การศรัทธาในคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นหลักการหนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องศรัทธา นั่นก็หมายความว่าหากไม่ศรัทธาในอัลกุรอาน หรือศรัทธาเพียงบางส่วน ถือว่าคนนั้นสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม
ความประเสริฐของผู้สอนอัลกุรอานและเรียนอัลกุรอาน
รายงานจากท่านอุสมาน อิบนุ อัฟฟาน ว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า:
“คนที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่าน คือ ผู้ที่รียนอัลกุรอาน และสอนอัลกุรอาน”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
คำชี้แจง เกี่ยวกับฮาดีษนี้
ฮาดีษนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่า ในบรรดาผู้เรียนรู้และในบรรดาผู้ที่อบรมสั่งสอนทั้งหลายนั้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดในพวกท่านเหล่านั้นมีฐานะยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับผู้เรียนอัลกุรอานและผู้ที่สอนอัลกุรอาน ทั้งนี้เพราะอัลกุรอานเป็นคำพูดที่ดีที่สุด เป็นพจนารถของอัลลอฮฺ จะมีอะไรเล่าที่ประเสริฐยิ่งกว่าอัลกุรอาน
มีรายงานจากท่านอุกบะฮฺ อิบนุ อามิร ว่า :
"วันหนึ่งท่านรอซูลออกมาหาพวกเรา ขณะที่พวกเราอยู่ในอัซซุฟฟะฮฺ (หมายถึง ชายคาที่บังร่มของมัสยิดท่านนบี)"
ท่านรอซูล กล่าวว่า :
"มีใครในพวกท่านบ้างไหม? ที่ชอบออกไปในตอนเช้า มุ่งไปยัง “บุฏฮาน” หรือ “อัลอะกิ๊ก” (ชื่อสถานที่) แล้วนำอูฐตัวเมีย 2 ตัว ซึ่งมีโหนกใหญ่ สีสวยมาทุกวัน ให้เป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรม โดยมิได้มาจากการกระทำผิด หรือตัดญาติ ?"
ท่านอุกบะฮฺ อิบนุ อามิร กล่าวว่า : พวกเราทุกคนชอบเช่นนั้น โอ้ รอซูลลุลลอฮฺ
ท่านรอซูล จึงกล่าวว่า :
"หากคนใดในพวกท่านออกไปยังมัสยิดในตอนเช้า
แล้วเขาผู้นั้นก็เรียนอัลกุรอานสักสองอายะฮฺ ก็เป็นสิ่งที่ดีแก่เขายิ่งกว่าการได้อูฐ 2 ตัว
และการเรียน 3 อายะฮฺ ก็ดีกว่าการได้อูฐ 3 ตัว
และการเรียน 4 อายะฮฺ ก็ดีกว่าการได้อูฐถึง 4 ตัว
และยิ่งเรียนหลายๆ อายะฮฺ ก็เป็นการดียิ่งแก่เขาที่จะได้รับอูฐเท่ากับจำนวนอายะฮฺที่เขาเรียน”
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม อบูดาวูด และอะหมัด)....
สิ่งที่ได้รับจากฮาดีษ
1. การเรียนอัลกุรอานนั้น มีคุณค่ายิ่งกว่าการสะสมทรัพย์สมบัติ
2. ส่งเสริมให้พยายามเรียนอัลกุรอาน แม้ว่าจะ 2-3 อายะฮฺ ก็ตาม
3. ผู้ที่เรียนอัลกุรอาน หรืออ่านอัลกุรอาน หรือท่องจำอัลกุรอาน จะมีผลบุญทวีคูณยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ตามส่วนที่เขาเรียน อ่าน หรือท่องจำ
มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า
“ไม่มีกลุ่มชนใดที่ร่วมชุมนุมในบ้านหลังหนึ่งจากบรรดาบ้านของอัลลอฮฺ (มัสยิด) ซึ่งการชุมนุมกันนั้นเพื่ออ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺ และเพื่อเรียนรู้คัมภีร์ของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) ระหว่างพวกเขา (แต่ละคนก็หาความเข้าใจในอัลกุรอานซึ่งกันและกัน)
ไม่มีกลุ่มชนใดทำเรื่องดังกล่าว นอกจากความสงบจะลงมายังพวกเขา ความเอ็นดูเมตตาจะปกคลุมพวกเขา
และบรรดามลาอิกะฮฺจะห้อมล้อมพวกเขา และอัลลอฮฺจะทรงกล่าวถึงนามพวกเขา ณ ผู้ที่อยู่กับพระองค์ (หมายถึง บรรดามลาอิกะฮฺผู้ใกล้ชิด)”
(บันทึกโดย อิมามอบูดาวูด อิบนุมาญะฮฺ และอะหมัด)
สิ่งที่ได้รับจากฮาดีษ
1. การอ่านและเรียนอัลกุรอานเป็นทางที่จะนำไปสู่ความอบอุ่นใจให้แก่ผู้ที่อ่านและเรียน
2. การอ่านและเรียนอัลกุรอานเป็นเหตุทำให้ความเอ็นดูเมตตาจากอัลลอฮฺลงมาสู่ผู้อ่านและผู้รียน
3. สถานที่เรียนและสอนอัลกุรอานนั้น จะเป็นที่ดูแลและชุมนุมของบรรดามลาอิกะฮฺ
4. ในฮะดิษนี้ชี้ให้เห็นว่า สถานที่ที่มีการเรียนและการสอนอัลกุรอานนั้น จะไม่มีซัยฏอนเข้าใกล้ เพราะสถานที่นั้นถูกอารักขาด้วยมลาอิกะฮฺ
5. อัลลอฮฺทรงสดุดีผู้อ่านและเรียนอักุรอานต่อบรรดามลาอิกะฮฺผู้ใกล้ชิดกับพระองค์
6. อัลลอฮฺทรงปิติ และทรงพอพระทัยบรรดาผู้ที่เรียนและศึกษาอัลกุรอาน
7. ฮะดิษนี้ส่งเสริมให้ผู้เรียนอัลกุรอาน หาความเข้าใจในอัลกุรอานด้วย
8. การชุมนุมกันเพื่ออ่านอัลกุรอานเป็นงานที่ดี ควรได้รับการส่งเสริม
9. ส่งเสริมให้รวมตัวกันอ่านอัลกุรอานในมัสยิด
10. ผู้ที่สดับฟังอัลกุรอานในวงชุมนุม ก็จะได้รับผลบุญร่วมด้วย ซึ่งมีฮะดิษยืนยันเรื่องนี้เอาไว้
11. การส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอานที่มัสยิดนั้น ไม่ค้านกับรายงานที่ว่า “บ้านที่ไม่มีการอ่านอัลกุรอานหรือการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่ากับเป็นบ้านร้าง” ทั้งนี้ เพราะอิสลามส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอานในบ้านและมัสยิด
ที่มา : หนังสือ “เมื่ออัลกุรอาน ถูกอ่าน”