โดยหลักการทางศาสนาอิสลาม อันมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของบรรพชนรุ่นแรก (สะลัฟซอลิฮฺ) นั้น ไม่มีระบุให้ชาวมุสลิมจัดงานวันเกิด หรือการฉลองในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น การครบรอบแต่งงาน เป็นต้น
การจัดงานวันเกิด ทำได้หรือไม่ในอิสลาม ?
โดยหลักการทางศาสนาอิสลาม อันมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮฺ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของบรรพชนรุ่นแรก (สะลัฟซอลิฮฺ) นั้น ไม่มีระบุให้ชาวมุสลิมจัดงานวันเกิด หรือการฉลองในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น การครบรอบแต่งงาน เป็นต้น ส่วนกรณีการจัดงานฉลองที่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มชนต่างศาสนิกและมีคติเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องของศาสนาของชนต่างศาสนิกนั้น กรณีนี้ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมจัดงานฉลองดังกล่าว อาทิเช่น การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ, ประเพณีสงกรานต์, การแห่เทียนเข้าพรรษา, งานฉลองวันนักบุญต่าง ๆ เป็นต้น ตลอดจนมีการระบุห้ามจัดงานฉลองและเข้าร่วมในงานฉลองดังกล่าวอีกด้วย
ดังปรากฏในหะดีษที่รายงานโดย อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) จากท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่า:
“ผู้ใดเลียนแบบ (เอาอย่าง) กลุ่มชนหนึ่ง ผู้นั้นคือส่วนหนึ่งจากพวกนั้น” (บันทึกโดยอบูดาวูด)
ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : หะดีษบทนี้สภาพอย่างน้อยคือชี้ขาดว่าเป็นที่ต้องห้ามในการเลียนแบบเอาอย่างพวกชาวคัมภีร์ถึงแม้ว่าตามลักษณะบ่งชี้ภายนอกของหะดีษจะชี้ขาดว่าผู้เลียนแบบเอาอย่างพวกเขานั้นเป็นกุฟร์ (ดูฟัยฎุลกอดีร ชัรฮฺ อัลญิอฺ อัซซ่อฆีรของอัลลามะฮฺ อัลมินาวีย์, ดารุ้ลมะอฺริฟะฮฺ เบรุต เล่มที่ 6/104 หะดีษเลขที่ 8593) และมีคำกล่าวของท่านอิบนุ อัมรฺ (ร.ฎ.) ระบุว่า : ผู้ใดสร้างบ้าน (อาศัย) ในดินแดนของบรรดาผู้ตั้งภาคีและกระทำงานฉลองนัยรูซฺและเทศกาล (มิฮฺร่อญาน) ของพวกเขา และเลียนแบบพวกเขาจนกระทั่งเสียชีวิต เขาผู้นั้นจะถูกรวมอยู่พร้อมกับพวกนั้นในวันกิยามะฮฺ” (อ้างแล้ว 6/104) คำว่า นัยรูซฺ สำหรับพวกเปอร์เซียคือวันแรกในปีปฏิทินสุริยคติ คือวันขึ้นปีใหม่ของเปอร์เซีย หรือหมายถึงวันรื่นเริงโดยทั่วไป ส่วนคำว่า มิฮฺร่อญาน นั้น คือวันตรุษสำคัญของเปอร์เซีย และมีคำกล่าวของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ระบุว่า : พวกท่านทั้งหลายจงหลีกห่างบรรดาศัตรูของอัลลอฮฺในวันอีดของพวกเขา (อัลอิบดาอฺ ฟี มะฎ๊อร อัลอิบติดาอฺ, ชัยค์อะลี มะฮฺฟูซฺ หน้า 275) ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นกรณีของการจัดงานเฉลิมที่ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมจัดและเข้าไปมีส่วนร่วม
ส่วนการจัดงานรื่นเริงเนื่องในโอกาสพิเศษ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องของศาสนาและมิใช่งานรื่นเริงเป็นการเฉพาะของกลุ่มชนต่างศาสนิกนั้น ข้อนี้นักวิชาการมีท่าทีและความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายแรกถือว่า เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมจัดงานดังกล่าวโดยอาศัยหะดีษที่บันทึกโดย อันนะซาอีย์และอิบนุ มาญะฮฺ ด้วยสายรายงานซ่อฮีฮฺ ว่า ท่านอนัส (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้มายังนครม่าดีนะฮฺ ซึ่งพวกเขามีวัน 2 วันที่พวกเขาจะมีการละเล่นใน 2 วันนั้น แล้วท่านนบีก็กล่าวว่า : แน่แท้พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเปลี่ยนวันทั้ง 2 นั้นแก่พวกท่านด้วยวันที่ดีกว่าวันทั้ง 2 นั้น คือ วันฟิฏร์ และวันอัลอัฎฮา” ดังนั้นทุกสิ่งที่นอกเหนือจากวันอีดทั้ง 2 นั้น จึงถือเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ)
อีกฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นว่าอนุญาตและค้านฝ่ายแรกว่า หะดีษข้างต้นมิได้จำกัดบรรดาวันอีดเอาไว้เฉพาะในวันอีดทั้ง 2 แต่ระบุถึงความประเสริฐของวันอีดทั้ง 2นั้นว่าอยู่เหนือบรรดาวันอีดของชาวเมืองม่าดีนะฮฺซึ่งพวกเขานำเอามาจากพวกเปอร์เซีย ... และไม่มีตัวบทระบุห้ามในการแสดงออกซึ่งความดีใจและความปิติยินดีในวันอื่น ๆ นอกจากวันอีดทั้ง 2 นั้น ท่านชัยค์ อะฏียะฮฺ ซอกร์ สรุปว่า : การจัดงานรื่นเริงในโอกาสใด ๆ ที่ดีนั้นย่อมไม่เป็นอะไร ตราบใดที่มีเป้าหมายตามหลักการและมีรูปแบบอยู่ในขอบเขตของศาสนา และไม่มีข้อเสียหายแต่อย่างใดในการเรียกงานรื่นเริงทั้งหลายว่าเป็นวันอีด (ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เวียนมาบรรจบครบรอบและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ กัน) สิ่งที่ถูกพิจารณาคือสิ่งที่ถูกเรียกชื่อ (มุซัมม่ายาต) ไม่ใช่นามชื่อ (อัสมาอฺ)” (อะฮฺซะนุ้ลกะลาม ฟิล ฟะตาวา วัลอะฮฺกาม ; ชัยค์ อะฏียะฮฺ ซอกร์ ; ดารุ้ลฆอดฺ อัลอะร่อบีย์ เล่มที่ 1 หน้า 701-702)
หากพิจารณาตามความเห็นของฝ่ายที่สองก็ถือว่า ชาวมุสลิมสามารถจัดงานฉลองโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิดได้เนื่องจากไม่เกี่ยวกับเรื่องของศาสนา แต่มีข้อแม้ว่า ต้องหลีกห่างการเอาอย่างกลุ่มชนอื่น โดยเฉพาะชาวคัมภีร์ เช่น การเป่าเทียนวันเกิด เป็นต้น ตลอดจนไม่มีสิ่งที่ขัดต่อหลักการของศาสนา เช่น การปะปนระหว่างชายหญิงที่แต่งงานกันได้ หากขาดเงื่อนไขดังกล่าวก็ถือว่าต้องห้าม ผู้ตอบเข้าใจว่า นักวิชาการฝ่ายนี้ (ฝ่ายที่ 2) ได้พิจารณาว่าการจัดงานรื่นเริงเป็นสิ่งที่อยู่ในหมวดของมุอามะลาต (เรื่องความสัมพันธ์ที่มนุษย์ปฏิบัติระหว่างกัน) ซึ่งโดยหลักมูลฐานถือว่า อนุญาต (มุบาฮฺ) จนกว่าจะมีหลักฐานที่ระบุห้ามรายงานมา
อย่างไรก็ตามอาจจะมีข้อคัดค้านว่า มีหลักฐานระบุห้ามมาในเรื่องการเลียนแบบชนกลุ่มอื่น ซึ่งก็พอฟังได้ แต่จะตีขุมไปทั้งหมดทุกเรื่องก็คงมิได้ เพราะการเลียนแบบเอาอย่างกลุ่มอื่นนั้นมีทั้งที่อนุญาตเช่น การศึกษาวิทยาการต่าง ๆ, การแต่งชุดสากล เป็นต้น และที่ไม่อนุญาต ดังตัวอย่างที่กล่าวมาบ้างแล้วเมื่อต้นเรื่อง ส่วนเรื่องการเป่าเค้กนั้นก็ควรหลีกห่าง และที่มาของการเป่าเค้กนั้นก็คงมาจากพวกฝรั่งที่ได้กระทำเช่นนั้นและถือปฏิบัติกันมาจนผู้คนทั้งหลายเอาเยี่ยงอย่างนั่นเอง การกินเค้ก หรือ คุกกี้ แฮมเบอเกอร์ หรือเมนูอาหารสากลทั่วไปที่ฮะล้าลนั้นสามารถกินได้ทุกเมื่อ ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด
ที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ หลีกห่างจากข้อที่คลุมเครือและการขัดแย้งของนักวิชาการ กล่าวคือ ไม่จัดงานวันเกิดดีกว่า (ถึงแม้ว่าจะมีฝ่ายที่บอกว่าอนุญาต) เพราะจะได้ไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นตามมา คุณดีนและผมก็ไม่ต้องปวดหัวและกลุ้มใจในเรื่องนี้อีกด้วย ดีด้วยกันสำหรับทุกฝ่าย คนเราทุกคนมีวันเกิดด้วยกันทุกคน แต่สิ่งที่สำคัญคือ เกิดมาแล้วจะพากเพียรและสั่งสมคุณงามความดีให้สมกับที่เกิดมาหรือไม่ และที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ วันตายของเราทุกคนซึ่งต้องพานพบอย่างแน่นอน คนที่มุ่งแต่จะรื่นเริงเฉพาะในวันเกิด แต่กลับลืมวันตายที่จะมาเยือนนั้น คงไม่เข้าท่าเอาเสียเลย!
ที่มา: อิสลามกับคำถามที่คุณอยากรู้คำตอบ