ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย แต่ก็ต้องกระทำในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงในการออกกำลังกายตามหลักศาสนาอิสลามมี 6 ประการต่อไปนี้
มุสลิมออกกำลังกายอย่างไร ให้ถูกต้องตามหลักอิสลาม
ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย แต่ก็ต้องกระทำในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงในการออกกำลังกายตามหลักศาสนาอิสลามมี 6 ประการต่อไปนี้
1. เจตนาให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อจะได้ปฏิบัติอิบาดะห์ได้เต็มที่
การงานต่างๆ แม้จะด้รับการอนุมัติตามหลักศาสนา แต่หากไม่มีการตั้งเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ ผู้กระทำก็จะไม่ได้รับผลบุญใดๆ จากกระทำนั้น
กิจวัตรประจำวันของมุสลิมก็เช่นเดียวกัน กิจกรรมเหล่านั้นจะกลายเป็นอิบาดะฮหากมีเจตนาเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ การออกกำลังกายก็เช่นกัน เราต้องตั้งเจตนาในการออกกำลังกายเพื่อให้ตนเองมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อจะปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลลอฮได้อย่างเต็มที่
2. แต่งกายปกปิดเอาเราะห์
การออกกำลังกายสำหรับมุสลิม ต้องระวังในเรื่องการแต่งกายที่จะต้องปกปิดเอาเราะฮฺ โดยเฉพาะสตรีมุสลิมที่หลักศาสนาอิสลามได้กำหนดเอาเอาไว้ว่าต้องปกปิดเอาเราะฮฺ
เสื้อผ้าที่ใส่จะต้องปกปิดร่างกายทั้งหมดยกเว้นที่เปิดเผยได้คือใบหน้าและมือ ไม่สวมเสื้อผ้าที่บางจนเห็นเรือนร่างภายใน ไม่รัดรูปจนเห็นเรือนร่าง โดยเฉพาะส่วนนูนส่วนเว้า ถึงแม้ว่าเสื้อผ้านั้นจะไม่บางก็ตาม เพราะเสื้อผ้าประเภทนี้ เป็นเป้าสายตาและมักจะยั่วยวนอารมณ์ใคร่ของเพศตรงข้ามได้
3. ไม่ปะปนหญิงชาย
ศาสนาอิสลามเน้นการป้องกันมิให้มุสลิมถลำไปสู่การกระทำผิดหลักศาสนา ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่เป็นสื่อนำให้เกิดการกระทำที่ผิดหลักศาสนาอิสลาม สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต
ในกรณีของการออกกำลังกาย สถานที่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะต้องไม่มีการปะปนกันระหว่างชายหญิง เนื่องจากการออกกำลังกายนั้น
มีการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ ทำให้มองเห็นสรีระ ร่างกายของสตรี ซึ่งย่อมเป็นที่ดึงดูดและเป็นเป้าสายตาของเพศตรงข้ามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งนี้อาจนำมาซึ่งทำบาป ท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า
“ผู้หญิงนั้นเป็นเอาเราะฮฺ ดังนั้น เมื่อนางออกนอกบ้านไปเหล่าชัยฏอนจะเพ่งมองนางด้วยความยินดีที่จะหลอกลวงนาง” (บันทึกโดย อัลตัรมีซีย์)
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกกำลังกายก็คือ ชายและหญิงมุสลิมไม่ได้รับอนุญาตให้มองซึ่งกันและกัน ยกเว้นเท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น
เขาทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่กันเพียงลำพังสองต่อสอง ไม่ว่าที่ไหน และเวลาใดก็ตาม
4. ไม่มองเอาเราะห์แม้เพศเดียวกัน
ในหลักศาสนาอิสลามนอกจากจะห้ามการมองอย่างพินิจพิจารณาเพศตรงข้ามแล้ว ศาสนาอิสลามยังห้ามเพศเดียวกันมองอย่างพินิจพิจารณาหรือสัมผัสร่างกายของกันและกัน ดังคำกล่าวของท่านนบีที่ว่าว่า
“ห้ามผู้ชายมองไปยังเอาเราะฮของผู้ชาย และห้ามผู้หญิงมองไปยังเอาเราะฮของผู้หญิง และห้ามชายกับชายอยู่ในผ้าผืนเดียวกัน และห้ามผู้หญิงกับหญิงอยู่ในผ้าผืนเดียวกัน” (บันทึกโดยมุสลิม)
ดังนั้น ในการออกกำลังกายต้องระมัดระวังในเรื่องของการอยู่ตามลำพังระหว่างชายหญิงที่ไม่ใช่ภรรยา และต้องพึงระวังแม้แต่การมองอย่างพินิจพิจารณาหรือสัมผัสกันระหว่างหญิงกับหญิง
5. อย่าออกกำลังกายจนลืมศาสนกิจที่ต้องปฏิบัติ
ศาสนาอิสลาม ให้ความสำคัญกับเรื่องของเวลาอย่างยิ่ง มุสลิมไม่ควรหลงระเริงกับกิจกรรมทางโลก รวมทั้งการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาจนลืมศาสนกิจที่ต้องปฏิบัติ
มุสลิมควรจัดการเวลาให้เหมาะสม เช่น มุสลิมมีหน้าที่ต้องละหมาดวันละ 5 เวลา แต่เวลาละหมาดอัศรฺหรือมักริบ เป็นเวลาที่ประชาชนทั่งไปนิยมออกกำลังกาย เล่นกีฬา จนบ่อยครั้งที่เพลิดเพลินจนละเลยการละหมาด และช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งบางครั้งหากเราไม่บริหารจัดการเวลาดีๆ ก็อาจทำให้พลาดการละหมาดได้
6. ไม่มีเสียงดนตรีประกอบ
เพราะเสียงดนตรีเป็นที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม
ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ: Shuhada ชูฮาดาอฺ สุขภาพดีตามสูตรนบี