อยากทราบความสำคัญของการนมาซฟัรฺฎูในเวลา และการละเลยเวลานมาซฟัรฺฎูให้ล่าช้ามีผลเสียอย่างไรครับ?
คำถาม: อยากทราบความสำคัญของการนมาซฟัรฺฎูในเวลา และการละเลยเวลานมาซฟัรฺฎูให้ล่าช้ามีผลเสียอย่างไรครับ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
คำตอบ พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า
حَافِظُوا عَلَى الصَّلَوَاتِ وَالصَّلَاةِ الْوُسْطَىٰ وَقُومُوا لِلَّهِ قَانِتِينَ
"สูเจ้าจงรักษาการนมาซทั้งหลายไว้ และการนมาซที่อยู่กึ่งกลาง (คือ นมาซอัศริ) และจงยืนนมาซเพื่ออัลลอฮฺโดยนอบน้อม” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 238)
อายะฮฺข้างต้นส่งเสริมให้เรารักษาเวลานมาซฟัรฺฎูในที่นี้หมายถึง การรักษาเวลานมาซในแต่ละนมาซฟัรฺฎู ไม่ให้เพิกเฉยหรือ ปล่อยเวลาจนกระทั่งหมดเวลานมาซฟัรฺฎูนั้นๆ อีกทั้งท่านรสูลุลลอฮฺยังกำชับให้นมาซฟัรฎูในช่วงต้นของเวลาอีกด้วย
ท่านอิบนุ มัสอูดเล่าว่า
سَأَلْتُ النَّبِيَّ- صلى الله عليه وسلم- أَيُّ العَمَلِ أَحَبُّ إلَى اللهِ؟ قَالَ: «الصَّلاةُ عَلَى وَقْتِهَا
"ฉันถามท่านรสูลุลลอฮฺว่า การงานใดครับอันเป็นสิ่งที่รักยิ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ ท่านรสูลตอบว่า การนมาซในช่วงแรกของเวลา" (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์)
ส่วนการนมาซฟัรฺฎูมีผลอย่างไร? กล่าวคือ ประหนึ่งเราไม่ให้ความสำคัญเวลานมาซฟัรฺฎู แม้กระทั่งบุคคลตาบอด ศาสนายังกำชับให้เขาตอบรับเสียงอะซาน นั่นเท่ากับว่าให้ตอบรับการนมาซฟัรฺฎูแบบไม่มีเงื่อนไข ครั้งหนึ่งชายตาบอดมาถามท่านนบีว่า เขาต้องไปมัสญิดไหมถ้าเขาได้ยินเสียงอะซาน? ท่านนบีตอบว่า
( هَلْ تَسْمَعُ النِّدَاءَ بِالصَّلَاةِ ؟ ) قَالَ : نَعَمْ ، قَالَ : ( فَأَجِبْ )
"ท่านได้ยินเสียงอะซาน (จากมัสญิด) ไหม? เขาตอบว่า ได้ยินครับ ท่านนบีจึงเอ่ยขึ้นว่า เช่นนั้นก็จงตอบรับ (เสียงอะซานนั้น) เถิด" (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 653)
จากหลักฐานข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ให้มุสลิมตอบรับการอะซาน นั่นหมายรวมว่าตอบรับการ นมาซฟัรฎูนั้นๆ อย่าได้อ้อยอิ่ง หรือล่าช้า แม้ว่าเราจะตาบอดซึ่งดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคในการตอบรับเสียงอะซานและการเดินไปนมาซที่มัสญิด แต่ศาสนาก็กำชับให้ตอบรับการนมาซฟัรฺฎูนั้นอย่างไม่ล่าช้า
อนึ่งท่านอิบนุอับบาส ยังเคยกล่าวไว้ว่า ในหมู่พวกเรา (บรรดาเศาะหาบะฮฺ) จะไม่ล่าช้าในการนมาซญะมาอะฮฺ (หมายถึงนมาซในช่วงต้นของเวลา) นอกจาก
الا منافق او مريض
"พวกหน้าไหว้หลังหลอก หรือกลุ่มคนที่ป่วยไข้ (ที่ล่าช้าต่อการนมาซฟัรฺฎู) เท่านั้น" (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 654)
สรุป ศาสนาส่งเสริมให้นมาซฟัรฺฎูช่วงต้นของเวลา หรือให้อยู่ในเวลานมาซฟัรฺฎูนั้นๆ โดยไม่ปล่อยให้เวลาล่าช้า หรือปล่อยให้หมดเวลาฟัรฺฎูนั้นๆ นั่นเอง (วัลลอฮุอะอฺลัม)
islamhouse.muslimthaipost.com