาณและความตระหนักในการประพฤติตนที่ห่างไกลจากสิ่งที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน

นอกเหนือจากการประกันตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เงินค่าสินไหมที่ทางบริษัทจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกัน หรือเงินปันผลที่ได้จากการทำสัญญาประกันชีวิต เงินคืนรายงวด เงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญาและเงินค่าสินไหมในการซื้อสัญญาเพิ่มเพื่อคุ้มครองโรค ตลอดจนการชดเชยรายได้ กรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้เอาประกัน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ หากถือคำวินิจฉัยนี้เป็นบรรทัดฐานก็ถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศาสนบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม แต่ถ้าผู้เอาประกันที่เป็นมุสลิม จะถือตามทัศนะของนักวิชาการในฝ่ายที่อนุญาตในการทำธุรกรรมดังกล่าว ก็ย่อมเป็นสิทธิในการทำธุรกรรมดังกล่าวและรับเงินปันผลค่าสินไหม เงินคืนรายงวดและอื่นๆ ตามประเภทของกรมธรรม์ที่ทำสัญญากับบริษัทได้โดยอนุโลมตามทัศนะที่อนุญาต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เอาประกันที่ต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจนั้น

อาศิส พิทักษ์คุมพล

จุฬาราชมนตรี

อัพเดทล่าสุด