อุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเดือนชะอฺบาน ที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้!


58,730 ผู้ชม

อุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเดือนชะอฺบาน มีอะไรบ้าง


อุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเดือนชะอฺบาน ที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้!

หากจะมองถึงกิจกรรมหรืออิบาดะฮฺ ที่มีการยึดปฏิบัติในบ้านเมืองเราใน เดือนชะอฺบานนี้แล้ว เราพบว่า มีการปฏิบัติอิบาดะฮฺมากมาย อาทิ มี การอ่านยาซีนในค่ำคืนที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน มีการละหมาดในรูปแบบเฉพาะ และมีการเลี้ยงอาหาร เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาอย่างละเอียดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

1. การปฏิบัติอิบาดะฮฺในค่ำคืนที่ 15 (คืนนิศฟุชะอฺบาน)

การอ่านอัลกุรอานไม่ว่าจะเป็นสูเราะฮฺใดถือว่าเป็นอิบาดะฮฺที่ดีเลิศที่สุดในจำนวนบรรดาซิกิรฺทั้งหลาย ดังที่ท่านอิหม่าม อันนะวะวีย์ ได้กล่าวไว้ว่า “การอ่านอัลกุรอานคือซิกิรที่ดีที่สุด”

ถึงกระนั้นก็ตามแต่ การอ่านอัลกุรอานไม่ได้มีการกำหนดเจาะจงเวลาเป็นการเฉพาะที่ชัดเจน และมีการกำหนดสถานที่อ่านที่ชัดเจน เช่นเดียวกับการกำหนดเจาะจงอ่านสูเราะฮฺยาซีนในค่ำคืนดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏแบบอย่างจากท่านนบี (ซ.ล.) และเศาะหาบะฮฺ ถึงแม้ว่าจะมีหะดีษบางส่วนที่กล่าวถึงความประเสริฐในค่ำคืนดังกล่าว แต่หะดีษดังกล่าว ล้วนเป็นหะดีษที่มีสายรายงานอ่อน ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงและยืนยันถึงความประเสริฐและส่งเสริมให้กระทำดังกล่าวได้ อาทิ หะดีษที่รายงานโดย อิบนุ มาญะฮฺ ที่มีความว่า

 “เมือค่ำคืนวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบานได้มาถึง พวกท่านจงลุกขึ้น (ทำอิบาดะฮฺ) ในยามค่ำคืนนั้น และจงถือศีลอดในเวลากลางวันของมัน”  ซึ่งเป็นหะดีษเฎาะอีฟอาจถึงขั้นเมาฎูอฺ

(ดู ละฎออิฟ อัลมะอาริฟ ของ อิบนุ เราะญับ และ อัสสิลสิละฮฺ อัฎเฎาะอีฟะฮฺ ของ อัลอัลบานีย์ 2132)

อุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเดือนชะอฺบาน ที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้!

2. การเจาะจงละหมาดกิยามุลลัยในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน

การละหมาดกิยาลุมลัยหรือตะฮัจญุด เป็นอีกอิบาดะฮฺหนึ่งที่ควรส่งเสริมและเป็นหนึ่งในการละหมาดที่ท่านนบี (ซ.ล.) ไม่เคยทอดทิ้ง และเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนสามารถทำได้ไม่ว่าในคืนใดก็ตาม โดยไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดเจาะจงค่ำคืนใดค่ำคืนหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือเจาะจงละหมาด ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง และการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นมุสตะหับบะฮฺ

อย่างไรก็ตาม การเจาะจงทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนของวันที่ 15 ชะอฺบานเป็นการเฉพาะ เนื่องเพราะเชื่อว่ามีความประเสริฐเหลื่อมล้ำกว่าค่ำคืนอื่นๆ หรือมีความเชื่อว่ามีผลบุญมากมายมหาศาลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีปรากฏในแบบฉบับของท่านนบี (ซ.ล.) และเศาะหาบะฮฺ แต่เพื่อความชัดเจนมากขึ้น จึงต้องแบ่งประเด็นการละหมาดกิยามุลลัยหรือตะฮัจญุดในเดือนนี้ออกเป็น 3 กรณีด้วยกัน

กรณีที่ 1  กรณีที่ละหมาดเป็นประจำอยู่แล้ว ประจวบเหมาะกับการมาถึงของเดือนชะอฺบาน และประจวบเหมาะกับการมาถึงค่ำคืนที่ 15 ของชะอฺบาน ในกรณีนี้ถือว่าไม่เป็นไร เพราะเป็นการละหมาดที่เคยปฏิบัติอย่างเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว และไม่ถือว่าเป็นการอุตริแต่ประการใด

กรณีที่ 2  กรณีที่ไม่ได้ละหมาดเป็นประจำอย่างเป็นกิจวัตร แต่มารอเจาะจงละหมาดเฉพาะในค่ำคืนของวันที่ 15 ชะอฺบานนี้ เพราะมีความเข้าใจว่าจะมีผลบุญมากมายมหาศาล กรณีนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีแบบอย่างที่ถูกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แม้ว่าจะมีหะดีษที่บ่งบอกถึงความประเสริฐในการลุกขึ้นทำอิบาดะฮในค่ำคืนแห่งนี้ก็ตาม แต่หะดีษเหล่านั้นล้วนเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟมากๆ ซึ่งไม่สารามรถนำเป็นหลักฐานอ้างอิงได้

กรณีที่ 3 กรณีที่มีการเจาะจงละหมาดด้วยการกำหนดจำนวนร็อกอัตที่แน่นอน อาทิ 1,000 หรือ 100 ร็อกอัต และย้อนกลับไปกลับมาจนถึงจำนวนที่กำหนดไว้ กรณีนี้ถือว่าเป็นการละหมาดที่อุตริที่ใหญ่หลวง เพราะไม่มีในแบบฉบับของท่านนบี (ซ.ล.) แม้ว่ามีการอ้างถึงหะดีษที่ระบุถึงการละหมาดในลักษณะดังกล่าว

อุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเดือนชะอฺบาน ที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้!

ท่านอิมามอันนะวะวีย์กล่าวว่า “การละหมาดที่เรียกว่าละหมาดเราะฆออิบและการละหมาดอัลฟิยะฮฺในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน 100 ร็อกอัตนั้น ทั้งสองละหมาดนี้เป็นสิ่งที่อุตริ(บิดอะฮฺ)และน่ารังเกียจ และอย่าไปหลงเชื่อกับการที่ละหมาดทั้งสองถูกกล่าวถึงในหนังสือ “กูตุลกุลูบ และ อิหฺยาอฺอุลุมมิดดีน” และอย่าไปหลงเชื่อกับหะดีษที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว เพราะทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่จอมปลอม (บาฏิล)...” (ดู อัลมัจญ์มูอฺ เล่ม 7 หน้า 61)

ท่านอิมาม อัลอิรอกีย์ กล่าวว่า “ หะดีษต่างๆ ที่กล่าวถึงการละหมาดในค่ำคืนวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน ล้วนแต่เป็นหะดีษปลอม (เมาฎูอฺ) และเป็นสิ่งที่โกหก (อุปโลกน์ขึ้นมา) ทั้งสิ้น”

ท่านอิมาม อบูชามะฮฺ กล่าวว่า “แท้จริงมีสายรายงานที่เกี่ยวกับการละหมาดในค่ำคืนวันที่ 15 ชะอฺบาน สองหะดีษซึ่งทั้งสองหะดีษนั้น ล้วนแต่เป็นหะดีษปลอม”

ท่านอิมามอัชเชากานีย์กล่าวว่า “หะดีษที่กล่าวถึงในเรื่องดังกล่าวเป็นหะดีษเมาฎูอฺ(หะดีษปลอม)”  (อัลฟะอาวิด อัลมัจญ์มูอะฮฺ หน้า 15)

อะกีดะฮฺและความเชื่อเกี่ยวกับเดือนชะอฺบาน

หนึ่งในความเชื่อที่ไม่ถูกต้องคือ ความเชื่อที่ว่าในเดือนนี้อัลลอฮฺจะทรงกำหนด (ตักดีร) ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในรอบปี ซึ่งความจริง ค่ำคืนแห่งการกำหนด (ตักดีร) นั้นคือค่ำคืนแห่งลัยละตุลก็อดรฺในเดือนเราะมะฎอนดังที่ปรากฏในอัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัลก็อดรฺ

 หะดีษเฎาะอีฟ (อ่อน) และเมาฎูอฺ ( หะดีษปลอม ) เกี่ยวกับเดือนชะอฺบาน

ในเดือนชะอฺบานแห่งนี้มีรายงานหะดีษที่แสดงถึงความประเสริฐมากมายต่างๆ นานา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหรือเกือบทั้งหมดเป็นหะดีษเฎาะอีฟ(อ่อน) และหะดีษเมาฎูอฺ (หะดีษปลอม) และต่อไปนี้คือหะดีษบางส่วนที่จะนำเสนอให้ได้รับทราบและได้พิจารณาพร้อมๆกัน ดังนี้

หะดีษเฎาะอีฟ ( หะดีษอ่อน )

1.  การขอดุอาอ์ด้วยสำนวนดุอาอ์

« الَلّهُمَّ بَارِكْ لَناَ فِيْ رَجَبَ وَشَعْبَانَ وَبَلِّغْنَا رَمَضَانَ »

ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประทานความเป็นสิริมงคล(บะรอกะฮฺ)แก่พวกเราในเดือนเราะญับและชะอฺบาน และจงนำพาพวกเราให้ถึงเดือนเราะมะฎอนด้วยเทอญ”

หะดีษนี้รายงานโดยอะนัส อิบนุ มาลิก บันทึกโดยอัลบัซฺซาร และอัตเฏาะบะรอนีย์ในหนังสืออัลเอาสัต และอัลบัยฮะกีย์ในหนังสือ ฟะฏออิล อัลเอากอต

ท่านอิหม่ามอิบนุ หะญัร อัลอัสเกาะลานีย์กล่าวว่า “หะดีษดังกล่าวเป็นหะดีษเฎาะอีฟ เพราะมีหนึ่งในสายรายงานที่ชื่อ ซะอีด อิบนุ อบีย์ รุกอฏ เป็นนักรายงานที่เฎาะอีฟ”

อิหม่ามบุคอรีย์กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวเป็น “มุงกะรุลหะดีษ” เช่นเดียวกับอันนะสาอีย์ที่กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวฉันไม่รู้จักว่าเขาคือใคร

อิบนุ หิบบานกล่าวว่า “ไม่มีการนำมาเป็นหลักฐานกับการรายงานของบุคคลดังกล่าว”

(ดู เพิ่มเติม อัลอัซการ ของ อันนะวาวีย์, มีซาน อัลอิอฺติดาล ของ อัซซะฮะบีย์ เล่ม 3 หน้า 96, เฎาะอีฟ อัลญามิอฺ อัศเศาะฆีร ของ อัลอัลบานีย์ หมายเลข 4395)

2. หะดีษที่มีใจความว่า

“แท้จริงอัลลออลฮฺจะทรงลงมายังฟากฟ้าโลกในค่ำคืนที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน ดังนั้นพระองค์จะทรงอภัยโทษมากกว่าจำนวนแพะที่มีอยู่ในเผ่าของกัลบ์”  (หะดีษเฎาะอีฟ รายงานโดยอิบนุ มาญะฮฺ 1389)

หะดีษเมาฎูอฺ (หะดีษปลอม)

1. หะดีษที่มีใจความว่า

“เราะญับคือเดือนของอัลลอฮฺ ชะอฺบานคือเดือนของนบี และเราะมะฎอนคือเดือนของประชาชาติฉัน”  อิหม่าม อิบนุ หะญัร อัลอัสเกาะลานีย์กล่าวว่า หะดีษดังกล่าวเป็น หะดีษเมาฎูอฺ (หะดีษปลอม)

2. หะดีษที่มีใจความว่า

“เดือนที่ถูกคัดเลือกจากอัลลอฮฺคือ 1) เดือนของอัลลอฮฺ (เราะญับ) ผู้ใดเชิดชูเดือนเราะญับ แท้จริง (เท่ากับว่า) เขาได้เชิดชูอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนเขาด้วยสวนสวรรค์ของพระองค์ และเขาจะเป็นผู้ที่พระองค์ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง 2) ชะอฺบานคือเดือนของฉัน และผู้ใดที่เชิดชูเดือนชะอฺบาน แท้จริง (เท่ากับว่า) เขาได้เชิดชูฉัน และอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนผู้ที่ให้การเชิดชูฉันในวันกิยามะฮฺ ...”

อิมาม อิบนุ หะญัร อัลอัสเกาะลานีย์กล่าวว่า หะดีษดังกล่าวเป็นหะดีษเมาฎูอฺ (ปลอม) เช่นเดียวกับอัลบัยฮะกีย์ที่กล่าวว่า หะดีษข้างต้นคือหะดีษเมาฎูอฺ

3. หะดีษที่มีใจความว่า

“อุปมาความประเสริฐของเดือนเราะญับกับเดือนอื่นๆ นั้นอุปมาความประเสริฐของอัลกุรอานที่มีเหนือบทซิกิรฺทั่วไป และอุปมาความประเสริฐของเดือนชะอฺบานกับเดือนอื่นๆ อุปมาความประเสริฐของนบีมุหัมหมัดที่มีเหนือบรรดานบีท่านอื่นๆ”  อิบนุ หะญัร ระบุใน ตับยีน อัลอุญุบ ว่าเป็นเมาฎูอฺ

4. หะดีษที่มีใจความว่า

“เมื่อค่ำคืนครึ่งเดือนชะอฺบานได้มาถึง พวกท่านจงลุกขึ้นในเวลากลางคืน (เพื่อทำอิบาบะฮฺ) และจงถือศีลอดในเวลากลางวัน“ (หะดีษเมาฎูอฺ รายโดยอิบนุ มาญะฮฺ 1388)

5. หะดีษที่มีใจความว่า

 “ผู้ใดที่อ่านสูเราะฮ กุลฮุวัลลอฮฺ (อัลอิคลาศ) หนึ่งพันครั้งในการละหมาด 100 ร็อกอัต ในค่ำคืนวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบานเขาจะไม่ตายไปนอกจากว่าอัลลอฮฺจะทรงยกให้มลาอิกะฮฺ 100 ตนมาแจ้งข่าวดีแก่เขา และอีก 30 มลาอิกะฮฺที่ทำให้เขาพ้นจากไฟนรก...” (หะดีษเมาฎูอฺ บันทึกโดยอิหม่ามอัสสุยูฏีย์ ใน อัลละอาลีย์ อัลมัศนูอะฮฺ ฟี อัลอะหาดีษ อัลเมาว์ฎูอะฮฺ เล่ม 2 หน้า 59 )

6. หะดีษที่มีใจความว่า

“ผู้ใดที่ละหมาดในค่ำคืนวันที่ 15 ของเดือนชะอฺบาน จำนวน 2 ร็อกอัต โดยอ่านซูเราะฮฺ กุลฮุวะลอฮฺ(อัลอิคลาศ) จำนวน 30 ครั้ง ในทุกๆ ร็อกอัต เขาจะไม่ออกไป(ตาย)นอกจากว่าจะได้เห็นที่พำนักของเขาในสวนสวรรค์” (หะดีษเมาฎูอฺ บันทึกโดยอิหม่ามอัสสุยูฏีย์ ใน อัลละอาลีย์ อัลมัศนูอะฮฺ ฟี อัลอะหาดีษ อัลเมาว์ฎูอะฮฺ เล่ม 2 หน้า 59)

บทสรุป

การเตรียมความพร้อมสู่เดือนเราะมะฎอนด้วยการถือศีลอดตั้งแต่เนิ่นๆในเดือนชะอฺบาน เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม ส่วนอิบาดะฮฺอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการถือศีลอด ไม่เป็นที่ควรส่งเสริม เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติที่เศาะฮีหฺจากท่านนบี (ซ.ล.) และเศาะหาบะฮฺ อีกทั้งยังอาจเป็นสิ่งที่อุตริขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง วัลลอฮุอะลัม

ขออัลลอฮฺทรงประทานความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ฉันและพี่น้องของฉันด้วยเถิด อามีน

ที่มา: saaid.net

แปล : นุมาน อิสมาอีล สะอะ / Islam House

อัพเดทล่าสุด