อุบัติการณ์อัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์เป็นอุบัติการณ์อันยิ่งใหญ่ที่สร้างเกียรติประวัติ ให้แก่ท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และแก่ประชาชาติมุสลิม....
ประวัติศาสตร์อิสลาม: ปาฏิหาริย์!! การเดินทางข้ามเวลาของท่านศาสนทูตมูฮัมหมัด
อุบัติการณ์อัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์ เป็นอุบัติการณ์อันยิ่งใหญ่ที่สร้างเกียรติประวัติ ให้แก่ท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และแก่ประชาชาติมุสลิม
ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์นี้ เป็นปาฏิหารย์ ( มั๊วะยิซาต ) ของท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยเฉพาะ และไม่มีนะบีท่านใดได้รับเกียรติมาก่อนเลยในการขึ้นไปสู่ฟากฟ้าด้วยร่างกายและจิตวิญญาณพร้อมกันไปจนถึง " ซิ๊ดร่อติ้ล มุงตะฮา " เพื่อเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และยังถือได้ว่าอุบัติการณ์นี้เป็นการให้สัตยาบันของบรรดานะบี "ซ่อลาวาตุ้ลลอฮิ อะลัยฮิ้ม " แก่ท่านนะบี อีกด้วย
ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำแห่งบรรดานะบี แม้ว่าท่านจะเป็นนะบีสุดท้ายก็ตาม อีกประการหนึ่งก็คือ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรู้ดีว่ายุคที่จะมีมาภายหลังที่ท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สิ้นชีวิตไปแล้วนั้นเป็นยุคแห่งวิทยาการ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ได้รับความเจริญก้าวหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอวกาศ ดังที่เราได้พบเห็นกันมาแล้วเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านนี้ จนกระทั่งมนุษย์ได้บินขึ้นสู่พื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ
เป็นที่ทราบกันดีว่า วิชาความรู้นั้นหากไม่พึ่งพาอาศัย การเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกอันแท้จริงแล้ว วิชาความรู้นั้นย่อมจะนำไปสู่ความหยิ่งยะโสอวดดีและความพินาศในที่สุด เพราะความสำเร็จของนักวิชาการอาจจะทำให้เขานึกเดาเอาว่าตนนั้นมีความสามารถในการพิสูจน์เรื่องนั้นเรื่องนี้ จนเป็นผลสำเร็จได้เอง โดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรมทางด้านวิชาการแทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ กลับกลายเป็นการอาศัยวิชาการเพื่อทำลายล้างโลกกัน
การที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สามารถขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแห่งฟากฟ้าด้วยร่างกายและจิตวิญญาณของท่านนั้น เท่ากับเป็นการท้าทายบรรดานักวิชาการทั้งหลายที่สามารถพิชิตดวงจันทร์และดวงดาวอื่น ๆ ซึ่งเพียงแต่อยู่ในฟ้าชั้นที่หนึ่งเท่านั้น การท้าทายดังกล่าวเท่ากับเป็นการลดความยะโสของนักวิชาการทั้งหลาย และเป็นการสอนให้พวกเขาได้สำนึกถึงเดชานุภาพของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผู้ทรงยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้มีอำนาจเหนือทุกสิ่ง
อุบัติการณ์อัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์ครั้งกระนั้นเท่ากับเป็น การประกาศให้ชาวโลกทั้งหลายได้ทราบว่า อำนาจของนบีอิสรออีลภายหลังการอัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์ของท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นหมดสิ้นลงแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะมัสยิดิลอักซอเป็นสถานที่ที่มีบรรดานบี (อะลัยฮิมุซซ่อลาตุ วัสสลาม) หรือนบีอิสรออีลหลายท่านเคยใช้เป็นสถานที่ทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) เกียรติอันยิ่งใหญ่นี้ทำให้มุสลิมในอดีตพยายามอย่างยิ่งที่จะพิทักษ์รักษามัสยิดิลอักซอเอาไว้ นับตั้งแต่มุสลิมได้พิชิตดินแดนปาเลสไตน์ในสมัยค่อลีฟะฮฺที่สองของอิสลาม คือ ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ็อบ เป็นต้นมา
เมื่อตกมาถึงศตวรรษที่ 11 เมื่อมุสลิมหันหลังให้แก่ศาสนาและมีความแตกแยกกัน จนกระทั่งพวกครูเสดได้ยึดเอามัสยิดอัล-อักซอไป พวกมุสลิมก็ยังสามารถหันมายึดมั่นในศาสนาที่ช่วยสร้างพลังและความสามัคคีให้แก่มุสลิมด้วยการเข้ายึดมัสยิดิลอักซอกลับคืนมา และขับไล่พวกครูเสดให้ออกไปจากดินแดนมุสลิม ต่อมาเมื่อ ค.ศ.1967 มุสลิมได้แตกแยกกันอีก โดยผู้นำมุสลิมบางประเทศไปร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายศัตรูของอิสลาม ดังนั้นมัสยิดอัล-อักซอซึ่งเป็นมัสยิดสำคัญอันดับสามของมุสลิม จึงตกไปอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูอิสลามคืออิสรออีลจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และในอนาคตอีกไม่รู้ว่าจะนานสักปานใด ดินแดงและ มัสยิดอัล-อักซอของมุสลิมจะกลับคืนมาสู่เจ้าของเดิมอีกครั้งหนึ่ง
อุบัติการณ์อัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นในคืนเดียวกัน ด้วยระยะเวลาอันสั้น ก่อนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะอพยพออกจากนครมักกะฮฺไปสู่นครอัลมะดีนะฮฺประมาณหนึ่งปี อุบัติการณ์ดังกล่าวนี้อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดให้มีขึ้นเพื่อจะได้ทรงทดสอบว่าใครบ้างเป็นผู้ศรัทธาเชื่อมั่นต่อพระองค์อย่างแท้จริง และเพื่อที่จะให้ร่อซู้ลของพระองค์ คือ ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ประจักษ์แจ้งในสัญญาณต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงสำแดงให้เห็นถึงเดชานุภาพของพระองค์ ดังหลักฐานจากอัลกุรอาน ซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลอิสรออฺ อายะฮฺที่หนึ่งว่า
ความว่า “ มหาบริสุทธิ์ ( อัลลอฮ ฺ) ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์ออกเดินทางในเวลากลางคืนจากมัสยิดิลฮะรอมไปยังมัสยิดิลอักซอ อันเป็นสถานที่ที่เรา ( อัลลอฮ ฺ) ได้ให้มีบะร่อกะฮฺ ( ความจำเริญและศิริมงคล ) แก่บริเวณรอบ ๆ นั้น ทั้งนี้เพื่อต้องการให้บ่าวของเรา (มุฮัมมัด) ได้ประจักษ์แจ้งถึงสัญญาณต่าง ๆ ของเรา แท้จริงพระองค์นั้นคือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น ” (17:1)
จากตัวบทอัลกุรอานในซูเราะฮฺอัลอิสรออฺ เพียงอายะฮฺเดียวเท่านั้น ที่ยืนยันถึงอุบัติการณ์อัลอิสรออฺ ฉะนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของอัลลอฮฺ ที่มีแก่เรา พระองค์จึงทำให้ตัวบทในเรื่องของอัลอิสรออฺมีหลักฐานทางวัตถุยืนยันด้วยตัวบทอย่างชัดแจ้ง เพราะเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน คือ มัสยิดอัล-ฮะรอมและมัสยิดอัล-อักซอ และทำให้อัลเมียะอฺรอจญ์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนชั้นฟ้า มีหลักฐานเป็นรูปธรรมของการมีพันธกรณี คือเมื่อเป็นการกระทำของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แล้ว เราต้องเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ส่วนหลักฐานยืนยันจากตัวบทอัลกุรอานในเรื่องที่เกี่ยวกับอัลเมียะอฺรอจญ์คือ
ความว่า “ แท้จริงเขา ( มุฮัมหมัด ) ได้เห็นส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าของเขา ” (53:18)
ฮะดีสเกี่ยวกับอุบัติการณ์อัลอิสรออฺนี้ ได้มีศ่อฮาบะฮฺมากกว่า 20 ท่านรายงาน แต่ละรายงานย่อมแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย บางรายงานก็สั้นบางรายงานก็ยาว แต่ฮะดีสเกี่ยวกับอัลอิสรออฺนี้บรรดามุสลิมได้เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นอุบัติการณ์จริง คือท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ออกเดินทางจากมัสยิดิลฮะรอมในนครมักกะฮฺถึงมัสยิดิลอักซอในนครเยรูซาเล็ม เพียงช่วงหนึ่งของเวลากลางคืน ทั้งที่ระยะเวลาเดินทางโดยกองคาราวานจะใช้เวลาถึง 40 วัน การเดินทางในเวลากลางคืนอัลอิสรออฺของท่านนบี ได้เกิดขึ้นทั้งเรือนร่างและจิตวิญญาณของท่าน ขณะที่ท่านตื่นนอนมีสติสัมปชัญญะ มิใช่เป็นความฝันตามความคิดเห็นของคนบางคน พวกปฏิเสธซุนนะฮฺที่ไม่ยอมเชื่อฮะดีสเกี่ยวกับอุบัติการณ์อัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์ มีสภาพเช่นเดียวกับพวกปฏิเสธศรัทธา ( กุฟฟาร ) ที่กล่าวหาท่านนบีว่าพูดเท็จ
จากรายงานฮะดีส ซึ่งมีหลายริวายะฮฺเกี่ยวกับเรื่อง อัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์นี้ พอจะสรุปเค้าความได้ คือ ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ออกเดินทางในเวลากลางคืนจากมัสยิดฮะรอม โดยมีญิบรีล อะลัยฮิสสลามเป็นผู้นำทาง และท่านได้นั่งบนบุร๊อก (เป็นสัตว์พาหนะ) และไปถึงเยรูซาเล็ม ( บัยตุลมักดิส ) ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พบกับบรรดานบีหลายท่าน และท่านได้เป็นอิมามนำละหมาด
หลังจากนั้น ญิบรีลได้นำท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ขึ้นสู่ฟากฟ้า และได้พบกับบรรดานบีหลายท่าน ตั้งแต่ชั้นที่หนึ่งถึงชั้นที่เจ็ดท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากบรรดานะบีเหล่านั้น ต่อจากนั้นท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถูกนำไปยัง " ซิ๊ดร่อติ้ล มุงตะฮา " และได้เห็น " บัยตุ้ลมะห์มูรจ ฺ" ซึ่งเป็นกะอบะฮฺของบรรดามะลาอิกะฮฺ และได้เห็นสวรรค์และนรก แล้วญิบรีลก็ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้นพลางกล่าวว่า “ มุฮัมมัด นี่คือขอบเขตของฉัน ฉันไม่สามารถจะล่วงล้ำเขตนี้ไปได้ ” หลังจากนั้นท่านก็ได้ขึ้นต่อไปจนถึง " มะกอมุ้ลอัสนา " และ " ดะร่อยาตุ้ลอูลา " จนถึง " มะกอมุ้ล มุนายาต " ซึ่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
ในคืนวันนั้นอัลลอฮฺ ( ซ.บ. ) ได้ทรงบัญญัติการละหมาด 50 เวลา ภายในหนึ่งวันให้แก่ประชาชาติของมูฮัมหมัด เมื่อท่านได้กลับลงมาพบกับนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ท่านก็พูดว่า
“ นั่นเป็นการลำบากแก่ประชาชาติของท่านที่จะปฏิบัติเช่นนั้นได้ ฉันได้เคยทดลองกับบนีอิสรออีลมาแล้ว มุฮัมมัดจงกลับไปขอลดหย่อนจำนวนละหมาดลงอีก ”
ท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เวียนไปขอลดภาระดังกล่าวจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) หลายครั้ง จนเหลือเพียง 5 เวลา ท่านจึงได้กล่าวกับนะบีมูซาว่า:
“ ฉันรู้สึกละอายใจที่จะไปขอลดหย่อนต่อพระองค์อีก ฉันขอน้อมรับเวลาละหมาดวันละ 5 เวลานี้ไว้ ” และอัลลอฮฺ (ซ.บ.) มีบัญชาว่า
“ การละหมาด 5 เวลาต่อหนึ่งวันนี้จะได้รับผลบุญตอบแทนเป็นรางวัลเท่ากับ 50 เวลา ”
ในอุบัติการณ์อัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์นั้น ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พบเห็นเหตุการณ์มากมายพอจะสรุปเป็นหัวข้อได้ดังนี้คือ
1. พวกที่ต่อสู้ในแนวทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
2. พวกที่ไม่ให้ความสนใจในเรื่องของการละหมาด
3. พวกที่หมกมุ่นอยู่ในทางเพศที่หะรอม
4. พวกที่กินดอกเบี้ย
5. พวกที่กินทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้าด้วยความอธรรม
6. พวกที่ไม่บริจาคซะกาต
7. พวกที่ชอบนินทาใส่ร้ายผู้อื่น
8. พวกที่ชอบพูดในสิ่งที่เขาไม่กระทำ
สำหรับเหตุการณ์ทั้งหมด ดังกล่าวมานี้ เราจะขอเน้นหนักในเรื่องของพวกที่ไม่ให้ความสนใจในเรื่องการละหมาด โดยมีรายงานแจ้งว่า
ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ผ่านกลุ่มชนหนึ่งซึ่งศีรษะของพวกเขาถูกทุบให้แตกด้วยก้อนหิน ทุกครั้งที่ศีรษะแตกมันก็จะกลับมีสภาพเช่นเดิมอีก และก็เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวถามว่า “ โอ้ญิบรีล พวกเหล่านี้เป็นใครกัน ? ” ญิบรีลกล่าวว่า “ พวกเหล่านี้คือ ผู้ที่ศีรษะของเขาหนักในเรื่องเกี่ยวกับละหมาดฟัรฎู " หมายถึง เมื่อได้ยินอะซานแล้วไม่ยอมลุกขึ้นไปละหมาด
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เขารู้ถึงฐานะของการละหมาดว่ามีความยิ่งใหญ่เพียงใด การละหมาดเป็นหัวใจสำคัญในหลักปฏิบัติของอิสลาม เป็นเครื่องหมายที่จำแนกระหว่างมุสลิมกับผู้ที่มิใช่มุสลิม และเป็นสิ่งแรกที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงสอบสวนผู้ที่เป็นมุสลิมในวันกิยามะฮฺ หากพบว่าละหมาดของเขาเรียบร้อยสมบูรณ์ การงานอื่น ๆ ของเขาก็จะเรียบร้อยสมบูรณ์ไปด้วย ฐานะของการละหมาดในอิสลามนับเป็นฐานะอันสูงสุดจึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพราะท่านได้รับบัญญัติละหมาดในคืนอัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์ และยังถือว่าสิ่งที่จะสร้างความสุขให้แก่ท่านคือการละหมาด ดังที่ท่านเคยปรารภกับท่านบิลาล มุอัซซินประจำตัวของท่านว่า
“ บิลาลเอ๋ย! จงให้เราได้รับความสุขสบายด้วยการละหมาดเถิด” และท่านยังกล่าวอีกด้วยว่า "และการละหมาดนั้นเป็นขวัญใจของฉัน " ดังฮะดีสของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้มีความว่า
“ สิ่งแรกที่บ่าวของอัลลอฮฺจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ คือเรื่องละหมาด หากละหมาดของเขาเรียบร้อยดี การงานอื่น ๆ ก็พลอยดีไปด้วย และหากละหมาดของเขาเสีย การงานอื่น ๆ ก็พลอยเสียไปด้วย ”
การที่อิสลามเทิดทูนการละหมาดให้เป็นหลักและยอดของการนับถือศาสนาก็เพราะว่า การละหมาดเป็นสถานะอันสูงสุดและมีความสำคัญอันใหญ่หลวงในทัศนะของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ดังปรากฎในรายงานจากอับดุลลอฮฺ อับนอุมัร แจ้งว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ความว่า “ผู้ใดรักษาการละหมาด การละหมาดนั้นจะเป็นรัศมีแก่เขา และเป็นหลักฐาน และเป็นการรอดพ้นในวันกิยามะฮฺ และผู้ใดที่ไม่รักษาการละหมาด ผู้นั้นจะไม่มีรัศมี ไม่มีหลักฐาน และไม่มีความรอดพ้น และในวันกิยามะฮฺเขาจะอยู่ร่วมกับกอรูน ฟิรเอาน์ และอุบัย อิบนุค่อลัฟ”
(อุบัย อิบนุ ค่อลัฟ ผู้นี้เป็นหัวหน้ามุชริกคนสำคัญ คนหนึ่งที่ต่อต้านอิสลามอย่างหนักในระยะแรก และถูกฆ่าตายในสงครามบัดรฺ ในปีที่สองแห่งฮิจเราะฮฺศักราช)
ที่กล่าวมาพอสังเขปเกี่ยวกับฐานะการละหมาด ทำให้ผู้ที่ละเลยไม่ละหมาดตามเวลา ด้วยการกระทำหลายรูปแบบ เช่น สาละวนอยู่กับการทำมาหากิน การเพลินเพลินอยู่กับการละเล่น การหาความสำราญด้วยการดูโทรทัศน์ การง่วนอยู่กับการทำงานบ้าน บุคคลเหล่านี้จะถูกลงโทษอย่างหนัก ด้วยการถูกทุบศีรษะด้วยก้อนหินจนแตก และจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ตลอดไป ดังสภาพของพวกเขาที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เห็นมาในคืนอัลอิสรออฺและอัลเมียะอฺรอจญ์ สภาพการลงโทษนั้นจะคงมีอยู่เรื่อย ๆ ตลอดไปจนกระทั่งวันกิยามะฮฺ จึงถือได้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะนอกจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พบเห็นมาแล้ว ยังมีดำรัสของอัลลอฮฺในซูเราะฮฺอัลมาอูน อีกว่า
ความว่า “ ดังนั้นความหายนะจงประสบแก่บรรดาผู้ทำละหมาด ผู้ที่พวกเขาเผลอไผลต่อการละหมาดของพวกเขา ” (107:4-5)
แน่นอนการลงโทษจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ย่อมประสบกับผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการไม่ให้ความสนใจในการละหมาด นอกจากนี้ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่เขาทำละหมาด แต่ปราศจากวิญญาณแห่งการละหมาด เพราะเขามิได้ปฏิบัติละหมาดตามแบบอย่างที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งสอนเอาไว้ว่า ความว่า
“ ท่านทั้งหลายจงละหมาดเสมือนกับที่พวกท่านเห็นฉันละหมาด ” ( บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ )
ดังนั้น ทำอย่างไร เราจึงละหมาดให้ถูกต้องตามแบบฉบับของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็มีทางเดียวเท่านั้นที่เราจะกระทำได้ ด้วยการศึกษาหาความรู้ หรือสอบถามคนที่เขารู้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ดาบแห่งอัลเลาะห์ อะคาเดมี่