ถาม-ตอบ ถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล


6,345 ผู้ชม

การถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลจำเป็นต้องติดต่อกัน 6 วันหรือไม่?....


ประเด็นคำถามเกี่ยวกับการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล

ตอบโดย: อาจารย์ อารีฟีน แสงวิมาน

ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “ผู้ใดถือศีลอดร่อมะฎอนแล้ว หลังจากนั้นเขาได้ถือศีลอดต่อจากเดือนร่อมะฎอนอีก 6 วันจากเดือนเชาวาล แน่นอนเหมือนว่าเขาได้ถือศีลอดตลอดทั้งปี” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 1164

ประเด็นคำถามและตอบเกี่ยวกับการถือศีลอดสุนัต 6 วันเดือนเชาวาลแบบสรุปดังนี้

1. การถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลจำเป็นต้องติดต่อกัน 6 วันหรือไม่?

ตอบ: การถือศีลอดซุนนะฮ์ 6 วันเดือนเชาวาลนั้นไม่จำเป็นต้องติดต่อกัน ก็ถือว่าตามซุนนะฮ์นะบีย์แล้ว แต่ที่ดีเลิศนั้น สมควรทำติดต่อกัน 6 วันหลังวันอีดฟิตรี่เลยเพื่อรีบในการทำอิบาดะฮ์

2. จะถือศีลอดชดใช้ก่อนหรือว่าถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลก่อน?

ตอบ: ประเด็นดังกล่าวนี้แบ่งออกเป็น 2 กรณี

2.1 กรณีการขาดศีลอดร่อมะฏอนโดยมีอุปสรรค เช่น มีประจำเดือน เจ็บป่วย และเดินทาง เป็นต้น ก็อนุญาตให้ทำการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลติดต่อหลังจากวันอีดเลยได้ และหลังจากนั้นก็ชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนที่ขาดไป แต่ที่ดีเลิศยิ่งกว่านั้น คือให้ถือศีลอดฟัรฎูชดใช้ก่อน หลังจากนั้นก็ให้ถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล

2.2 กรณีการขาดศีลอดร่อมะฎอนโดยไม่มีอุปสรรค เช่น กินและดื่มโดยเจตนาหรือกระทำสิ่งที่ทำให้เสียศีลอดโดยเจตนา ก็ถือว่าฮะรอมถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาล และจำเป็นบนเขาต้องรีบทำการชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนที่ติดค้างก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ทำการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาล

3. การถือศีลอดชดใช้พร้อมกับถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลจะได้หรือไม่?

ตอบ: อนุญาตให้ถือศีลอดชดใช้พร้อมกับเหนียตถือศีลอดสุนัต 6 วันของเดือนเชาวาลได้ แต่ผลบุญที่ได้รับจะไม่สมบูรณ์

ส่วนรายละเอียดสิ่งดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

1. การถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลจำเป็นต้องติดต่อกัน 6 วันหรือไม่?

ถาม: การถือศีลอด 6 เดือนเชาวาล หรือบวชหก จำเป็นต้องทำติดต่อกันทั้ง 6 วันหรือไม่?

ตอบ: ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ได้กล่าวว่า
قَالَ أَصْحَابُنَا : وَالْأَفْضَل أَنْ تُصَامَ السِّتَّةُ مُتَوَالِيَةً عَقِبَ يَوْم الْفِطْرِ ، فَإِنْ فَرَّقَهَا أَوْ أَخَّرَهَا عَنْ أَوَائِلِ شَوَّالٍ إِلَى أَوَاخِرِهِ حَصَلَتْ فَضِيلَةُ الْمُتَابَعَةِ ؛ لِأَنَّهُ يَصْدُقُ أَنَّهُ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ

“ปราชญ์แห่งเรา กล่าวว่า ที่ดีเลิศนั้น คือหลังวันอีดฟิตริให้ถือศีลอด 6 วันติดต่อกัน แต่ถ้าหากถือศีลอด 6 วันแบบแยกวัน หรือถือศีลอด 6 วันแบบล่าช้าไปถึงช่วงท้ายของเดือนเชาวาล ก็ถือว่าตามซุนนะฮ์ของท่านนบี ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เช่นกัน เพราะได้ยืนยันแล้วว่า เขาได้ถือศีลอด 6 วันจากเดือนเชาวาลต่อจากร่อมะฎอนแล้ว” ชัรห์ซอฮิห์มุสลิม, เล่ม 4 หน้า 313.

ท่านอัลลามะฮ์ ซัยนุดดีน อัลฟะนานีย์ ได้กล่าวว่า
وَإِتِّصَالُهَا بِيَوْمِ الْعِيْدِ أَفْضَلُ مُبَادَرَةً لِلْعِبَادَةِ
“การถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลติดต่อหลังจากวันอีดนั้น ประเสริฐยิ่งกว่า เนื่องจากเป็นการรีบทำอิบาดะฮ์” อิอานะฮ์ อัฏฏอลิบีน, เล่ม 2 หน้า 420.

ดังนั้นการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลที่ดีเลิศที่สุดนั้น คือถือศีลอดติดต่อหลังจากวันอีดเลย เพื่อเป็นการรีบทำอิบาดะฮ์ให้เสร็จล่วงไป เพราะการล่าช้านั้นอาจจะทำให้พลาดโอกาสในการถือศีลอดสุนัตนี้ เนื่องจากไม่รู้ว่าต่อไปข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นแก่เรานั่นเอง

2. จะถือศีลอดชดใช้ก่อนหรือว่าถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลก่อน?

ถาม: มีศีลอดที่ต้องชดใช้จะทำการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลได้หรือไม่?

ตอบ: ประเด็นการถือศีลอดชดใช้ร่อมะฎอนนั้นมี 2 กรณีด้วยกัน กล่าวคือ:

2.1 กรณีขาดศีลอดร่อมะฎอนอันเนื่องจากมีอุปสรรค เช่น มีประจำเดือน เจ็บป่วย และเดินทาง เป็นต้น ก็สุนัตให้ทำการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลติดต่อหลังจากวันอีดเลยได้ และหลังจากนั้นก็ชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนที่ขาดไป แล้วผลบุญการถือศีลอดทั้งปีก็จะเกิดขึ้นตามที่ตัวบทฮะดีษได้ระบุไว้

ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ ได้กล่าวว่า
وَقَضِيَّةُ الْمَتْنِ نَدْبُهَا حَتَّى لِمَنْ أَفْطَرَ رَمَضَانَ وَهُوَ كَذَلِكَ إلَّا فِيمَنْ تَعَدَّى بِفِطْرِهِ ؛ لِأَنَّهُ يَلْزَمُهُ الْقَضَاءُ فَوْرًا

“ประเด็นคำพูดของอิมามอันนะวาวีย์นั้น คือซุนนะฮ์ให้ทำการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลแม้กระทั่งผู้ที่เคยแก้ศีลอด (เนื่อจากมีอุปสรรค) ในเดือนร่อมะฎอนก็ตาม นอกจากผู้ที่ละเมิดในการแก้ศีลอด (เช่น เจตนาในการทำให้เสียศีลอด ก็ถือว่าฮะรอมทำการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล) เพราะจำเป็นบนเขาจะต้องทำการชดใช้ (ศีลอดร่อมะฏอน) อย่างรีบด่วน (และหลังจากชดใช้แล้วค่อยถือศีล 6 วันของเดือนเชาวาล) ” ตั๊วะห์ฟะตุลมั๊วะห์ตาจญ์ เล่ม 3 หน้า 457.

2.2 กรณีขาดศีลอดร่อมะฎอนโดยไม่มีอุปสรรคอันใด เช่น เจตนากินและดื่มในขณะถือศีอลดร่อมะฎอน เป็นต้น ก็ถือว่าฮะรอมถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาล และจำเป็นบนเขาต้องรีบทำการชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนที่ติดค้างก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ทำการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาล

ท่านชัยคุลอิสลาม อับดุลลอฮ์ อัชชัรกอวีย์ ได้กล่าวว่า
إِنْ أَفْطَرَهُ تَعَدِّياً حَرُمَ عَلَيْهِ صَوْمُهَا لِمَا فِيْهِ مِنْ تَأْخِيْرِ الْقَضاَءِ الْفَوْرِيِّ

“ถ้าหากเขาแก้ศีลอดร่อมะฎอนโดยละเมิด (มิชอบตามหลักการ) ก็ถือว่าฮะรอมบนเขาทำการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาล เนื่องจากการถือศีลอด 6 วันเดือนเชาวาลนั้นเป็นการทำให้ล่าช้าในการชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนที่ต้อง รีบกระทำ” ฮาชียะฮ์ อัชชัรกอวีย์, เล่ม 2 หน้า 322

สรุปคือ หากเขาชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนก่อน แล้วถือศีลอดเดือนเชาวาล ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากศีลอดร่อมะฎอนที่ขาดไปนั้นเนื่องจากมีอุปสรรคก็ให้ถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลได้พร้อมกับตั้งใจว่าจะชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนที่ขาดไป ส่วนผู้ที่ขาดศีลอดร่อมะฎอนแบบละเมิดและทำเบาความนั้น ฮะรอมถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาล และจำเป็นบนเขาต้องชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนอย่างรีบด่วน แล้วหลังจากนั้นค่อยถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลนั่นเอง

3. การถือศีลอดชดใช้พร้อมกับถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลจะได้หรือไม่?

ถาม: การถือศีลอดชดใช้พร้อมกับถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลจะได้หรือไม่?

ตอบ: การถือศีลอดชดใช้ร่อมะฎอนพร้อมกับเหนียตถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาลนั้น อนุญาตให้กระทำได้ตามทัศนะของปราชญ์ยุคหลัง และได้ซุนนะฮ์ในเชิงรูปแบบที่มีการถือศีลอดเกิดขึ้น 6 วันในเดือนเชาวาล แต่ผลบุญที่ได้รับนั้นจะไม่สมบูรณ์

ในฟัตวาของท่านอิม่ามชิฮาบุดดีน อัรรอมลีย์ ได้ระบุความว่า


سُئِلَ عَنْ شَخْصٍ عَلَيْهِ صَوْمٌ مِنْ رَمَضَانَ وَقَضَاءٌ فِي شَوَّالٍ هَلْ يَحْصُلُ لَهُ قَضَاءُ رَمَضَانَ وَثَوَابُ سِتَّةِ أَيَّامٍ مِنْ شَوَّالٍ وَهَلْ فِي ذَلِكَ نَقْلٌ؟ فَأَجَابَ بِأَنَّهُ يَحْصُلُ بِصَوْمِهِ قَضَاءُ رَمَضَانَ وَإِنْ نَوَى بِه غَيْرَهُ وَيَحْصُلُ لَهُ ثَوَابُ سِتَّةٍ مِنْ شَوَّالٍ وَقَدْ ذَكَرَ الْمَسْأَلَةَ جَمَاعَةٌ مِنْ الْمُتَأَخِّرِينَ

“ท่านอิหม่ามอัรร็อมลีย์ถูกถามเกี่ยวกับ บุคคลหนึ่งที่ติดค้างการถือศีลอดร่อมะฎอนและทำการชดใช้ในเดือนเชาวาล ดังนั้น ผลบุญการก่อฎอและผลบุญ 6 วันของเชาวาลจะได้รับหรือไม่? และสิ่งดังกล่าวมีการถ่ายทอดไว้หรือไม่? ท่านอิหม่ามอัรร็อมลีย์ตอบว่า “การชดใช้ศีลอดร่อมะฎอนพร้อมกับการถือศีลอด (สุนัต) ของเขานั้นได้ผลบุญหากแม้ว่าจะเนียตการถือศีลอด (ชดใช้) พร้อมกับศีลอด (สุนัต) อื่นด้วยก็ตาม และการถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาลก็ได้รับผลบุญเช่นเดียวกัน ซึ่งประเด็นปัญหานี้ปราชญ์ยุคหลังกลุ่มหนึ่งได้กล่าวเอาไว้” ดู ฟะตาวา อัรร็อมลีย์, เล่ม 2 หน้า 66

แต่ผลบุญที่ได้นั้นจะไม่สมบูรณ์ตามที่ตัวบทฮะดีษได้ระบุไว้ดังที่ท่านอัลลามะฮ์ อับดุลหะมีด อัชชัรวานีย์ ได้กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า
وَلَوْ صَامَ فِي شَوَّالٍ قَضَاءً أَوْ نَذْرًا أَوْ غَيْرَهُمَا أَوْ فِي نَحْوِ يَوْمِ عَاشُورَاءَ حَصَلَ لَهُ ثَوَابُ تَطَوُّعِهَا كَمَا أَفْتَى بِهِ الْوَالِدُ رَحِمَهُ اللَّهُ تَعَالَى تَبَعًا لِلْبَارِزِيِّ وَالْأَصْفُونِيِّ وَالنَّاشِرِيِّ وَالْفَقِيهِ عَلِيِّ بْنِ صَالِحٍ الْحَضْرَمِيِّ وَغَيْرِهِمْ لَكِنْ لَا يَحْصُلُ لَهُ الثَّوَابُ الْكَامِلُ الْمُرَتَّبُ عَلَى الْمَطْلُوبِ لَا سِيَّمَا مَنْ فَاتَهُ رَمَضَانُ وَصَامَ عَنْهُ شَوَّالًا ؛ لِأَنَّهُ لَمْ يَصْدُقْ عَلَيْهِ الْمَعْنَى الْمُتَقَدِّمُ ا هـ . وَفِي الْمُغْنِي مَا يُوَافِقُهُ

“หากเขาได้ทำการถือศีลอดชดใช้หรือบนบาน หรืออื่นๆ จากทั้งสอง (เช่น ถือศีลอดกัฟฟาเราะฮ์อันเนื่องจากผิดสาบาน) ในเดือนเชาวาลหรือในวันอาชูรออฺ ก็จะได้ผลบุญการถือศีลอดสุนัตแก่เขาตามที่ท่านอิมามชิฮาบุดดีน อัรรอมลีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ ได้ฟัตวาไว้ โดยตามการฟัตวาของท่านอัลบาริซีย์, ท่านอัลอัศฟูนีย์, ท่านอัลนาชิรีย์, ท่านอัลฟะกีฮ์ อะลี บิน ศอลิห์ อัลหัฎร่อมีย์, และท่านอื่นๆ แต่ทว่าเขาจะไม่ได้ผลบุญที่สมบูรณ์ตามที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ขาดศีลอดเดือนร่อมะฎอนและมาถือศีลอดชดใช้ร่อมะฎอน ควบกับถือศีลอดเชาวาล เนื่องจากความหมายที่ข้างต้น (ของฮะดีษที่ว่า ถือศีลอดร่อมะฎอนครบถ้วนและติดตามด้วยศีลอดอีก 6 วันของเดือนเชาวาล) มิได้ถูกยืนยันแก่เขา (เพราะเขายังติดค้างศีลอดร่อมะฎอนอยู่) และในหนังสือมุฆนิลมั๊วะห์ตาจญ์ มีคำพูดที่สอดคล้องกับสิ่งดังกล่าวนี้” ดู หะวาชีย์ อัชชัรวานีย์ อะลา ตั๊วะห์ฟะฮ์ อัลมั๊วะห์ตาจญ์ เล่ม 3 หน้า 407, และชัยคุลอิสลาม อับดุลลอฮ์ อัชชัรกอวีย์, ฮาชียะฮ์ อัชชัรกอวีย์, เล่ม 2 หน้า 322.

ท่านอัลลามะฮ์ อัลค่อฏีบ อัชชัรบีนีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือมุฆนีลมั๊วะห์ตาจญ์ของท่านว่า


وَلَوْ صَامَ فِي شَوَّالٍ قَضَاءً أَوْ نَذْرًا أَوْ غَيْرَ ذَلِكَ ، هَلْ تَحْصُلُ لَهُ السُّنَّةُ أَوْ لَا ؟ لَمْ أَرَ مَنْ ذَكَرَهُ ، وَالظَّاهِرُ الْحُصُولُ . لَكِنْ لَا يَحْصُلُ لَهُ هَذَا الثَّوَابُ الْمَذْكُورُ خُصُوصًا مَنْ فَاتَهُ رَمَضَانُ وَصَامَ عَنْهُ شَوَّالًا ؛ لِأَنَّهُ لَمْ يَصْدُقْ عَلَيْهِ الْمَعْنَى الْمُتَقَدِّمُ

“ถ้าเขาได้ถือศีลอดชดใช้ หรือบนบาน หรืออื่นๆ จากสิ่งดังกล่าว (เช่น ถือศีลอดกัฟฟาเราะฮ์อันเนื่องจากผิดสาบาน) ในเดือนเชาวาล, การตามซุนนะฮ์ (ในการถือศีลอด 6 วันของเชาวาล) จะเกิดขึ้นแก่เขาหรือไม่? (ท่านอัลค่อฏีบ อัชชัรบีนีย์ตอบว่า) ฉันไม่เคยเห็นว่ามีปราชญ์ท่านใดกล่าวเรื่องนี้เอาไว้เลย แต่ที่ปรากฏชัดแบบผิวเผินนั้น ถือว่าได้ซุนนะฮ์ (ในการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาวาล เพราะมีการถือศีลอดเกิดขึ้นในเดือนเชาวาลนั่นเอง) แต่เขาจะไม่ได้ผลบุญที่ถูกระบุไว้ในฮะดีษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ติดค้างศีลอดเดือนร่อมะฎอน และมาถือศีลอดชดใช้ร่อมะฎอนควบกับถือศีลอดเชาวาล เนื่องจากความหมายที่ข้างต้น (ของฮะดีษที่ว่า ถือศีลอดร่อมะฎอนครบถ้วนและติดตามด้วยศีลอดอีก 6 วันของเดือนเชาวาล) มิได้ถูกยืนยันแก่เขา (เพราะเขายังติดค้างศีลอดร่อมะฎอนอยู่) ” ดู มุฆนิลมั๊วะห์ตาจญ์ เล่ม 2 หน้า 447

วัลลอฮุอะลัม

อัพเดทล่าสุด