คนทำแท้ง การทำแท้งในอิสลาม มีบทบัญญัติว่าอย่างไร


30,123 ผู้ชม

ในอิสลามอนุญาติให้ทำแท้งหรือเปล่า เหตุเพราะว่า ท้องโดยไม่ตั้งใจ เพราะถูกข่มขืน หากทำแท้งบาปไหม?


ในอิสลามอนุญาติให้ทำแท้งหรือเปล่า  เหตุเพราะว่า ท้องโดยไม่ตั้งใจ  เพราะถูกข่มขืน หากทำแท้งบาปไหม?

ตอบโดย: อ.อาลี เสือสมิง

นักนิติศาสตร์อิสลามมีมติเห็นพ้องกันว่า  เป็นที่ต้องห้ามในการทำแท้งเด็กทารก  หลังจากการเป่าวิญญาณในเด็กทารกแล้ว  ในเรื่องนี้ไม่มีผู้ใดค้าน  ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการในยุคสะลัฟหรือค่อลัฟ  ส่วนในช่วงเวลาก่อนหน้าการเป่าวิญญาณนั้น  นักวิชาการบางส่วนอนุญาตให้ทำแท้งได้ถ้ามีความจำเป็น  โดยถือว่าชีวิตยังไม่ได้คืบคลานอยู่ในทารกนั้น  
ซึ่งทารกในช่วงเวลาก่อนเป่าวิญญาณในมุมมองของนักวิชาการกลุ่มนี้ถือเป็นเพียงของเหลวหรือก้อนเลือดหรือเป็นเพียงก้อนเนื้อเท่านั้น  แต่ถ้านักวิชาการกลุ่มนี้รู้อย่างที่ผู้คนและศาสตร์เกี่ยวกับกุมารเวชรู้ในปัจจุบันแล้วพวกเขาคงต้องเปลี่ยนคำชี้ขาดนั้นเป็นแน่  เพราะการแพทย์ในปัจจุบันได้พูดถึงการมีชีวิตของทารกนับแต่ก่อนอายุครรภ์ได้  42  วัน  และก่อน  120  วัน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นที่ต่างกันของนักนิติศาสตร์มุสลิมเกี่ยวกับสถานภาพของเด็กทารกในครรภ์ก่อนเวลา  40  วัน  และช่วงก่อน  120  วัน  
ทั้งนี้ เพราะนักนิติศาสตร์มีความเห็นต่างกันในข้อชี้ขาดของการหลั่งข้างนอก  (العزل)  ว่าเป็นที่อนุญาตหรือไม่  ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนแยกระหว่างการตั้งครรภ์ก่อนเวลาครบ  40  วันกับช่วงเวลาหลัง40  วัน  โดยอนุญาตให้ทำแท้งได้ก่อนเวลา  40  วัน  ส่วนหลังจาก  40  วันไปแล้วไม่อนุญาต  นักวิชาการบางส่วนแยกระหว่างช่วงเวลาก่อนเป็นตัวทารกและหลังจากนั้น  โดยอนุญาตในช่วงเวลาก่อนการเป็นตัวทารกและไม่อนุญาตให้ทำแท้งหลังจากนั้น  
ดร.ยูซุฟ  อัลกอรฎอวีย์  ให้ข้อสรุปว่า  :  ด้วยเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า  :  แท้จริงหลักเดิมในการทำแท้งนั้นคือเป็นที่ต้องห้าม  ถึงแม้ว่าการเป็นที่ต้องห้ามนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่  (รุนแรง)  มากขึ้นทุกเมื่อที่การมีชีวิตของทารกในครรภ์มีอย่างมั่นคงแน่นอน  ดังนั้นในช่วง  40  วันแรกการเป็นที่ต้องห้ามก็เบาหน่อย  โดยอนุญาตให้ทำแท้งได้เนื่องจากมีอุปสรรคที่พิจารณาบางประการ  และหลังจาก  40  วันไปแล้ว  การเป็นที่ต้องห้ามก็มีความแข็งแรงมากขึ้นไปอีก  โดยไม่อนุญาตให้ทำแท้งนอกจากมีอุปสรรคที่แข็งแรง
และหลังจาก  120  วันไปแล้วการเป็นที่ต้องห้ามก็หนักและรุนแรงทวีคูณขึ้นไปอีก  ซึ่งในกรณีนี้ไม่อนุญาตให้ทำแท้งนอกเสียจากในสภาวะวิกฤติอย่างถึงที่สุดเท่านั้น  โดยภาวะวิกฤตินี้ต้องได้รับการยืนยันแน่นอนมิใช่เพียงการคาดการณ์ซึ่งน่าจะมีอยู่เพียงประเด็นเดียว  คือ  กรณีเมื่อทารกยังคงอยู่ในครรภ์แล้วจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของมารดา  เพราะมารดาคือที่มาของหลักพื้นฐานในการมีชีวิตของทารก  ทารกเป็นหน่วยย่อย  จึงไม่อาจสละหลักพื้นฐานเพื่อรักษาหน่วยย่อยเอาไว้  
อย่างไรก็ตามนักนิติศาสตร์บางส่วนก็ปฏิเสธสิ่งดังกล่าวและไม่ยอมรับการก่ออาชญากรรมต่อชีวิตไม่ว่ากรณีใดก็ตาม  (ฟะตาวา  มุอาซิเราะฮฺ  ;  ดร.ยูซุฟ  อัลก็อรฎอวีย์  เล่มที่  2  หน้า  541-549  โดยสรุป) ในกรณีที่ตั้งครรภ์อันเนื่องจากการผิดประเวณี  (ซินา)  หรือที่มักเรียกกันในปัจจุบันว่า "ท้องโดยไม่ตั้งใจ"  นั้นก็เป็นที่ต้องห้ามในการทำแท้งเช่นกัน  เพราะทารกที่เกิดมาเป็นมารหัวขน (ของคนที่ตั้งใจผิดประเวณีแต่ไม่อยากได้ลูก)  นั้นคือมนุษย์ที่มีชีวิตและไร้บาป  ขนาดสตรีที่ทำซินาแล้วจะถูกขว้างจนตาย  หากนางตั้งครรภ์อยู่ศาสนายังให้เลื่อนการลงโทษออกไปก่อนจนกว่านางจะคลอดและให้นมลูกเสียก่อนนั่นก็เพื่อรักษาชีวิตของเด็กในครรภ์เอาไว้นั่นเอง  (อ้างแล้ว  เล่มที่  2  หน้า  541)  
ส่วนกรณีตั้งครรภ์เนื่องจากถูกข่มขืนก็มีรายละเอียดดังที่กล่าวมาและถือเป็นที่ต้องห้ามในการทำแท้งหรือเอาเด็กออกนอกจากมีภาวะวิกฤติอย่างที่สุดโดยแน่นอนเท่านั้น  ซึ่งทั้งเด็กและแม่ที่ถูกข่มขืนหาได้มีความผิดอันใดไม่  (ดูรายละเอียดในฟะตาวา  มุอาซิเราะฮฺ  เล่มที่  2  หน้า  609-612)

คนทำแท้ง การทำแท้งในอิสลาม มีบทบัญญัติว่าอย่างไร

การทำแท้งในอิสลาม มีว่าอย่างไร?


อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงประทานแก่มวลมนุษย์ดังคำดำรัสในอัลกุรอานซูเราะฮ อัซซูรอ อายะห์ 49 -50

" ...พระองค์ ( อัลลอฮฺ ) ทรงประทานลูกหญิงแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และทรงประทานลูกชายแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ หรือพระองค์ทรงรวมให้แก่พวกเขาทั้งลูกชายและลูกหญิง และพระองค์ทรงทำให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เป็นหมัน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ ทรงอนุภาพ "

         จากพระมหากรุณาธิคุณจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้เราในฐานะบ่าวผู้มีสติสัมปชัญญะ มิสมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิเสธ ร้ายกว่านั้น คือการทำลายฆ่าทิ้งย่อมเป็นสิ่งต้องห้าม ดังในอัลกุรอาน ซูเราะฮ อัลอันอาม อายะฮที่ 151 ที่ว่า

" ...และอย่าได้ฆ่าลูกของพวกเจ้า เนื่องจากความจน เราเป็นผู้ให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และแก่พวกเขา "

          อีกทั้งลูกหลานเป็น 1 ใน 5 จากสิ่งที่จำเป็นต้องปกป้องรักษาดูแล ซึ่งเป็นมติเอกฉันท์จากเหล่าปวงปราชญ์นักวิชาการมุสลิม นั่นก็คือ 1. ชีวิต (ลมหายใจ) 2. ศาสนา 3. สติปัญญา 4. เชื้อสาย (ลูกหลาน) และ 5. ทรัพย์สิน

            จากจุดนี้เองหากพิจารณาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันที่บีบคั้น หรือผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการทำแท้ง ที่กำลังแพร่หลายในประชาคมโลกปัจจุบัน แล้วอิสลามมีข้อชี้ขาดหรือผ่อนผันอย่างไรในประเด็นนี้

           เราสามารถแบ่งออกเป็นสองประเด็นด้วยกัน คือ หากเป็น การทำแท้งก่อนการเป่าดวงวิญญาณ จากกรณีสุดวิสัยที่จะส่งผลให้ผู้ให้กำเนิดถึงแก่ความตาย กรณีนี้ถือว่า อนุญาต  ประเด็นที่สอง คือการทำแท้ง หลังจากเป่าดวงวิญญาณ โดยทั่วไปของตัวบทหลักฐานทางนิติศาสตร์(มัซฮับ) ถือว่า ฮาหร่าม ในทุกๆ กรณี แม้ว่าจะส่งผลให้ผู้ให้กำเนิดถึงแก่ความตายก็ตาม (ตามมัซฮับฮานาฟี) จึงได้มีการวินิจฉัย วิเคราะห์กันในด้านของบทบัญญัติ พร้อมทั้งคณะกรรมมาธิการไขปัญหาศาสนา ว่ามีการขัดแย้งกันในประเด็นนี้ พอที่จะแบ่งออกเป็น สองกลุ่ม

1 ฮ่าหรามที่จะทำแท้ง

2 อนุญาตหรือจำเป็นต้องทำแท้ง


          กลุ่มแรก

          ทัศนะที่ว่า ฮาหร่ามในการทำแท้ง หลังจากเป่าดวงวิญญาณ ( หลังจาก 120 วัน นับจากเริ่มตั้งครรภ์ ) โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ได้แก่ ทัศนะของนักวิชาการรุ่นก่อน และมัซฮับ ฮานาฟี แม้ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะส่งผลให้ผู้ให้กำเนิดได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตก็ตาม โดยกลุ่มนี้ ให้เหตุผลว่า


     1.) เหตุที่ทำให้ผู้ให้กำเนิดตายนั้น เป็นเพียงการสงสัย คาดคะเน ( เมาฮูม ) เท่านั้น ส่วนการเอาเด็กออกเป็นสิ่งที่แน่นอน ( ยาเก็น ) ว่าเด็กต้องตาย การคาดคะเนนั้นไม่สามารถที่จะมาหักล้างความแน่นอนได้ ฉะนั้นไม่อนุญาตให้ฆ่ามนุษย์เพียงการงานที่คาดคะเนเท่านั้น

     2.) ทั้งผู้ให้กำเนิด ( แม่ ) และผู้ถูกกำเนิด ( ทารก ) ต่างถือเป็นชีวิตที่เท่าเทียมกัน ตามบทบัญญัติแล้วไม่สามารถจะให้ชีวิตหนึ่งคงอยู่โดยฆ่าอีกชีวิตหนึ่ง ได้

          ส่วนที่มีการแย้งว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ( ฎ่อรูเราะฮ ) นั้นไม่ได้ เพราะขาดเงื่อนไขของเหตุสุดวิสัยที่สมบูรณ์ คือ

1.) เหตุสุดวิสัยนั้น เป็นการปกป้องตัวเองจากความตาย โดยต้องไม่ทำให้ชีวิตอื่นได้รับความตาย

2.) ที่ว่าจะส่งผลผู้ให้กำเนิดถึงแก่ชีวิตได้นั้น เป็นเพียงความเห็นของนายแพทย์ ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้

          แท้จริงทัศนะนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เพิ่งพิสูจน์ได้หลังจากพันกว่าปีมานี้เองว่า เด็กทารกนั้นจะเริ่มมีการปฎิสนธิจากเสปิร์ม(อสุจิ) ของชาย กับไข่ของเพศหญิง นั่นคือ การมีชีวิตมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว และการเป็นศัตรูกับชีวิตที่นับว่ามีเกียรติถือว่าเป็นความผิดที่ใหญ่หลวง และเมื่อคิดว่าเป็นความผิดแล้วไซร้ ย่อมไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำแท้งหลังจากการเป่าดวงวิญญาณ ดั่งเคยปรากฏในยุคป่าเถื่อน(ยุคก่อนอิสลาม) ซึ่งได้ฝังลูกผู้หญิงทั้งเป็น

              กลุ่มที่ 2

          ทัศนะที่อนุญาตหรือจำเป็นต้องทำแท้ง ได้แก่ ศาสตราจารย์ มะห์มูด ชัลตูต ท่านศาตราจารย์ ญาดุล ฮัก และกรรมธิการไขปัญหาศาสนา " ดารุลฟาตาฮฺ แห่งอียิปต์" ท่านเชค อะห์หมัดฮุรอยดี้ โดยกลุ่มนี้ให้เหตุผลสรุปพอเป็นสังเขปได้ดังนี้

         การทำแท้งหลังจากเป่าวิญญาณแล้ว โดยไม่มีความจำเป็น ถือว่า ฮาหร่าม อนึ่งเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น หญิงที่คลอดลูกยาก ความเห็นของสูตินารีแพทย์ว่า : การเอาเด็กไว้จะเป็นอันตรายกับนาง กรณีนี้ อนุญาตให้ทำแท้ง ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่ การเอาเด็กไว้จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของมารดานั้น จำเป็นที่จะต้องทำแท้ง โดยยึดกฎของ "การเลือกทำในสิ่งที่เป็นอันตรายน้อยกว่า"กล่าวคือ การเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอันตรายน้อยกว่า เมื่อไม่สามารถปกป้อง 2 อันตรายพร้อมกันได้ และ การยึดเอาประโยชน์ซึ่งที่สำคัญกว่า เมื่อมี 2 ประโยชน์พร้อมกัน

              และหลักฐานจากบทบัญญัติที่ว่า " บุพการีจะไม่ถูกชดใช้ชีวิตกลับ " ( กิซอซ ) เพราะว่า บุพการีนั้นเป็นผู้ให้กำเนิด ซึ่งทางด้านนิติศาสตร์อิสลามนั้น แม่ คือ (อาซ้อล) ต้นกำเนิด ส่วนทารกคือ(ฟูรัวอ) แขนงออกมา จึงต้องสละลูก หากเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยเหลือแม่ได้ โดยพิจารณาจากกรณีเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และยึดเหตุผลพร้อมกฎข้างต้นนี้ และจำเป็นต้องพิจารณาขีดความสามารถ ความเชี่ยวชาญของแพทย์ประกอบต่อประเด็นนี้ด้วย

          ส่วนกรณีการทำแท้งกับทารกที่ได้รับการยืนยันว่าเกิดมาย่อมต้องมีสภาพทุพพลภาพนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่มีมติว่า จะไม่รักษาด้วยการฆ่า แต่จะต้องให้การรักษาดูแลตามอัตภาพ

             ศรัทธาชนที่รักยิ่งแห่งอัลลอฮ ซุบฮานาฮูวาตาอาลา ทุกๆท่านนับเป็น (ฮิกมะฮ) เป็นความเมตตาอย่างยิ่งที่ อัลลอฮ ซุบฮานาฮูวาตาอาลา ได้ให้มีข้อแตกต่างทางการวินิฉัย ของบรรดาอุลามะอ นักวิชาการเพื่อเป็นแนวทางให้เราท่านทั้งหลายได้เลือกตามสภาวะและสภาพการณ์ต่างๆ นี่เป็นการยืดหยุ่นของอัลอิสลามตามยุคสมัย เพราะอิสลามมิได้แข็ง หรือบังคับถึงวิถีชีวิตของมนุษย์จนเกินไป หากแต่อิสลามนั้นเป็นศาสนาที่เดินสายกลาง มีความสอดคล้องกับธรรมชาติปกติวิสัยของมนุษย์และบทบัญญัติทางศาสนาที่ได้กำหนดมา เพื่อยังประโยชน์กับมนุษย์นั่นเอง อย่างการทำแท้งก็เพื่อรักษาชีวิตและเพื่อสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์นั้นเอง

          ศรัทธาชนที่รักแห่งอัลลอฮ์ ทุกท่านครับ บางคนที่มีความต้องการที่จะมีลูกมีผู้สืบเชื้อสายแต่มีไม่ได้ ต่างกับบางคนที่อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูวาตาอาลา ประทานลูกให้ กลับคิดจะฆ่า จะเอาออกโดยไม่คำนึงว่านี้เป็นเป็นความโปรดปราน ที่พระองค์ทรงประทานให้และตีตราค่าของมนุษย์เป็นเพียงผักปลา ยิ่งไปกว่านั้นคิดจะกำหนดเป็นกำหนดตายผู้อื่น นี่แหละมนุษย์ผู้ลืมตนผู้อหังการ ไม่รู้จักสถานะของตนเอง  แล้วเราท่านทั้งหลายในวันนี้ตกอยู่ในกลุ่มชนผู้ลืมตนหรือไม่

ที่มา:  อ.อาลี เสือสมิง, www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด