อิจฉาริษยา เนื้อหาที่จะกล่าวในเรื่องนี้
- ตัวอย่างของการอิจฉาริษยาที่ต้องห้าม
- ความแตกต่างระหว่าง “อิจฉาริษยา” และ “การแข่งขัน”
- อันตรายของอิจฉาริษยา
- โทษของการอิจฉาริษยา
- มีใครรอดจากโรคอิจฉาไหม ?
- ทำอย่างไรจึงจะหนีพ้นจากโรคอิจฉาริษยา
- ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าถูกอิจฉาริษยา
ศาสนาอิสลาม มิใช่เพียงศาสนาที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองแผ่นดิน เศรษฐกิจ หรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับวัตถุ หากเป็นศาสนาที่มีบทบาทสูงในการปรับปรุงขัดเกลาจิตใจของผู้ศรัทธา เพราะเป้าหมายของอัลอิสลามคือสร้างมนุษย์ที่มีคุณธรรมและสร้างอารยธรรมที่มีคุณธรรม จึงเรื่องวัตถุกับเรื่องจิตใจจะได้รับการดูแลและคำชี้แนะจากอัลอิสลามอย่างเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นจะสังเกตว่าบทบัญญัติของอัลอิสลามจะมีส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ ซึ่งทุกคนสามารถปฏิบัติและตรวจสอบได้ว่าสอดคล้องกับหลักการหรือไม่ และส่วนที่เกี่ยวกับจิตใจ ซึ่งอิสลามมองให้ทุกคนปฏิบัติและตรวจสอบด้วยตัวเอง อันเนื่องด้วยความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของทุกคนต่อตน ซึ่งจะถูกสอบสวนในเรื่องเล็กกับเรื่องใหญ่ เรื่องภายนอกและเรื่องภายใน แม้กระทั่งความรักความโกรธ ความรู้สึกที่มีอยู่ในจิตใจ
อิสลาม ต้องการให้มนุษย์ควบคุมตัวเองให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้อง จึงเป็นสถานะของผู้ศรัทธาที่มีคุณภาพทางร่างกายและจิตใจ เรื่องอิจฉาริษยาเป็นส่วนหนึ่งที่อัลอิสลามได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโทษของมันและวิธีป้องกัน หากมนุษย์ทุกคนสามารถปรับจิตใจของตัวเองให้ห่างไกลจากอิจฉาริษยาซึ่งเป็นมหันตภัยที่ใหญ่หลวง สังคมก็จะอยู่ด้วยความสงบสุขความสามัคคีและสมัครสมานซึ่งกันและกัน หากผู้คนในสังคมได้ปล่อยปละละเลยเรื่องอิจฉาริษยาโดยไม่มีการแก้ไข สังคมก็จะอยู่ในสภาพที่ปั่นป่วนระส่ำระสาย จึงมีความจำเป็นที่ต้องรณรงค์กันลดโรคอิจฉาริษยาให้หมดสิ้นหรือให้น้อยลง และต่อต้านโรคนี้ให้เป็นที่ตำหนิในความรู้สึกของทุกคนที่เป็นสมาชิกในสังคมเดียวกัน หนังสือเล่มนี้เป็นการพยายามแก้ไขปัญหาๆหนึ่งที่สร้างความปั่นป่วนในทุกครอบครัวทุกหมู่บ้านทุกชุมชนและทุกสังคม ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงประทานความช่วยเหลือให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคอิจฉาริษยาเถิด
ความหมายของอิจฉาริษยา
อิจฉาริษยา คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจต่อความโปรดปรานที่คนอื่นได้รับ โดยมีความปรารถนาให้ความโปรดปรานนั้นสูญหายไป ดังนั้นหากมีความรู้สึกอยากได้ความโปรดปราน แต่ไม่ปรารถนาที่จะให้ความโปรดปรานนั้นสูญหายจากผู้อื่นแล้วไซร้ ก็ไม่ถือว่าเป็นอิจฉาริษยา
ข้อเท็จจริงของอิจฉาริษยาคือ มีความโกรธแค้นในความรู้สึกของผู้อิจฉาริษยา ซึ่งไม่อยากให้ผู้อื่นประเสริฐกว่าตนเอง และนั่นคืออิจฉาริษยาที่อัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามไว้ และมีเอกฉันท์ของปวงนักปราชญ์อิสลามว่าเป็นสิ่งต้องห้าม
แต่สำหรับผู้ที่มีความปรารถนาอยากได้สิ่งดีๆที่ผู้อื่นมีอยู่นั้นไม่ถือว่าเป็นการอิจฉา ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า
قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَا حَسَدَ إِلَّا فِي اثْنَتَيْنِ رَجُلٌ آتَاهُ اللَّهُ مَالًا فَسُلِّطَ عَلَى هَلَكَتِهِ فِي الْحَقِّ وَآخَرُ آتَاهُ اللَّهُ حِكْمَةً فَهُوَ يَقْضِي بِهَا وَيُعَلِّمُهَا
ความว่า : “ไม่มีการอิจฉายกเว้นในสองกรณีคือ บุคคลที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่เขาซึ่งทรัพย์สมบัติ เขาก็นำไปใช้ในหนทางของสัจธรรม และบุคคลที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่เขาซึ่งความรู้และวิจารณญาน เขาก็นำไปปฏิบัติและสั่งสอน” (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม)
ในหะดีษบทนี้ท่านนบีได้กล่าวถึงการอิจฉาริษยาที่อาจเกิดขึ้นแต่ไม่เป็นข้อห้าม จึงเป็นการให้คำนิยามว่า อิจฉาริษยานั้นอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่ปรารถนาให้สิ่งดีๆสูญหายจากผู้อื่น หากมีความปรารถนาที่จะบรรลุสิ่งดีๆนั้น หรือมีความหวังและความปรารถนาดีต่อผู้อื่นด้วย เช่น ผู้ที่เห็นนักวิชาการคนหนึ่งมีความรู้และเกิดความรู้สึกอยากมีความรู้เช่นนักวิชาการคนนั้น หรือเห็นผู้อื่นมีทรัพย์สมบัติมากมายและนำไปใช้ในทางที่ดีก็เกิดความรู้สึกอยากมีทรัพย์สมบัติเช่นนั้นเพื่อนำไปใช้ในทางที่ดีเช่นเดียวกัน นั่นคือสภาพที่ท่านนบีเรียกว่าอิจฉา แต่ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นใครจะพูดว่า “ฉันอิจฉาคนนั้นคนโน้น” ถ้าไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ระบุข้างต้น คือไม่มีความปรารถนาให้ความโปรดปรานที่ผู้อื่นได้รับนั้นสูญหายไปแล้วไซร้ ก็จะเป็นการอิจฉาริษยาที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา
ตัวอย่างของการอิจฉาริษยาที่ต้องห้าม
อิบลีสอิจฉานบีอาดัม
ตั้งแต่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้ท่านนบีอาดัมเป็นคอลีฟะฮฺในโลกนี้ หมายถึงเป็นตัวแทนสืบทอดและปฏิบัติตามพระบัญชา อิบลีสจึงไม่พอใจ แสดงความโกรธแค้นและอิจฉาริษยาต่อท่านนบีอาดัม โดยกล่าวว่า
﴿ قَالَ أَنَاْ خَيْرٌ مِّنْهُ خَلَقْتَنِي مِن نَّارٍ وَخَلَقْتَهُ مِن طِينٍ ﴾
ความว่า : “ข้าพระองค์ดีกว่าเขา โดยที่พระองค์ทรงบังเกิดข้าพระองค์มาจากไฟ และบังเกิดเขามาจากดิน” (อัลอะอฺรอฟ 12)
ความโกรธแค้นของอิบลีสก่อให้เกิดความอิจฉาริษยาต่อท่านนบีอาดัม ซึ่งการอิจฉาของอิบลีสนั้นกลายเป็นความปรารถนาที่จะให้ท่านนบีอาดัมและลูกหลานของท่านหลงผิดไปจากหนทางของอัลลอฮฺ โดยมันกล่าวว่า
﴿ قَالَ رَبِّ بِمَا أَغْوَيْتَنِي لأُزَيِّنَنَّ لَهُمْ فِي الأَرْضِ وَلأُغْوِيَنَّهُمْ أَجْمَعِينَ ﴾
ความว่า : “โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ โดยที่พระองค์ทรงให้ข้าพระองค์หลงผิดไปแล้ว แน่นอนข้าพระองค์ก็จะทำให้เป็นที่เพริศแพร้วแก่พวกเขาในแผ่นดินนี้ และแน่นอนข้าพระองค์จะทำให้พวกเขาทั้งหมดหลงผิด” (อัลฮิจรฺ 39)
จากเหตุการณ์นี้กล่าวได้ว่าความผิดครั้งแรกที่เกิดต่อหน้าอัลลอฮฺคือการอิจฉาริษยา และสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นคือการที่ไม่ตระหนักในฮิกมะฮฺ(คือความรอบรู้และความเหมาะสม)ของอัลลอฮฺ จึงทำให้เกิดขึ้นซึ่งความไม่พอใจในกฎสภาวะที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ และนั่นคือสาเหตุเดียวที่ทำให้มนุษยชาติทั้งหลายมีการอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน เนื่องด้วยความอ่อนแอแห่งความศรัทธาและการเชื่อมั่นต่อพระกำหนดของอัลลอฮฺ
พี่น้องของนบียูซุฟอิจฉาท่านนบียูซุฟ
เป็นเหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงในประวัติของบรรดานบีและร่อซูล กล่าวคือการที่พี่น้องของท่านนบียูซุฟอิจฉาริษยาท่านในฐานะที่เป็นบุตรชายคนโปรดของบิดาของพวกเขา(คือท่านนบียะอฺกู๊บ) จึงเกิดความรู้สึกว่ายูซุฟไม่ควรเป็นบุตรชายคนโปรดเลยและเกิดความโกรธแค้นโดยแสดงออกเป็นถ้อยคำ ซึ่งพวกเขากล่าวว่า
﴿ إِذْ قَالُواْ لَيُوسُفُ وَأَخُوهُ أَحَبُّ إِلَى أَبِينَا مِنَّا وَنَحْنُ عُصْبَةٌ إِنَّ أَبَانَا لَفِي ضَلاَلٍ مُّبِينٍ . اقْتُلُواْ يُوسُفَ أَوِ اطْرَحُوهُ أَرْضاً يَخْلُ لَكُمْ وَجْهُ أَبِيكُمْ وَتَكُونُواْ مِن بَعْدِهِ قَوْماً صَالِحِينَ ﴾
ความว่า : “แน่นอน ยูซุฟและน้องของเขาเป็นที่รักแก่พ่อของเรายิ่งกว่าพวกเรา ทั้งๆที่พวกเรามีจำนวนมาก แท้จริงพ่อของเราอยู่ในการหลงผิดจริงๆ พวกท่านจงฆ่ายูซุฟเถิดหรือเอาไปทิ้งในที่เปลี่ยวเสีย เพื่อความเอาใจใส่ของพ่อของพวกท่านจะเกิดขึ้นแก่พวกท่าน และพวกท่านจะเป็นกลุ่มชนที่ดีหลังจากเขา” (ยูซุฟ 8-9)
เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ย่อมปรากฏในทุกสังคม หรืออาจเกิดในทุกครอบครัวก็ได้ เพราะสาเหตุของมันคือความอยุติธรรมในการดูแลของบิดามารดา และการอิจฉาระหว่างพี่น้องอาจเกิดจากความหวงแหนของคนหนึ่งในบรรดาพี่น้อง เพราะอยากได้รับความสนใจมากกว่าพี่น้องเขา
ยิวอิจฉาท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ชาวยิวมีความหวังว่านบีสุดท้ายในโลกนี้จะเกิดจากวงศ์วานอิสรออีล แต่เมื่อนบีท่านนั้นมาจากวงศ์วานอาหรับ(คือลูกหลานท่านนบีอิสมาอีล ) ยิวจึงไม่พอใจและปฏิเสธท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยสิ้นเชิง ซึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสถึงการอิจฉาของพวกยิวว่า
﴿ أَمْ يَحْسُدُونَ النَّاسَ عَلَى مَا آتَاهُمُ اللّهُ مِن فَضْلِهِ فَقَدْ آتَيْنَا آلَ إِبْرَاهِيمَ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَآتَيْنَاهُم مُّلْكاً عَظِيماً. فَمِنْهُم مَّنْ آمَنَ بِهِ وَمِنْهُم مَّن صَدَّ عَنْهُ وَكَفَى بِجَهَنَّمَ سَعِيراً ﴾
ความว่า : “หรือว่าพวกเขาอิจฉาคนอื่นในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้จากความกรุณาของพระองค์แก่คนอื่น แท้จริงนั้นพระองค์ได้ประทานให้แก่วงศ์วานของอิบรอฮีมมาแล้ว ซึ่งคัมภีร์และความรู้เกี่ยวกับศาสนา และได้ทรงให้แก่พวกเขาซึ่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ แล้วในหมู่พวกเขา(วงศ์วานของอิบรอฮีม)มีผู้ศรัทธาต่อเขา และในหมู่พวกเขามีผู้ที่ขัดขวางเขา และเพียงพอแล้วที่ญะฮันนัมเป็นเปลวเพลิงอันโชติช่วง” (อันนิซาอฺ 54-55)
ในพระดำรัสข้างต้นอัลลอฮฺทรงประณามการปฏิเสธของชาวยิวด้วยสองเหตุผล เหตุผลแรกคือการที่อัลลอฮฺทรงให้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นศาสนทูตนั้นเป็นพระประสงค์และพระกรุณาของอัลลอฮฺ จึงไม่มีใครมีสิทธิที่จะคัดค้านพระประสงค์ของพระองค์โดยเด็ดขาด ฉะนั้นผู้ที่จะอิจฉาท่านนบีมุฮัมมัด ก็ประหนึ่งเป็นผู้คัดค้านพระประสงค์ของอัลลอฮฺอย่างชัดเจน เหตุผลที่สองคือ ชาวยิวได้รับพระกรุณาจากอัลลอฮฺ โดยให้มีบรรดานบีและร่อซูลหลายท่านถูกส่งมายังพวกยิวอย่างต่อเนื่อง และตามประวัติของชาวยิวเป็นที่ประจักษ์ว่าบรรดานบีและร่อซูลของพวกเขาส่วนมากถูกปฏิเสธ อัลลอฮฺจึงได้ทรงประณามชาวยิวที่อิจฉาวงศ์วานของท่านนบีอิสมาอีลที่มีร่อซูลท่านนี้ท่านเดียว ทั้งๆที่พวกเขาได้มีบรรดานบีและร่อซูลอย่างมากมายมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมศรัทธาต่อนบีท่านนี้ เพราะการอิจฉาริษยามาเป็นกำแพงขัดขวางมิให้จิตใจของพวกเขาบริสุทธิ์และน้อมรับต่อพระประสงค์ของอัลลอฮฺ และนั่นคือบทเรียนอันใหญ่หลวงสำหรับมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัยทุกสถานที่ ว่าสัจธรรมย่อมมีเอกเทศในความเป็นสัจธรรม ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ สายตระกูล สัญชาติ หรืออื่นใด นอกจากว่าเป็นสัจธรรมที่มาจากอัลลอฮฺ เพราะฉะนั้นคนทุกคนมีหน้าที่ตรวจสอบจิตใจของตัวเอง ว่าความถูกต้องที่ปรากฏต่อหน้าเราเคยถูกปฏิเสธโดยไร้เหตุผล หรือด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับความเป็นสัจธรรมหรือไม่
การอิจฉาของเครือญาติท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ในเผ่ากุเรชมีสายตระกูลสองสายคือ บนูฮาชิมและบนูอับดิชัมสฺ สองตระกูลนี้แข่งขันแย่งอำนาจบารมีในเมืองมักกะฮฺมาตั้งแต่โบราณ บนูฮาชิมเป็นสายตระกูลของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งมีผลงานในการอุปการะและบูรณะดูแลบัยตุลลอฮฺ ซึ่งบนูอับดิชัมสฺก็พยายามที่จะมีอุปการคุณกับบัยตุลลอฮฺเช่นเดียวกัน ซึ่งสองสายตระกูลนี้มีความขัดแย้งกันมาโดยตลอดเนื่องด้วยการอิจฉาริษยา พอท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เริ่มเทศนาและประกาศอิสลาม หัวหน้าตระกูลบนีอับดิชัมสฺได้กล่าวว่า “เราได้แข่งขันกับตระกูลบนูฮาชิมมาโดยตลอดจนถึงขั้นที่บนูฮาชิมจะอ้างว่าพวกเขามีนบี เราไม่สามารถนำนบีจากพวกเรามาแข่งขันกันได้ เพราะฉะนั้นเราจะยอมรับในนบีของพวกเขาไม่ได้เป็นอันขาด”
คำพูดนี้แสดงถึงความโกรธแค้นและการอิจฉาริษยาอย่างประจักษ์แจ้ง เพราะไม่เพียงอยากได้นบีจากพวกตนเองแล้ว ยังปฏิเสธท่านนบีมุฮัมมัดเพียงเพื่อมิให้ตระกูลบนูฮาชิมเหนือกว่าตระกูลบนีอับดิชัมสฺ เหตุการณ์คล้ายๆกันนี้เกิดขึ้นในทุกสังคม โดยเฉพาะที่มีตระกูลดังๆแต่ด้อยโอกาสในด้านการศึกษา จึงทำให้ตระกูลดังๆนี้ไม่ยอมรับในผู้รู้ที่อาจเป็นคนยากจนหรือไม่มีตระกูลที่มีชื่อเสียง จนกระทั่งได้ปฏิเสธความจริงและความถูกต้อง ดังที่เห็นในบางที่บางชุมชนผู้รู้ไม่สามารถเป็นอิมามหรือคอเฏบ เพราะไม่ได้อยู่ในตระกูลที่มีชื่อเสียง แต่คนไร้ความรู้สามารถกลับเป็นอิมามหรือคอเฏบโดยตำแหน่งทั้งๆที่ขาดคุณสมบัติและไม่ปฏิบัติหน้าที่ มิใช่อื่นใดนอกจากว่าเป็นคนที่มีฐานะและบารมีเนื่องด้วยตระกูลของตน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้สังคมมุสลิมล่าช้าในการพัฒนาสถาบันและองค์กรต่างๆ เพราะโรคอิจฉาริษยาที่ทำให้ผู้คนไม่ยอมรับในความสามารถของคนอื่น สังคมจึงไม่ได้รับโอกาสพัฒนาจากผู้มีความสามารถ ซึ่งอัลอิสลามต่อต้านพฤติกรรมเหล่านี้ ทั้งยังใช้ให้ผู้ศรัทธายอมรับและเชื่อฟังผู้มีความสามารถ ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า
﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُونُواْ قَوَّامِينَ بِالْقِسْطِ شُهَدَاء لِلّهِ وَلَوْ عَلَى أَنفُسِكُمْ أَوِ الْوَالِدَيْنِ وَالأَقْرَبِينَ إِن يَكُنْ غَنِيّاً أَوْ فَقَيراً فَاللّهُ أَوْلَى بِهِمَا فَلاَ تَتَّبِعُواْ الْهَوَى أَن تَعْدِلُواْ وَإِن تَلْوُواْ أَوْ تُعْرِضُواْ فَإِنَّ اللّهَ كَانَ بِمَا تَعْمَلُونَ خَبِيراً ﴾
ความว่า : “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้เพื่อความยุติธรรม จงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ และแม้ว่าจะเป็นอันตรายแก่ตัวของพวกเจ้าเองหรือผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม หากเขาจะเป็นคนมั่งมีหรือคนยากจน อัลลอฮฺก็สมควรยิ่งกว่าเขาทั้งสอง(ควรที่จะเคารพเชื่อฟังและยำเกรง) ดังนั้นจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำในการที่พวกเจ้าจะมีความยุติธรรม และหากพวกเจ้าบิดเบือนหรือผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน” (อันนิสาอฺ 135)
ผู้อิจฉาริษยาได้ตกเป็นทาสต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำของเขา เพราะถึงไม่ว่าความถูกต้องความยุติธรรมจะอยู่ที่ไหน อารมณ์ที่เต็มไปด้วยความริษยาก็จะกีดกันมิให้ดวงใจปรารถนาสิ่งที่ถูกต้องหรือความยุติธรรม เพราะหัวใจของผู้อิจฉานั้นมักจะเป็นหัวใจบอด
โทษของการอิจฉาริษยา
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามประชาชาติอิสลามมิให้มีการอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน จึงถือเป็นข้อห้ามที่ต้องมีโทษทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ซึ่งท่านนบีกล่าวไว้ว่า
عَنْ أَنَسِ بْنِ مَالِكٍ أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ لَا تَبَاغَضُوا وَلَا تَحَاسَدُوا وَلَا تَدَابَرُوا وَكُونُوا عِبَادَ اللَّهِ إِخْوَانًاوَلَا يَحِلُّ لِمُسْلِمٍ أَنْ يَهْجُرَ أَخَاهُ فَوْقَ ثَلَاثِ لَيَالٍ
ความว่า : “พวกเจ้าอย่าโกรธกันและกัน อย่าอิจฉากันและกัน และอย่าหันหลังให้กันและกัน และจงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺโดยเป็นพี่น้องซึ่งกันและกัน และไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับมุสลิมที่จะโกรธพี่น้องเขามากกว่าสามคืน” (บันทึกโดยอิมามมาลิกและอิมามบุคอรียฺ(บันทึกโดยอบูดาวู้ดรายงานโดย ท่านอนัส อิบนุมาลิก)
และในการบันทึกของท่านอิมามติรมีซียฺ รายงานโดยท่านสุเบร อิบนุลเอาวาม กล่าวว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
عَنِ الزُّبَيْرِ بْنِ العَوَّامِ أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : دَبَّ إِلَيْكُمْ دَاءُ الْأُمَمِ قَبْلَكُمْ الْحَسَدُ وَالْبَغْضَاءُ هِيَ الْحَالِقَةُ لَا أَقُولُ تَحْلِقُ الشَّعَرَ وَلَكِنْ تَحْلِقُ الدِّينَ وَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ لَا تَدْخُلُوا الْجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوا وَلَا تُؤْمِنُوا حَتَّى تَحَابُّوا أَفَلَا أُنَبِّئُكُمْ بِمَا يُثَبِّتُ ذَاكُمْ لَكُمْ أَفْشُوا السَّلَامَ بَيْنَكُمْ
ความว่า : “โรคของประชาชาติยุคก่อนได้มายังพวกเจ้าแล้ว คืออิจฉาและโกรธ นั่นคือการโกน(ทำลายลบล้าง) ข้าพเจ้าไม่หมายถึงโกนผมแต่โกนศาสนา ขอสาบานด้วยพระผู้ที่วิญญาณของข้าพเจ้าอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า พวกเจ้าจะไม่เข้าสวรรค์จนกว่าจะศรัทธา และพวกเจ้าจะไม่ศรัทธาจนกว่าจะรักกันและกัน พวกเจ้าอยากรู้ไหมว่าพวกเจ้าจะบรรลุสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร จงแพร่ซึ่งการสลามระหว่างพวกเจ้า”
วจนะของท่านนบีข้างต้นได้กล่าวถึงโทษและอันตรายของการอิจฉาริษยา ว่ามันมีผลในการทำลายลบล้างคุณธรรม ศีลธรรม และกุศลธรรม และนั่นคือองค์ประกอบของศาสนาที่เราประพฤติดีเพื่อแสวงความพอพระทัยของอัลลอฮฺ จึงไม่เป็นเรื่องประหลาดที่ท่านนบี ได้กล่าวไว้ในหะดีษอีกบทหนึ่งว่า
عن أبي هريرة رضي الله عنه أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ إِيَّاكُمْ وَالْحَسَدَ فَإِنَّ الْحَسَدَ يَأْكُلُ الْحَسَنَاتِ كَمَا تَأْكُلُ النَّارُ الْحَطَبَ أَوْ قَالَ الْعُشْبَ
ความว่า : “พวกเจ้าจงระวังอิจฉาริษยา แท้จริงการอิจฉาริษยาจะทำลายผลบุญ เปรียบเสมือนไฟที่มันทำลายฟืนและหญ้า” (บันทึกโดยอบูดาวู้ด, รายงานโดยท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ)
หมายรวมว่าการอิจฉาริษยานั้นจะทำให้ผู้ศรัทธาขาดทุนซึ่งผลบุญที่สะสมไว้จะสูญหายด้วยความร้ายแรงร้อนระอุของการอิจฉาริษยา เพราะท่านนบีได้เปรียบเทียบอิจฉาริษยาประหนึ่งเป็นไฟลุกที่สามารถทำลายสิ่งต่างๆได้ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะอิจฉาริษยาย่อมเกิดขึ้นจากความโกรธแค้น ซึ่งผู้โกรธนั้นมักจะมีความรู้สึกร้อนตัวและเดือดร้อนต่อผู้ที่ถูกโกรธแค้น จึงสามารถเรียกอิจฉาริษยาว่าเป็นโรคเอดส์แห่งอีมานได้ เพราะโรคเอดส์นั้นเป็นโรคที่ทำลายระบบป้องกันเชื้อโรคในร่างกายของมนุษย์ เนื่องจากไวรัสเอดส์นั้นจะทำลายภูมิคุ้มกันที่อัลลอฮฺทรงสร้างไว้ในร่างกายของมนุษย์ทุกๆคน ตราบใดที่ไวรัสเอดส์เข้ามาอยู่ในร่างกายมนุษย์ ก็เป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงต่อชีวิตของมนุษย์ เพราะจะไม่สามารถต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ อันก่อให้ร่างกายของมนุษย์อ่อนเพลียและหมดสมรรถภาพในการดำเนินชีวิตอย่างปกติ
โรคอิจฉาริษยาก็เช่นเดียวกัน เป็นไวรัสที่จะเกาะติดอยู่กับจิตใจของผู้มีความโกรธแค้นต่อคนอื่น และผู้ที่ไม่ตระหนักและไม่เชื่อในเดชานุภาพของอัลลอฮฺและความยุติธรรมของพระองค์ และจะทำลายคุณธรรมและผลบุญที่มีอยู่กับผู้ศรัทธา ซึ่งโรคอิจฉานั้นจะทำให้อีมานทรุดลง และหมดสมรรถภาพทางความบริสุทธิ์ใจ เพราะจิตใจเต็มไปด้วยความโกรธความริษยา ดังนั้นโรคแห่งจิตใจทุกชนิดสามารถเข้ามาอาศัยอยู่ในจิตใจได้ เพราะคุณธรรมที่เคยมีอยู่ในจิตใจนั้นสูญหายไปด้วยการขยายตัวของโรคอิจฉาริษยา และนี่คือภาพอุปมาที่จะให้เห็นถึงมหันตภัยของโรคอิจฉาริษยาซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโรคเอดส์
บรรดาบรรพชนยุคแรกได้ถือโรคอิจฉานั้นเป็นโรคที่สามารถนำความหายนะมาสู่ประชาชนทั้งปวง ท่านอิมามอบูดาวู้ดได้บันทึกไว้ในหนังสืออัสสุนัน จากท่านอบีอุมามะฮฺกล่าวว่า ฉันได้เดินทางกับ อนัส อิบนิมาลิก และได้ผ่านหมู่บ้านกลุ่มชนที่สูญพันธุ์ไป ซึ่งในหมู่บ้านนั้นไม่มีเครื่องหมายบ่งชี้ว่ามีใครอยู่เลย ฉันได้ถาม อนัส อิบนิมาลิก ว่า “ท่านรู้จักหมู่บ้านนี้ไหม ?” ท่านอนัส อิบนุมาลิก กล่าวว่า
مَا أَعْرَفَنِي بِهَا وَبِأَهْلِهَا هَذِهِ دِيَارُ قَوْمٍ أَهْلَكَهُمْ الْبَغْيُ وَالْحَسَدُ إِنَّ الْحَسَدَ يُطْفِئُ نُورَ الْحَسَنَاتِ وَالْبَغْيُ يُصَدِّقُ ذَلِكَ أَوْ يُكَذِّبُهُ وَالْعَيْنُ تَزْنِي وَالْكَفُّ وَالْقَدَمُ وَالْجَسَدُ وَاللِّسَانُ وَالْفَرْجُ يُصَدِّقُ ذَلِكَ أَوْ يُكَذِّبُهُ
“รู้สิ ทั้งหมู่บ้านและหมู่ชนที่เคยอยู่ในหมู่บ้าน นี่เป็นหมู่บ้านที่ประสบความหายนะเนื่องจากความอธรรมและอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน แท้จริงอิจฉาริษยานั้นย่อมดับรัศมีแห่งคุณธรรม และความอยุติธรรมจะเป็นผลปรากฏยืนยัน(ในเรื่องอิจฉา) เปรียบเสมือนตาจะกระทำซินา(มองดู) และมือ เท้า สรีระ ลิ้น อวัยวะเพศ จะเป็นผลปรากฏยืนยัน(ในเรื่องซินา)ตามนั้น”
ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิมได้อรรถาธิบายหะดีษที่ท่านนบีกล่าวถึงการทำลายและโทษของอิจฉาริษยาที่ระบุข้างต้น ท่านกล่าวว่า ผู้อิจฉาริษยาเมื่อคัดค้านความโปรดปรานของอัลลอฮฺต่อบ่าวของพระองค์ การอิจฉาและคัดค้านนั้นจะทำให้ผลบุญของเขาเสียหายไป ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิมกำลังบอกว่า โทษร้ายแรงของอิจฉาริษยามันมิใช่ความผิดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น แต่มันเป็นการละเมิดพระประสงค์ของอัลลอฮฺด้วยการคัดค้านความโปรดปรานที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้สำหรับคนหนึ่งคนใด ซึ่งการคัดค้านนี้ถือเป็นความผิดมหันต์ เพราะเสมือนเป็นการต่อต้านอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือต่อต้านสิทธิของพระองค์ในการบริหารและจัดการกิจการของโลกนี้ คนเหล่านี้ย่อมมีโทษอันร้ายแรงทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ
มีใครรอดจากโรคอิจฉาไหม ?
แท้จริงโรคอิจฉาริษยามักจะเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ทุกๆคน เพราะเป็นความรู้สึกที่ย่อมเกิดขึ้นเนื่องด้วยความสัมพันธ์และกิจกรรมระหว่างมนุษย์ทั้งหลาย ความขัดแย้ง ความโกรธ และความเห็นที่แตกต่างกัน มักจะเกิดขึ้นโดยปริยาย เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้อื่นปะปนไปด้วยความโกรธความแค้น ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องประสบอยู่แล้ว ดังที่มีรายงานถูกบันทึกในหนังสืออัลมุศ็อนนัฟ ของอับดุรร็อซซาก ท่านนบี กล่าวว่า
أَخْرَجَ عَبْد الرَّزَّاق عَنْ مَعْمَر عَنْ إِسْمَاعِيل بْن أُمَيَّة رَفَعَهُ ( ثَلَاث لَا يَسْلَم مِنْهَا أَحَد : الطِّيَرَة وَالظَّنّ وَالْحَسَد . قِيلَ : فَمَا الْمَخْرَج مِنْهَا يَا رَسُول اللَّه ؟ قَالَا : إِذَا تَطَيَّرْت فَلَا تَرْجِع , وَإِذَا ظَنَنْت فَلَا تُحَقِّق , وَإِذَا حَسَدْت فَلَا تَبْغ )
ความว่า : “สามประการไม่มีใครปลอดภัยจากมัน การเชื่อในโชคร้าย ความสงสัย(ต่อผู้อื่น) และการอิจฉาริษยา” ท่านนบีถูกถามว่า “และทางรอดจากมันคืออะไร ?” ท่านกล่าวว่า “ถ้าท่านหลงเชื่อกับโชคร้ายก็อย่าปฏิบัติตามนั้น และเมื่อท่านสงสัยต่อผู้อื่นก็อย่าเชื่อในข้อสงสัยนั้น และเมื่อท่านริษยาท่านอย่าละเมิดผู้อื่น” (ท่านอิมามอิบนุฮาญัรได้ระบุหะดีษนี้ในหนังสือฟัตฮุ้ลบารี และไม่วิจารณ์สายสืบแต่อย่างใด)
وَعَنْ الْحَسَن الْبَصْرِيّ قَالَ : مَا مِنْ آدَمِيّ إِلَّا وَفِيهِ الْحَسَد . فَمَنْ لَمْ يُجَاوِز ذَلِكَ إِلَى الْبَغْي وَالظُّلْم لَمْ يَتْبَعهُ مِنْهُ شَيْء .
ท่านอัลหะซัน อัลบัศรียฺ ได้ยืนยันในพจนารถข้างต้นด้วยคำกล่าวว่า ไม่มีมนุษย์คนหนึ่งคนใดเว้นแต่ต้องมีการอิจฉาริษยา หากใครไม่(นำอิจฉาริษยา)ไปสู่ความอธรรมและละเมิด(ผู้อื่น) (อิจฉาริษยา)จะไม่ติดตามมาด้วย
นั่นหมายรวมว่าจากตัวบทข้างต้นสรุปได้ว่า เรื่องอิจฉาริษยาอาจเกิดขึ้นกับความรู้สึกโดยธรรมชาติ เหมือนความโมโห ความเสียใจ ความเศร้าโศก และความรู้สึกอื่นๆ แต่มุสลิมมีหน้าที่ระงับยับยั้งความรู้สึกเหล่านั้นหากก่อให้มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้นถ้าอิจฉาริษยาละเมิดไปสู่ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นนั้นได้เสียหายและประสบความหายนะ ก็เป็นความผิดที่ต้องพยายามลบล้างและหลีกเลี่ยงโดยทันที มันเป็นมหันตภัยใกล้ตัวเหลือเกิน และเป็นภารกิจที่มุสลิมต้องทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอคือการขจัดโรคอิจฉาริษยาจากจิตใจ
ทำอย่างไรจึงจะหนีพ้นจากโรคอิจฉาริษยา
ก่อนอื่นเราต้องตระหนักว่าไม่มีมนุษย์ที่เกิดด้วยความโกรธแค้นต่อคนอื่น และโรคอิจฉาริษยานั้นย่อมเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง หมายถึงมิใช่ลักษณะบังคับทางธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้างไว้ เช่น การเกิดมาเป็นเพศหญิงหรือชาย ผิวขาวหรือดำ หากเป็นความรู้สึกที่จะถูกขยายตัวในจิตใจของมนุษย์โดยมีองค์ประกอบหลายประการ แต่ปัจจัยหลักที่จะทำให้อิจฉาริษยาเกิดขึ้นคือ 2 ประการ ประการแรกเกี่ยวกับความศรัทธาต่อพระกำหนดของอัลลอฮฺ เพราะผู้อิจฉาริษยาไม่ยอมหรือไม่พอใจที่ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความโปรดปรานอย่างหนึ่งอย่างใด ประการที่สอง เกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ที่หลงกับดุนยา ปรารถนาในเรื่องวัตถุ มีความหวังสูงต่อความมั่งคั่งร่ำรวย โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายอื่นๆในทางศีลธรรมและศาสนา จึงมิสามารถสัมผัสกับรสชาติแห่งสมถะ อันก่อให้ผู้อิจฉามีความหวงแหน ความอยาก และกิเลส ซึ่งนั่นคือปัจจัยร้ายแรงที่ทำให้โรคอิจฉานั้นเกิดขึ้นและระบาดไปทุกมุมทุกด้านในชีวิตของมนุษย์ ผู้ที่มีการอิจฉาริษยาก็จะมองถึงสิ่งดีหรือมองคนดีในแง่ลบเสมอ จนกระทั่งอาจไม่อยากให้ความดีเกิดขึ้นในโลกนี้เลย เนื่องจากความแค้นที่มันเติบโตและขยายตัวจนกระทั่งไม่เพียงพอที่จะแค้นตัวบุคคลที่มีความดี หนำซ้ำยังแค้นความดีมีคุณธรรมไปเสียด้วย เราก็เห็นในสังคม คนที่อิจฉาผู้อื่นเนื่องจากอัลลอฮฺทรงให้ฮิดายะฮฺแก่เขาให้เป็นคนดี ละหมาดและปฏิบัติตนเรียบร้อยตามหลักศาสนา แต่ผู้อิจฉาที่ไม่พอใจให้คนอื่นดีเลิศกว่าเขา เกิดความแค้นจนกระทั่งทิ้งละหมาด ละความดีไปเสียด้วย
หากผู้อิจฉาริษยาต้องการหนีให้พ้นจากมหันตภัยนี้ ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. ต้องเชื่อและตระหนักว่าโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ อันมีความยุติธรรมที่บริบูรณ์ และมีความเหมาะสมตามที่พระองค์ทรงรู้ยิ่งมากกว่ามนุษย์ หากมีใครเหนือกว่าใคร ก็ย่อมมีความเหมาะสมที่อัลลอฮฺทรงรู้แต่มนุษย์ไม่รู้ หากมีใครต่ำกว่าใคร ก็ย่อมเป็นความสวยงามที่มีเหตุผล แต่มนุษย์หารู้ไม่ กฎสภาวะที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้นั้น(อัลกอฎออฺวัลกอดัร)เป็นอะกีดะฮฺ คือหลักศรัทธาที่เราต้องตระหนักอย่างแน่วแน่และมั่นคง คนที่มีความตระหนักตามข้อแนะนำดังกล่าว จะลิ้มรสชาติแห่งความสบายใจ และจะปรากฏซึ่งความสุขสบายในจิตใจของตน เพราะอีมานต่อกอฎออฺและกอดัรจะยับยั้งความรู้สึกหรือความแค้น หรือการริษยาทุกประเภทที่อาจเกิดขึ้น และจะถูกขจัดด้วยความบริสุทธิ์แห่งอีมาน และจะถูกชำระล้างด้วยด้วยความเชื่อที่หนักแน่นต่อพระผู้ทรงยุติธรรมทรงปรีชาญาณ
2. จำเป็นต้องเข้าใจว่าความโปรดปรานทางวัตถุ มิอาจเป็นความดีเสมอ เช่น คนมีมั่งมีอาจไม่ใช่คนที่มีความสุขเสมอไป ฉะนั้นการอิจฉาคนรวยอาจเป็นการอิจฉาในสิ่งที่เป็นความทุกข์สำหรับเขา จึงเห็นประหนึ่งว่าผู้อิจฉานั้นกำลังอิจฉาในสิ่งที่เสียหายขาดทุน มนุษย์ทุกคนต้องแสวงหาความดีความโปรดปรานด้วยการขวนขวายของตัวเอง และด้วยการวิงวอนเรียกร้องจากอัลลอฮฺ มิใช่อิจฉาริษยาที่จะเป็นหนทางนำมาซึ่งความโปรดปรานนั้นๆ
3. มุสลิมทุกคนต้องเชื่อว่าอิจฉาริษยานั้นมีผลร้ายแรงต่ออีมานและผลบุญ ซึ่งอาจก่อให้ผู้อิจฉาริษยากระทำสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ในภาคปกติ(โดยไม่มีอิจฉา) แต่เมื่ออิจฉาแล้วความแค้นที่แฝงอยู่ในความอิจฉาจะกระตุ้นให้กระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงอาจปฏิเสธศรัทธาก็ได้ ดังที่ปรากฏในกรณีของอิบลีส เพราะฉะนั้นผู้ใดที่หวงแหนและต้องการรักษาอีมานกับผลบุญ จำเป็นต้องตรวจสอบและสอบสวนตัวเองให้สภาพจิตใจนั้นปราศจากอิจฉาริษยาทุกเวลา
4. ให้ขจัดความแค้นต่อผู้อื่นออกไปจากจิตใจ หมายถึงปรับความรู้สึกให้เกิดความรักต่อเขา และถ้าไม่สามารถให้เกิดความรักก็พยายามอย่าให้มีความโกรธ
5. ให้ทำความดีกับผู้ที่มีความอิจฉาเกิดขึ้นกับเขา เช่น ไม่อธรรมเขา วิงวอนให้เขาได้รับทางนำและความโปรดปราน และไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะก่อความเสียหายแก่ผู้ถูกอิจฉา
6.ให้มีความสมถะและความรู้สึกพอเพียงกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานมายังเรา
7. ใช้สติปัญญาในการวิคราะห์เหตุผลของความรู้สึกและพฤติกรรม โดยให้สติปัญญามีอิทธิพลเหนือนัฟซูอารมณ์ใฝ่ต่ำ เพราะนัฟซูอารมณ์ใฝ่ต่ำมักจะกระตุ้นมนุษย์ให้ปรารถนาความชั่ว ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
﴿ إِنَّ النَّفْسَ لأَمَّارَةٌ بِالسُّوْءِ ﴾ ความว่า : “แท้จริงจิตใจนั้นถูกครอบงำด้วยความชั่ว” (ยูซุฟ 53)
8. ให้จดจำว่าความอิจฉาริษยาเป็นโรคร้ายแรงของชัยฏอนมารร้าย และผู้อิจฉาริษยาก็จะมีผู้นำของเขาคืออิบลีสนั่นเอง
9. ให้ทำความดีมากๆ เพราะความดีนั้นย่อมมีผลชำระความชั่ว โดยเฉพาะการอ่านอัลกุรอาน การซิกรุลลอฮฺ การรำลึกถึงวันแห่งการตอบแทน และการทำความดีกับผู้อื่น
10. การแพร่สลามซึ่งกันและกัน ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า
أَلا أَدُلُّكُمْ عَلَى شَيْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوْهُ تَحَابَبْتُمْ أَفْشُوْا السَّلامَ بَيْنَكُمْ ความว่า : “พวกเจ้าอยากรู้ไหมว่าพวกเจ้าจะบรรลุสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร จงแพร่ซึ่งการสลามระหว่างพวกเจ้า”
11. ให้ผู้อิจฉาอาบน้ำ ดังที่มีการบันทึกของอิมามอะหมัดและนะซาอียฺ จากอบีอุมามะฮฺ จากท่านซะฮฺลุบนุฮะนีฟ กล่าวว่า ซะฮฺลุบนุฮะนีฟได้เคยอาบน้ำขณะที่เดินทางกับท่านนบีมุฮัมมัด ครั้งหนึ่ง และอามิร อิบนุรอบีอะฮฺ ได้เห็นผิวของซะฮฺลุบนุฮะนีฟ จึงเกิดความพิศวงด้วยความสดใสสวยงามของผิวของซะฮฺลุบนุฮะนีฟ และอามิรได้กล่าวว่า ฉันไม่เคยเห็นผิว(ที่ขาวสะอาด)เหมือนเช่นนี้เลย ซะฮฺลุบนุฮะนีฟจึงชักและล้มลงทันที ศอฮาบะฮฺไปหาท่านนบีมุฮัมมัด และเล่าเรื่องนี้
ท่านนบีจึงถามว่า “พวกท่านสงสัยใครไหม(หมายถึงผู้อิจฉา)” พวกเขากล่าวว่า “พวกเราสงสัย อามิร อิบนุร่อบีอะฮฺ” ท่านนบีจึงเรียกอามิรและกล่าวด้วยความโมโห “ทำไมคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจึงฆ่าพี่น้องเขา ถ้าท่านได้เห็นอะไรที่น่าพิศวง ก็จงวิงวอนให้จำเริญ” หมายถึงกล่าว ตะบารอกัลลอฮฺ ภายหลังนั้นท่านนบีได้บอกกับ อามิร อิบนุรอบีอะฮฺ “จงชำระให้เขา” อามิรล้างใบหน้า ฝ่ามือทั้งสอง ศอกทั้งสอง หัวเข่าทั้งสองข้าง และปลายเท้าทั้งสองข้าง และปลายเสื้อนุ่งห่มด้านใน และนำ(น้ำที่ใช้ชำระใส่)ในภาชนะ และเอาน้ำนั้นไปเทด้านหลังผู้ที่อิจฉาริษยา(ให้น้ำตก)บนศีรษะและหลังของเขา และเอาภาชนะไปคว่ำ ก็ได้ปฏิบัติตามนั้น ซะฮฺลุบนุฮะนีฟจึงหายจากอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่มีอันตราย(เลย)
ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิมได้กล่าวว่า พึงทราบว่ายารักษาพิษของงูอยู่ในเนื้อของงูนั่นเอง และยารักษาอาการโกรธแค้นของจิตใจก็ด้วยการระงับความโกรธแค้นและดับไฟของมันด้วยการวางมือและลูบเพื่อให้ความโกรธนั้นสงบลง เปรียบเสมือนชายคนหนึ่งได้จุดไฟแล้วเอามาขว้างท่าน ท่านก็เอาน้ำมารดไฟจึงดับไป และนั่นคือคำสั่งของท่านนบีเมื่อเห็นสิ่งที่น่าภูมิใจและพิศวง ให้วิงวอนให้สิ่งเหล่านั้นมีความจำเริญ เพื่อระงับอาการอันชั่วร้าย(แห่งอิจฉาริษยา)ด้วยการวิงวอน ซึ่งเป็นการทำความดี แน่นอนยารักษาโรคหนึ่งโรคใดก็ตรงข้ามกับโรคนั้น และเมื่อความชั่วร้ายแห่งอิจฉาริษยามันร้อนระอุในร่างกาย จึงหาทางพ้นจากสรีระ ก็อาจได้ออกทางปลายเท้าปลายมือ และเมื่ออวัยวะนั้นถูกล้างด้วยน้ำ มันก็จะระงับและลบล้างผลงานของมัน และส่วนอวัยวะที่ถูกล้างนั้นได้รับอิทธิพลจากพวกชัยฏอนมารร้าย คือมือและเท้า และการที่จะล้างมันด้วยน้ำ จะดับความร้อนระอุของมัน พิษ(แห่งอิจฉา)ก็จะสิ้นสุดไป ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิมได้กล่าวว่า วิธีนี้บรรดาแพทย์คาดไม่ถึง และผู้ปฏิเสธจะไม่ได้รับประโยชน์จากมัน และผู้เยาะเย้ยหรือสงสัยหรือทดลองก็จะไม่ได้ผลจากยาชนิดนี้ เพราะเป็นแพทย์สูตรท่านนบีมุฮัมมัด อันเป็นความรู้ที่ได้รับจากวะฮียฺ
แต่เป็นสิ่งที่ต้องกล่าว ณ ที่นี้ ว่าการชำระส่วนอวัยวะของผู้อิจฉาและผู้ถูกอิจฉานั้น ถ้าสามารถชี้ได้อย่างแน่ชัดว่าผู้อิจฉานั้นคือใคร และถ้าผู้อิจฉายอมรับว่าตนเองได้อิจฉา เมื่อถูกเรียกร้องให้ชำระส่วนปลายอวัยวะนั้น ก็จำเป็นต้องสนองตอบรับ แต่ถ้าหากไม่สามารถรู้ตัวคนอิจฉาได้อย่างแน่นอน การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่สัมฤทธิ์ผล และไม่มีสิทธิเรียกร้องผู้ที่สงสัยให้กระทำสิ่งเหล่านี้
ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าถูกอิจฉาริษยา
1. ให้กลับเนื้อกลับตัวและสำนึกว่าการที่ถูกอิจฉาอาจเกิดขึ้นจากความผิดประการใด ซึ่งอาจเป็นการทดสอบจากอัลลอฮฺก็ได้
2. การมอบหมายต่ออัลลอฮฺ(ตะวักกุล) และให้กล่าว حَسْبُنَا اللهُ وَنِعْمَ الوَكِيْلُ (ฮัสบุนัลลอฮุวะเนียะมัลวะกีล) หมายความว่า อัลลอฮฺทรงเพียงพอสำหรับพวกเรา และทรงดียิ่งในฐานะเป็นผู้ช่วยเหลือ
3. ให้ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ อ่านกุรอานและกล่าวซิกรุลลอฮฺให้มาก
4. วิงวอนต่ออัลลอฮฺให้ป้องกันและช่วยเหลือให้พ้นจากอันตรายของศัตรูและผู้อิจฉาริษยา
5. ให้ปฏิบัติซึ่งความยุติธรรมกับผู้อิจฉา และอย่าตอบแทนในสิ่งที่เป็นความผิด
6. พยายามปกปิดความโปรดปรานจากผู้อิจฉาไม่ให้รู้ เพื่อลดความอิจฉาและระงับความแค้น
7. อัลรุกยะ หมายถึง การอ่านดุอาอฺหรือบทป้องกันที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนไว้ เพื่อเป็นการหลีกพ้นจากอันตรายของผู้อิจฉาริษยา อาทิเช่น
• ซูเราะฮฺอัลฟะลักقُلْ أَعُوذُ بِرَبِّ الْفَلَقِ ﴿۱﴾ مِن شَرِّ مَا خَلَقَ ﴿۲﴾ وَمِن شَرِّ غَاسِقٍ إِذَا وَقَبَ ﴿۳﴾ وَمِن شَرِّ النَّفَّاثَاتِ فِي الْعُقَدِ ﴿٤﴾ وَمِن شَرِّ حَاسِدٍ إِذَا حَسَدَ ﴿٥
﴾• ซูเราะฮฺอันนาสقُلْ أَعُوذُ بِرَبِّ النَّاسِ ﴿۱﴾ مَلِكِ النَّاسِ ﴿۲﴾ إِلَهِ النَّاسِ ﴿۳﴾ مِن شَرِّ الْوَسْوَاسِ الْخَنَّاسِ ﴿٤﴾ الَّذِي يُوَسْوِسُ فِي صُدُورِ النَّاسِ ﴿٥﴾
และสำหรับบทป้องกันที่ท่านนบี สอนไว้ก็มีมากมาย เช่น
أَعُوْذُ بِكَلِمَاتِ اللهِ التَّامَّةِ مِنْ كُلِّ شَيْطَانٍ وَهَامَّة وَمِنْ كُلِّ عَيْنٍ لامَّة
อะอูซุบิกะลิมาติลลาฮิ อัตตามมะฮฺ มินกุลลิชัยฏอนิน วะฮามมะฮฺ วะมินกุลลิอัยนิน ลามมะฮฺ
ความว่า : “ขอความคุ้มครองด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ให้พ้นจากชัยฏอนมารร้าย เชื้อโรคทุกชนิด และให้พ้นจาก(อันตรายของ)ตาของผู้อิจฉาริษยา”
ดุอาอฺ บทนี้ควรใช้กับลูกหลานที่เกรงว่าอาจถูกอิจฉาริษยา เพื่อเป็นการป้องกัน ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด มักจะใช้ป้องกันหลานของท่านทั้งสอง (อัลหะซันและอัลหุซัยนฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา)
สุดท้ายนี้ หากสังคมได้ศึกษาเรื่องอิจฉาริษยาด้วยคำแนะนำของอัลอิสลาม จะเกิดความปลอดภัยกับผู้อิจฉาและผู้ที่ถูกอิจฉา เพราะผู้อิจฉาจะเข้าใจในโทษแห่งการอิจฉาริษยา จึงทำให้ห่างจากความผิดนี้ และผู้ที่ถูกอิจฉาริษยาก็จะรู้วิธีป้องกันจากการอิจฉาริษยา
อนึ่ง อิสลามได้ปราบปรามการอิจฉาริษยา ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในกระบวนการปรับปรุงจิตใจและขัดเกลาอุปนิสัยให้มีคุณธรรมและความบริสุทธิ์ อันเป็นเอกลักษณ์ของบุคลิกภาพของมุสลิมที่แท้จริง ดังนั้น การศึกษาเรื่องนี้และปฏิบัติตามคำแนะนำของอัลอิสลามเกี่ยวกับเรื่องอิจฉาริษยานั้น ถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกๆคนที่ต้องการบรรลุแบบฉบับและตัวอย่างของมุสลิมที่จะรับความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
ที่มา: https://www.islaminthailand.org/dp6/book/export/html/1131