ความประเสริฐของเดือนมุฮัรรอม


6,151 ผู้ชม

เดือนมุฮัรรอม เป็นเดือนหนึ่งในบรรดาสี่เดือนที่ต้องห้าม (อัลอัชฮุรุลหุรุม) ดังพระกำหนดที่ถูกระบุในซูเราะตุตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 36 ซึ่งมีใจความว่า...


ความประเสริฐของเดือนมุฮัรรอม

ความประเสริฐของเดือนมุฮัรรอม
เดือนมุฮัรรอม เป็นเดือนหนึ่งในบรรดาสี่เดือนที่ต้องห้าม (อัลอัชฮุรุลหุรุม) ดังพระกำหนดที่ถูกระบุในซูเราะตุตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 36 ซึ่งมีใจความว่า :
إِنَّ عِدَّةَ الشُّهُوْرِ عِنْدَ اللهِ اثْنَا عَشَرَ شَهْرَا فِيْ كِتَابِ اللهِ يَوْمَ خَلَقَ السَّمَوَاتِ وَالأَرْضَ مِنْهَا أَرْبَعَةٌ حُرُمٌ

“แท้จริงจำนวนเดือน ณ อัลลอฮฺนั้นมีสิบสองเดือนในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน จากเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือนซึ่งเป็นเดือนที่ต้องห้าม...”
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อธิบายว่า สี่เดือนที่ต้องห้ามนั้นคือ เดือนซุลกะอฺดะฮฺ ซุลฮิจญะฮฺ มุฮัรรอม และเราะญับมุฎ็อร โดยสามเดือนแรกเป็นสามเดือนต่อเนื่องกัน แต่เดือนรอญับที่ถูกแยกมาเป็นเดือนที่ต้องห้ามระหว่างเดือนญุมาดาอัลอาคิเราะฮฺกับเดือนชะอฺบาน เพราะในประวัติศาสตร์ของอาหรับก่อนยุคอิสลาม ชาวเผ่ารอบีอะตุบนุนิซารได้เรียกเดือนรอมฎอนว่าเดือนรอญับ และถือเป็นเดือนต้องห้ามแทนเดือนรอญับของเผ่ามุฎ็อร ซึ่งเดือนรอญับของมุฎ็อรเป็นการกำหนดที่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ จึงทำให้ท่านนบีเน้นในการกำหนดเดือนต้องห้ามว่าเป็นเดือนรอญับของมุฎ็อร
ส่วนเดือนมุฮัรรอมนั้นนอกจากเป็นเดือนต้องห้ามแล้ว ยังมีความประเสริฐอีกหลายประการดังต่อไปนี้
1. การถือศีลอดในเดือนมุฮัรรอม
เป็นการถือศีลอดที่มีความประเสริฐยิ่ง ซึ่งมีตำแหน่งรองจากเดือนรอมฎอน ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
أَفْضَلُ الصِّيَامِ بَعْدَ رَمَضَانَ شَهْرُ اللهِ المُحَرَّمُ
ซึ่งมีใจความว่า “การถือศีลอดที่ประเสริฐยิ่งหลังจากเดือนรอมฎอน คือการถือศีลอดเดือนของอัลลอฮฺที่ต้องห้าม(อัลมุฮัรรอม)” (บันทึกโดยอิมามมุสลิม อบูดาวู้ด และติรมีซีย์)
ดังนั้น ผู้ใดมีความสามารถที่จะถือศีลอดในเดือนมุฮัรรอมทุกวัน เกือบทุกวัน หรือบางวัน ก็เป็นการดีในการให้เกียรติเดือนที่ต้องห้ามนี้ หากไม่สามารถถือศีลอดหลายวัน ก็ให้ปฏิบัติความประเสริฐประการต่อไป
2. การถือศีลอดวันที่ 10 มุฮัรรอม ที่เราเรียกกันว่า อาชูรออฺ
ซึ่งเป็นวันที่มีเกียรติในศาสนาอื่นด้วย เช่น ศาสนายิว เพราะเป็นวันที่ท่านนบีมูซา อะลัยฮิสสลาม ได้รับความปลอดภัยจากฟิรเอานฺ จึงเป็นวันแห่งการขอบคุณของบนีอิสรออีล และเป็นที่รู้กันดีว่าท่านนบีมูซาได้ถือศีลอดในวันนี้ เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ และท่านได้ทราบว่าชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺกำลังถือศีลในวันนั้น ท่านนบีจึงประกาศให้เป็นวันถือศีลอดของชาวมุสลิมด้วย โดยกล่าวว่า
أَنَا أَحَقُّ بِمُوْسَى مِنْكُمْ فَصَامَهُ وَأَمَرَ بِصِيَامِهِ
“ฉันมีข้อเกี่ยวพันกับมูซามากกว่าพวกท่าน(โอ้ชาวยิว)” ท่านนบีจึงถือศีลอดวันนั้นและใช้ให้บรรดามุสลิมีนถือศีลอดด้วย” (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม)
บรรดานักปราชญ์อิสลามชี้แจงว่า ในช่วงแรกการถือศีลอดวันอาชูรออฺ(สิบมุฮัรรอม)เป็นวาญิบ(จำเป็นต้องปฏิบัติ) เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่มีการใช้ให้ถือศีลอดเดือนรอมฎอน จึงถือเป็นการถือศีลอดฟัรฎูของมุสลิม แต่หลังจากที่มีบทบัญญัติใช้ให้บรรดามุสลิมีนถือศีลอดเดือนรอมฎอนเป็นฟัรฎู แล้วท่านนบีก็ไม่ได้บังคับให้ถือศีลอดในวันนี้ แต่ยืนยันในความประเสริฐด้วยถ้อยคำอันชัดเจน เช่น
سُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَاشُوْرَاءَ فَقَالَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ المَاضِيَةَ
ท่านนบีถูกถามถึงการถือศีลอดในวันอาชูรออฺ ท่านตอบว่า “ลบล้างความผิดตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา” (บันทึกโดยมุสลิม)
ดังนั้น บรรดาอุละมาอฺจึงมีความเห็นตรงกันถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในวันอาชูรออฺ แต่อุละมาอฺส่วนมากมีความเห็นชอบให้ถือศีลอดวันตาซูอาอฺไปด้วย คือวันที่ 9 ของเดือนมุฮัรรอม (ตาซูอาอฺ) ซึ่งท่านนบี ได้กล่าวว่า
لَئِنْ بَقِيْتُ إِلَى قَابِلٍ َلأَصُوْمَنَّ التَّاسِعَ وَالعَاشِرَ
“หากฉันมีชีวิตถึงปีหน้า แน่นอน ฉันจะถือศีลอดวันที่เก้าและวันที่สิบ” (บันทึกโดยอิมามอะหมัด)
และอุละมาอฺบางท่านมีความเห็นชอบให้ถือศีลอดวันที่ 11 รวมไปด้วย เพราะมีหะดีษบทหนึ่งบ่งชี้ถึงการถือศีลอดวันก่อนอาชูรออฺและวันหลังอาชูรออฺ แต่เนื่องจากหะดีษนี้มีสายสืบอ่อนมาก(ฎออีฟญิดดัน) จึงไม่ควรนำมาใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจ
3. การทำอิบาดะฮฺ ทำความดี และละเว้นความชั่วทุกชนิด
เดือนมุฮัรรอมถือเป็นวาระสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอัลลอฮฺได้ทรงกำชับบรรดาผู้ศรัทธาไม่ให้อธรรมตัวเองในเดือนที่ต้องห้าม หมายถึง ไม่ให้ละเมิดกรอบสิ่งที่ต้องห้าม และไม่ให้ละเว้นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ
สำหรับเดือนมุฮัรรอมมีความประเสริฐบางประการที่บางกลุ่มบางลัทธิได้เชื่อถือ แต่หาได้มีหลักฐานรับรองในความประเสริฐนั้นไม่ เช่นตัวอย่างดังต่อไปนี้
ความเชื่อว่าวันที่ 10 มุฮัรรอมเป็นวันที่ท่านนบีนูหฺได้รับความปลอดภัยจากน้ำท่วมด้วยเรือลำใหญ่ ที่อัลลอฮฺทรงสอนให้ท่านนบีนูหฺสร้างเพื่อความปลอดภัยของท่านและผู้ศรัทธา ซึ่งหะดีษที่กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่ในระดับที่เชื่อถือมิได้ ดังนั้น ทางความศรัทธาไม่อนุญาตให้เชื่อในสิ่งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนรองรับ

ความเชื่อว่าวันที่ 10 มุฮัรรอมนั้นให้ทำขนมหรือแจกขนมชนิดหนึ่งชนิดใด โดยเชื่อว่าการทำขนมเฉพาะให้วันที่สิบมุฮัรรอมนั้นมีความประเสริฐเป็นพิเศษ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้มีความคลาดเคลื่อนและผิดหลักการใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ เป็นการกระทำที่ไม่มีหลักฐานรองรับ และการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดถ้าเราเชื่อว่ามีผลบุญ (เช่นเชื่อว่าทำขนมในวันอาชูรออฺมีผลบุญเป็นพิเศษ) ถ้าไม่มีหลักฐานในการกระทำนั้นๆ ก็จะถือว่าเป็นบิดอะฮฺที่ต้องละทิ้ง

ประเด็นที่สอง คือ เป็นพฤติกรรมที่ถูกริเริ่มด้วยกลุ่มอันนะวาศิบ คือกลุ่มที่เกลียดชังท่านอะลี อิบนุอบีฏอลิบ และอะหฺลุลบัยตฺ(ครอบครัวและลูกหลานของท่านนบี) กลุ่มเหล่านี้ได้แสดงความดีใจในการเข่นฆ่าท่านอัลหะซัยนฺ อิบนุอะลี (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ในวันที่ 10 มุฮัรรอม จึงทำขนมและแจกเพื่อแสดงความยินดีในเหตุการณ์นั้น และกลุ่มนะวาศิบก็จะเป็นกลุ่มตรงข้ามกับกลุ่มชีอะฮฺร่อวาฟิฎ กล่าวคือ กลุ่มชีอะฮฺร่อวาฟิฎจะรักอะหฺลุลบัยตฺอย่างเลยเถิด และกลุ่มนะวาศิบจะเกลียดอะหฺลุลบัยตฺโดยไม่มีเหตุผล และระหว่างสองกลุ่มก็จะมีอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺที่รักใคร่อะหฺลุลบัยตฺตามขอบเขตของอิสลามและด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง

ความเชื่อของกลุ่มชีอะฮฺร่อวาฟิฎ ว่าต้องไว้ทุกข์ในวันที่ 10 มุฮัรรอม เพื่อแสดงความเสียใจในการเสียชีวิตของอัลหุซัยนฺ อิบนุอะลี ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์กลุ่มชีอะฮฺได้พัฒนาพฤติกรรมนี้จนกระทั่งเป็นเทศกาลและเอกลักษณ์ของชีอะฮฺโดยเฉพาะ โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆในวันไว้ทุกข์นี้ แต่สิ่งที่น่าอัปยศอย่างยิ่งและเป็นการทำลายหลักการอัลอิสลาม คือ การทำร้ายร่างกายตัวเองในวันที่ 10 มุฮัรรอม ตามถนนและสถานที่สาธารณะ ซึ่งกลุ่มชีอะฮฺจะถือว่า เป็นการแสดงพลังของพวกเขา และจะออกมาชุมนุมตามสถานที่สาธารณะต่างๆ และจะมีการตบหน้าตบอก หรือใช้อาวุธต่างๆในการทำร้ายตัวเองจนเลือดไหล เพื่อบรรลุจุดประสงค์ของพวกเขา คือรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่ท่านอัลหุซัยนฺ อิบนุอะลี ได้ประสบ พฤติกรรมดังกล่าวกลุ่มชีอะฮฺจะปฏิบัติกันทั่วโลก แม้กระทั่งในประเทศไทย ถึงแม้ว่ามีนักปราชญ์ของกลุ่มเขาได้ประกาศว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอุตริกรรมที่ไม่อนุญาตให้กระทำโดยเด็ดขาด แต่ชีอะฮฺโดยทั่วไปยังยืนหยัดในการแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ โดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียงของชาวมุสลิม ดังนั้นอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺต้องประกาศความไม่เห็นด้วยกับลัทธิชีอะฮฺ รวมถึงประกาศประณามพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าผู้มีพฤติกรรมนั้นไม่ใช่มุสลิมที่แท้จริง

ที่มา:  www.islaminthailand.org

อัพเดทล่าสุด