ทำกิ๊ฟท์ เด็กหลอดแก้ว อิสลามอนุมัติหรือไม่?


26,229 ผู้ชม

การทำกิ๊ฟ เป็นอีกทางหนึ่งสำหรับคู่สมรสที่มีบุตรยาก นักวิชาการอิสลาม ระบุว่า คู่สมรสที่เป็นมุสลิมสามารถทำกิ๊ฟได้ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเป็นสเปิร์มและไข่ของคู่สมรสที่แต่งงานกันถูกต้องตามหลักการอิสลามเท่านั้น...


ทำกิ๊ฟท์ เด็กหลอดแก้ว อิสลามอนุมัติหรือไม่?

การทำกิ๊ฟเป็นอีกทางหนึ่งสำหรับคู่สมรสที่มีบุตรยาก

โดย: อ.อามีน เหมเสริม


นักวิชาการอิสลาม ระบุว่า  :

การทำกิ๊ฟ  คือ การนำเซลล์สืบพันธุ์ไปใส่ไว้ที่ท่อนำไข่ หรือที่รู้จักแพร่หลายโดยทั่วไปว่า กิฟท์ (GIFT) หมายถึง การนำเอาไข่และตัวอสุจิไปใส่ไว้ที่ท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิหรือรวมตัวกันตามธรรมชาติ เป็นวิธีการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากวิธีหนึ่ง การรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยากด้วยกิฟท์นั้นจะกระทำ ต่อเมื่อได้ทำการตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยากและทำการรักษาด้วยวิธีธรรมดาแล้วไม่ได้ผล เพราะการรักษาวิธีนี้ค่อนข้างสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเวลาต่างๆ สำหรับการรักษามาก นอกจากนั้น ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้อีกด้วยแม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยก็ตาม 
การทำกิ๊ฟ เป็นอีกทางหนึ่งสำหรับคู่สมรสที่มีบุตรยาก นักวิชาการอิสลาม ระบุว่า คู่สมรสที่เป็นมุสลิมสามารถทำกิ๊ฟได้ แต่มีข้อแม้ว่า ต้องเป็นสเปิร์มและไข่ของคู่สมรสที่แต่งงานกันถูกต้องตามหลักการอิสลามเท่านั้น จะใช้สเปิร์มของผู้อื่นไม่ได้ หรือฝ่ายชายจะนำสเปิร์มไปผสมกับไข่ของหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาไม่ได้เช่นกัน เพราะถือว่า เป็นการทำซินา ตามฮุกุ่มซินา ดังนั้นสรุปได้ว่ามุสลิมจะสามารถทำกิ๊ฟได้ก็ต่อเมื่อสเปิร์มและไข่มาจากคู่สมรสที่ถูกต้องตามหลักการอิสลามเท่านั้น 
หลักการทำกิฟท์ 

หลักของการรักษาวิธีนี้ คือนำไข่และอสุจิมารวมกัน และฉีดเข้าท่อนำไข่ โดยผ่านทางปลายของท่อให้มีการปฏิสนธิ การแบ่งตัวของตัวอ่อนและการฝังตัวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งต่างจากการทำเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธินอกร่างกายและการย้ายฝากตัวอ่อน ซึ่งมีการผสมระหว่างไข่และอสุจิ ตลอดจนการแบ่งตัวของตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ แล้วจึงนำตัวอ่อนไปใส่ไว้ในโพรงมดลูก 
ในทางเทคนิค ขั้นตอนใหญ่ๆ ของการทำกิฟท์ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ 
1. การนำไข่ออกมาจากรังไข่ 
ตามธรรมชาติ รังไข่ประกอบด้วยไข่เล็กๆ เป็นจำนวนมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไข่เป็นเซลล์เล็กๆ เจริญเติบโตภายในถุงรังไข่ ในแต่ละรอบเดือนจะมีฮอร์โมนจากสมองมากระตุ้นให้ถุงไข่เจริญเติบโต ระหว่างการเจริญเติบโตนี้ นอกจากถุงไข่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว ยังมีการหลั่งฮอร์โมนเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอสโตรเจนหรือเอสตราไดออล ถุงไข่จะเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนไข่ตก เมื่อถึงเวลาไข่ตก ถุงไข่จะแตกออก ไข่จะหลุดจากถุงไข่และรังไข่เข้าสู่ท่อนำไข่ ปกติแล้วจะมีถุงไข่เพียงถุงเดียวเท่านั้นที่จะเจริญเติบโตเต็มที่จนถึงระยะไข่ตก การเจริญเติบโตของถุงไข่นี้สามารถตรวจสอบได้โดยการวัดขนาดถุงไข่ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์ การตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อหาปริมาณของเอสโตรเจน หรือตรวจดูผลการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่างๆ ที่มีผลมาจากเอสโตรเจน เช่นการตรวจดูมูกบริเวณปากมดลูกเป็นต้น 
การกระตุ้นรังไข่ 
จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การที่จะสามารถนำไข่ออกมาจากถุงไข่ได้ดีนั้น ต้องมีการกระตุ้นให้ถุงไข่เจริญเติบโตหลายถุง ซึ่งจะทำให้เก็บไข่ได้หลายใบ ที่สำคัญ คือ การนำไข่หลายใบรวมกับอสุจิไปใส่ไว้ในท่อนำไข่ จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าการใส่ไว้เพียงใบเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้ยากระตุ้นถุงไข่ให้เจริญเติบโตหลายถุง โดยอาจเป็นยาชนิดรับประทาน ยาฉีด ยาพ่นเข้าจมูก และอื่นๆ ทั้งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ระยะที่ให้ยากระตุ้นรังไข่นั้น ส่วนมากนานประมาณ 7 ถึง 10 วัน 
การตรวจดูการเจริญเติบโตของถุงไข่ 
ระหว่างการให้ยาจะมีการตรวจสอบดูว่า ถุงไข่มีการเจริญเติบโตหรือไม่ วิธีที่นิยมปัจจุบันนี้คือ การตรวจอัลตร้าซาวด์ และการวัดระดับเอสโตรเจนและฮอร์โมนอื่นในเลือด ในบางขณะการตรวจนี้ต้องกระทำติดต่อกันทุกวัน หากพบว่าการเจริญเติบโตของถุงไข่ไม่ดีเท่าที่ควร ต้องเพิ่มขนาดยาที่ไปกระตุ้นรังไข่ และหากพบว่ารังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป อาจต้องลดขนาดของยาหรือยกเลิกการรักษาถ้าพบว่าจะเกิดอันตราย การตรวจดูอัลตร้าซาด์สำหรับดูการเจริญเติบโตของถุงไข่ ปัจจุบันนิยมทำโดยการตรวจทางช่องคลอด โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเล็กๆ ผ่านทางช่องคลอดเข้าไป ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแต่อย่างใด 
การฉีดยาเอช ซี จี 
เมื่อถุงไข่เจริญ แพทย์จะฉีดยาเอชซีจี เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ขั้นสุดท้าย และกำหนดระยะเวลาที่ไข่ตก โดยทั่วไปหลังการฉีดยานี้ ไข่จะตกภายในเวลาประมาณ 36 ถึง 40 ชั่วโมง แพทย์จะทำการกำหนดระยะเวลาฉีดยาให้ผู้ป่วยแต่ละรายตามความเหมาะสม ซึ่งจะพิจารณาจากเวลาที่ทำการเก็บไข่ ส่วนมากต้องฉีดยานี้ตอนกลางคืน ระหว่างเวลาประมาณ 20.00 - 24.00 น . 
การเก็บไข่ 

แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาทำการเก็บไข่ภายในเวลา 34 - 38 ชั่วโมงหลังจากฉีดเอชซีจี ระยะเวลานี้มีความสำคัญมาก หากทำการเก็บไข่ช้าเกินไปอาจมีการตกไข่เกิดขึ้นก่อน ทำให้ไม่สามารถเก็บไข่ได้ หือหากเร็วเกินไปอาจเก็บได้ไข่ที่ยังไม่สมบูรณ์พอ ทำให้โอกาสตั้งครรภ์ลดลง วิธีการเก็บไข่ ทำได้โดยใช้เข็มเจาะถุงไข่แล้วดูดเอาไข่ภายในถุงออกมา วิธีที่นิยมในปัจจุบันมี 2 วิธีคือ 
• การเจาะผ่านผนังช่องคลอด โดยอาศัยเครื่องอัลตร้าซาวด์ ที่มีหัวตรวจทางช่องคลอด ซึ่งมีเข็มเจาะและดูดไข่ติดอยู่ ระหว่างการทำแพทย์จะใช้ยาระงับความเจ็บปวด หรือให้ยาชาเฉพาะที่ 
• การเจาะผ่านทางผนังหน้าท้อง โดยวิธีนี้ต้องอาศัยกล้องตรวจช่องท้อง แพทย์จะเห็นรังไข่ชัดเจน แล้วใช้เข็มเจาะดูดไข่โดยตรง ซึ่งระหว่างการทำแพทย์จะให้ยาระงับความเจ็บปวด หรือให้ยาชาเฉพาะที่ หรือในบางรายอาจต้องวางยาสลบ 
เมื่อแพทย์เจาะถุงไข่และดูดน้ำในถุงไข่ออกแล้ว จะส่งไปตรวจหาไข่ทันที จากนั้นจะเก็บไข่ไว้ในน้ำยาที่เหมาะสม โดยทั่วไปโอกาสที่จะเก็บไข่ได้ในแต่ละรอบรักษาจะมีประมาณร้อยละ 90 

 
2. การเตรียมอสุจิ 
การเก็บอสุจินั้น ฝ่ายชายจะต้องนำอสุจิมาส่งในวันที่ทำกิฟท์ตามที่แพทย์นัดหมาย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ 
การรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศให้ปราศจากการอักเสบติดเชื้อใดๆ 
ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการเก็บอสุจิเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน 
ทำการเก็บอสุจิด้วยตนเอง โดยก่อนทำต้องล้างมือให้สะอาด ห้ามใช้วิธีร่วมเพศแล้วมาหลั่งภายนอก หรือใช้ถุงยางอนามัย 
บรรจุอสุจิลงในภาชนะสะอาดที่ปราศจากเชื้อ ซึ่งทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ 
นำส่งห้องปฏิบัติการ ตามเวลานัดหมาย 
การคัดแยกอสุจิ 
เนื่องจากในการทำกิฟท์นั้น จะใช้เฉพาะตัวอสุจิที่ปกติและเคลื่อนไหวได้ดี ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำการคัดแยกอสุจิและนำเฉพาะตัวอสุจิที่มีชีวิต และเคลื่อนไหวได้ดีมาใส่ไว้ในน้ำยาที่เหมาะสม การนำไปใส่ไว้ในท่อนำไข่แต่ละครั้งจะใช้อสุจิประมาณ 100,000 ตัว 

 
3. การนำไข่และอสุจิไปใส่ไว้ที่ท่อนำไข่ 

วิธีการนำไข่และอสุจิไปใส่ไว้ในท่อนำไข่มีหลายวิธี ได้แก่ 
• การใช้กล้องตรวจช่องท้องเช่นเดียวกับที่ทำการเก็บไข่ โดยแพทย์สอดเครื่องมือสำหรับจับท่อนำไข่และใช้ท่อเล็กๆ เจาะผนังหน้าท้องแล้วสอดสายสวนเข้าไปจนถึงท่อนำไข่ จากนั้น ทำการดูดไข่ และอสุจิบรรจุในสายเล็กๆ สอดเข้าไปตามสายสวนจนถึงท่อนำไข่ แล้วทำการฉีดไข่และอสุจิเข้าไป ระหว่างการทำ แพทย์จะให้ยาระงับความเจ็บปวดหรือให้ยาสลบ วิธีนี้เป็นที่นิยมปฏิบัติกันมากที่สุดในปัจจุบัน ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที 
• การผ่าตัดบริเวณหน้าท้องเหนือหัวหน่าว โดยทำการผ่าตัดเล็กๆ เข้าช่องท้อง และนำท่อนำไข่ขึ้นมา จากนั้นจึงฉีดไข่และอสุจิที่เตรียมไว้เข้าท่อนำไข่โดยตรง วิธีนี้ในปัจจุบันนิยมทำลดลง เนื่องจากต้องมีแผลผ่าตัดกว้างวิธีแรก และอาจทำให้มีพังผืดบริเวณอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้การทำซ้ำภายหลังหากการทำครั้งแรกไม่สำเร็จจะทำได้ยากขึ้น 
• การสวนท่อผ่านทางปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก และเข้าสู่ท่อนำไข่ โดยอาศัยอัลตร้าซาด์ หรือเครื่องมือตรวจโพรงมดลูก วิธีนี้กำลังอยู่ในระยะการศึกษาวิจัย 
การปฏิบัติตัวภายหลังการทำกิฟท์ 
* ควรงดเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 สัปดาห์ภายหลังการทำ 
* ควรพักผ่อน 1 - 2 วัน จากนั้นสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ควรงดการทำงานหนักและการออกกำลังกายที่หักโหม 
* แพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยในการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งอาจเป็นชนิดรับประทานหรือสอดในช่องคลอด 
* ภายหลังการทำกิฟท์ประมาณ 10 - 14 วัน จะสามารถตรวจเลือดดูว่า มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นหรือไม่ 
* ในกรณีที่ไม่ประสบผลสำเร็จ จะมีประจำเดือนมาตามปกติ และหากต้องการทำซ้ำ ควรรอเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน เพื่อให้รังไข่และระบบต่างๆ ของร่างกายกลับสู่ปกติก่อน 
ผลการตั้งครรภ์ 
โอกาสการตั้งครรภ์จากการรักษาด้วยวิธีนี้แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญได้แก่ ข้อชี้บ่งของการทำกิฟท์ อายุของคู่สมรส โดยเฉพาะฝ่ายหญิง เทคนิคการทำ และอื่นๆ 
โดยทั่วไปการทำกิฟท์แต่ละรอบ จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 20 - 30 อย่างไรก็ดี ในจำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์เหล่านี้ จะมีโอกาสแท้งบุตรประมาณร้อยละ 20 ครรภ์แฝดร้อยละ 30 และครรภ์นอกมดลูกร้อยละ 5 - 10 จากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน ทารกที่เกิดมามีโอกาสเกิดความพิการไม่แตกต่างกับการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ และการพัฒนาของเด็กก็เป็นไปตามปกติ 
คู่สมรสที่เหมาะสมต่อการรักษาด้วยกิฟท์ 
มีการศึกษาถึงการทำกิฟท์ในคู่สมรส ที่มีสาเหตุของการมีบุตรยากต่างๆ กัน ได้แก่ 
* การมีบุตรยากที่หาสาเหตุไม่พบ 
* ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 
* ความผิดปกติที่ปากมดลูก 
* เชื้ออสุจิน้อย 
* ในกรณีที่มีการบริจาคไข่ 
การรักษาบางกรณีจะได้ผลดี เช่น กรณีของการมีบุตรยากโดยตรวจไม่พบความผิดปกติ ส่วนกรณีก็ได้ผลน้อย เช่น การมีเชื้ออสุจิน้อย เป็นต้น ผู้ที่เหมาะสมที่จะรักษาด้วยกิฟท์ จะต้องมีท่อนำไข่ที่ปกติอย่างน้อยหนึ่งข้างและมีโพรงมดลูกที่ปกติ ซึ่งจะทราบได้โดยการตรวจเอกซ์เรย์ภายหลังจากการฉีดสีเข้าโพรงมดลูก และที่สำคัญอีกอย่างคือ ฝ่ายหญิงที่มารับบริการควรมีอายุไม่เกิน 40 ปี หากมากกว่านี้ การรักษามักไม่ได้ผล พึงระลึกไว้เสมอว่า การรักษาด้วยกิฟท์นี้ ควรกระทำต่อเมื่อการรักษาด้วยวิธีธรรมดาไม่ได้ผลแล้ว ซึ่งอาจทำให้คู่สมรสสามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยวิธีง่ายๆ ปลอดภัย และประหยัด 
ที่มา:  www.thaimuslim.com

อัพเดทล่าสุด