เดือนต้องห้ามในอิสลาม


68,114 ผู้ชม

เดือนต้องห้ามในอิสลาม ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อธิบายว่า สี่เดือนที่ต้องห้ามนั้นคือ เดือนซุลกะอฺดะฮฺ ซุลฮิจญะฮฺ มุฮัรรอม และรอญับมุฎ็อร โดยสามเดือนแรกเป็นสามเดือนต่อเนื่องกัน


ดือนต้องห้ามในอิสลาม  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้อธิบายว่า สี่เดือนที่ต้องห้ามนั้นคือ เดือนซุลกะอฺดะฮฺ ซุลฮิจญะฮฺ มุฮัรรอม และรอญับมุฎ็อร โดยสามเดือนแรกเป็นสามเดือนต่อเนื่องกัน แต่เดือนรอญับที่ถูกแยกมาเป็นเดือนที่ต้อง ห้ามระหว่างเดือนญุมาดาอัลอาคิเราะฮฺกับเดือนชะอฺบาน เพราะในประวัติศาสตร์ของอาหรับก่อนยุคอิสลาม ชาวเผ่ารอบีอะตุบนุนิซารได้เรียกเดือนรอมฎอนว่าเดือนรอญับ และถือเป็นเดือนต้องห้ามแทนเดือนรอญับของเผ่ามุฎ็อร ซึ่งเดือนรอญับของมุฎ็อรเป็นการกำหนดที่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ จึงทำให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เน้นในการกำหนดเดือนต้องห้ามว่าเป็นเดือนรอญับของมุฎ็อร 


เดือนต้องห้ามในอิสลาม

เดือนต่างๆ ในอิสลามและความสำคัญ 
 
 
 أَنَّ عِدَّةَالشُّهُوْرِعِنْدَاللهِ اثْنَاعَشَرَشَهْرًافِىكِتَابِ اللهِ يَوْمَ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَاْلأَرْضِ مِنْهَاأَرْبَعَةٌحُرُمٌ ذَالِكَ الدِّيْنُ الْقَيِّمُ فَلاَ تَظْلِمُوْافِيْهِنَّ أَنْفُسَكُمْ......الآية 
 
ความว่า “ แท้จริงจำนวนเดือน ณ อัลลอฮ์นั้นมี 12 เดือน โดยระบุไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ ในวันที่พระองค์ทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน ซึ่งจากจำนวนนั้นมีสี่เดือนที่ต้องห้าม (ทำสงคราม) (คือซุ้ลเกาะดะห์ , ซุ้ลฮิจญะห์ , มุฮัรรอม และ ร่อญับ) นั่นคือ ศาสนาอันมั่นคง ดังนั้นเจ้าทั้งหลายอย่าอธรรมในเดือนเหล่านั้นต่อตัวของพวกเจ้าเอง ” ( อัตเตาบะห์ : 36) 
 
 เดือนต่างๆในรอบปีและความประเสริฐในการประกอบอิบาดะห์ที่เป็นความดีงามในวันและเดือนต่างๆ ซึ่งจะขอกล่าวพอสังเขปดังต่อไปนี้ 
 
 1. เดือนมุฮัรรอม 
 
 วันสำคัญของเดือนนี้คือ 
 
 - วันที่ 1 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของอัลอิสลามและเป็นวันคล้ายวันอพยพของท่านศาสดา ศ็อลฯ 
 - วันที่ 10 ซึ่งเป็นวันอาชูรออ์ 
 
 
 สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้ 
 
 - ควรที่จะถือศิลอดสุนัตให้มาก ดังที่ท่านศาสดา ศ็อลฯ ได้ทรงกล่าวว่า 
 
 ﴿ وَأَفْضَلُ الصِّياَمِ بَعْدَ شَهْرِ رَمَضَانَ صِياَمُ شَهْرِ اللهِ الْمُحَرَّم ﴾ رَوَاهُ مُسْلِمٌ 
 
 ความว่า “ และความประเสริฐของการถือศีลอดรองจากเดือนร่อมาฎอนคือ การถือศีล 
 อดในเดือนแห่งอัลลอฮ์ อัลมุฮัรรอม ” รายงานโดยมุสลิม 
 
 - เล่าประวัติศาสตร์หรือระลึกถึงการอพยพของท่านศาสดา ศ็อลฯ ให้บุตรหลานหรือสมาชิกของครอบครัวฟัง 
 
 - สุนัตให้ถือศีลอดในวันอาชูรออ์คือวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอมซึ่งถือเป็นแบบฉบับของท่านศาสดา ศ็อลฯ ดังมีอัลฮะดีษกล่าวว่า 
 
 ﴿ عَنْ جَابِرِ بْنِ سَمُرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَََََََّمَ يَأْمُرُناَ بِصِيَامِ يَوْمِ عَاشُوْرَاءَ وَيَحُثُّناَ عَلَيْهِ ﴾ رَوَاهُ مُسْلِمٌ 
 
 ความว่า เล่าจากญาบิรบุตรซะมุเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า “ ท่านศาสดา ศ็อลฯ ได้ใช้และส่งเสริมให้พวกเราถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ” รายงานโดยมุสลิม 
 
 ﴿ وَسُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَاشُوْرَاءَ فَقَالَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ المْاَضِيَة َ﴾ رَوَاهُ مُسْلِمٌ 
 
 ความว่า “ และท่านศาสดาได้ถูกถามถึงการศีลอดในวันอาชูรออ์ ท่านกล่าวว่า มันจะลบล้างความผิดหนึ่งปีที่ผ่านมา ” รายงานโดยมุสลิม 
 
 และท่านร่อซู้ล ศ็อลฯได้ใช้ให้เราถือศีลอดในวันที่ 9 ของเดือนมุฮัรรอม ดังตัวบทของอัลฮะดีษที่ว่า 
 
 ﴿ وَرُوِيَ عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ أَنَّهُ قَالَ صُوْمُوْا التَّاسِعَ وَالْعَاشِرَ وَخَالِفُوْا الْيَهُوْدَ ﴾ 
 رَوَاهُ التِّرْمِذِيُّ وَقَالَ وَبِهذَا الْحَدِيْثِ يَقُوْلُ الشَّافِعِيُّ وَأَحْمَدُ وَإِسْحَاقُ 
 
 ความว่า และได้มีรายงานมาจากอิบนิอับบาส เขาได้กล่าวว่า “ พวกท่านจงถือศีลอดในวันที่ 9 และวันที่ 10 (ของเดือนมุฮัรรอม)และจงปฏิบัติให้แตกต่างกับชาวยิว ” รายงานโดยอัตติรมีซีย์ และเขาได้กล่าวว่า ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ อะห์มัด และอิสฮาก ได้กล่าวอัลฮะดีษนี้ 
 
 - เล่าและระลึกถึงประวัติศาสตร์ของท่านศาสดานูห์ อะลัยฮิสสลาม ที่พ้นจากภัยน้ำท่วมโลกและศาสดามูซาอะลัยฮิสสลามที่พ้นจากการไล่ล่าของกองทัพฟิรอูนให้บุตรหลานหรือสมาชิกของครอบครัวฟัง 
 
 2. เดือนซอฟัร 
 
 3. เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล 
 
 วันสำคัญของเดือนนี้ 
 
 - วันที่ 12 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของท่านศาสดา ศ็อลฯ 
 
 
 
 สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้ 
 
 - ควรระลึกถึงวันคล้ายวันประสูติของท่านศาสดา ศ็อลฯ ด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ของท่านตั้งแต่เริ่มประสูติจนกระทั่งถึงแก่กรรมให้บุตรหลานฟัง ไม่ว่าจากอัลกุรอานหรืออัลฮะดีษหรือจากหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วๆไป 
 
 - กล่าวสดุดี(ซ่อละหวาต)ต่อท่านนบี ศ็อลฯ 
 
 4. เดือนร่อบีอุซซานีย์ 
 
 5. เดือนญะมาดิ้ลอูลา 
 
 6. เดือนญะมาดิซซานีย์ 
 
 7. เดือนร่อญับ 
 
 วันสำคัญของเดือนนี้ 
 
 - วันที่ 27 ซึ่งเป็นวันที่ท่านศาสดา ศ็อลฯ เสด็จขึ้นชั้นฟ้า ( อัลอิสรออ์วั้ลเมี๊ยะรอจ ) ดังโองการอัล 
 กุรอานที่ว่า 
 
 ﴿ سُبْحَانَ الَّذِي أَسْرَى بِعَبْدِهِ لَيْلاًمِنَ الْمَسْجِدِالْحَرَامِ اِلَى الْمَسْجِدِاْلأَقْصَاالَّذِىْبَارَكْنَا حَوْلَهُ لِنُرِيَهُ مِنْ ءَايَاتِنَا اِنَّهُ هُوَالسَّمِيْعُ الْبَصِيْرُ ﴾ 
 
 
 ความว่า “ มหาบริสุทธิ์ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์ (มุฮำมัด) ให้เดินทางในยามค่ำคืน จากมัสยิดอั้ลฮะรอมสู่มัสยิดอัลอักซอ ซึ่งเราได้ให้ความศิริมงคล แก่รอบๆ ของมัน ทั้งนี้ เพื่อเราจะทำให้เขามองเห็นบางส่วนแห่งสัญลักษณ์ของเรา แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ได้ยิน อีกทั้งทรงมองเห็นยิ่ง ” (อัลอิสรออ์ : 1 ) 
 
 สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้ 
 
 - ระลึกถึงค่ำคืน อัลอิสรออ์วั้ลเมี๊ยะรอจ โดยการเล่าประวัติศาสตร์ของคืนดังกล่าวให้บุตรหลานได้รับทราบ 
 
 8. เดือนชะอ์บาน 
 
 วันสำคัญของเดือนนี้ 
 
 - คืนนิสฟูชะอ์บาน 
 
 - การเปลี่ยนกิบลัต ( ที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ ) 
 
 สิ่งที่ควรปฏิบัติ (ตามทัศนะของนักวิชาการที่ส่งเสริม) 
 
 - สุนัตให้ถือศิลอด ดังตัวบทฮะดีษที่ว่า 
 
 ﴿ عَنْ أُسَامَةَ بْنِ زَيْدٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُمَا قَالَ قُلْتُ يَا رَسُوْلَ اللهِ لمَ ْأَرَكَ تَصُوْمُ شَهْرًا مِنَ الشُّهُوْرِ مَا تَصُوْمُ مِنْ شَعْبَانَ قَالَ ذلِكَ شَهْرٌ يَغْفُلُ النَّاسُ عَنْهُ بَيْنَ رَجَبٍ وَرَمَضَانَ وَهُوَ شَهْرٌ تُرْفَعُ فِيْهِ اْلأَعْمَالُ إِلَى رَبِّ الْعَالَمِيْنَ فَأُحِبُّ أَنْ يُرْفَعَ عَمَلِيْ وَأَناَ صَائِمٌ ﴾ رَوَاهُ النَّسَائِيُّ 
 
 ความว่า เล่าจากจากอุซามะห์บุตรเซด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า “ ฉันได้กล่าวว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ฉันไม่เคยเห็นท่านถือศีลอดในเดือนใดจากเดือนทั้งหลายเสมือนกับที่ท่านถือศีลอดในเดือนชะอ์บาน ท่านได้กล่าวว่า ดังกล่าวคือเดือนที่มวลมนุษย์กำลังหลงลืม ซึ่งเป็นเดือนที่อยู่ระหว่างเดือนร่อญับและเดือนร่อมะฎอนและมันคือเดือนที่บรรดาการปฏิบัติต่างๆ จะถูกนำเสนอต่อพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และฉันชอบที่จะให้การกระทำของฉัน ถูกนำเสนอ ( ต่อพระองค์ )ในสภาพที่ฉันถือศีลอด ” บันทึกโดยอันนะซาอีย์ 
 
 - ให้อ่านอัลกุรอาน ซิกรุลลอฮ์ ขออภัยโทษ ดุอาอ์ และอื่นๆ ที่เป็นการภักดีต่ออัลลอฮ์ ซุบฮ์ฯ ดังมี อัลฮะดีษกล่าวว่า 
 
 
 ﴿ عَنْ مُعَاذِ بْنِ جَبَلٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ عَنِ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ يَطَّلِعُ اللهُ اِلَى جَمِيْعِ خَلْقِهِ لَيْلَةَ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ فَيَغْفِرُ لِجَمِيْعِ خَلْقِهِ إِلاَّ لِمُشْرِكٍ أَوْ مُشَاحِنٍ ﴾ رَوَاهُ الطَّبْرَانِيُّ فِى الْكَبِيْرِ وَاْلأَوْسَطِ وَرِجَالُهُمَا ثِقَاتٌ 
 
 
 ความว่า เล่าจากมุอาซบุตรญะบัล ร่อฎิยัลลอฮุอันฮ์ จากท่านนบี ศ็อลฯ กล่าวว่า “ อัลลอฮ์ ซุบฮ์ฯ จะมองมายังบ่าวของพระองค์ทั้งหมดในค่ำคืนนิสฟุชะอ์บาน ต่อมาพระองค์ก็ทรงอภัยโทษแด่พวกเขาทั้งหลาย ยกเว้นผู้ที่ตั้งภาคีต่อพระองค์หรือผู้ที่อิจฉาริษยา ” บันทึกโดย อัตต๊อบ รอนีในมั๊วะญัมอัลกาบีรและอัลเอาซัต และผู้รายงานของทั้งสองเป็นที่เชื่อถือได้ 
 
 9. เดือนร่อมาฎอน 
 
 วันสำคัญของเดือนนี้และความประเสริฐ 
 
 - คืนลัยละตุ้ลก็อดร์ ซึ่งมีความประเสริฐกว่าเดือนอื่นๆ ถึงหนึ่งพันเดือน ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ในซูเราะห์อัลก๊อดร์ อายะห์ที่ 3 
 ความว่า “ คืนลัยละตุ้ลก็อดร์นั้น ประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน ” 
 
 สิ่งที่ต้องปฏิบัติในเดือนนี้ 
 
 - ถือศีลอดในเดือนร่อมาฎอนโดยการยับยั้งกาย วาจา ใจ อาหาร และเครื่องดื่ม ตลอดจนสิ่งที่ศาสนาห้าม 
 - ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์และวิตริในค่ำคืนร่อมาฎอน 
 - อ่านอัลกุรอาน,ซิกรุลลอฮ์ และขอดุอาอ์ให้มากๆ 
 - บริจาคทานต่อคนยากไร้หรือคนขัดสน 
 - เอี๊ยะติก๊าฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิบคืนสุดท้ายของเดือนร่อมาฎอน 
 - ทำความดีให้มากๆตลอดเดือนร่อมาฎอน 
 - ให้รับประทานอาหารซะฮูร 
 - จ่ายซะกาตฟิตเราะห์ ดังมีฮะดีษที่ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า 
 
 ﴿ عَنْ أَبِىْ هُرَيْرَةَ قَالَ قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : مَنْ صَامَ رَمَضَانَ وَقَامَهُ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ وَمَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِه ِ﴾ رَوَاهُ التِّرْمِذِىُّ وَقاَلَ حَدِيْثٌ صَحِيْحٌ 
 
 ความว่า เล่าจากอบีฮุร็อยเราะห์ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯ กล่าวว่า “ บุคคลใดถือศีลอดและดำรงอยู่กับการประกอบอิบาดะห์ในเดือนร่อมาฎอนด้วยความศรัทธามั่นและแสวงหาผลบุญ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมา และบุคคลใดดำรงอยู่กับการประกอบอิบาดะห์ในคืนลัยละตุ้ลก็อดร์ด้วยศรัทธาและแสวงหาผลบุญ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมา ” รายงานโดย อัตติรมีซีย์ และเขาได้กล่าวว่า ฮะดีษซอเฮี๊ยะห์ 
 
 ﴿ عَنْ أَبِىْ هُرَيْرَةَ وَ عُرْوَةَ عَنْ عَائِشَةَ أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ يَعْتَكِفُ الْعَشْرَ اْلأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى قَبَضَهُ اللهُ ﴾ رَوَا هُ التِّرْمِذِيُّ وَقَالَ حَدِيْثٌ حَسَنٌ صَحِيْحٌ 
 
 ความว่า เล่าจากอบีฮุร็อยเราะห์และอุรวะห์จากท่านหญิงอาอิชะห์ว่า “ แท้จริงท่านนบี ศ็อลฯ ได้ทำการเอี๊ยะติกาฟเป็นประจำในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนร่อมาฎอนจนกระทั่งอัลลอฮ์ทรงเก็บชีวิตของพระองค์ ” รายงานโดยอัตติรมีซีย์ และเขากล่าวว่า ฮาดีษฮาซันซอเฮี๊ยะห์ 
 
 ﴿ عَنْ أَنَسِ بْنِ مَالِكٍ أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قاَلَ تَسَحَّرُوْا فَإِنَّ فِي السَّحُوْرِ بَرَكَةً ﴾ رَوَاهُ مُسْلِمٌ 
 
 
 ความว่า เล่าจากอะนัสบุตรมาลิกว่า ท่านนบี ศ็อลฯ กล่าวว่า “ ท่านทั้งหลายจงรับประทานอาหารซะฮูรเถิด เพราะว่าในอาหารซะฮูรนั้นมีศิริมงคล ” บันทึกโดย มุสลิม 
 
 10. เดือนเซาวาล 
 
 ความสำคัญของเดือนนี้ 
 
 - วันที่ 1 เชาว้าล เป็นวันตรุษอีดิลฟิตริ์ 
 
 สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้ 
 
 - ร่วมกันละหมาดอีดและทำการตักบีร สดุดีต่ออัลลอฮ์ ซุบฮ์ฯ 
 - สังสรรค์พบปะญาติพี่น้อง อภัยซึ่งกันและกัน 
 - ถือศิลอด 6 วันในเดือนเชาว้าล ดังมีอัลฮะดีษกล่าวว่า 
 
 ﴿ عَنْ أَبِيْ أَيُّوْبَ اْلأَنْصَارِيِّ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّهُ حَدَّثَهُ أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ مَنْ صَامَ رَمَضَانَ ثُمَّ أَتْبَعَهُ سِتًّا مِنْ شَوَّالٍ كَانَ كَصِيَامِ الدَّهْرِ ﴾ رَوَاهُ مُسْلِمٌ 
 
 ความว่า เล่าจากอบีอัยยูบ อัลอันซอรี่ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯ กล่าวว่า “ บุคคลใดที่ถือศีลอดเดือนร่อมาฎอน ต่อมาเขาก็ติดตามการถือศีลอด 6 วันของเดือนเชาว้าล เสมือนกับเขาได้ทำการถือศีลอดตลอดปี ” รายงานโดยมุสลิม 
 
 11. เดือนซุ้ลเกาะอ์ดะห์ 
 
 12. เดือนซุ้ลฮิจญะห์ 
 
 วันสำคัญของเดือนนี้ 
 
 - เป็นเดือนแห่งการประกอบพิธีฮัจย์ 
 - วันที่ 9 คือวันอะร่อฟะห์ 
 - วันที่ 10 คือวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา 
 - วันที่ 29 หรือ 30 เป็นวันสิ้นปีศักราชอิสลาม 
 
 สิ่งที่ควรปฏิบัติในเดือนนี้ 
 
 - ไปประกอบพิธีฮัจย์สำหรับผู้ที่มีความสามารถ 
 - สำหรับผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์นั้น สุนัตให้ถือศีลอดในวันอะร่อฟะห์ ดังมีอัลฮะดีษกล่าวว่า 
 
 
 ﴿ عَنْ أَبِيْ قَتاَدَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ سُئِلَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَرَفَةَ قاَلَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ الْمَاضِيَةَ وَالْبَاقِيَةَ ﴾ رَوَاهُ مُسْلِمٌ 
 
 
 ความว่า เล่าจากอบีก่อตาดะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า “ ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯ ถูกถามถึงการถือศีลอดในวันอะร่อฟะห์ท่านตอบว่า ความผิดของท่านจะถูกลบล้างในหนึ่งปีที่ผ่านมา และอีกหนึ่งปีถัดไป ” รายงานโดยมุสลิม 
 
 - ร่วมกันละหมาดอีดิลอัฎฮา 
 - เชือดสัตว์กุรบ่าน และแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้ 
 - สำนึกตัว(เตาบัต)ในความผิดที่ผ่านมา 
 - ออกซะกาตเมื่อครบพิกัดและครบรอบปี 
 
 อนึ่ง ในบางเดือนที่กล่าวมา อาจจะไม่มีวันสำคัญกล่าวไว้ เป็นการเฉพาะ แต่พึงทราบเถิดว่า ในเดือนต่างๆเหล่านั้น ยังมีวันที่สำคัญอยู่เช่นเดียวกัน นั่นก็คือวันศุกร์ ซึ่งเป็นนายของวันในรอบสัปดาห์ และในวันศุกร์นั้น มีช่วงเวลาหนึ่งที่อัลลอฮ์จะทรงตอบรับดุอาอ์ของบ่าวที่ศรัทธา และเช่นเดียวกัน ศาสนายังส่งเสริมให้มีการถือศีลอด 3 วัน ของทุกๆเดือน และยังใช้ให้ทำการถือศีลอดวันจันทร์และวันพฤหัสอีกด้วย ดังมีอัลฮะดีษ ของท่านศาสดา ศ็อลฯ ว่า 
 
 
 ﴿ عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ قَالَ عَهِدَ إِلَيَّ رَسْوُلُ اللهِ صَلَّىاللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ثَلاَثَةً أَنْ لاَ أَناَمَ إِلاَّ عَلَىوِتْرٍ وَصَوْمَ ثَلاَثَةِ أَيَّامٍ وَأَنْ أُصَلِّيَ الضُّحَى ﴾ رَوَاهُ التِّرْمِذِيُّ 
 
 
 ความว่า จากอบีฮุร็อยเราะห์กล่าวว่า “ ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯ ได้สั่งกำชับฉัน 3 ประการคือ จะต้องไม่นอน นอกจากจะต้องทำการละหมาดวิตริ์เสียก่อน และให้ถือศิลอด 3 วัน และให้ฉันทำการละหมาดฎุฮา ” รายงานโดย อัตติรมีซีย์ 
 
 
 ﴿ عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ تُعْرَضُ اْلأَعْمَالُ يَوْمَ اْلاِثْنَيْنِ وَالْخَمِيْسِ فَأُحِبُّ أَنْ يُعْرَضَ عَمَلِيْ وَأَناَصَائِمٌ ﴾ رَوَاهُ التِّرْمِذِيُّ وَقَالَ حَدِيْثٌ حَسَنٌ غَرِيْبٌ 
 
 
 ความว่า เล่าจากอบีฮุร็อยเราะห์ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯ กล่าวว่า “ อะมั้ลต่างๆ จะถูกนำเสนอต่ออัลลอฮ์ในวันจันทร์และวันพฤหัส ดังนั้น ฉันชอบที่จะให้อะมั้ลต่างๆของฉัน ถูกนำเสนอต่ออัลลอฮ์ในสภาพที่ฉันถือศีลอด ” รายงานโดย อัตติรมีซีย์ และเขาได้กล่าวว่า ฮะดีษฮะซัน ฆ่อรีบ 
 
 พึงทราบเถิดว่า ความว่างคือความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้าที่มนุษย์มักจะขาดทุนอยู่เสมอ 
 
 ﴿ نِعْمَتَانِ مَغْبُوْنٌ فِيْهِمَا كَثِيْرٌ مِنَ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ ﴾ رَوَاهُ الْبُخَارِيُّ 
 
 ความว่า “ สองความสุข ความโปรดปรานที่มนุษย์ส่วนมากปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดี และมีเวลาว่าง ” รายงานโดย อัลบุคอรีย์


อัพเดทล่าสุด