อัลลอฮฺได้ทรงเตือนบรรดาสามีให้ปฎิบัติต่อภรรยาของพวกเขาอย่างสุภาพนิ่มนวล ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือแม้กระทั่งการกระทำ การทำดีต่อภรรยานั้นคือการระงับการกระทำต่างๆ
สามีที่ซอและห์
"และจงคลุกคลีกับพวกนาง (บรรดาภรรยา) ด้วยวิธีที่ดีเถิด (บิลมะอ์รูฟ) หากสูเจ้าเกิดไม่ชอบพวกนาง (ก็จงอดทนเถิด) ทั้งนี้เพราะบางทีสูเจ้าอาจไม่ชอบสิ่งหนึ่ง แต่อัลลอฮฺได้ทรงบันดาลให้มีความดีอันมากมายในสิ่งนั้น" (อันนิซาอ์ : 19)
ความหมายของ บิลมะอ์รูฟนั้นคือ "ด้วยดีและอย่างเฉลียวฉลาด" นี่แหละคือความลับที่ไม่เคยถูกค้นพบในหลักคำสอนของศาสนาอื่น และการปฎิบัติต่อภรรยาอย่างดีและอย่างเฉลียวฉลาดนั้นจะต้องทำกันอย่างไร ? ในกรณีนี้ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ทำไว้เป็นตัวอย่าง
คืนหนึ่ง ท่านนบี (ซ.ล.)ได้กลับมาบ้านและพบว่าภรรยาของท่านกำลังนอนหลับสนิทอยู่ ดังนั้นด้วยกับเสียงที่แผ่วเบา ท่านนบี (ซ.ล.) ให้สลามแก่นาง 3 ครั้งติดต่อกัน แต่ก็ไม่มีคำตอบใดๆ เพราะภรรยาของท่านนอนหลับสนิท ท่านจึงมอบหมายต่ออัลลอฮฺพร้อมกับปูเสื่อละหมาดของท่านหน้าประตู แล้วล้มตัวลงนอนที่หน้าประตูจนกระทั่งรุ่งเช้า และหลังจากที่ภรรยาของท่านนบี (ซ.ล.)ตื่นนอน และเห็นว่าสามีของนางนอนอยู่ที่หน้าประตู นางรู้สึกละอายใจเป็นอย่างยิ่ง และได้ขอมาอัฟต่อท่านนบี(ซ.ล.)ครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านนบี(ซ.ล.) แทนที่จะดุด่าโกรธเคืองนาง ท่านกลับจูงเดินเข้าบ้านพร้อมกับกล่าวอย่างจริงใจว่า "ไม่เป็นไรหรอก โอ้ภรรยาของฉันเอ๋ย ฉันไม่ต้องการจะปลุกเจ้า ที่กำลังนอนหลับสนิทเอง...."
นี่แหละ คือ การปฎิบัติต่อภรรยาของ นบี (ซ.ล.) ฉะนั้นจึงไม่ถือว่า เป็นสิ่งเลยเถิดหากนบี (ซ.ล.)ของเราจะกล่าวว่า "และฉันคือผู้ที่ทำดีต่อครอบครัว ได้ดีมากที่สุดในหมู่ของพวกเจ้า"
------------------
สิ่งที่เรามักจะพบเห็นกันในสังคมก็คือ สามีจะเคาะประตูดังๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ เพื่อปลุกให้ภรรยาตื่นนอน แล้วในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น ภรรยาก็ลุกขึ้นมาเปิดประตูให้ จนบางทีนางอาจจะพลาดเปิดประตูผิดไปเคาะหัวของสามีจนเป็นสาเหตุให้เขาทั้งสองต้องทะเลาะกัน
อัลลอฮฺได้ทรงเตือนบรรดาสามีให้ปฎิบัติต่อภรรยาของพวกเขาอย่างสุภาพนิ่มนวล ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือแม้กระทั่งการกระทำ การทำดีต่อภรรยานั้นคือการระงับการกระทำต่างๆ ที่ไม่ดีและไม่เหมาะสม และนี่เป็นการแสดงความขอบคุณและความรักของสามีต่อภรรยาของเขา ดังที่อัลลอฮฺได้บอกไว้ว่า
"และจงคลุกคลีกับพวกนางด้วยวิธีที่ดีเถิด" (อันนิซาอ์ : 19)
การคลุกคลีกับภรรยาด้วยวิธีที่ดีนั้น ไม่ได้หมายความเพียงแค่ไม่ทำร้ายนางเท่านั้น แต่ทว่ามันรวมถึงการระงับตัวเองจากการทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมที่จะกระทำต่อภรรยา นั่นคือ สามีจะต้องมีความอดทนในการเผชิญกับพฤติกรรมต่างๆ ของภรรยาที่ทำไปอย่างไม่ตั้งใจ หรือไม่ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนเสียก่อน เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง หากสามีค้นพบพฤติกรรมต่างๆที่ไม่เหมาะสมจากภรรยา สามีจะต้องอดกลั้นตนเอง และหาวิธีตักเตือนแก้ไขภรรยาของเขาด้วยวิธีที่ดี ทั้งนี้เราได้ถูกใช้ให้ทำดีกับเพื่อนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเรามากที่สุด ซึ่งนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นใด ภรรยาของเรานั่นเอง
ภรรยาของเราน่าถนุถนอมนะค่ะ เห็นด้วยป่าว...
คุณสมบัติ
-หยอกล้อกับภรรยา เพื่อทำให้หัวใจของนางเบิกบาน ท่านนบี (ซ.ล.)เคยชวนภรรยาของท่านหยอกล้อเล่น และทำตามแนวความคิดของพวกนาง เหมาะสมกับระดับภูมิปัญญาของพวกนาง ท่านนบีเคยพาท่านหญิงอาอิชะฮฺ ไปดูการละเล่นของบรรดาซอฮาบะห์ กระทั่งนางรู้สึกเพียงพอ แล้วถามนางว่า : พอแล้วหรือยังจ๊ะ?
หลังจากนั้นนบี (ซ.ล.) ก็กล่าวกับบรรดาซอฮาบะห์ว่า : ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกเจ้า ก็คือผู้ที่ปฎิบัติตัวอย่างดีต่อภรรยาของเขามากที่สุด และฉันคือผู้ที่ปฎิบัติตัวอย่างที่ดีที่สุดในหมู่พวกเจ้าต่อภรรยาของฉัน (รายงานโดย ท่านตัรมีซีย์)
-สามีนั้นจะต้องไม่เลยเถิดในการหยอกล้อกับภรรยาหรือทำดีกับนางอย่างไม่ถูกที่ หรือทำตามความต้องการของนางมากเกินไป (เรียกว่าให้ท้าย หรือเกรงใจนั่นเอง ) จนละเมิดต่อขอบเขตและบทบัญญัติของศาสนา จนทำให้นางกลายเป็นคนที่ไม่มีมารยาทที่ดี (แฮ่ๆๆให้ท้ายจนนางเหลิง ) และทำให้ฐานะความเป็นสามีของตัวเองตกต่ำ หากสามีพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในตัวภรรยา เขาจะต้องไม่เกรงใจที่จะว่ากล่าวตักเตือนนาง และไม่ปล่อยปละละเลยให้ภรรยาถลำลงไปทำบาป จงชักจูงและอบรมภรรยาของท่านอย่างดี อย่างมีไหวพริบเถิด
-มีความหึงหวงอย่างถูกที่ กล่าวคือ สามีจะต้องไม่ละเลยที่จะคอยเป็นห่วงเป็นใย ต่อสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ภรรยาของเขานอกลู่นอกทาง แต่ทว่าเขาก็จงอย่าเอาแต่สงสัยแคลงใจอย่างไม่ถูกที่ หรือเอาแต่มองหาความผิดพลาดของภรรยา
ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า : แท้จริงส่วนหนึ่งจากการหึงหวงนั้น มีการหึงหวงที่อัลลอฮฺทรงรังเกียจ นั่นก็คือ การหึงหวงของชายคนหนึ่งต่อภรรยาของเขาโดยไร้เหตุผล (รายงานโดยอาบูดาวูด)
การหึงหวงที่เลยเถิดนั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาห้าม ส่วนการหึงหวงที่เหมาะสมและถูกที่นั้น แน่นอนมันคือสิ่งที่ปรากฎออกมาอันเป็นผลมาจากความรัก และเป็นพฤติกรรมที่น่าสรรเสริญ
ท่านนบี (ซ.ล.) มักจะอนุญาติบรรดาภรรยาของท่านให้ไปมัสยิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอีดอีดิลฟิตรีและอีดิลอัฎฮา ดังนั้นการไปมัสยิดสำหรับสตรีนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาติทั้งนี้เพราะมันคงจะเกิดการประณามขึ้นมาได้ และนี่เองต้องได้รับการอนุญาติจากสามีก่อน อย่างไรก็ตามการทำละหมาดที่บ้าน (สำหรับสตรี)นั้น ย่อมดีกว่าและเป็นที่ปลอดภัยกว่า จำเป็นต้องเน้น ณ ที่นี้ว่า การที่สตรีคนหนึ่งออกไปข้างนอกเพียงเพื่อดูโน้นดูนี่ หรือเพื่อธุระที่ไม่ใช่ธุระนั้น (คือไร้สาระนั่นเอง) สามารถทำให้ศักดิ์ศรีของนางลดน้อยลงไป และอาจทำให้นางตกลงไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร และหากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก นางก็จงลดสายตาของนางลง จากการมองสิ่งที่ไม่ดี
คุณสมบัติ
- ให้นัฟเกาะห์ (ค่าเลี้ยงดู) : ผู้เป็นสามีจะต้องให้นัฟเกาะห์ที่เหมาะสมกับความจำเป็นของครอบครัว ไม่มากหรือน้อยกว่าความจำเป็นของพวกเขา ทั้งนี้อัลลอฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า " จงกินและดื่ม แต่จงอย่าสุรุ่ยสุร่าย " (อัลอะอ์รอฟ : 31)
มีรายงานว่า สุนัตให้สามีจัดหาของหวาน หรืออาหารที่อร่อย เอาไว้สำหรับครอบครัว (อย่างน้อย) หนึ่งครั้งในทุกหนึ่งสัปดาห์ และที่ดีแล้วสามีจะต้องใช้ภรรยาของเขาให้แจกจ่ายอาหารที่เหลือที่หากเก็บไว้อาจจะเสียได้ไป และนี่คือระดับความดีงามที่ต่ำที่สุด
ผู้เป็นสามีจะต้องไม่เห็นแก่ตัวโดยไม่นึกถึงภรรยาและครอบครัวของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับอาหารการกิน ยกตัวอย่าง ตัวเองเลือกกินแต่อาหารที่ดีๆ ส่วนลูกเมียให้กินแต่อาหารที่เหลือกินจากตนแล้ว การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ศาสนาห้ามเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะสร้างความเกลียดชังขึ้นในใจ และนับเป็นเรื่องที่ไม่ดีหากผู้เป็นสามีกล่าวถึงอาหารหนึ่งอาหารใดทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะซื้ออาหารนั้นๆ ให้แก่ครอบครัวของเขา และในเวลาทานอาหารเขาสมควรที่จะต้องใช้ให้สมาชิกทุกคนร่วมทานพร้อมๆกัน อีกประเด็นหนึ่งที่สามีจำเป็นต้องเอาใจใส่ก็คือ เขาจะต้องจัดหาเฉพาะอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนา (ฮาลาล) ให้แก่ลูกเมียของเขา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องตัวอาหารและวิธีได้มาซึ่งอาหารนั้นๆ จงอย่าเอาอาหารที่ได้มาด้วยวิธีที่ต้องห้ามมาให้แก่ครอบครัว เช่น ไปลักขโมยหรือฉ้อโกงคนอื่นมา เพราะการกระทำดังกล่าว คือความชั่วร้ายและเป็นที่ต้องห้ามอย่างยิ่งในศาสนา
คุณสมบัติ
- ผู้เป็นสามีจะต้องศึกษาอย่างจริงจังในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่อง การทำความสะอาดพร้อมทั้งข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน และเขาจำเป็นต้องสอนมันให้แก่ภรรยา หากภรรยาไม่รู้หรือไม่เข้าใจ นอกจากนี้สามีจะต้องสอนภรรยาของเขาเกี่ยวกับบทบัญญัติต่างๆของศาสนา พร้อมทั้งส่งเสริมนางให้ภักดีต่ออัลลอฮฺ และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และหากเขาเห็นว่า ภรรยาของเขาไม่เอาใจใส่เรื่องศาสนา เขาจำเป็นต้องว่ากล่าวตักเตือนนาง อนึ่ง เมื่อใดที่สามีได้สั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่างที่ภรรยาจำเป็นต้องรู้ ภรรยาไม่จำเป็นต้องไปถามหรือเรียนกับผู้อื่นอีก แต่หากสามีไม่มีความสามารถที่จะให้การอบรมสั่งสอน ก็อนุญาติให้ภรรยาออกไปศึกษาเล่าเรียนสิ่งที่นางจำเป็นต้องรู้ได้ ซึ่งหากสามีของนางขัดขวางเพื่อเป้าหมายดังกล่าว สามีก็ถือว่า มีบาปต่ออัลลอฮฺ
คุณสมบัติ
- สามีต้องว่ากล่าวตักเตือนภรรยาของเขาหากนางทำผิด ให้การอบรมสั่งสอนแก่นางอย่างชาญฉลาด และหากเกิดมีการทะเลาะหรือขัดใจกันขึ้นจากทั้งสองฝ่าย ก็จะต้องมีการพูดคุยกันโดยมีคนกลาง 2 คนจากทั้งสองฝ่าย เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย คนหนึ่งจากฝ่ายครอบครัวสามี และอีกคนหนึ่งจากครอบครัวฝ่ายภรรยา ซึ่งทั้งสองคนจะต้องมอบหมายหน้าที่การไกล่เกลี่ยทั้งสอง เพื่อหาวิธีแก้ไขอย่างดีที่สุด และหากเป็นไปได้พวกเขาทั้งสองจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันใหม่ ทั้งนี้และทั้งนั้น นี่คือบทบัญญัติของอัลลอฮฺในอัลกุรอาน
"และหากพวกเจ้าเกรงว่าจะเกิดการแตกแยกระหว่างคนทั้งสอง (สามีภรรยา) พวกเจ้าก็จงแต่งตั้งผู้ชี้ขาด (คนกลาง) ขึ้น หนึ่งคนจากญาติของเขา (สามี) และอีกหนึ่งคนจากญาติของนาง (ภรรยา) หากคนทั้งสองหวังที่จะปรองดอง อัลลอฮฺก็จักทรงให้เกิดสัมฤทธิ์ผลระหว่างคนทั้งสอง" (อันนิซาร์ : 35)
แต่หากการทะเลาะขัดใจกันนั้น เกิดขึ้นมาจากทางฝ่ายภรรยา อาทินางทำการดื้อดึง ไม่เชื่อฟังต่อสามี (นุชูซ) ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประเภทนี้ อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดว่า
"เหล่าบุรุษย่อมเป็นผู้ยืนอยู่บน (การปกครอง รับผิดชอบเลี้ยงดู) บรรดาสตรี" (อันนิซาอ์ : 34)
ด้วยเหตุดังกล่าวในกรณีนี้ สามีจำเป็นต้องอบรมภรรยาของเขา และใช้ให้นางเชื่อฟังเขาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน กล่าวคือ ให้เริ่มต้นด้วยการว่ากล่าวตักเตือนอย่างมีไหวพริบ เตือนนางถึงการลงโทษของอัลลอฮฺเหนือภรรยาที่ดื้อดึงต่อสามี และหากวิธีนี้ไม่ได้ผลก็ให้หันหลังให้กับนางในขณะที่นอนด้วยกัน หรือไม่ก็นอนแยกกับนาง และไม่ต้องพูดคุยด้วย ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ต่อจากนั้นหากวิธีนี้ยังคงไม่ได้ผลและนางยังคงดื้อดึงต่อเขา ก็อนุญาติให้เขาตบตีนางได้ แต่อย่าถึงขนาดกับทำร้ายนาง และจงอย่าตบตีใบหน้าของนาง เพราะการกระทำเช่นนั้นถือว่าต้องห้าม (ฮะรอม)
ที่มา: www.sunnahstudent.com