นั่งเอกเขนกกินด้วยเจ็ดลำไส้


3,425 ผู้ชม

นานๆ ครั้งจึงจะได้ดูทีวีสักหน ยึดประเภทสารคดีเป็นหลัก ที่ชอบคือ สารคดีท่องเที่ยว ทำให้รู้จักความแตกต่างหลากหลายในโลกมากขึ้น อีกรายการหนึ่งที่ในอดีตเคยดูบ่อย แต่พักหลังไม่มีเวลาดูคือรายการทีวีแชมเปี้ยนจากประเทศญี่ปุ่น


นั่งเอกเขนกกินด้วยเจ็ดลำไส้

นั่งเอกเขนกกินด้วยเจ็ดลำไส้ โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

นานๆ ครั้งจึงจะได้ดูทีวีสักหน ยึดประเภทสารคดีเป็นหลัก ที่ชอบคือ สารคดีท่องเที่ยว ทำให้รู้จักความแตกต่างหลากหลายในโลกมากขึ้น อีกรายการหนึ่งที่ในอดีตเคยดูบ่อย แต่พักหลังไม่มีเวลาดูคือรายการทีวีแชมเปี้ยนจากประเทศญี่ปุ่น เป็นรายการแข่งขันแปลกๆ อย่างเช่นแข่งขันการกิน ใครกินได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ เป็นอาหารเผ็ดบ้าง ฮอทดอกบ้าง ซุบบ้างก็แล้วแต่จะสรรหามาให้กิน ควันหลงจากรายการคือ การสัมภาษณ์คนที่ได้เป็นแชมเปี้ยน ซึ่งมีอยู่คนหนึ่งไม่ได้เป็นแชมเปี้ยนประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นยังเป็นแชมเปี้ยนโลกด้วย  จากการเดินทางไปแข่งขันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยคนอ้วนขนาดโรคอ้วน นายคนญี่ปุ่นที่ว่านี้ต้องแข่งขันกับนักกินอเมริกัน ยุโรป ออสเตรเลียน ซึ่งอ้วนพลั่กแทบทุกคน แต่แกเอาชนะได้ทั้งๆที่แกเป็นคนผอม ทำให้หลายคนแปลกใจว่าผอมอย่างนั้นเอาชนะคนอ้วนกินจุได้อย่างไร

นายหนุ่มชาวญี่ปุ่น ที่เป็นแชมเปี้ยนญี่ปุ่นและเป็นแชมเปี้ยนโลกคนนี้มีชื่อว่า ทาเครุ โคบายาชิ สามารถกินฮ็อทดอกเร็วที่สุดในปริมาณมากที่สุดนั่น คือ 50 ชิ้นในเวลา 12 นาที หลังจากนั้นยังขยันทำลายสถิติของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า รายการทีวีแชมเปี้ยนไปสัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับในการกินของแก คำตอบคือเริ่มด้วยการฝึกกินจุก่อน ฝึกจนกระทั่งกระเพาะของแกสามารถขยายได้เกินปกติ ฝึกกินจุจนได้ที่แล้วจึงเริ่มฝึกการกินเร็ว หากกระเพาะจุอาหารได้เต็มที่เกินพิกัดปกติ การกินเร็วก็ไม่ใช่ปัญหา แกว่าของแกอย่างนั้น เคล็ดลับที่ช่วยทำให้กินจุคือการนั่งเอกเขนกใช้หลังพิงเบาะหรือพิงฝา เอนตัวลงไปทางด้านหลัง ง่ายๆอย่างนั้น

หลังจาก นายโคบายาชิบอกเคล็ดลับ มีแพทย์ด้านโภชนาการชาวญี่ปุ่นออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการนั่งเอกเขนกกินอาหารอย่างนั้นทำให้กระเพาะเอนตัวลง ฮอร์โมนหิวจากกระเพาะที่มีชื่อว่ากรีลิน (Ghrelin) หลั่งได้สะดวก กินจนเต็มกระเพาะแล้วฮอร์โมนหิวก็ยังไม่หยุดหลั่งทำให้สมองสั่งการให้กินไปเรื่อยๆขณะที่ฮอร์โมนอิ่มคือเล็พติน (Leptin) ที่สร้างจากเซลล์ไขมันยังทำงานไม่ได้ การทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพของฮอร์โมนสองตัวนี้ส่งผลให้อาหารถูกส่งเข้ากระเพาะไปได้เรื่อยๆ กระเพาะจึงชินกับการขยายขนาด สุดท้ายกระเพาะของนายโคบายาชิมีขนาดใหญ่กว่าคนที่ตัวใหญ่กับเขามากๆ ฝึกง่ายๆอย่างนี้เองที่ทำให้นายโคบายาชิกลายเป็นคนตัวเล็กที่กระเพาะใหญ่และกลายเป็นแชมเปี้ยนโลก

เล่าเรื่องนายโคบายาชินั่งเอกเขนกกินอาหาร ก็เพราะคิดถึงหะดิษระดับซอเฮียะฮฺ บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีหมายเลข 5398 และ 5399 เล่าโดยอบูจูฮัยฟาว่าท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) บอกว่าท่านไม่เคยกินอาหารขณะนั่งเอาหลังพิงอะไรเลย และนี่คือเคล็ดลับของท่านในการกินน้อย การนั่งแบบเอกเขนกหรือเอนตัวลงไปด้านหลังจะด้วยการพิงกับเก้าอี้หรือพิงกับเบาะอย่างนั้นท่านนบีไม่เคยปฏิบัติ สิ่งที่ท่านทำเป็นนิสัยคือการเอนตัวโน้มไปข้างหน้าเช่นการนั่งด้วยท่าอิกกะอะอฺ (لإقعاء) นั่งกับพื้นเอาก้นทับลงไปบนเท้าข้างหนึ่ง ชันเข่าอีกข้างหนึ่งเอนตัวน้อยๆ ไปด้านหน้า ท่านั่งนี้ทำให้กระเพาะถูกกด การหลั่งฮอร์โมนหิวชะลอตัวและหยุดลง ฮอร์โมนอิ่มทำงานในสมองได้ดีขึ้น กินอาหารด้วยท่านั่งลักษณะนี้จึงทำให้กินได้น้อยลง

นอกจาก ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) จะไม่นั่งพิงไปด้านหลังแต่ใช้การเอนตัวมาด้านหน้าแล้ว ท่านยังเตือนผู้ศรัทธาให้กินด้วยหนึ่งกระเพาะโดยไม่กินด้วยเจ็ดกระเพาะบันทึกในหะดิษหมายเลข 5393, 5394, 5395 ของอิหม่ามบุคอรี

คำว่า เจ็ดในภาษาอาหรับ คือ “ซับอะฮ์” (سبعة) นอกจากจะหมายถึง เลขเจ็ดแล้วยังมีความหมายว่า มากมาย กินด้วยเจ็ดกระเพาะจึงหมายถึงกินมากแบบยัดทะนาน กินอย่างนั้นนับว่าไม่ตอยยิบหรือไม่ดี ไม่ได้คุณภาพในวัฒนธรรมอิสลาม

อัพเดทล่าสุด