คนต่างศาสนิกเพศเดียวกันสัมผัสเขาจับมือถือแขนโดยเจตนาและไม่เจตนา หรือคนต่างศาสนิกต่างเพศที่เราไปสัมผัสเขาโดยไม่ได้เจตนา เช่นนี้ถือว่า เราต้องล้างน้ำเปล่าหรือไม่ เพราะเคยได้ยินมาว่า คนต่างศาสนิกเป็นนะญิส (ไม่สะอาด) ขอความกระจ่างด้วยครับ?....
คนต่างศาสนิกเพศเดียวกันสัมผัสเขาจับมือถือแขนโดยเจตนาและไม่เจตนา หรือคนต่างศาสนิกต่างเพศที่เราไปสัมผัสเขาโดยไม่ได้เจตนา เช่นนี้ถือว่า เราต้องล้างน้ำเปล่าหรือไม่ เพราะเคยได้ยินมาว่า คนต่างศาสนิกเป็นนะญิส (ไม่สะอาด) ขอความกระจ่างด้วยครับ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
ร่างกายของคนต่างศาสนิกทุกคนเราสามารถสัมผัสเขาได้ไม่ว่าเขามีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม หากเป็นเพศเดียวกัน หรือต่างเพศที่เราไม่มีเจตนาสัมผัสเขา แต่ถ้ามีเจตนาสัมผัสเขาถือว่า หะรอม (ต้องห้ามตามนัยยะของศาสนาอยู่แล้ว)
สาเหตุที่ไม่เป็นไรก็เพราะ ร่างกายของคนต่างศาสนิกไม่ใช่นะญิส (กล่าวคือ ร่างกายของเขาสะอาด) นั่นเอง ทว่าที่ว่า เป็นนะญิส คือ นะญิสทางด้านความเชื่อ (อะกีดะฮฺ) เท่านั้น เพราะเขากราบไหว้เจ้าอื่นจากพระองค์อัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
إِنَّمَا الْمُشْرِكُونَ نَجَسٌ
"แท้จริงบรรดาผู้ที่ตั้งภาคี (มุชริก) นั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด (ทางด้านอะกีดะฮฺ,ความเชื่อ)" (สูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ : 68)
ฉะนั้น เมื่อเป็นนะญิสทางด้านความเชื่อก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเป็นนะญิสทางด้านร่างกายเลยแม้แต่น้อย
อนึ่ง ข้อชี้ขาดนี้ (หุก่ม) นี้ นัยยะหมายรวมถึงมุสลิมด้วยกันเอง ร่างกายของเขาก็ไม่เป็นนะญิส (สกปรก) ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเขามีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตแล้วก็ตาม ดังที่ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวไว้ว่า
إِنَّ الْمُؤْمِنَ لا يَنْجُسُ
"แท้จริงผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) นั้นไม่เป็นนะญิส (ไม่ใช่สิ่งสกปรก)" (หะดีษเศาะหี้หฺ,บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 285)
(วัลลอฮฺฮุอะอฺลัม)