การเตาบัตในความผิดใดความผิดหนึ่งมีแนวทาง วิธีการอย่างไรบ้าง เงื่อนไขการเตาบะฮ์ การเตาบะฮ์จากบาปนั้นมี 2 ประเภท คือ..
การเตาบัต หมายถึง การที่ผู้ทำผิดสำนึกตนและกลับไปหาอัลลอฮฺ ด้วยการขออภัยโทษจากพระองค์ มนุษย์ทุกคนนั้นล้วนหนีไม่พ้นจากการทำความผิดไม่ว่าจะมากหรือน้อย ยกเว้นผู้ที่อัลลอฮฺทรงปกป้อง เช่น ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิ วะสัลลัม เมื่อมนุษย์ทำผิดสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลบล้างความผิดนั้นด้วยการเตาบัต(ขออภัย)ต่อพระองค์อัลลอฮฺ
การเตาบัต (ขออภัยโทษ) นั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะบาปทั้งหลายจะยังคงอยู่กับผู้ทำผิดถ้าหากเขาไม่สำนึกตน ไม่ขออภัยโทษ ไม่ทำความดีลบล้างความผิด และเมื่อความผิดบาปยังอยู่กับตัว เขาก็จะต้องได้รับโทษจากบาปที่เขาทำไว้
ดังนั้น อัลลอฮฺจึงได้กำชับให้มนุษย์มุ่งมั่นในการเตาบัตต่อพระองค์เมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิด และพระองค์สัญญาว่าจะทรงอภัยโทษให้กับผู้ที่เตาบัต(ขออภัยโทษ) และจะทรงเตรียมผลตอบแทนที่ดีในสวนสวรรค์แก่เขา พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเตาบัตต่ออัลลอฮฺด้วยการเตาบัตที่จริงจัง เผื่อว่าอัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดของพวกเจ้า และนำพวกเจ้าเข้าสู่สวรรค์ซึ่งมีสายน้ำไหลผ่านอยู่เบื้องล่างของมัน”
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัต-ตะหฺรีม: 8)
การเตาบัตในความผิดใดความผิดหนึ่งมีแนวทาง วิธีการอย่างไรบ้าง!!!
เงื่อนไขการเตาบะฮ์ การเตาบะฮ์จากบาปนั้นมี 2 ประเภท คือ:
1. การเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์ เช่น ละทิ้งการละหมาด การออกซะกาต การถือศีลอด การคลุมฮิญาบ การดื่มเหล้า การทำซินา การกินดอกเบี้ย เป็นต้น
2. การเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์ เช่น การทรพีต่อบิดามารดา การยักยอกทรัพย์สินผู้อื่น การนินทา เป็นต้น
เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์
เงื่อนไขของการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์มี 3 ข้อ
1. ต้องละเลิกจากบาปที่เขาได้กระทำ
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์กล่าวว่า “การละเลิกจากบาปนั้น คือละเลิกจากบาปเพื่ออัลเลาะฮ์ ดังนั้นถ้าหากเขาละทิ้งบาปเพราะกลัว(คนอื่นจะตำหนิ) หรือเพื่อโอ้อวด(ให้คนอื่นรู้ว่าเขาไม่ได้ทำบาปแล้ว) และกรณีอื่นๆ ที่มิได้มีเป้าหมายเพื่ออัลเลาะฮ์ ก็นับว่าเขายังไม่ใช่เป็นผู้ละเลิกบาปอย่างแท้จริง”
ดู มุฮัมมัด บิน อัลลาน อัศศิดดีกีย์, ดะลีลฟาลิฮีน, เล่ม 1, หน้า 70.
ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์กล่าวว่า “ให้ผู้เตาบะฮ์ละเลิกกระทำบาปเพราะยอมสยบต่อความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะฮ์และกลัวการลงโทษของพระองค์เท่านั้น มิใช่ละเลิกจากบาปเพราะปรารถนาในเรื่องของดุนยา กลัวผู้คนจะประณาม ต้องการที่จะได้รับการสรรเสริญและมีชื่อเสียง หรือเพราะว่าร่างกายอ่อนแอ(ไม่สามารถไปทำชั่วได้) หรือเพราะยากจน(จึงไม่มีเงินไปเล่นการพนันได้) เป็นต้น”
ดู อัลฆ่อซาลีย์, มินฮาญุลอาบิดีน, เล่ม 1, หน้า 151
2. โศกเศร้าเสียใจต่อการกระทำบาปนั้น
ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์กล่าวอธิบายว่า “ความโศกเศร้าเสียใจเพราะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะฮ์และกลัวการลงโทษของพระองค์นั้น (ไม่ใช่โศกเศร้าเสียใจเพราะกลัวว่าผู้คนจะประณามหรือโศกเศร้าเสียใจเพราะถูกลดเกลียรติจากสายตาของผู้คนทั้งหลาย เนื่องจากเป็นการโศกเศร้าเสียใจเพื่อมนุษย์ไม่ใช่เพื่ออัลเลาะฮ์) เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทำการเตาบะฮ์อย่างจริงใจ”
ดู อัลฆ่อซาลีย์, มินฮาญุลอาบิดีน, เล่ม 1, หน้า 154
3. ตั้งใจอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่กลับไปทำบาปนั้นอีก
ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์ได้กล่าวอธิบายว่า “เขาต้องมั่นใจและตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่กลับไปทำบาปอีก ดังนั้นถ้าหากเขาละทิ้งบาป โดยที่จิตใจนั้นยังลังเลว่า บางทีอาจจะกลับไปกระทำบาปหรือไม่มีความมั่นใจว่าจะละทิ้งบาปนั้นได้ แน่นอนว่าเขาเพียงแค่ละทิ้งบาปเฉยๆโดยมิได้เป็นผู้เตาบะฮ์จากบาปเลย” เรื่องเดียวกัน
ดังนั้นถ้าหากผู้ทำการเตาบะฮ์ได้ขาดเงื่อนไขหนึ่งจากสามเงื่อนไขนี้ การเตาบะฮ์ของเขาถือว่าใช้ไม่ได้และไม่สมบูรณ์
เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของมนุษย์
เงื่อนไขของการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์มี 4 ข้อ ซึ่งข้อ 1-3 นั้น เป็นเงื่อนไขเดียวกับการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์
ส่วนข้อที่ 4. คือ ผู้เตาบะฮ์ต้องคืนสิทธิ์ของผู้อื่นที่เขาละเมิดมาหรือต้องขอมะอัฟเขา