ฮิญาบ คือ ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม ซึ่งศาสนาอิสลามระบุให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุมผมจนปิดหน้าอก เพื่อเป็นการปกปิดร่างกายให้มิดชิด แต่ฮิญาบสำหรับใครหลายคนในบางช่วงเวลา
ภาพจาก Saira Mirror
ความหมายที่แท้จริงของฮิญาบที่มุสลิมะฮฺหลายคนยังไม่เข้าใจ
ฮิญาบ คือ ผ้าคลุมศีรษะของสตรีมุสลิม ซึ่งศาสนาอิสลามระบุให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุมผมจนปิดหน้าอก เพื่อเป็นการปกปิดร่างกายให้มิดชิด แต่ฮิญาบสำหรับใครหลายคนในบางช่วงเวลา อาจมีความหมายแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับปรานี อับดุลสลาม ผู้บริหารร้าน Chillax Cafe' ในซอยขนส่งพื้นที่ 4 ฮิญาบในช่วงชีวิตก่อนหน้ากับฮิญาบในช่วงปัจจุบันของเธอ ก็มีความหมายที่แตกต่างกัน
ความหมายของฮิญาบ : เมื่อสังคมยังขาดความเข้าใจ
ถึงแม้การคลุมฮิญาบ จะเป็นหลักการบังคับของสตรีมุสลิมทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมไทยในยุคก่อนทศวรรษ 2520 การคลุมฮิญาบกลับไม่ใช่หลักการที่ปฏิบัติอย่างแพร่หลาย หลายคนไม่รู้ว่าเป็นหลักการที่สตรีมุสลิมทุกคนพึงปฏิบัติ กระทั่งคิดว่ามีเป็นเพียงหลักการสำหรับคนที่ไปทำฮัจย์แล้วเท่านั้น
“สมัยนั้นไม่มีใครคลุมฮิญาบ สังคมมุสลิมทั่วไปตอนนั้นยังไม่คลุมกันหรอก คลุมฮิญาบเป็นอะไรที่มันโต๊ะ ๆ นะ เหมือนกับคนไปทำหัจญ์แล้ว สมัยนั้นมีความรู้สึกว่าอย่างนั้น ออกงานทั่วไปเราก็แต่งตัวปกติ คนทั่วไปเขาไม่คลุมกัน คนแก่ ๆ เขาก็ไม่คลุม ฮิญาบเพิ่งจะมารณรงค์กันสมัยครูแอ อ.อิสมาแอล วิสุทธิปราณี มารณรงค์ให้คลุมฮิญาบว่าเป็นสิ่งจำเป็น” คุณปราณี อับดุลสลาม บอกเล่าถึงสถานการณ์การคลุมฮิญาบของคนมุสลิมในยุคก่อน ตัวเธอเองก็เป็นหนึ่งในมุสลิมที่ยังไม่เข้าใจถึงความจำเป็นของการคลุมฮิญาบ
คุณปราณี เกิดที่คลองตัน กรุงเทพฯ เธอใช้ชีวิตแบบมุสลิมกรุงเทพฯ ทั่วไป ที่ศึกษาสายสามัญ แต่ก็ร่ำเรียนความรู้ศาสนาอิสลามในระดับขั้นพื้นฐาน การได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นด้วยการเรียนที่โรงเรียนสายน้ำผึ้งที่เป็นโรงเรียนหญิงล้วน ทำให้คุณปราณีเติบโตมาในร่องในรอย และการอยู่ในครอบครัวที่ใส่ใจในเรื่องศาสนาจึงทำให้คุณปราณีปฏิบัติตามหลักการอิสลามไม่ว่าจะเป็นการละหมาด หรือการถือศีลอดอย่างครบถ้วน แต่ในเรื่องการคลุมฮิญาบนั้นคุณปราณีกลับไม่ให้ความสำคัญ เพราะในตอนนั้นเธอมองว่ามุสลิมที่ดีไม่จำเป็นต้องคลุมฮิญาบก็ได้
ความหมายของฮิญาบ : เมื่อฮิญาบยังไม่ได้อยู่ที่หัวใจ
การละหมาด การถือศีลอด เป็นศาสนบัญญัติที่บังคับใช้สำหรับมุสลิมทุกคน ส่วนการคลุมฮิญาบนั้นเป็นหลักศาสนบัญญัติที่บังคับเฉพาะสำหรับสตรีมุสลิม แต่หลักการข้อนี้ก็มีหลายคนไม่เข้าใจ กลับมองไปว่าหากเป็นมุสลิมแล้วแค่ละหมาดถือศีลอดครบก็เพียงพอ คุณปราณีเมื่อครั้งไปทำหัจญ์เมื่อปี 2540 เธอก็คิดเช่นนั้น
“รู้แต่ว่า เขาบอกว่า เราต้องไปทำหัจญ์นะ เราพร้อมเราก็ไป แต่เราโดนทดสอบตอนนั้นนะตอนที่จะไปทำหัจญ์ปี 40 ระหว่างที่ว่าหัวใจเรายังไม่ได้คิดอยากจะคลุม ตอนที่อยู่บนเครื่องบินนะ คนอื่นเขาหลับกันหมดแต่เราหลับไม่ได้ เราคันตั้งแต่ขึ้นเครื่องจนยันลง คันศีรษะไปหมดเลย มันคันทรมานนะ บอกไม่ถูก ก็เลยมีความรู้สึกว่าเรามาแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ต้องอย่าไปลบหลู่ ไปถึงเราเข้าไปในมัสญิดก็ละหมาดขอโทษต่ออัลลอฮฺว่าถ้าข้าพระองค์คิดไปในทางที่ไม่ดีในเรื่องของการคลุมฮิญาบก็ขอให้พระองค์ยกโทษให้ด้วย พอถึงตรงนั้นทั้ง ๆ ที่อากาศร้อนเราก็ไม่เป็นไร”
คุณปราณีเล่าว่าการคิดไปในทางที่ไม่ดีในเรื่องของการคลุมฮิญาบก็คือ เธอคิดไว้ว่าเมื่อกลับมาถึงเมืองไทยก็คงไม่คลุมฮิญาบ เนื่องจากเธอมีความรู้สึกว่าคนบางคนคลุมฮิญาบ แต่บางทีฮิญาบไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย เขายังปฏิบัติไม่ดีพูดจานินทาคนอื่น ด้วยเหตุผลข้อนี้จึงทำให้คุณปราณีคิดว่าคนจะดีหรือไม่ดีไม่ได้อยู่ที่ฮิญาบแต่มันอยู่ที่หัวใจ
“เราคิดไปว่า ฮิญาบไม่ได้จำเป็น ถ้าเราเป็นคนดีเราละหมาดครบ ตอนนั้นเวลามีคนมาบอกให้คลุมฮิญาบเราก็รู้สึกเฉย ๆ เพราะมีความรู้สึกว่าคนที่มาบอกบางครั้งยังไม่ได้ดีอะไรเลย เราไปมองที่ตัวคน เราไม่ได้มองลึกไปถึงว่าตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคน แต่คือคำสั่งพระเจ้า เราไม่ได้มองไปตรงนั้น เรามองชั้นเดียว”
เพราะลึกๆในใจคุณปราณีคิดเช่นนี้ จึงทำให้เมื่อกลับมาจากทำฮัจย์เธอก็ไม่ได้คลุมฮิญาบ มีเพียงลุมเวลาไปงานต่าง ๆ เท่านั้น กระทั่งเมื่อชีวิตของเธอประสบปัญหา จึงทำให้คุณปราณีได้เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของฮิญาบ
ความหมายของฮิญาบที่แท้จริง : คลุมฮิญาบเพื่ออัลลอฮฺ
สำหรับสตรีมุสลิมนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องตระหนักก็ คือ การการคลุมฮิญาบเป็นคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ เมื่อพระองค์บัญชาใช้ สตรีมุสลิมทุกคนจึงปฏิบัติตามโดยปราศจากข้อสงสัย เพราะการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ทุกข้อของอัลลอฮฺ จักทำให้เรากลายเป็นบ่าวที่ภักดี ซึ่งคุณปราณีเข้าใจความหมายที่แท้จริงของฮิญาบในข้อนี้ก็เมื่อชีวิตของเธอประสบปัญหา
“ประมาณสักปี 50 ไปอุมเราะฮฺ สาเหตุเพราะว่ามีเรื่องเสียใจ มีเรื่องไม่สบายใจ เราแก้ไขอะไรไม่ได้ เรามีความรู้สึกว่าสิ่งเดียวที่จะทำได้ก็คือเราต้องกลับไปหาอัลลอฮฺ แล้วก็ไปขอกับพระองค์ตรงนั้นนะ แล้วหลังจากนั้นกลับมาพระองค์ให้เลยนะ แปดเดือนต่อมา สิ่งที่เราแก้ปัญหาเองไม่ได้
เราเหนียตเลยว่า เราจะคลุมฮิญาบแล้ว คลุมติดเลยคราวนี้ แต่ต้องเสียใจซะก่อน ต้องมีบทลงโทษก่อนถึงจะทำให้เรารู้สึกสำนึก ก็เลยทำให้เรามีความรู้สึกใกล้ชิดกับพระองค์ตั้งแต่ตรงนั้นมาว่าเราทิ้งไม่ได้นะ เป็นเพราะว่าเราไม่ตั้งใจให้แน่วแน่เราถึงโดนทดสอบอยู่เรื่อย ๆ ก่อนที่จะคลุมฮิญาบติด ละหมาด ถือบวช ซะกาต ทำหมดทุกอย่างแต่เรายังไม่คลุมฮิญาบ อยากจะสื่อถึงทุกคนว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากว่าเราเข้าใจสิ่งที่พระองค์ให้ทำแล้วก็เราทำนะ มันเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ แล้วเราจะได้หลาย ๆ อย่างจากพระองค์”
เมื่อตัวคุณปราณีเห็นถึงความสำคัญของฮิญาบ ตัวเธอเองก็ค่อยบ่มสอนลูกสาวของเธอให้คลุมฮิญาบด้วย เพียงแต่วิธีการสอนของเธออาจจะต่างจากคนอื่นตรงที่เธออยากให้ลูกๆของเธอคลุมด้วยหัวใจ
“การคลุมฮิญาบนะ นิว่ามันต้องด้วยหัวใจแล้วเขาจะไม่ถอด เพราะฉะนั้นนิจะสอนลูกนะ ว่าอัลลอฮฺทดสอบเรานะ อัลลอฮฺรักเรานะ ถ้าเกิดเราคลุมฮิญาบ เราขออะไรจากพระองค์ อัลลอฮฺจะให้กับเรา อัลลอฮฺรักเรานะ แล้วถ้าเขาคลุมฮิญาบด้วยตัวเขาเอง นิว่าเขาจะได้ผลบุญ แต่ถ้าบอกว่าทำเพื่อแม่ คลุมเหอะ เดี๋ยวคนนั้นเขาจะมาว่าแม่ ทำเพื่อแม่หน่อย อย่างนี้นิว่าคือเขาก็ทำได้แค่เพื่อแม่แต่ไม่ได้อะไรตอบแทน ทุกวันนี้ปลูกฝังเขาว่าให้เขาทำเพื่ออัลลอฮฺนะ การคลุมฮิญาบนี่ได้ผลบุญ และสามารถทำให้หัวใจเราสงบนิ่งลงด้วย”
สุดท้ายคุณปราณีได้ฝากข้อคิดสำหรับสตรีมุสลิมที่ยังคิดว่าการฮิญาบไม่ใช่สิ่งจำเป็นเอาไว้ว่า
“ให้มองว่าการคลุมฮิญาบนะไม่ใช่คลุมเพราะแฟชั่น อยากให้คลุมด้วยว่าอัลลอฮฺใช้เรา อัลลอฮฺสั่งเราให้ทำ แล้วก็คลุมให้มันถูกต้อง เราต้องโฟกัสว่าเราคลุมเพื่ออัลลอฮฺ พระองค์จะได้รักเรา ไม่ทดสอบเราไปในทางที่ทำให้เราเสียใจหรือทำให้เราเกิดปัญหาใด ๆ เมื่อพระองค์รักเรา ชีวิตเราจะได้ราบรื่น ให้เราคลุมเพื่ออัลลอฮฺ อย่าไปทำเพื่อคนอื่น”
ขอบคุณเนื้อหาดีๆจากนิตยสารแฟมิลี่ไลฟ์