ซุนนะฮฺในวันศุกร์ ความประเสริฐ เวลาสำคัญของวันศุกร์


21,727 ผู้ชม

ท่านนบีได้กล่าวถึงความประเสริฐของวันศุกร์อย่างชัดเจน ซึ่งอิมามบุคอรียฺได้บันทึกในศ่อฮี้ฮฺของท่าน รายงานโดยท่านอบูฮุรอยเราะฮ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า


ซุนนะฮฺในวันศุกร์ ความประเสริฐ เวลาสำคัญของวันศุกร์

ซุนนะฮฺในวันศุกร์ ความประเสริฐ เวลาสำคัญของวันศุกร์

ความประเสริฐของวันศุกร์

วันศุกร์ ในภาษาอาหรับเรียกว่า เยามุลญุมุอะฮฺ หรือ เยามุลอะรุฟะ(อาหรับเรียกกัน) ที่ปรากฏในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺคือชื่อแรก และมีซูเราะฮฺหนึ่งในอัลกุรอานที่ใช้ชื่อนี้ ท่านนบีได้กล่าวถึงความประเสริฐของวันศุกร์อย่างชัดเจน ซึ่งอิมามบุคอรียฺได้บันทึกในศ่อฮี้ฮฺของท่าน รายงานโดยท่านอบูฮุรอยเราะฮ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า    

ولفظ البخاري "نحن الآخرون السابقون يوم القيامة،بيد أنهم أوتوا الكتاب من قبلنا، ثم هذا يومهم الذي فرض عليهم فاختلفوا فيه فهدانا الله له، فالناس لنا فيه تبع، اليهود غدا والنصارى بعد غد"

ความว่า “แท้จริงเรา(มุสลิมีน)จะเป็นคนสุดท้าย(อัลอาคิรูน)และเป็นคนที่อยู่แนวหน้า(อัซซาบิกูน)ในวันกิยามะฮฺ (1) แท้จริงมันมีข้อแตกต่างเพียงข้อเดียว พวกเขา(ประชาชาติอื่น)ได้รับคัมภีร์ก่อนเราเท่านั้น” (2) วันนี้(วันศุกร์)เป็นวันที่ถูกบันทึก(บัญญัติ)แก่ยะฮูดและนะศอรอ” (3) แต่พวกเขา(ยะฮูดและนะศอรอ)ขัดแย้งกัน (4)“ดังนั้นผู้คนทั้งหลายจะตามเรามา วันประเสริฐยิ่งในโลกนี้คือวันศุกร์  ยิวพรุ่งนี้ (วันเสาร์) และนะศอรอถัดไป(วันอาทิตย์)(5)"

(1)  หมายถึง ประชาชาติอิสลามเป็นประชาชาติสุดท้ายที่อยู่บนโลกนี้ ที่มาก่อนคือประชาชาติยิวและตามด้วยคริสต์ สุดท้ายคืออิสลาม)เพราะนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นนบีท่านสุดท้าย ประชาชาติของท่านจึงเป็นประชาชาติสุดท้าย แต่ในวันกิยามะฮฺมุสลิมจะอยู่ในแนวหน้าเป็นผู้นำประชาชาติอื่นๆ

(2) นี่คือคุณลักษณะหรือความประเสริฐของประชาชาติอื่นที่มาก่อนมุสลิม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่หมายถึงว่ามีคัมภีร์ก่อนแล้วจะประเสริฐกว่าคนอื่น หรือคนที่เป็นมุสลิมตั้งแต่เกิดจะดีกว่าคนที่เป็นภายหลัง หรือมุสลิมที่อายุมากจะประเสริฐกว่าที่อายุน้อย ยะฮูดและนะศอรอได้รับคัมภีร์ก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประเสริฐกว่า

(3) ทั้งสองประชาชาตินั้นได้ถูกเสนอให้วันศุกร์เป็นวันสำคัญของพวกเขามาก่อน

(4) นี่แหละอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นในประชาชาติอิสลาม ผู้ที่อ้างตนเป็นมุสลิมแต่แสวงหาความประเสริฐในวันอื่นนอกญุมุอะฮฺ แสวงหาความสนุกสนานและการเฉลิมฉลองในวันอื่นนอกจากวันอีดทั้งสองที่อัลลอฮฺบัญญัติไว้ สิ่งที่อัลลอฮฺให้มาเรากลับปฏิเสธ ที่ยะฮูดและนะศอรอถูกสาปแช่งถูกยึดเกียรติและความประเสริฐที่อัลลอฮฺเคยประทานให้เขา ก็เนื่องจากอัลลอฮฺมอบหมายพระบัญญัติไว้แต่พวกเขาปฏิเสธ แต่มุสลิมได้รับเอาวันศุกร์ไว้เป็นวันสำคัญและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

(5) หมายถึง ความประเสริฐของวันศุกร์ไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์คิดขึ้นเอง ดังนั้นจึงไม่มีใครมีสิทธิ์บัญญัติวันนี้ดีกว่าวันนั้น หรือช่วงเวลานี้ดีกว่าช่วงเวลานั้น

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งสำหรับวันศุกร์ท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า

عن أبي هريرة رضي الله عنه أن النبي صلى الله عليه وسلم قال: (خير يوم طلعت عليه الشمس يوم الجمعة، فيه خلق آدم، وفيه أدخل الجنة، وفيه أخرج منها، ولا تقوم الساعة إلا في يوم الجمعة). [مسلم 854].

ความว่า “วันประเสริฐที่สุดในบรรดาวันต่างๆ ที่มีดวงอาทิตย์ขึ้นคือวันศุกร์ ในวันนั้นอาดัมถูกสร้าง และในวันนั้นท่านได้เข้าสวรรค์ และในวันนั้นท่าน(นบีอาดัม)ถูกสั่งให้ออกจากสวรรค์(เนื่องจากความผิดของท่านที่กินจากต้นไม้ต้องห้าม)และวันกิยามะฮฺจะไม่เกิดขึ้นเว้นแต่ในวันศุกร์”  ซึ่งประการสุดท้ายนี้มีความสำคัญ เพราะวันศุกร์เป็นวันที่มุอฺมินเฝ้าคอยว่าอาจจะเป็นวันกิยามะฮฺ ทำให้มีความตั้งใจในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ

มีหะดีษอีกบทหนึ่งบันทึกโดยอิมามอิบนุมาญะฮฺ อิมามอะหมัด ซึ่งอุละมาอฺบางท่านบอกว่าฎออีฟ แต่อิมามอัลอิรอกียฺ บอกว่าเป็นหะดีษหะซัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

فعن أبي لبابة بن عبد المنذر رضي الله عنه قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم إن يوم الجمعة سيد الأيام وأعظمها عند الله وهو أعظم عند الله من يوم الأضحى ويوم الفطر فيه خمس خلال خلق الله فيه آدم وأهبط الله فيه آدم إلى الأرض وفيه توفى الله آدم وفيه ساعة لا يسأل الله فيها العبد شيئا إلا أعطاه ما لم يسأل حراما وفيه تقوم الساعة ما من ملك مقرب ولا سماء ولا أرض ولا رياح ولا جبال ولا بحر إلا وهن يشفقن من يوم الجمعة .

ความว่า “แท้จริงวันญุมุอะฮฺเป็นนายของบรรดาวันต่างๆ ณ ที่อัลลอฮฺ ยิ่งใหญ่กว่าวันอีดิ้ลอัฎฮาและอีดิ้ลฟิตรฺ ในวันศุกร์นี้มีห้าประการ คือ ในวันนั้นอัลลอฮฺทรงสร้างอาดัม และวันศุกร์อัลลอฮฺได้ให้อาดัมออกจากสวรรค์มายังโลกนี้ และวันศุกร์อัลลอฮฺได้ยึดวิญญาณของอาดัม และในวันศุกร์มีช่วงเวลาที่บ่าวของอัลลอฮฺจะขออะไรอัลลอฮฺก็จะให้(เว้นแต่สิ่งหะรอม) และในวันศุกร์นั้นกิยามะฮฺจะเกิดขึ้น ไม่มีมะลาอิกะฮฺท่านใดที่อยู่ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ไม่มีชั้นฟ้าชั้นใด ไม่มีแผ่นดินที่ใด ไม่มีลมพายุชนิดใด ไม่มีภูเขาลูกหนึ่งลูกใด ไม่มีทะเลแห่งใด เว้นแต่สิ่งดังกล่าวจะหวาดกลัว(เกรงกลัว)ต่อวันศุกร์(เพราะเป็นวันที่จะเกิดวันกิยามะฮฺ)”

จากหะดีษนี้เราได้รับบทเรียนว่าวันศุกร์มีความเกี่ยวพันกับประวัติของท่านนบีอาดัม และในวันศุกร์มุสลิมจะต้องมีความเกรงกลัวว่าอาจจะเป็นวันกิยามะฮฺ จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะถูกไต่สวนถูกคิดบัญชีในอะมั้ลต่างๆที่สะสมไว้ในโลก

ในบันทึกของอิมามฏ๊อบรอนียฺ โดยสายสืบที่พอเชื่อถือได้ รายงานโดยท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ในวันศุกร์หนึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

يا معشر المسلمين ، إن هذا يوم جعله الله عيدا ، فاغتسلوا ، وعليكم بالسواك

ความว่า “โอ้บรรดามุสลิมีนทั้งหลาย นี่คือวันที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้เป็นอีด(วันฉลองประจำสัปดาห์)สำหรับพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงชำระ และจงรักษาไว้ซึ่งการถูฟันด้วยสิว้าก”  อีกสำนวนหนึ่งบันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ รายงานโดยท่านอิบนิอับบาส 

عن ابن عباس رضي الله عنهما قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: (إن هذا يوم جعله الله عيدا للمسلمين فمن جاء إلى الجمعة فليغتسل وإن كان طيب فليمس منه، وعليكم بالسواك) [صحيح الجامع 2258]

ความว่า “แท้จริงวันศุกร์นี้เป็นวันอีด(วันฉลอง) ที่อัลลอฮฺกำหนดไว้สำหรับมุสลิม ใครที่จะมาละหมาดวันศุกร์ต้องชำระ(อาบน้ำทำความสะอาด) หากมีน้ำหอมก็ให้แตะเสียหน่อย และจงใช้สิว้าก”

ท่านนบีบอกว่าวันศุกร์เป็นวันอีดคือวันเฉลิมฉลองให้ดีใจ (แต่คนบางกลุ่มกลับไปเยี่ยมกุบูรในวันศุกร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับหะดีษของท่านนบี  เกิดจากการไม่ศึกษาซุนนะฮฺของท่านนบีอย่างครบถ้วน) เพราะความประเสริฐและคุณประโยชน์ที่อัลลอฮฺจะให้กับมนุษย์ในวันศุกร์มีมากมาย ดังหะดีษที่บันทึกโดยอิมามอิบนุมาญะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

الجمعة إلى الجمعة كفارة ما بينهما ما لم تغش الكبائر

ความว่า “ญุมุอะฮฺถึงญุมุอะฮฺ(ระหว่างสองศุกร์)เป็นการไถ่โทษ(ลบล้างความผิด) ยกเว้นบาปใหญ่(กะบีเราะฮฺ-ต้องเตาบัตตัว)”

ซึ่งการจะได้รับการไถ่โทษนั้นก็มีเงื่อนไขดังหะดีษที่บันทึกโดยอิมามบุคอรียฺ รายงานโดยท่านซัลมาน อัลฟาริซียฺ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

عن سلمان الفارسي قال: قال النبي صلى الله عليه وسلم: (لا يغتسل رجل يوم الجمعة ويتطهر ما استطاع من طهر ويدهن من دهنه أو يمس من طيب بيته ثم يخرج فلا يفرق بين اثنين ثم يصلي ما كتب له ثم ينصت إذا تكلم الإمام إلا غفر له ما بينه وبين الجمعة الأخرى) [البخاري 883]

ความว่า “ไม่มีชายคนหนึ่งคนใดที่จะอาบน้ำชำระ(ทำความสะอาด)เท่าที่กระทำได้(อาบให้สมบูรณ์ที่สุดเหมือนอาบน้ำญะนาบะฮฺ-(1) ) หรือจะใช้น้ำมันไม้หอมแตะเล็กน้อย แล้วออกไปละหมาด เมื่อเข้ามัสยิดอย่าแยกระหว่างสองคนที่นั่งติดกัน(คนที่มาทีหลังอย่าแทรกไปนั่งด้านหน้าให้นั่งตรงที่มีที่ว่างอยู่)  แล้วละหมาดเท่าที่ละหมาดได้ (2)  และสดับฟังขณะที่อิมามปราศรัย เว้นแต่อัลลอฮฺจะให้อภัยโทษแก่เขาในระหว่างสองศุกร์”

(1)  - การอาบน้ำญะนาบะฮฺเป็นอิบาดะฮฺส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการยกหะดัษ จะทำให้เราสามารถปฏิบัติอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺได้ ให้อาบน้ำอย่างมีอะมานะฮฺ คือล้างนะญาซะฮฺให้สะอาด
(2) - ละหมาดนัฟลู –ซุนนะฮฺทั่วไป ทีละสองๆ  ไม่ใช่ซุนนะฮฺก่อนดุฮฺริ จนคอฏีบขึ้นมิมบัรก็เลิกละหมาดเพราะการฟังคุฏบะฮฺเป็นวาญิบ แต่สำหรับคนที่เข้ามาขณะอะซานหรือคุฏบะฮฺ ให้ละหมาดตะฮิยะตุ้ลมัสยิดอย่างสั้นๆ


เวลาสำคัญของวันศุกร์
ในบันทึกของอิมามบุคอรียฺและมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

عن أبي هريرة رضي الله عنه أن رسول الله صلى الله عليه وسلم قال: «إن في الجمعة لساعة لا يوافقها عبد مسلم وهو قائم يصلي يسأل الله شيئا إلا أعطاه إياه».[البخاري 935، ومسلم 852]

ความว่า “ในวันศุกร์มีช่วงเวลาที่ ไม่มีบ่าวของอัลลอฮฺที่เป็นมุสลิมคนหนึ่งคนใดปรากฏในเวลานั้นยืนวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่เป็นความดี เว้นแต่อัลลอฮฺจะให้เขาอย่างแน่นอน”


ช่วงเวลานั้นคือเวลาใด – บรรดาศ่อฮาบะฮฺมี 2 ทัศนะ

1. เวลาที่อิมามขึ้นมิมบัร – ให้ขอดุอาอฺตอนที่อิมามขึ้นมิมบัร หรือขณะที่อิมามกล่าวถึงเรื่องดีเช่น สวรรค์ เราก็ขอดุอาอฺ(ในใจ)ให้เราได้เข้าสวรรค์ หรือขณะที่อิมามนั่งพักระหว่างสองคุฏบะฮฺเราก็ขอดุอาอฺได้ หรือขณะที่อิมามขอดุอาอฺเราก็ อามีน 
2. เวลาก่อนมักริบ – ทัศนะนี้มีน้ำหนักมากกว่าเพราะมีตัวบทที่ระบุชัดเจน


ซุนนะฮฺที่ท่านนบีแนะนำให้ปฏิบัติในวันศุกร์

1. ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอิบนิอับบาสว่า ในละหมาดซุบฮิ(วันศุกร์)ท่านนบีจะอ่านอลิฟลามมีม ซูเราะฮฺอัสสัจญฺดะฮฺ และฮัลอะตาอะลัลอินซานุมินัลดะฮฺลิ (ซูเราะฮฺอัลอินซาน)

ทำไมต้องสองซูเราะฮฺนี้? อิมามอิบนุลก็อยยิมกล่าวว่า ฉันได้ยินอิมามอิบนุตัยมียะฮฺกล่าวไว้ว่า ที่ท่านนบีอ่านสองซูเราะฮฺนี้ในซุบฮิของเช้าวันศุกร์ เพราะสองซูเราะฮฺนี้ได้รวบรวมสิ่งที่มันเกิดขึ้นในวันนั้น(การสร้างอาดัม การฟื้นคืนชีพ และการชุมนุมของมนุษยชาติทั้งหลายในวันกิยามะฮฺ) เป็นการเตือนว่าวันนี้วันศุกร์ กิยามะฮฺอาจเกิดขึ้นในวันนี้ให้ระวังเถิด  อุละมาอฺบางท่านกล่าวว่าไม่ควรอ่านสองซูเราะฮฺนี้ทุกวันศุกร์ให้อ่านซูเราะฮฺอื่นบ้าง เพราะถ้าอ่านเป็นประจำคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นวาญิบ

2. อัลอิฆติซาน (الإغتسال  การอาบน้ำวันศุกร์)

ทัศนะอุละมาอฺส่วนมากเห็นว่าเริ่มเมื่อเข้าเวลาฟัจรฺ(ซุบฮฺ) ด้วยหลักฐานต่อไปนี้ (ถ้าอาบน้ำหลังอะซานก็ถือว่าใช้ได้) ที่ท่านนบีให้อาบน้ำในช่วงวันของวันศุกร์ ไม่ใช่เวลากลางคืน(ตั้งแต่มัฆริบวันพฤหัส) เพราะในหะดีษไม่มีระบุแบบนี้ เพราะเป้าหมายของการอาบน้ำวันศุกร์คือการเตรียมตัวไปละหมาดญุมุอะฮฺ จึงควรอาบตั้งแต่เวลาซุบฮิ

การอาบน้ำเป็นวาญิบหรือไม่? มี 3 ทัศนะ

ทัศนะแรก – เห็นว่าวาญิบ ถ้าไม่อาบมีโทษ เพราะมีหะดีษบันทึกโดยอิมามมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

" غُسل الجمعة واجب على كل محتلم "

ความว่า “การอาบน้ำญุมุอะฮฺ วาญิบสำหรับทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว”


ทัศนะที่สอง – ทัศนะของอุละมาอฺส่วนมากเห็นว่าไม่วาญิบ เพราะมีหลักฐานจากหะดีษอื่นว่าท่านนบีให้ผู้ที่จะไปละหมาดวันศุกร์เลือกจะอาบหรือไม่อาบก็ได้ แสดงว่าไม่วาญิบ

ทัศนะที่สาม – เป็นทัศนะของอิบนุตัยมียะฮฺว่า การที่ท่านนบีให้อาบน้ำละหมาดวันศุกร์ เพราะวันศุกร์เปรียบเสมือนวันอีดซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลอง การจะไปละหมาดก็ควรจะเตรียมตัวให้เรียบร้อยสะอาดหมดจดมีกลิ่นหอมเพื่อให้เกียรติวันสำคัญนี้ ดังนั้นการอาบน้ำจึงจำเป็น(วาญิบ)สำหรับคนที่มีกลิ่นไม่ดีที่ตัว ซึ่งนี่เป็นทัศนะที่มีน้ำหนัก

 มีหะดีษบทหนึ่งเกี่ยวกับความสำคัญของการอาบน้ำวันศุกร์ ซึ่งอิมามสะยูฏียฺเห็นว่าสายรายงานน่าเชื่อถือ เป็นหะดีษที่รายงานโดยท่านอบูอุมามะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

إن الغسل يوم الجمعة ليسل الخطايا من أصول الشعر استلا

ความว่า “การอาบน้ำวันศุกร์จะลบล้างความผิด มันจะดึงความผิดจากร่างกายจนกระทั่งถึงรากผม”

3. แต่งตัวดี  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

عن ثوبان قال : حق على كل مسلم أن يستاك يوم الجمعة ، ويلبس أفضل ثيابه ، ويتطيب

ความว่า “จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนต้องอาบน้ำวันศุกร์ และแต่งกายด้วยชุดที่ดีงามที่สุด ถ้ามีน้ำหอมก็ให้ใช้เล็กน้อย”


และมีหะดีษบันทึกโดยอบูดาวู้ด ท่านอิบนุสลามได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พูดบนมิมบัรว่า


    كما روى عبد الله بن سلام أنه سمع النبي صلى الله عليه وسلم :على المنبر يوم الجمعة يقول: " ما على أحدكم إن وجد سعة أن يتخذ ثوبين ليوم الجمعة، سوى ثوبي مهنته " [ صحيح / صحيح الجامع الصغير وزيادته، 5635[.


ความว่า “มันจะมากขนาดไหนหรือ หากว่าคนหนึ่งคนใดในพวกท่านจะซื้อชุดแต่งกายเฉพาะวันศุกร์นอกเหนือจากชุดที่ใช้แต่งกายเพื่อทำงาน”


คนสมัยนั้นทำงานเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ ขายเนื้อสัตว์ ฯลฯ เสื้อผ้าก็สกปรกแล้วใส่ชุดนั้นมาละหมาดญุมุอะฮฺ ท่านนบีจึงได้ตักเตือน และท่านได้แนะนำให้ใส่ชุดสีขาว จากบันทึกของอิมามติรมิซียฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

البسوا البياض فإنها أطهر وأطيب ، وكفنوا فيها موتاكم

ความว่า “จงสวมชุดสีขาว เพราะมันบริสุทธิ์และดีงาม และจงใช้มันในการกะฝั่นแก่มัยยิต” และมีหะดีษว่าท่านนบีชอบสีเขียว

  •  ท่านนบีเคยสวมผ้าสีดำและผ้าที่มีลายสีแดง(สีแดงทั้งตัวห้าม) เสื้อผ้าสีอื่นๆก็ใส่ได้ทั้งหมด แต่ต้องสวมเสื้อที่ไม่ดึงดูดความสนใจคนละหมาด ใส่เสื้อผ้าที่ปิดเอาเราะฮฺและดูเรียบร้อย 
  • ห้ามใส่ผ้าไหม ผ้านุ่งละหมาดบางชนิดที่ทำจากผ้าไหมก็หะรอมเช่นกัน (เช่นยี่ห้อสะมะรินดาที่เขียนไว้ว่าทำจากไหมแท้) 
  • ห้ามใส่เครื่องประดับทองคำ 
  • สำหรับมุสลิมะฮฺให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ปกปิดเอาเราะฮฺและใช้สีที่เหมาะสม ไม่ควรใส่สีฉูดฉาด เพราะเสื้อผ้าสตรีต้องไม่ดึงดูดความสนใจของผู้ชาย เช่น สีดำ เทา น้ำตาลเข้ม ท่านนบีได้บอกว่ามุสลิมะฮฺที่ออกไปละหมาด “ให้ออกไปโดยไม่มีรัศมีเลย” คือไม่มีความสวยงาม ไม่ดึงดูด แต่งกายธรรมดาๆ ไม่ทำให้คนสนใจ
  • ท่านหญิงอาอิชะฮฺเคยเห็นมุสลิมะฮฺที่มาละหมาดวันศุกร์ด้วยชุดแต่งกายสวยงาม ท่านก็ตำหนิและกล่าวว่า ถ้านบีรู้ว่าพวกเธอจะแต่งกายเช่นนี้ ท่านจะห้ามพวกเธอมาละหมาดที่มัสยิด

4. การรักษาธรรมชาติที่นบีใช้ให้ปฏิบัติ

ในบันทึกของอิมามมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

    - خمس من الفطرة الاستحداد والختان وقص الشارب ونتف الإبط وتقليم الأظف


ความว่า “ห้าประการเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คือ โกนขนลับ, คิตาน, ขลิบ(ตัด)หนวด(อย่าให้ยาวลงมาถึงฝีปาก,บางทัศนะอนุญาตให้โกน),  ถอนขนรักแร้, ตัดเล็บ”


มีรายงานบันทึกโดยอิมามฆอซซาร ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ได้รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะตัดเล็บและขลิบหนวดของท่านในวันศุกร์

5. อ่านซูเราะฮฺอัลกะหฟ

ในบันทึกของอิมามนะซาอียฺและบัยหะกียฺ เชคอัลบานียฺว่าศ่อฮี้ฮฺ ท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

من قرأ سورة الكهف في يوم الجمعة سطع له نور من تحت قدمه إلى عنان السماء يضيء له يوم القيامة وغفر له ما بين الجمعتين

 

 ความว่า “ใครที่อ่านซูเราะฮฺอัลกะหฟในวันศุกร์ จะมีแสงสว่าง(รัศมี)ปรากฏแก่เขาระหว่างสองศุกร์ (1) “เกิดแก่เขาตั้งแต่เท้าของเขาถึงท้องฟ้า (2)  และจะได้รับความอภัยโทษระหว่างสองญุมุอะฮฺ”

(1) แสวงสว่าง(รัศมี)เป็นอุปมา ถ้าเราอ่านซูเราะฮฺอัลกะหฟิอย่างเข้าใจความหมาย บทเรียนจากซูเราะฮฺนี้จะเป็นทางนำแก่เราซึ่งมีมารกมาย เช่น เรื่องเกี่ยวกับมารยาท สวรรค์ นรก การคิดบัญชีวันกิยามะฮฺ อะมานะฮฺ การปกครอง มารยาทลูกศิษย์กับผู้รู้ เรื่องนบีมูซากับท่านคอฎิร
(2) สำนวนนี้จะให้ความหมายของ แสงสว่าง ว่าเป็นแสงในวันกิยามะฮฺ


6. ให้ศ่อละวาตแก่ท่านนบีอย่างมากมาย

ในบันทึกของอิมามอัลบัยหะกียฺ (เชคอัลบานียฺกล่าวว่าเป็นหะดีษฎออีฟ) ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 أكثروا من الصلاة علي في يوم الجمعة و ليلة الجمعة ، فمن فعل ذلك كنت له شهيدا و شافعا يوم القيامة .

ความว่า “พวกเจ้าทั้งหลายจงศ่อละวาตแก่ฉันมากมายในคืนวันศุกร์และวันศุกร์ ใครที่กระทำเช่นนั้นฉันจะเป็นสักขีพยานแก่เขาในวันกิยามะฮฺ และจะให้ชะฟาอะฮฺแก่เขาในวันกิยามะฮฺ”

และในหะดีษบันทึกโดยอิมามนะซาอียฺและอบูดาวู้ด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

 إن من أفضل أيامكم يوم الجمعة فيه خلق آدم وفيه قبض وفيه النفخة وفيه الصعقة فأكثروا علي من الصلاة فيه فإن صلاتكم معروضة علي قال قالوا يا رسول الله وكيف تعرض صلاتنا عليك وقد أرمت يقولون بليت فقال إن الله عز وجل حرم على الأرض أجساد الأنبياء

ความว่า “วันที่ประเสริฐยิ่งในวันของพวกเจ้าคือวันศุกร์  ในวันศุกร์อาดัมถูกสร้างและถูกยึดวิญญาณ ในวันศุกร์จะมีการเป่าสัญญารเริ่มวันกิยามะฮฺ และในวันนั้นจะมีการเป่าให้มนุษย์ทั้งหมดเสียชีวิตไป ดังนั้นพวกเจ้าจงศ่อละวาตแก่ฉันในวันนั้น เพราะการสดุดีของพวกเจ้าต่อฉันจะถูกเสนอแก่ฉัน” ศ่อฮาบะฮฺได้ถามว่า เมื่อเราศ่อละวาตแล้วท่านจะได้ยินเราได้อย่างไร เมื่อร่างกายของท่านสลายไปในแผ่นดินแล้ว นบีได้ตอบว่า “แท้จริง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ห้ามแผ่นดินกินร่างกายของบรรดานบี”  แสดงว่าร่างกายของท่านนบีจะเหมือนเดิมทุกอย่าง

 
    ในศตวรรษที่ 6 มีนะศอรอสามคนวางแผนจะขโมยร่างกายของท่านนบี เขาก็แสดงตัวเป็นมุสลิมไปเช่าบ้านใกล้มัสยิดนบี ขุดอุโมงค์จากบ้านของเขาไปถึงกุโบร์ของท่านนบี มีกษัตริย์คนหนึ่งที่เมืองชามชื่อนูรุดดีนฝันถึงนบีบอกว่า ช่วยฉันด้วย และได้เล่ากับเพื่อนๆก็ไม่มีใครทำนายได้ เขาก็ฝันเหมือนเดิมอีกครั้ง ไปปรึกษาอุละมาอฺไม่มีใครบอกได้ เขาก็ได้ฝันอีกครั้งหนึ่ง จึงไปปรึกษาอุละมาอฺอีก อุละมาอฺก็บอกว่า นบีต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ท่านต้องไปมะดีนะฮฺ กษัตริย์คนนั้นก็เดินทางไปมะดีนะฮฺ ไปถึงก็ประกาศเลี้ยงข้าวทุกคนในเมืองมะดีนะฮฺ ถามผู้ใหญ่ในเมืองว่ามีใครขาดไปไหม ปรากฏว่ามีชาวโมรอคโคสามคนที่ไม่ได้มา แต่สามคนนี้เคร่งละหมาดแล้วก็รีบกลับบ้าน ไม่เอาอะไรเลย ปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างเดียว กษัตริย์นูรุดดีนก็ไม่ยอมให้เรียกสามคนนี้มา พอมาแล้วเห็นท่าทางน่าสงสัยจึงให้เข้าไปค้นในบ้าน พบอุโมงค์ที่พวกเขาช่วยกันขุดเกือบจะถึงกุบูรของท่านนบี นูรุดดีนจึงสั่งให้บูรณะกุบูรของท่านนบี(ซึ่งเป็นห้องของท่านหญิงอาอิชะฮฺ) ให้ตีรั้วใต้ดินรอบกุบูรท่านนบีเป็นโลหะสูงหลายเมตร ขณะที่บูรณะคนที่ขุดเจอเท้าและขายาวมากมีลักษณะเหมือนเดิม ไปปรึกษาอุละมาอฺก็คาดว่จะเป็นของท่านอุมัรเพราะท่านขายาวมาก ความสูงขณะยืนกับขณะขี่ม้าไม่ต่างกัน 

7. ให้รีบไปละหมาดวันศุกร์

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

عن أبي هريرة رضي الله عنه أن رسول الله صلى الله عليه وسلم قال: (من اغتسل يوم الجمعة غسل الجنابة ثم راح فكأنما قرب بدنة، ومن راح في الساعة الثانية فكأنما قرب بقرة، ومن راح في الساعة الثالثة فكأنما قرب كبشا أقرن، ومن راح في الساعة الرابعة فكأنما قرب دجاجة، ومن راح في الساعة الخامسة فكأنما قرب بيضة، فإذا خرج الإمام حضرت الملائكة يستمعون الذكر) [البخاري 881]

ความว่า “ใครที่อาบน้ำวันศุกร์เหมือนการอาบน้ำญะนาบะฮฺ แล้วรีบไปช่วงเวลาแรก เหมือนได้เชือดอูฐ ใครที่ไปช่วงเวลาที่สอง เสมือนเชือดวัวหนึ่งตัว, ใครที่ไปเวลาที่สาม เสมือนเชือดแพะที่มีเขา, ใครที่ไปช่วงเวลาที่สี่ เสมือนเชือดไก่, และใครที่ไปช่วงเวลาที่ห้า เสมือนถวายไข่ไก่ (มลาอิกะฮฺยืนอยู่หน้าประตูมัสยิดเพื่อบันทึกความดี) เมื่ออิมามขึ้นมิมบัรแล้วมลาอิกะฮฺจะเข้ามาฟังคุฏบะฮฺ” คนที่เข้ามาหลังจากนั้นมลาอิกะฮฺจะไม่บันทึก

อีกสำนวนหนึ่งว่า “มลาอิกะฮฺจะบันทึกความดี(ผลบุญ)ของแต่ละคน เมื่ออิมามขึ้นมิมบัรและอะซานแล้ว มลาอิกะฮฺจะปิดสมุดบันทึกและฟังคุฏบะฮฺ”

 

มีหะดีษบันทึกโดยอิมามอะหมัดและอิมามฮากิม เชคอัลบานียฺว่าเป็นหะดีษหะซัน รายงานโดยท่าน อิบนิเอาสฺ อัสสะกอฟียฺ ว่า เขาได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

من غسل يوم الجمعة واغتسل ، ثم بكر وابتكر ، ومشى ولم يركب ، ودنا من الإمام ، واستمع ، وأنصت ، ولم يلغ ، كان له بكل خطوة يخطوها من بيته إلى المسجد ، عمل سنة ، أجر صيامها وقيامها

ความว่า “ใครที่อาบน้ำและชำระอย่างดี ขยันมาในช่วงเวลาแรก เดินมาโดยไม่ขี่พาหนะ และเข้ามานั่งใกล้กับอิมาม(อิมามและคอเฏบ) และไม่พูดเรื่องไร้สาระ แต่ละก้าวเดินได้รับผลบุญเท่ากับถือศีลอดและละหมาดกิยามุลลัยลฺทั้งปี”


8. ละหมาดที่ไหนที่ดีสุด

ในบันทึกของอิมามมาลิก ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺกล่าวว่า

وإن أعظمكم أجرا أبعدكم دارا

ความว่า “ผู้ที่มีผลบุญมากกว่าคือผู้ที่มีบ้านไกลจากมัสยิดกว่า”

9. เมื่อเข้ามัสยิดก็อย่าแทรกหรือข้ามคนที่นั่งอยู่

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เห็นคนที่ทำเช่นนี้ ก็ได้กล่าวว่า

جاء رجل يتخطى رقاب الناس يوم الجمعة والنبي صلى الله عليه وسلم يخطب فقال له النبي صلى الله عليه وسلم اجلس فقد آذيت
  นั่งลง ท่านทำให้คนอื่นเดือดร้อน

10. อย่าข้ามหน้าคนที่กำลังละหมาดอยู่ 

 ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกว่า

لو يعلم المار بين يدي المصلي ماذا عليه ، لكان أن يقف أربعين خيرا له من أن يمر بين يديه . قال : أبو النضر : لا أدري ، أقال أربعين يوما ، أو شهرا ، أو سنة

ความว่า “คนที่ข้ามหน้าคนละหมาด ถ้าเขารู้ความผิดมหาศาลแค่ไหน เขาจะรอสี่สิบจึงจะข้าม” ท่านอบุนนัดรฺ(ผู้รายงานหะดีษท่านหนึ่ง)กล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าหมายรวมสี่สิบวันหรือสี่สิบเดือน หรือสี่สิบปี

11. คนที่จะละหมาดในมัสยิดก็ให้มีซุตเราะฮฺกั้นอยู่ด้านหน้า เช่น ละหมาดหลังคนที่นั่งอยู่หรือละหมาดอยู่ อย่าไปละหมาดด้านหลัง

12. เมื่อเข้ามัสยิดให้ละหมาดซุนนะฮฺ

13. ถ้าคอเฏบยังไม่ขึ้นมิมบัรก็ให้สลามกันได้ แต่ถ้าเห็นคนอ่านกุรอานอยู่ไม่ควรไปรบกวนเขา

14. เมื่อคอเฏบขึ้นมิมบัรแล้วส่งเสียงหรือคุยไม่ได้ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

ومن قال لأخيه يوم الجمعة صه فقد لغا ومن لغا فليس له من جمعته شيء

ความว่า “ใครกล่าวกับพี่น้องขณะ(ฟังคุฏบะฮฺ)วันศุกร์ จงนิ่ง ก็จะเสียหาย แล้วใครเสียหายก็จะไม่ได้รับผลบุญของละหมาดวันศุกร์”  ดังนั้นจึงห้ามคุยหรือให้สลามกันในมัสยิดขณะคุฏบะฮฺ คนที่นั่งคุยอยู่นอกมัสยิดยิ่งไม่สมควรใหญ่ ควรเข้าไปฟังคุฏบะฮฺด้วย

15. สำหรับคนที่ง่วง ในหะดีษบันทึกโดยอิมามอบูดาวู้ด ท่านนบีแนะนำว่า

إذا نعس أحدكم وهو في المسجد فليتحول من مجلسه ذلك إلى غيره

ความว่า “ใครง่วงตอนอยู่ในมัสยิด ให้เปลี่ยนที่ไปที่อื่น”

16. ส่วนที่เกี่ยวกับอิมามคอเฏบ นบีแนะนำให้คุฏบะฮฺสั้นและละหมาดยาว

17. คนที่ไม่ละหมาดวันศุกร์ ท่านนบีกล่าวไว้ในหะดีษบันทึกโดยอิมามอะหมัดและมุสลิม ว่า

لقد هممت أن آمر بالصلاة فتقام ، ثم أخالف إلى منازل قوم لا يشهدون الصلاة ، فأحرق علي

ความว่า “ฉันได้ตั้งใจที่จะสั่งให้มีอิมามทำหน้าที่แทนฉัน แล้วไปหาบ้านหรือครอบครัวคนที่บิดพลิ้วไม่ละหมาดญุมุอะฮฺเพื่อเผาบ้านเขา” (แต่นบีไม่ได้ทำ แสดงว่าท่านนบีขู่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวัง)

لينتهين أقوام عن ودعهم الجمعات . أو ليختمن الله على قلوبهم

ความว่า “คนที่ชอบทิ้งละหมาดวันศุกร์ จะเลิกพฤติกรรมนี้ หรืออัลลอฮฺจะปิดหัวใจของเขา” คือไม่ได้รับทางนำ(ฮิดายะฮฺ)

ในหะดีษบันทึกโดยอิมามอะหมัด ท่านนบีกล่าวว่า

من ترك ثلاث جمع تهاونا بها طبع الله على قلبه

ความว่า “ใครที่ตั้งใจทิ้งละหมาดวันศุกร์สามครั้ง ด้วยปล่อยปละละเลย(ไม่ให้ความสำคัญ ไม่เอาใจใส่) อัลลอฮฺจะประทับตรา(ปิด)หัวใจของเขา” (คือไม่ได้รับฮิดายะฮฺ)

 เป็นเรื่องที่เราต้องระวัง โดยเฉพาะลูกหลานที่อยู่โรงเรียนที่ไม่ใช่มุสลิม เพราะในมัซหับชาฟิอียฺบอกว่า ละหมาดวันศุกร์ต้องมีมะอฺมูมอย่างน้อยสี่สิบคน นักเรียนที่อยู่ตามสถานศึกษาไม่ต้องละหมาดวันศุกร์เพราะไม่ครบสี่สิบคน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ลูกหลานของเราจึงใช้ชีวิตตั้งแต่บรรลุศาสนภาวะโดยไม่ละหมาดวันศุกร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นเยาวชนของเราบางคนเดินหน้ามัสยิดโดยไม่เข้าไปละหมาดวันศุกร์ด้วยความเคยชินและไม่เห็นความสำคัญ ดังนั้นที่ถูกต้องคือต้องละหมาดวันศุกร์ มีแค่สองคนก็ให้คุฏบะฮฺและละหมาด (ทัศนะของอุละมาอฺส่วนมากถือว่าสองคนเป็นญะมาอะฮฺแล้ว) ต้องรณรงค์ให้เยาชนของเรารักษาละหมาดวันศุกร์ สำหรับคนที่ทำงานแล้วหรือมีบริษัทของตนเองก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการละหมาดวันศุกร์ทั้งกับตนเองและคนที่อยู่ในบริษัทด้วย   


เรียบเรียงจาก เชคริฎอ อะหมัด สมะดี


อัพเดทล่าสุด