การถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล หรือเรียกกันว่า บวช6 มีดังนี้...
คำเนียตบวช 6 ในเดือนเชาวาล
การถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล หรือเรียกกันว่า บวช6
การเนียตบวช 6 นั้นต้องอยู่ในช่วงเวลากลางคืนก่อนแสงอรุณขึ้น การเนียตถือบวช 6 นั้น ให้เนียตว่า "ข้าพเจ้าถือศีลอดสุนัตเดือนเชาวาล ในวันรุ่งขึ้น เพื่ออัลลอฮ์ตาอาลา" ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเนียตระบุเจาะจงว่ากี่วัน วันที่เท่าไหร่
ดังนั้น เมื่อรอมฎอนได้ผ่านพ้นไป และอัลเลาะฮ์ตะอาลาก็ทรงประทานความเมตตาและความโปรดปรานให้เราถือศีลอดอย่างลุล่วงไปด้วยดีนั้น เราก็จงบากบั่นปฏิบัติอิบาดะฮ์ต่อไปเพื่อชุกูร (ขอบคุณ) อัลเลาะฮ์ต่อเนี๊ยะอฺมัตอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ได้ทรงประทานให้ และหนึ่งในอิบาดะฮ์หลังจากรอมฎอนนั้น คือซุนนะฮ์ให้ทำการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลนั่นเอง
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ
“ผู้ใดถือศีลอดร่อมะฎอนแล้ว หลังจากนั้นเขาได้ถือศีลอดต่อจากเดือนร่อมะฎอนอีก 6 วันจากเดือนเชาวาล แน่นอนเหมือนว่าเขาได้ถือศีลอดตลอดทั้งปี” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 116
ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ได้กล่าวว่า
قَالَ أَصْحَابُنَا : وَالْأَفْضَل أَنْ تُصَامَ السِّتَّةُ مُتَوَالِيَةً عَقِبَ يَوْم الْفِطْرِ ، فَإِنْ فَرَّقَهَا أَوْ أَخَّرَهَا عَنْ أَوَائِلِ شَوَّالٍ إِلَى أَوَاخِرِهِ حَصَلَتْ فَضِيلَةُ الْمُتَابَعَةِ ؛ لِأَنَّهُ يَصْدُقُ أَنَّهُ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ
“ปราชญ์แห่งเรา กล่าวว่า ที่ดีเลิศนั้น คือหลังวันอีดฟิตริให้ถือศีลอด 6 วันติดต่อกัน แต่ถ้าหากถือศีลอด 6 วันแบบแยกวัน หรือถือศีลอด 6 วันแบบล่าช้าไปถึงช่วงท้ายของเดือนเชาวาล ก็ถือว่าตามซุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช่นกัน เพราะได้ยืนยันแล้วว่า เขาได้ถือศีลอด 6 วันจากเดือนเชาวาลต่อจากร่อมะฎอนแล้ว” ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม, เล่ม 4 หน้า 313.
ท่านอัลลามะฮ์ ซัยนุดดีน อัลฟะนานีย์ ได้กล่าวว่า
وَإِتِّصَالُهَا بِيَوْمِ الْعِيْدِ أَفْضَلُ مُبَادَرَةً لِلْعِبَادَةِ
“การถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลติดต่อหลังจากวันอีดนั้น ประเสริฐยิ่งกว่า เนื่องจากเป็นการรีบทำอิบาดะฮ์” อิอานะฮ์ อัฏฏอลิบีน, เล่ม 2 หน้า 420.
ดังนั้น การถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลที่ดีเลิศที่สุดนั้น คือถือศีลอดติดต่อหลังจากวันอีดเลย เพื่อเป็นการรีบทำอิบาดะฮ์ให้เสร็จล่วงไป เพราะการล่าช้านั้นอาจจะทำให้พลาดโอกาสในการถือศีลอดสุนัตนี้ เนื่องจากไม่รู้ว่าต่อไปข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นแก่เรานั่นเอง