ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ศาสนาส่งเสริมให้มีการแข่งขันได้ เฉกเช่นในสมัยนบีมุหัมมัด มีการแข่งขันมวยปล้ำ, แข่งม้า, แข่งขันยิงธนู เป็นต้น
การแข่งขัน และการจับของขวัญ
บทความโดย อ.มุรีด ทิมะเสน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ศาสนาส่งเสริมให้มีการแข่งขันได้ เฉกเช่นในสมัยนบีมุหัมมัด มีการแข่งขันมวยปล้ำ, แข่งม้า, แข่งขันยิงธนู เป็นต้น
ท่านหญิงอาอิชะฮฺเล่าว่า :
كَانَتْ مَعَ النَّبِىِّ -صلى الله عليه وسلم- فِى سَفَرٍ قَالَتْ فَسَابَقْتُهُ فَسَبَقْتُهُ عَلَى رِجْلَىَّ فَلَمَّا حَمَلْتُ اللَّحْمَ سَابَقْتُهُ فَسَبَقَنِى فَقَالَ « هَذِهِ بِتِلْكَ السَّبْقَةِ »
“ฉันเคยอยู่ร่วมเดินทางกับท่านนบีครั้งหนึ่ง แล้วฉันวิ่งแข่งท่านนบี ฉันเอาชนะท่านนบีด้วยสองเท้าของฉัน ครั้นเมื่อฉันเจ้าเนื้อขึ้น ฉันก็วิ่งแข่งกับท่านนบีอีกคราวนี้ท่านนบีเอาชนะฉัน, ฉันกล่าวว่า การแข่งขันก็เป็นเช่นนี้หละ (มีแพ้มีชนะ)” [1]
แต่ทว่าการแข่งขันในสมัยนบีไม่มีการพนันขันต่อเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือไม่มีการลงสมัครแข่งขัน โดยเสียค่าลงแข่งขันแต่อย่างใด
ลำดับต่อมา ในยุคปัจจุบัน มีการแข่งขันกันมากขึ้น แม้กระทั้งในสังคมมุสลิมเองก็ตาม การแข่งขันดังกล่าวเป็นที่อนุญาตบ้าง ไม่อนุญาตบ้าง
พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า :
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالْأَنْصَابُ وَالْأَزْلَامُ رِجْسٌ مِنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ
“โอ้ผู้ศรัทธาเอ๋ย แท้จริงสิ่งมึนเมา การพนัน การบูชายัณ และการเสี่ยงทาย เป็นสิ่งโสมมจากการกระทำของมารร้าย(ชัยฏอน)ดังนั้นจงห่างจากมัน หวังว่าสูเจ้าจะประสบความสำเร็จ” [2]
อีกทั้งศาสนาส่งเสริมให้มีการแข่งขันกีฬา ซึ่งมีทัศนะว่าเป็น มุสตะฮับบะฮฺ (สมควรอย่างยิ่งยวด) หรือบางทีก็เป็นเรื่องมุบาหฺ (อนุญาต) ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่เจตนา และจุดมุ่งหมาย
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า :
عَلَيْكُمْ بِالرَّمْيِ فَإِنَّهُ مِنْ خَيْرِ لَهْوِكُمْ
“จำเป็นสำหรับพวกท่านจะต้องฝึกยิงธนู แท้จริงการฝึกยิงธนูนั้น เป็นการละเล่นที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน” [3]
จึงทำให้นักวิชาการอิสลาม ต้องออกมาตั้งกฎเกณฑ์ว่าด้วยการแข่งขัน กล่าวคือ
ศาสนาอนุญาตให้แข่งขันได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
การแข่งขันในทุกๆ เรื่องที่ไม่มีการต่อรองนั้น และไม่มีการเสียค่าสมัคร (แล้วได้รับรางวัล) เป็นที่อนุญาต ส่วนกรณีที่มีการต่อรอง หรือต้องไม่เก็บค่าสมัครในการแข่งขันแต่อย่างใดทั้งสิ้น
1. อนุญาตให้เอารางวัลได้ จากสปอนเซอร์ หรือผู้สนับสนุน หรือคนรวย
2. คนแข่งขันคนหนึ่งระบุว่า หากท่านชนะฉัน เอาเงินนี้เป็นของท่าน แต่ถ้าฉันชนะท่าน ท่านไม่ต้องให้อะไรกับฉัน และฉันก็ไม่ได้อะไรจากท่าน
3. เงินจากผู้แข่งขัน หรือผู้เข้าชมการแข่งขัน แล้วมีคนกลางเป็นรับเงินก้อนนี้ เช่น องค์กร, คนยากจน หรือเด็กกำพร้า หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ ส่วนฝ่ายที่แพ้ก็ไม่ถูกปรับเงินแต่อย่างใดไม่
ซึ่งหากอื่นจากนี้ ศาสนาไม่อนุญาตให้แข่งขันกันโดยมีของรางวัลตอบแทน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนสอนศาสนาจัดให้มีการแข่งขันฟุตบอล โดยแต่ละโรงเรียนต้องเสียค่าแข่งขันทีมละ 2,000 บาท (สมมุติ) ถ้าทีมไหนแข่งขันชนะเลิศจะได้เงินรางวัล 100,000 บาท เช่นนี้อิสลามถือว่าเป็นการพนัน เพราะเสียค่าสมัครเพียง 2,000 บาท แต่พอชนะเลิศ ได้เงินรางวัล 100,000 บาท
ไม่ต่างกับการแข่งขันนกกรงหัวจุกที่เก็บค่าแข่งขันตัวละ 400 บาท ครั้นแข่งขันชนะก็จะได้รางวัลเป็นพัดลมบ้าง รถมอไซค์บ้าง หรือเงินรางวัลบ้าง แบบนี้แหละที่อิสลามห้ามทำ เพราะถือว่าเป็นการพนัน เมื่อเป็นการพนันถือว่าที่เป็นที่ต้องห้ามนั่นเอง
หรือแม้แต่การแข่งขันอื่นๆ ก็ตาม ที่อยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นการพนันทั้งสิ้น อิสลามได้ห้ามเรื่องการพนันโดยเด็ดขาด หลักฐานการห้ามได้หยิบยกมาแล้วก่อนหน้านี้ ใช่แต่เท่านั้น อิสลามยังห้ามพูด หรือท้าทายให้มีการพนันกัน จะพูดเล่น หรือพูดจริงก็ตาม
ซึ่งหากมุสลิมคนใดเกิดพูดขึ้นมา เช่นนี้ศาสนายังกำชับให้ที่พูดชักชวนผู้อื่นเล่นการพนัน โดยสั่งให้เขาจ่ายเศาะดะเกาะฮฺ (บริจาคทาน) เนื่องจากพูดไม่มีศิริมงคลกับปาก
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า ;
وَمَنْ قَالَ لِصَاحِبِهِ تَعَالَ أُقَامِرْكَ فَلْيَتَصَدَّقْ
“และบุคคลใดที่กล่าวแก่เพื่อนของเขาว่า มานี่สิ ฉันจะพนันกับท่าน ดังนั้นเขา (คนพูด) จงบริจาคทาน (เศาะดะเกาะฮฺ) เถิด” [4]
อนึ่ง ส่วนการละเล่นบางประเภทแม้ว่าจะไม่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง อิสลามก็ไม่อนุญาตให้เล่นเช่นกัน นั่นคือ การละเล่น หรือการเล่นเกมที่มีลูกเต๋าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า
« مَنْ لَعِبَ بِالنَّرْدِ فَقَدْ عَصَى اللَّهَ وَرَسُولَهُ »
“บุคคลที่ละเล่นซึ่งมีลูกเต๋า (มาเกี่ยวข้อง) ถือว่าเขาฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และรสูลของพระองค์อย่างแน่นอน” [5]
การจับของขวัญ
เรื่องการจับของขวัญนั้น ศาสนาอนุญาตให้จับของขวัญได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
ผู้เข้าร่วมรับของขวัญจะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หมายถึง มีสปอนเซอร์นำของขวัญมาให้ หรือมีผู้ใจบุญซื้อของขวัญมาให้ จากนั้นก็จับฉลาก ตรงกับใครก็รับของขวัญ หรือของรางวัลนั้นไป อาทิเช่น วันอีด, โรงเรียน หรือบริษัทจัดขึ้น โดยมีผู้ใหญ่ หรือผู้ใจบุญออกสตางค์ซื้อของขวัญมาให้แจก โดยเด็กๆ หรือพนักงานที่เข้าร่วมรับของขวัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทำนองนี้เป็นต้น
ส่วนกรณี โรงเรียน หรือตามบริษัทต่างๆ ที่บอกกับนักเรียน หรือพนักงานว่า ให้ซื้อของขวัญกันมาโดยมีวงเงินไปเกิน 100 บาท (สมมุติ) จากนั้นก็มาวางรวมกัน แล้วจับฉลาก ใครจับได้ของใครตามที่เบอร์ที่กำหนดไว้ ก็เอาไป เช่นนี้ ถือว่าเป็นการพนัน
เป็นการพนันตรงที่ ของขวัญที่ต่างคนนำมานั้น ราคาไม่เท่ากัน บางคนซื้อของแค่ 80 บาท, 90 บาท, 100 บาท หรือมากกว่านั้น แสดงว่าของขวัญราคาไม่เท่ากัน ซึ่งการจับของขวัญจะเสี่ยต่อการขาดทุน และได้กำไร
กล่าวคือ หากบุคคลหนึ่งได้ของขวัญราคา 100 บาท แต่ตัวเขาเองซื้อของขวัญเพียง 80 บาท แสดงว่าเขาได้กำไร
แต่ถ้าเขาจับได้ของขวัญราคา 80 บาท ปรากฏว่าเขาซื้อของขวัญราคา 100 บาท เช่นนี้แสดงว่าเขาขาดทุน (วัลลอฮุอะอฺลัม)
[1] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2580
[2] สูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 90
[3] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอัลบัรฺซารฺ หะดีษที่ 1146
[4] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 4860
[5] หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 4940