เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต คนที่ขอดุอาอฺให้พ่อแม่แล้วถึงพอแม่ ก็คือลูกที่ซอและฮฺ
หากลูกทำบาป ผลบาปจะถึงพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วหรือไม่ ?
ตอบโดย: อ.มุสตอฟา อยู่เป็นสุข
เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต คนที่ขอดุอาอฺให้พ่อแม่แล้วถึงพอแม่ ก็คือลูกที่ซอและฮฺ
หากลูกซอและฮฺทำดี ผลบุญก็ถึงพ่อแม่ด้วย แต่หากลูกไม่ใช่ลูกที่ซอและฮฺ เวลาเขาทำชั่ว บาปที่เขาทำจะถึงพ่อแม่หรือไม่
ตรงนี้จะมีเงื่อนไขว่า พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกหรือเปล่า หากเป็นพ่อแม่ที่ไม่อบรมลูกไม่สั่งสอนลูก ไม่เคยเรียกลูกมาสอนเลยว่าทำบาปนั้นไม่ดีอย่างไร เมื่อลูกทำบาป พ่อแม่ก็จะได้รับบาปไปด้วย
แต่หากพ่อแม่อบรมแล้ว สอนลูกแล้ว ตักเตือนลูกแล้ว แต่ลูกไม่เชื่อ อาจเพราะสิ่งแวดล้อม หรือเพราะคบเพื่อนไม่ดี ก็ไม่มีปัญหา ผลบาปความชั่วไม่ลามไปถึงพ่อแม่ เพราะว่าได้อบรมลูกแล้ว
การปฏิบัติต่อ พ่อแม่ในศาสนาอิสลาม
พ่อและแม่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ทั้งสองคือผู้ให้กำเนิด ผู้เลี้ยงดู อบรมสั่งสอนลูกตั้งแต่ยังเป็นทารกแบเบาะด้วยความเหนื่อยยากลำบาก จนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีงานมีการและครอบครัวเป็นของตนเอง
ด้วยเพราะพ่อแม่มีความสำคัญต่อมนุษย์ถึงเพียงนี้ อิสลามจึงได้สั่งกำชับให้มนุษย์ทุกคนทำดีและแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดาของตน
ความกตัญญูและการทำดีต่อพ่อแม่นั้นเป็นหน้าที่ที่สูงส่งและสำคัญรองลงมาจากการเคารพภักดีอัลลอฮฺเลยทีเดียว เช่นที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
وَاعْبُدُواْ اللهَ وَلاَ تُشْرِكُواْ بِهِ شَيْئاً وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَاناً (سورة النساء:36)
“สูเจ้าทั้งหลายจงเคารพภักดีอัลลอฮฺและอย่าได้ตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และกับบิดามารดานั้นสูเจ้าจงทำดีกับทั้งสอง” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ: 36)
ครั้งหนึ่งมีผู้ถามท่านรอซูล (ซ.ล.) ว่าสิ่งใดถือว่าเป็นงานที่ประเสริฐที่สุด ท่านได้ตอบว่า “การละหมาดในเวลา การทำดีต่อบิดามารดา และการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์)
จากลำดับที่ถูกกล่าวถึงในหะดีษแสดงให้เห็นว่า การทำดีต่อบิดามารดานั้นมีความประเสริฐกว่าออกไปต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ เช่นที่มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในสมัยของท่านรอซูล (ซ.ล.) ซึ่งได้มีชายผู้หนึ่งมาขออนุญาตท่านออกไปร่วมรบในสงคราม
ท่านรอซูล(ซ.ล.) ได้ถามชายผู้นั้นว่าเขายังมีพ่อแม่อยู่อีกไหม เขาตอบว่ายังมี ดังนั้นท่านจึงสั่งให้ชายผู้นั้นกลับไปดูแลพ่อแม่ของเขา ด้วยการกล่าวว่า “จงอยู่ดูแลคนทั้งสอง เพราะแท้จริงสวรรค์นั้นอยู่ใต้เท้าของทั้งสองคน (คือด้วยการทำดีต่อพ่อแม่)” (รายงานโดย อัต-เฏาะบะรอนีย์)
การอกตัญญูหรือการเนรคุณพ่อแม่นั้นถือว่าเป็นบาปใหญ่ที่ต้องได้รับการลงโทษอย่างแสนสาหัสในวันอาคิเราะฮฺ(วันปรโลก)
ท่านรอซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้มีความว่า “ในจำนวนบาปใหญ่ทั้งหลายคือการเนรคุณต่อพ่อแม่” (รายงานโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)
แม้แต่เพียงการกล่าวไม่ดีต่อพ่อแม่ก็เป็นสิ่งต้องห้าม เช่นการกล่าว “อุ๊ฟ” หรือ “หึ” ใส่พ่อแม่ หรือการปฏิเสธพ่อแม่ การตะคอกใส่พ่อแม่ การแสดงอาการเกลียดชังและไม่เคารพต่อทั้งสองคนก็เช่นเดียวกัน อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
وَقَضَى رَبُّكَ أَلاَّ تَعْبُدُواْ إِلاَّ إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَاناً إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلاَهُمَا فَلاَ تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلاَ تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلاً كَرِيماً، وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ الرَّحْمَةِ وَقُل رَّبِّ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيراً (سورة الإسراء:23-24)
“และพระผู้อภิบาลของเจ้าได้สั่งไม่ให้พวกเจ้าเคารพภักดีผู้ใดเว้นแต่อัลลอฮฺเพียงผู้เดียว และต้องทำดีกับบิดามารดาทั้งสอง แม้นว่าทั้งสองนั้นหรือใครคนใดคนหนึ่งได้แก่ชราลง ดังนั้นเจ้าอย่าได้กล่าว “อุ๊ฟ”(กล่าว “หึ” แสดงความเบื่อหน่ายหรือรำคาญ) อย่าตะคอกใส่ทั้งสอง และจงกล่าวคำพูดที่ดีกับทั้งสองคน จงนอบน้อมตนให้กับทั้งสองด้วยความเมตตา และจงกล่าวขอพรให้กับทั้งสองว่า ‘โอ้ผู้อภิบาลแห่งข้าได้โปรดเมตตาทั้งสองคนเช่นเดียวกับที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูข้าเมื่อครั้งยังเล็กๆ’” (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-อิสรออฺ :23-24)
ฉะนั้น มนุษย์จะไม่พบกับความดีงามในโลกนี้ได้เลยถ้าหากเขาเป็นผู้เนรคุณและอกตัญญูต่อพ่อแม่ทั้งสองคนของเขา
ที่มา: islammore.com,สวรรค์ในบ้าน