ประจำเดือน หรือ เฮด คือ เลือดที่ออกมาจากส่วนลึกของมดลูกสตรีในกำหนดเวลานั้น โดยที่ไม่ได้เกิดจากการเป็นโรค หรือ ประสบอุบัติเหตุ แต่มันเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้แก่บรรดาลูกสาวของอาดัม
ประจำเดือน หรือ เฮด คือ เลือดที่ออกมาจากส่วนลึกของมดลูกสตรีในกำหนดเวลานั้น โดยที่ไม่ได้เกิดจากการเป็นโรค หรือ ประสบอุบัติเหตุ แต่มันเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้แก่บรรดาลูกสาวของอาดัม อัลลอฮ์ทรงให้มีขึ้นมาในมดลูกเพื่อเป็นการให้อาหารแก่ทารกที่อยู่ในครรภ์ หลังจากที่ทารกได้คลอดออกมาอาหารจะเปลี่ยนไปเป็นนม เมื่อสตรีไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือ ให้นม เลือดนี้จะคงอยู่โดยที่ไม่มีสิ่งใดมาเปลี่ยนแปลง ซึ่งรู้จักกันในนามว่าประจำเดือน รอบเดือน หรือ ระดู
ข้อห้ามสำหรับหญิงมุสลิมผู้ประจำเดือน
1. ห้ามละหมาด
ท่านอุรวะฮ์ บิน อัซซุบัยร์ กล่าวว่า
عَنْ فَاطِمَةَ بِنْتِ أَبِي حُبَيْشٍ أَنَّهَا كَانَتْ تُسْتَحَاضُ فَقَالَ لَهَا النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا كَانَ دَمُ الْحَيْضِ فَإِنَّهُ دَمٌ أَسْوَدُ يُعْرَفُ فَإِذَا كَانَ ذَلِكَ فَأَمْسِكِي عَنْ الصَّلَاةِ فَإِذَا كَانَ الْآخَرُ فَتَوَضَّئِي وَصَلِّي
"จาก ฟาติมะฮ์ บุตรี อะบีฮุบัยช์ นางเคยมีเลือดเสีย แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแก่นางว่า เมื่อมีเลือดประเดือน มันต้องเป็นเลือดที่ถูกรู้ได้ และเมื่อเป็นเช่นดังกล่าวนั้น เธอก็จงงดเว้นการละหมาด และถ้าหากเป็นอย่างอื่น ก็ให้เธอจงอาบน้ำละหมาดและทำการละหมาด" รายงานโดยอะบูดาวูด(261)
2. ห้ามอ่านอัลกุรอาน
ท่านอิบนุอุมัร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า
عَنْ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ لَا تَقْرَأْ الْحَائِضُ وَلَا الْجُنُبُ شَيْئًا مِنْ الْقُرْآنِ
จาก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า "ผู้มีประจำเดือนและญุนุบจะไม่อ่านสิ่งใดจากอัลกุรอาน" รายงานโดย อัตติรมีซีย์ (131) ฮะดิษนี้ซอฮิห์หรือฮะซันด้วยการมีฮะดิษอื่นที่ซอฮิห์มาสนับหนุน
ท่าน อัตติรมีซีย์ กล่าวว่า "ผู้ที่มีญุนุบและประจำเดือนห้ามอ่านอัลกุรอานนั้น เป็นทัศนะของปราชญ์ส่วนมากจากซอฮาบะห์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นทัศนะของตาบิอีน และปราขญ์ยุคหลังจากตาบิอีน เช่น ท่านซุฟยานอัษเษารีย์ , ท่านอิบนุลมุบาร็อก , ท่านอัชชาฟิอีย์ , ท่านอะห์มัด , ท่านอิสฮาก" สุนันอัตติรมีซีย์ 1/236
จากนาเฟี๊ยะอฺ จากท่านอิบนุอุมัร ท่านกล่าวว่า
قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لاَ يَقْرَأُ الجُنُبُ شَيْئًا مِنَ القُرْآنِ
ท่าน ร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า "ผู้ที่มีญุนุบจะไม่อ่านสิ่งใดจากอัลกุรอาน" สุนันอัดดารุกุฏนีย์ 1/89 ฮะดิษนี้ซอฮิห์ตามที่ท่านอัลฮาฟิซฺ อิบนุ ฮะญัร ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัดดิรอยะห์ (1/85)
3. หยุดอยู่ในมัสยิด ส่วนการเดินผ่านเข้าไปโดยไม่หยุดและไม่กลับไปกลับมา ถือว่าไม่ต้องห้ามแต่ประการใด
อัลเลาะฮ์ตะอาลา ทรงตรัสว่า
وَلاَ جُنُباً إِلاَ عَابِريْ سَبِيْلٍ
"อย่าเข้าใกล้(สถานที่)ละหมาดในสภาพที่มีญุนุบ เว้นแต่ผู้ที่ผ่านทาง(ลัดเขาไป)" อันนิซาอฺ 43
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฏอยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า
قَالَ لِي رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَاوِلِينِي الْخُمْرَةَ مِنْ الْمَسْجِدِ قَالَتْ فَقُلْتُ إِنِّي حَائِضٌ فَقَالَ إِنَّ حَيْضَتَكِ لَيْسَتْ فِي يَدِكِ
"ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแก่ฉันว่า "เธอจงไปเอาเสื่อปู่ละหมาดที่มัสยิดมาให้ฉันหน่อยซิ" ท่านหญิงอาอิชะฮ์กล่าวว่า "ฉันมีประจำเดือน" ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า "ประจำเดือนของเธอมิได้อยู่ในมือของเธอ(ที่จะทำให้เปื้อนมัสยิด)" รายงานโดยมุสลิม (450)
4. ห้ามฎอวาฟ
ท่านมุสลิม ได้รายงานจากอับดุรเราะห์มาน บุตร กอเซ็ม จากบิดา ของเขา จากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ความว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ دَخَلَ عَلَيْهَا وَحَاضَتْ بِسَرِفَ قَبْلَ أَنْ تَدْخُلَ مَكَّةَ وَهِيَ تَبْكِي فَقَالَ مَا لَكِ أَنَفِسْتِ قَالَتْ نَعَمْ قَالَ إِنَّ هَذَا أَمْرٌ كَتَبَهُ اللَّهُ عَلَى بَنَاتِ آدَمَ فَاقْضِي مَا يَقْضِي الْحَاجُّ غَيْرَ أَنْ لَا تَطُوفِي بِالْبَيْتِ
"แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เข้าไปหาท่านหญิงอาอิชะฮ์ ที่สะร็อฟ(ชื่อสถานที่) ในสภาพที่นางมีประจำเดือนก่อนที่จะเข้ามักกะฮ์ ท่านนางได้ร้องไห้ ดังนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแก่ท่านนางว่า เธอมีประจำเดือนหรือ? ท่านางตอบว่า "ใช่แล้ว" ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า แท้จริงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อัลเลาะฮ์ได้ทรงกำหนดไว้แล้วแก่ลูกหลานอาดัมที่เป็นสตรี ดังนั้นเธอจงทำเหมือนกับที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์กระทำเถิด นอกจากเธออย่าทำการฎอวาฟที่บัยตุลลอฮ์" รายงานโดยมุสลิม(5122)
5. ห้ามถือศีลอด
ดังนั้นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงมีประจำเดือนทำการถือศีลอดทั้งฟัรดูและสุนัต ท่านอะบูสะอีด อัลคุฎรีย์ ได้รายงานขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถูกเกี่ยวกับความบกพร่องในเรื่องศาสนาของสตรี ซึ่งท่านตอบว่า
أَلَيْسَ إِذَا حَاضَتْ لَمْ تُصَلِّ وَلَمْ تَصُمْ
"เมื่อนางมีประจำเดือน นางก็ไม่ต้องละหมาด ไม่ต้องถือศีลอด ไม่ใช่หรือ?" รายงานโดย บุคอรีย์ (293)
6. การร่วมประเวณี
อัลเลาะฮ์ตะอาลา ทรงตรัสว่า
فَاعْتَزِلُواْ النِّسَاء فِي الْمَحِيضِ وَلاَ تَقْرَبُوهُنَّ حَتَّىَ يَطْهُرْنَ فَإِذَا تَطَهَّرْنَ فَأْتُوهُنَّ مِنْ حَيْثُ أَمَرَكُمُ اللّهُ إِنَّ اللّهَ يُحِبُّ التَّوَّابِينَ وَيُحِبُّ الْمُتَطَهِّرِينَ
"ดังนั้นท่านทั้งหลายจงปลีกตัวเองจากพวกผู้หญิง ขณะมีประจำเดือนเถิด และท่านทั้งหลายอย่าเข้าใกล้พวกนาง (คือทิ้งการร่วมประเวณีกับพวกนาง) จนกว่าพวกนางจะสะอาด ดังนั้นเมื่อพวกนางสะอาดแล้ว พวกท่านจงมาสู่พวกนางเถิด จากด้านที่อัลเลาะฮ์ทรงบัญชาแก่พวกท่าน แน่แท้อั้ลเลาะฮ์ทรงรักพวกที่กลับตัวสู่พระองค์และทรงรักพวกที่สะอาด" อัลบะกอเราะฮ์ 222
ส่วนประเด็นการตัดเล็บ ตัดผม ในขณะที่มีประจำเดือนนั้น อนุญาตให้กระทำได้ครับ และผมที่ร่วงก็ไม่จำเป็นต้องนำไปยกหะดัษ แต่ดังกล่าวนั้นถือเป็นการไม่บังควร เพราะมีหะดิษฏออีฟกล่าวว่า(ในความหมายที่ว่า)ในวันกิยามะฮ์นั้น สิ่งดังกล่าวจะมาในสถาพที่มีญุนุบ(หะดัษ)อยู่ คือยังไม่สะอาด ดังนั้นหากมีการตัดเล็บ ตัดผม หรือหวีผมแล้วเส้นผมร่วงติดหวีในขณะที่มีประจำเดือน ก็สมควรเก็บเอาไว้ในภาชนะแก้วเป็นการส่วนตัว เมื่อตอนอาบน้ำยกหะดัษ ก็ให้นำเส้นผมหรือเล็บมาล้างน้ำในขณะที่อาบน้ำยกหะดัษ จะเป็นการดีอย่างยิ่ง (ดู เพิ่มเติมจาก หนังสือ อิอานะฮ์ อัฏฏอลิบีน เล่ม 1 หน้า 131 - 132 ตีพิมพ์ดารุลฟิกร์)