การไว้อาลัยในศาสนาอิสลาม มีว่าอย่างไร?


81,937 ผู้ชม

การไว้อาลัยคือ การละทิ้งการแต่งตัวด้วยเครื่องประดับที่สวยงาม ด้วยกับสีผ้าที่ฉูดฉาด การใส่เครื่องประดับที่เงางาม การละทิ้งการใส่ยาตา การใส่ของหอม หรืออื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกับสิ่งเหล่านี้....


การไว้อาลัยในศาสนาอิสลาม มีว่าอย่างไร?

การไว้อาลัยในศาสนาอิสลาม มีว่าอย่างไร?

อิสลามได้จำกัดการไว้อาลัยไว้อย่างไรบ้าง ?

มุสลิมสามารถแสดงออกถึงความรักต่อบุคคล แม้ว่าจะเป็นกษัตริย์ได้ ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด เพียงแต่ความรักอันแสดงออกเหล่านั้นจักต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการอิสลามอันเป็นพื้นฐานแห่งศรัทธาหลักได้เลยแม้แต่น้อย

ก่อนที่เราจะรู้ถึงข้อชี้ขาดของการไว้อาลัย เราควรที่จะรู้เสียก่อนว่า "การไว้อาลัยคืออะไร"

การไว้อาลัยคือ การละทิ้งการแต่งตัวด้วยเครื่องประดับที่สวยงาม ด้วยกับสีผ้าที่ฉูดฉาด การใส่เครื่องประดับที่เงางาม การละทิ้งการใส่ยาตา การใส่ของหอม หรืออื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกับสิ่งเหล่านี้

อิสลามจำกัดการไว้อาลัยไว้แก่ผู้ตายไม่เกิน 3 วัน 3 คืน ซึ่งหากเกินกว่าที่อิสลามได้กำหนดไว้นั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามบัญญัติอิสลาม ยกเว้นสตรีที่ผู้ตายเป็นสามีของนาง ดังนั้น สตรีที่สามีตาย อิสลามได้กำหนดให้นางไว้อาลัยแก่เขา 4 เดือน 10 วัน โดยถือเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) แก่นาง หรือจะเรียกการไว้อาลัยของสตรีที่สามีตายว่า "การครองอิดดะห์"

แน่นอนสิ่งที่กล่าวมา ย่อมจะขาดมิได้เลยซึ่งหลักฐาน 

อัลลอฮ์ได้ทรงบัญชาใช้แก่สตรีที่สามีตายไว้ว่า

وَالَّذِينَ يُتَوَفَّوْنَ مِنْكُمْ وَيَذَرُونَ أَزْوَاجا ً يَتَرَبَّصْنَ بِأَنفُسِهِنَّ أَرْبَعَةَ أَشْهُر ٍ وَعَشْرا 

"และบรรดาผู้ที่ถึงแก่กรรมจากพวกเจ้า โดยพวกเขาได้ทิ้งบรรดาคู่ครอง (บรรดาภรรยา) ไว้ พวกนางจะต้องรอคอยตัวของนางเองถึง 4 เดือน 10 วัน" (บากอเราะห์ / 234)

และแน่นอนหลักฐานที่ได้มากำกับการไว้อาลัยแก่ผู้ตายไว้เพียง 3 วัน 3 คืน นั้นมาจากวจนะของท่านร่อซู้ล (ศ็อลลั้ลลอฮู่อะลัยฮิว่าซัลลัม) ที่ว่า

لا يحل لامرأة تؤمن بالله واليوم الآخر أن تحد (أى تترك الزينة) على ميت فوق ثلاث إلا على زوج فإنها تحد عليه أربعة أشهر وعشرا

"ไม่อนุญาตให้สตรีผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะห์ไว้อาลัยแต่ผู้ตายคนใดเกิน 3 วัน นอกจาก (ไว้อาลัย) แก่ผู้เป็นสามี เพราะแท้จริงนางจะต้องไว้อาลัย (หรือครองอิดดะห์) ต่อสามี ถึง 4 เดือน 10 วัน"

สาเหตุที่อิสลามได้บัญญัติห้ามการไว้อาลัยเกิน 3 วัน 3 คืนนั้น ก็เพื่อไม่ต้องการให้บ่าวผู้ศรัทธาในอัลลอฮ์ต้องจมปักอยู่กับความโศกเศร้า ละทิ้งความโปรดปรานของอัลลอฮ์  เพราะนั้นเป็นการปิดกั้นตัวเองจากพระเมตตาของอัลลอฮ์ 

ในอดีตกาล ผู้เป็นภรรยาของท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุ่อะลัยฮิว่าซัลลัม) และสาลัฟซอและห์จะไม่ไว้อาลัยแก่ผู้ใดเกินระยะที่อิสลามได้บัญญัติไว้ เพราะกลัวจากบาปที่จะเกิดขึ้นจากขัดต่อบัญญัติอิสลาม

พระนางอุมมุ่ฮาบีบะห์ (อุมมุ้ลมุมินิน บุตรีของท่านอบีซุฟยาน) ได้ทำการไว้อาลัยแก่บิดาของนาง เมื่อหมดระยะการไว้อาลัยที่อิสลามได้กำหนดไว้ นางจึงใช้น้ำหอมซุฟระห์ (ใช้ในขณะอยู่ในหมู่สตรีด้วยกันหรือใช้ในกลุ่มผู้เป็นมะฮ์รัมของนาง) ในวันที่สาม พร้อมกับกล่าวขึ้นว่า "ฉันเพียงพอแล้วจากนี้ หากแม้นว่าฉันไม่ได้ยินท่านนะบี(ศ็อลลัลลอฮุ่อะลัยฮิว่าซัลลัม)กล่าวว่า "ไม่อนุญาตให้สตรีผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะห์ไว้อาลัยแต่ผู้ตายคนใดเกิน 3 วัน ..."

ส่วนผู้ชายนั้น อิสลามไม่ได้กำหนดให้พวกเขาทำการไว้อาลัยแต่อย่างใด แม้แต่ช่วงระยะเวลาสั่นๆก็ตาม แน่นอนการไว้อาลัยนั้นถูกกำหนดให้แก่สตรีเท่านั้น 

สำหรับรูปแบบการไว้อาลัยที่ไม่ใช่อิสลามนั้น คือการละทิ้งการตกแต่งด้วยเครื่องประดับ การสวมเสื้อสีดำเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ไม่จัดงานแต่งงานในช่วงหนึ่งเดือน ไม่ตัดผม ไม่ตัดเล็บ 40 วันหรือมากว่านั้น เพื่อแสดงถึงความโศกเศร้า เสียใจจากการจากไปของคนในครอบครัว ญาติใกล้ชิด หรือบุคคลสำคัญ 

รูปแบบในการไว้อาลัยแก่ผู้ตายนั้นขึ้นอยู่กับขนบทำเนียบของแต่ละพื้นที่ แต่ละศาสนา 

การไว้อาลัยที่อยู่ในขอบเขตของศาสนาอิสลามนั้น คือการสวมเสื้อที่ไม่ฉูดฉาด ไม่ใส่เครื่องประดับเพชรนิลจินดา ไม่ใส่ของหอม ไม่ทายาตา  หรือพฤติกรรมที่คล้ายกับทำนองนี้ แต่ไม่เกิน 3 วัน 

พึงรู้เถิดว่า การไว้อาลัยไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิม และไม่พบฮาดิษที่ระบุถึงการส่งเสริมให้กระทำ แต่เป็นเพียงขนบทำเนียมที่ปฏิบัติกันมาเท่านั้น  ทว่าอิสลามก็มิได้ห้ามการไว้อาลัยแต่อย่างใด นอกเสียจากไม่อนุญาตให้ไว้อาลัยเกิน 3 วันเท่านั้น

สำหรับสตรีที่สามีตายนั้น อิสลามถือว่าจำเป็นที่นางจะต้องไว้ทุกข์ (ครองอิดดะห์) 4 เดือน 10 วัน นั้นก็เพื่อให้กระจ่างถึงการไร้ซึ่งการตั้งท้องของนางก่อนที่จะแต่งงานใหม่ และเพื่อแสดงความรักต่อผู้ที่จากไป

ส่วนในประเทศไทยนั้น รัฐบาลหรือเอกชนบางรายได้กำหนดให้เจ้าพนักงานทุกคนต้องสวมเสื้อดำ เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่บุคคลสำคัญต่างๆ ซึ่งในบางครั้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากสำหรับบางคน

แน่นอนไม่ว่าจะเป็นการงานใดก็ตามนั้นขึ้นอยู่กับเจตนาและความบริสุทธิ์ใจของตัวเราเอง การแต่งกายในชุดดำนั้นจึงไม่ถือเป็นความผิดใดๆ หากว่าเราไม่มีเจตนาเพื่อไว้ทุกข์แก่ใคร แต่เจตนาเพื่อปฏิบัติตามกฏระเบียบที่บริษัทหรือเจ้านายได้กำหนดไว้เท่านั้น

ทุกๆ เจตนาย่อมอยู่ที่การกระทำ

ที่มา: www.sunnahstudent.com
islamhouse.muslimthaipost.com 

 

อัพเดทล่าสุด