เมื่อหย่ากันแล้ว เธอและเค้ามีสิทธิ์ทำอะไรบ้าง?


19,019 ผู้ชม

เป็นที่อนุมัติหรือไม่  ในการที่สตรีผู้หนึ่งที่ได้หย่าขาดจากสามีของนางแล้ว  จะออกไปพบปะกับอดีตสามีพร้อมกับลูก ๆ ในบางโอกาส  เพื่อให้ลูก ๆ ของนางได้มีช่วงเวลาที่จะได้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว  ให้เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ


เมื่อหย่ากันแล้ว เธอและเค้ามีสิทธิ์ทำอะไรบ้าง?

คำถาม :  เป็นที่อนุมัติหรือไม่  ในการที่สตรีผู้หนึ่งที่ได้หย่าขาดจากสามีของนางแล้ว  จะออกไปพบปะกับอดีตสามีพร้อมกับลูก ๆ ในบางโอกาส  เพื่อให้ลูก ๆ ของนางได้มีช่วงเวลาที่จะได้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว  ให้เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ   ซึ่งสถานที่ที่นัดพบปะกันนั้น  เป็นสถานที่ที่เปิดเผยเป็นแหล่งชุมชน  นอกจากนี้  หากอดีตสามีผู้นี้เป็นผู้ที่ไม่ทำการละหมาดด้วยแล้ว  เงินที่ชายผู้นี้นำมาใช้จ่ายให้กับสตรีและลูก ๆ นั้นจะเป็นที่ต้องห้ามด้วยหรือไม่ ?

คำตอบ:  บรรดาการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮ์

การที่ชายผู้หนึ่งได้ทำการกล่าว  หย่าร้าง  ต่อภรรยาของเขาจนครบสามครั้งแล้ว  หรือเขาได้ทำการหย่าขาดจากเธอหนึ่งหรือสองครั้งแล้ว  และฝ่ายหญิงก็สิ้นสุดอิดดะฮของเธอแล้ว  หลังจากไปนี้สตรีผู้นี้ก็จะกลายเป็นหญิงผู้แปลกหน้าสำหรับผู้ชายคนนี้ไปแล้ว  (ไม่ได้เป็นมะฮรอมกันต่อไป)

และนั้นก็จะส่งผลให้  ไม่เป็นการอนุญาตสำหรับเธอที่จะอยู่เพียงลำพังกับชายผู้นี้  หรือเขาก็ไม่สามารถที่จะมาสัมผัส  แตะต้อง  หรือมองดูเธอได้อีก

ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างอดีตสามีและภรรยานั้น  จึงมีความสัมพันธ์เหมือนกับบุคคลอื่น ๆ ที่ชายผู้นี้  ไม่ได้เป็นมะฮรอมสำหรับเธอ  ถึงแม้ว่าเขาทั้งคู่นั้นจะมีบุตรด้วยกัน  แต่เมื่อหย่าขาดจากกันแล้ว  ชายผู้นี้  ก็ไม่สามารถที่จะจ้องมองมายังเธอ  หรืออยู่เพียงลำพังกับเธอ หรือออกไปเที่ยวกับเธอได้อีก 

ฝ่ายชายนั้นสามารถที่จะออกไปท่องเที่ยวกับลูก ๆ ของเขาได้  แต่การออกไปนั้นจะต้องไม่มีอดีตภรรยาอยู่ร่วมด้วย  เว้นเสียแต่ว่าสตรีผู้นั้นจะมีผู้ที่เป็นมะฮรอมอยู่กับเธอด้วย  และจะต้องไม่กระทำการสิ่งที่เป็นเรื่องต้องห้ามต่าง ๆ เกิดขึ้น  ดังที่ได้กล่าวเอาไว้แล้วข้างต้น

Syaykh al-Islam Ibn Taymiyah (ขอพระองค์อัลลอฮ  ทรงโปรดประทานความเมตตาให้แด่ท่านด้วยเทอญ)  ได้กล่าวว่า

การที่ฝ่ายชายได้กล่าว  หย่าขาด  จากภรรยาของเขาครบสามครั้งแล้ว  ภรรยาของเขาก็จะเปลี่ยนเป็นสตรีผู้แปลกหน้าสำหรับเขาไปแล้ว  (เขาไม่ได้เป็นมะฮรอมสำหรับนางอีกต่อไป)  ดังนั้น  จึงไม่เป็นที่ถูกต้องสำหรับฝ่ายชายที่จะอยู่เพียงลำพังกับนาง  หรืออยู่เพียงลำพังกับนางโดยที่ไม่มีมะฮรอมของนางร่วมอยู่ด้วย  และเขาก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นเธอเหมือนกับที่เขาไม่สามารถจะมองเห็นสตรีอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นมะฮรอมสำหรับเขา  และก็ไม่มีกฎเกณฑ์พิเศษใด ๆ สำหรับเขาทั้งคู่ในเรื่องของความสัมพันธ์  (นั่นคือความสัมพันธ์ของเขาทั้งสองคนก็จะใช้กฎเกณฑ์เดียวกันกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นมะฮรอมกัน)

สำหรับค่าใช้จ่ายที่อดีตสามีได้ออกให้กับลูก ๆ ของเขานั้น  เป็นที่ยอมรับได้แม้ว่าชายผู้นี้จะไม่ได้ทำการละหมาดก็ตาม  แต่ถึงอย่างไรก็ตามฝ่ายหญิงควรจะต้องทำการตักเตือนลูกของนางให้เห็นความสำคัญในการแนะนำพ่อของเขาให้ทำการละหมาด  และหวังว่าพระองค์อัลลอฮ์   จะทรงชี้นำทางให้แก่เขาด้วยกับการแนะนำนี้

และถ้าหากฝ่ายหญิงเกรงว่าบรรดาลูก ๆ ของนางอาจจะได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากพ่อของเขาซึ่งเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธามาปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์  ได้สั่งห้ามเอาไว้  ก็ไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับนางที่จะให้บรรดาลูก ๆ  ของนางออกไปพบปะกับพ่อของเขา  เพราะการออกไปนั้นอาจจะทำให้เกิดความเสียหายให้กับเด็ก ๆ ได้

และพระองค์อัลลอฮ   เป็นผู้ทรงรอบรู้ที่ดีที่สุด

 
ที่มา : www.islamqa.com
แปลโดย  นูรุ้ลนิซาอ

Source: www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด