เงื่อนไข การแต่งงานของผู้ไม่ใช่มุสลิม


4,111 ผู้ชม

เงื่อนไขที่จะยอมรับการแต่งงานของผู้ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักอิสลาม มี 2 เงื่อนไข ดังนี้...


เงื่อนไข การแต่งงานของผู้ไม่ใช่มุสลิม

การแต่งงานของผู้ไม่ใช่มุสลิม ไม่ว่าจะเป็นคริสต์หรือยิว หรืออื่นนอกจากนี้ จะเหมือนกับการแต่งงานของมุสลิมในสิ่งที่จำเป็นต้องมี เช่น สินสอด ค่าเลี้ยงดู และการหย่าร้าง เป็นต้น ประเภทของหญิงที่พวกเขาห้ามแต่งงานด้วยก็คือประเภทเดียวกันกับที่ถูกห้ามแก่มุสลิม (เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว เป็นต้น)
เงื่อนไขที่จะยอมรับการแต่งงานของผู้ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักอิสลาม มี 2 เงื่อนไข ดังนี้

1. การที่พวกเขาเชื่อว่าพิธีแต่งงานนั้นถูกต้องตามศาสนาของพวกเขา

2. ห้ามให้พวกเขามาร้องเรียนแก่เรา เพราะถ้าพวกเขามาร้องเรียนแก่เราแล้ว เราจำต้องพิจารณาความตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺ 


รูปแบบการจัดพิธีการแต่งงานของผู้ไม่ใช่มุสลิม

ถ้าผู้ไม่ใช่มุสลิมมารับอิสลามก่อนที่พวกเขาจะแต่งงานกัน เราก็จัดพิธีแต่งงานตามบทบัญญัติของอิสลาม ด้วยการมีคำกล่าวมอบและรับ มีผู้ปกครอง และมีสักขีพยานมุสลิมสองคนที่ยุติธรรม

แต่หากพวกเขารับอิสลามหลังจากที่ได้แต่งงานกันแล้วตามประเพณีในศาสนาของพวกเขา ให้พิจารณาว่าฝ่ายภรรยาเป็นหญิงที่ปราศจากข้อห้ามที่อนุญาตให้แต่งงานด้วยหรือไม่ (คือไม่ได้เป็นญาติสนิทที่ห้ามแต่งงานด้วย เป็นต้น) หากปราศจากข้อห้ามที่ว่าเราก็ยอมรับการแต่งงานดังกล่าว แต่หากภรรยาเป็นหญิงที่มีข้อห้ามไม่ให้แต่งงานด้วย เราก็ต้องแยกคนทั้งสองไม่ให้เป็นสามีภรรยากัน


  
สินสอดของหญิงไม่ใช่มุสลิม

ถ้าหากได้ระบุในตอนทำพิธีแต่งงานและนางก็ได้รับมอบเรียบร้อยแล้ว สินสอดนั้นก็จะเป็นของนางเลย  แม้ว่าสิ่งนั้นจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม เป็นต้น แต่หากนางยังไม่ได้มอบสินสอดนั้นอย่างสมบูรณ์ ถ้าเป็นสินสอดที่ถูกต้อง(ไม่ใช่สิ่งที่หะรอม)ก็ต้องมอบของสิ่งนั้นให้นาง และถ้าเป็นของที่ไม่ถูกต้องก็ต้องมอบสิ่งอื่นที่ถูกต้องซึ่งมีมูลค่าเท่ากันทดแทน

- เมื่อสองสามีภรรยาเข้ารับอิสลามพร้อมกัน หรือสามีรับอิสลามและภรรยาเขาเป็นหญิงชาวคัมภีร์ การครองคู่สามีภรรยาของทั้งสองก็ยังคงดำเนินต่อไป

- เมื่อสามีของหญิงที่ไม่ใช่ชาวคัมภีร์ รับอิสลามก่อนที่เขาจะมีเพศสัมพันธ์กับนาง การแต่งงานของทั้งสองก็เป็นโมฆะ

- เมื่อหญิงผู้ไม่ศรัทธาเข้ารับอิสลามก่อนมีเพศสัมพันธ์กับสามีกาฟิร การแต่งงานนั้นถือเป็นโมฆะ  เพราะหญิงมุสลิมะฮฺไม่เป็นที่อนุญาตแก่ชายกาฟิร
 
หุก่มเมื่อสามีภรรยาคนใดคนหนึ่งเข้ารับอิสลาม

เมื่อสามีภรรยาคนใดคนหนึ่งรับอิสลาม ต้องพิจารณาระงับการครองคู่ของเขาทั้งสองก่อนเพื่อพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป คือ ถ้าสามีรับอิสลามแล้วภรรยารับอิสลามตามก่อนที่จะหมดอิดดะฮฺ นางก็จะยังอยู่ในฐานะภรรยาของเขาต่อไป ถ้าฝ่ายหญิงรับอิสลามจนกระทั่งอิดดะฮฺได้สิ้นสุดแล้วแต่สามียังไม่ได้รับรับอิสลาม นางก็มีสิทธ์ที่จะแต่งงานใหม่กับคนอื่นได้  แต่ถ้าหากนางจะไม่แต่งงานก่อนเพื่อรอดูเขาว่าจะรับอิสลามหรือไม่ก็ทำได้ เพราะเมื่อสามีเข้ารับอิสลามนางก็จะได้เป็นภรรยาเขาโดยที่ไม่ต้องจัดการแต่งงานใหม่และไม่ต้องมีสินสอดใหม่ด้วย แต่นางต้องไม่มอบร่างกายให้เขาจนกว่าเขาจะเข้ารับอิสลาม
 
หุก่มการแต่งงานเมื่อสามีภรรยาคนใดคนหนึ่งมุรตัด (ออกจากศาสนา)

เมื่อสองสามีภรรยาได้ออกจากอิสลามหรือคนใดคนหนึ่งได้ออกจากอิสลาม  หากว่ามันเกิดขึ้นก่อนจะมีเพศสัมพันธ์กันการแต่งงานถือเป็นโมฆะ  แต่ถ้ามันเกิดขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว การครองคู่จะถูกระงับก่อนจนกว่าจะสิ้นสุดอิดดะฮฺ ถ้าหากคนที่ออกจากอิสลามนั้นได้กลับตัวก่อนหมดอิดดะฮฺ การครองคู่ก็จะดำเนินต่อไป แต่ถ้าไม่ยอมกลับตัว การแต่งงานนั้นก็ถือเป็นโมฆะโดยปริยาย เมื่อสิ้นสุดอิดดะฮฺที่ถูกนับนับตั้งแต่เวลาที่มีการออกจากศาสนา
 
สถานะของสามีเมื่อรับอิสลาม

1. เมื่อสามีเข้ารับอิสลามหากภรรยาของเขาเป็นหญิงชาวคัมภีร์ การครองคู่นั้นจะยังคงดำเนินต่อไป แต่ถ้าภรรยาของเขาไม่ได้เป็นชาวคัมภีร์ หากนางเข้ารับอิสลามการครองคู่จะยังคงดำเนินอยู่ แต่ถ้านางไม่รับอิสลามเขาก็ต้องแยกทางกับนาง

2. เมื่อสามีเข้ารับอิสลาม และเขามีภรรยามากกว่าสี่คน โดยที่ทั้งหมดนั้นพากันเข้ารับอิสลาม หรือเป็นภรรยาในหมู่ชาวคัมภีร์ทั้งหมด เขามีสิทธิที่จะเลือกภรรยาเขาเพียงสี่คน และต้องหย่าที่เหลือจากสี่คนนั้น

3. เมื่อสามีเข้ารับอิสลามและเขามีภรรยาเป็นสองพี่น้องเขาคงต้องเลือกเพียงคนเดียวเท่านั้น  หรือถ้าเขามีภรรยาเป็นหลานกับอาหรือหลานกับน้าพร้อมกัน เมื่อเข้ารับอิสลามแล้วเขาต้องเลือกเพียงคนเดียวเท่านั้น  เพราะทุกคนที่เข้ารับอิสลามแล้วเขาก็ต้องทำตามบทบัญญัตของอิสลามไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งงานหรือเรื่องอื่นๆ 
ดังอัลกุรอานที่ว่า ความว่า
“และผู้ใดแสวงหาศาสนาหนึ่งศาสนาใดอื่นจากอิสลามแล้ว ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด และในวันอาคิเราะฮ์เขาจะเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ขาดทุน”
(อาละ อิมรอน  85)


มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ริซัลย์ สะอะ / Islam House

อัพเดทล่าสุด