อะมานะฮ์ หนึ่งในคุณสมบัติของมุสลิมที่แท้จริง


17,895 ผู้ชม


อะมานะฮ์ หนึ่งในคุณสมบัติของมุสลิมที่แท้จริง

อะมานะฮ์ หนึ่งในคุณสมบัติของมุสลิมที่แท้จริง

อะมานะฮ์ คืออะไร ?

ส่วนใหญ่แล้ว มีผู้ให้คำจำกัดความหมายของคำว่า “อะมานะฮ์” อยู่ในวงจำกัด คือ การรักษาสิ่งของฝากไว้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความหมายที่แท้จริงในอิสลามมีหลายความหมายได้แก่

อะมานะฮ์ คือ การเก็บวางทุกๆ สิ่งในที่ๆ เหมาะสมกับมัน ดังนั้นตำแหน่งเกียรติยศจะไม่ถูกสรรเสริญแก่คนที่ไม่เหมาะสมกับผู้นั้น และภาระงานทั่วไปจะไม่ถูกวางให้กับคนที่ไม่มีคุณวุฒิที่เหมาะสมกับเขา ดังมีคำกล่าวที่ว่า จัดวางกำลังคนให้เหมาะสมกับงาน

อะมานะฮ์ คือ การที่บุคคลหนึ่งต้องประพฤติปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบให้สมบูรณ์และดีที่สุด มีความบริสุทธิ์ใน ซื่อสัตย์ สุจริต รับผิดชอบต่อสิทธิหน้าที่ที่พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์ให้ครบถ้วน

อะมานะฮ์ คือ การที่มนุษย์จะต้องพิจารณาไตร่ตรอง ถึงสัมผัสทั้งห้า พรสวรรค์ต่างๆ และสิ่งต่างๆที่อัลเลาะฮ์(ซ.บ.)ทรงประทานให้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ลูกหลานหรืออื่นใดก็ตาม ที่พระองค์อัลเลาะฮ์ ได้ประทานให้นั่นคือความโปรดปรานและรางวัลอันล้ำค่ายิ่งนัก

อะมานะฮ์ คือ การรักษาสิทธิในที่ประชุม ห้ามเปิดเผยเรื่องราวต่างๆ ให้แก่สาธารณชน ทุกคนต้องให้เกียรติในที่ประชุม ต้องรักษา เคารพ กฎระเบียบที่เป็นข้อตกลงร่วมกันในที่ประชุมอย่างเค่งครัด

อะมานะฮ์ คือ จิตสำนึกรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ และระมัดระวังการละเลยหรือละทิ้งต่อหน้าที่

ความสำคัญของอะมานะฮ์

อิสลามให้ความสำคัญต่อการรักษาสิทธิต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วน บริบูรณ์ ไม่ว่าสิทธิที่พึงมีต่ออัลเลาะฮ์ ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และต่อภาระงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมวลมุสลิมทุกคนจักต้องมีความรู้สึกรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานนั้นๆ

อะมานะฮ ในทัศนะของอิสลามนั้น มีความผูกพันกับภาระหน้าที่ ที่เขาจะถูกสอบสวนต่อหน้าพระพักตร์ของอัลเลาะฮ์(ซ.บ.) ดังฮาดิษบทหนึ่งที่กล่าวว่า : พวกท่านทุกคนล้วนเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ และต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับหน้าที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของตน ดังนั้น อีหม่าม (ผู้นำ) เป็นผู้ที่มีหน้าที่และถูกสอบสวนเกี่ยวกับหน้าที่ของเขา ชายผู้หนึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวของเขา และต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับหน้าที่ของเขา และสตรีนั้น นางมีหน้าที่รับผิดชอบในบ้านของสามี และต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับหน้าที่ของนาง คนรับใช้มีหน้าที่รับผิดชอบในทรัพย์สินของเจ้านายและต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบ ในทรัพย์สินของเจ้านาย และต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับหน้าที่นั้น และท่านศาสดา (ซ.ล.) ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า และชายคนหนึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในทรัพย์สินของบิดาและต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับหน้าที่ของเขา ดังนั้นพวกเจ้าทั้งหลายล้วนมีหน้าที่ และพวกเจ้าทั้งหลายล้วนต้องรับผิดชอบ เกี่ยวกับหน้าที่ของตนเอง (บุคอรี)


อะมานะฮ์พันธกิจของมวลมนุษยชาติ

อะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) เป็นความจำเป็นอีกประการหนึ่งที่มุสลิมทั้งหลายต้องช่วยกันส่งเสริมดูแล และขอพรต่ออัลเลาะฮ์ให้อะมานะฮ์ สถิตย์มั่นอยู่ในตัวตนของทุกๆคน แม้กระทั่งในขณะที่พี่น้องมุสลิมเตรียมตัวที่จะเดินทางก็ให้กล่าวขอพรแก่เขาว่า โอ้อัลเลาะฮ์ขอพระองค์อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) ทรงปกป้องคุ้มครองศาสนา ของพระองค์ และโปรดประทานความสงบมั่นในหัวใจของพี่น้องมุสลิมให้เขามีความรับผิดชอบในกิจการงานของเขาด้วยเถิด

มีรายงานจากท่านอนัส บุตรมาลิก (ร.ด.) ได้เล่าว่า น้อยครั้งที่ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้แสดงปาฐกถา (คุตบะฮฺ) แก่พวกเรา นอกจากท่านได้กล่าวว่า ไม่มีศรัทธาแก่บุคคลที่ไม่มีอะมานะฮ์และไม่มีศาสนาแก่บุคคลที่บิดพลิ้วคำสัญญา (อะห์หมัด)


ผลลัพท์ของอะมานะฮ์

อะมานะฮ์ คือ ภาระ หรือพันธะผูกพันในการจะปฏิบัติหน้าที่ การงานระหว่างผู้ร่วมงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงาน หรือองค์กรนั้นๆ เนื่องจากทุกคนที่อาศัยอยู่ในองคาพยพของสังคมนั้นจักต้องปรับลักษะนิสัย เจตคติของบุคคลที่ทำงานร่วมกันในองค์กรให้เป็นไปในเชิงระบบทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกและพลังขับเคลื่อนให้บุคลากรในองค์กรปฏิบัติงานไป ตามกฎเกฑ์ ระเบียบแบบแผนขององค์กร รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และมีความซื่อสัตย์สุจริตในภาระงาน ดังนั้นคนทีมีอะมานะฮ์ มีความับผิดชอบอย่างแท้จริงนั้นจะทำให้ภาระงานของเขาบรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้และทำให้บุคลากรในองค์กรเกิดพลังแห่งความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือต่อกันอย่างจิงจัง สุดท้ายองค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆก็จะเป็นที่เชื่อถือของสมาชิกในสังคม อันส่งผลดีต่อองค์กดังต่อไปนี้

1. องค์กรได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากผู้ร่วมงานและผู้อื่น

2. การปฏิบัติงานจะพบความสำเร็จทันเวลา และทันต่อเหตุการณ์ ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

3. ทำให้เกิดความเชื่อถือในตนเอง เพราะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเรียบร้อย

4. องค์กรเกิดความมั่นคง เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น

5. องค์กรประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นปึกแผ่นและมั่นคง

6.สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

อะมานะฮ์กฎบัตรที่มีผลต่อประชาคมโลก

อันประชาคมพลโลกที่ไร้ซึ่งการไว้วางใจ (อะมานะฮ์) ขาดความรับผิดชอบคือ ประชาชาติที่ไร้กฎระเบียบ และละเลยต่อหน้าที่ มีความเห็นแก่ตัว เพิกเฉยต่อภาระหน้าที่ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นบ่อเกิดแก่ผู้มีอำนาจ กดขี่ข่มเหงต่อผู้ที่ด้อยโอกาส ไร้ความสามารถ ดังมีฮาดิษบทหนึ่งที่บ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวอันเป็นรหัสหนึ่งแห่งวันสิ้นโลกว่า : เล่าจากอบีฮุรอยเราะฮ์(ร.ด.) ว่า : ได้มี ชายคนหนึ่ง ได้ถามท่านศาสดา (ซ.ล.) ว่า เมื่อใดเล่าวันสิ้นโลกจะอุบัติขึ้น? ท่านศาสดา (ซ.ล.) ตอบว่า : เมื่ออะมานะฮ์ถูกเพิกเฉย ท่านจงรอคอยวันนั้นเถิด ? ชายผู้นั้นได้ถามต่อไปอีกว่า : อย่างไรเล่าที่อะมานะฮ์ถูกละเลยเพิกเฉย ท่านศาสดา(ซ.ล.) ตอบว่า : เมื่อเรื่องหนึ่งถูกมอบหมายไปยังผู้ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นท่านจงรอวันนั้นเถิด (บุคอรี)

มีอะมานะฮ์ต่อใครบ้าง

อะมานะฮ์ที่พึงมีต่ออัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) และรอซูล ด้วยการปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้และละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามด้วยความบริสุทธิ์ใจและรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่อัลเลาะฮ์(ซ.บ.) และรอซูล ได้บัญญัติไว้อย่างจริงจัง

อะมานะฮ์ที่พึงมีต่อที่ประชุม ด้วยการรักษาสิทธิในที่ประชุม ห้ามเปิดเผยเรื่องภายใน และเรื่องราวในที่ประชุม ดังที่ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า : เมื่อบุคคลหนึ่งได้พูดเล่าเรื่องแก่อีกคนหนึ่ง จากนั้นเขาก็กลับไป เรื่องนั้นก็จะเป็นอะมานะฮ์ (ที่จะต้องรับผิดชอบ)

อะมานะฮ์ต่อกฎระเบียบต่างๆ ในที่ประชุม : กล่าวคือ องค์ประชุมทุกคนต้องรักษาไว้ซึ่งเกียรติในที่ประชุมด้วยการรักษา เคารพกฎระเบียบต่างๆ ที่ร่างขึ้นในที่ประชุม มิฉะนั้นแล้วเกียรติในที่ประชุมก็เป็นโมฆะ ไร้ซึ่งพลังและบทบาทอำนาจ ท่านศาสดา (ซ.ล.) กล่าวว่า : ที่ประชุมนั้นจำต้องมีอะมานะฮ์เว้นไว้สามที่เท่านั้น คือ ที่ประชุมเรื่องการฆ่าฟัน เรื่องการละเมิดประเวณี และเรื่องการฉกชิงทรัพย์โดยมิชอบ

อะมานะฮ์ระหว่างสามีภรรยา : อันความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภรรยานั้น จะต้องวางอยู่บนฐานของความบริสุทธิ์ใจ บรรยากาศการอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาภายในบ้าน จำเป็นต้องปกปิดไว้ อย่าได้กระจาย และเปิดเผยเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ระหว่างสามีภรรยาให้บุคคลภายนอกรู้เป็นอันขาด ดังมีรายงานจาก อัสมาอ์ บุตรี ยาซีดว่า : นางได้อยู่พร้อมกับท่านศาสดา(ซ.ล.) ในขณะที่มีกลุ่มของพวกผู้ชายและพวกผู้หญิงนั่งอยู่ ท่านศาสดา (ซ.ล.) กล่าวว่า บางทีผู้ชายอาจจะพูดถึงการที่เขาได้ร่วมหลับนอนกับภรรยาของเขา และบางทีผู้หญิงก็อาจบอกเล่าถึงการที่นางได้ร่วมหลับนอนกับสามีของนาง กลุ่มคนที่นั่งอยู่เงียบสงบ ฉัน(อัสมาอ์) จึงกล่าวว่า ใช่แล้ว ขอสาบานต่ออัลเลาะฮฺ โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลเลาะฮฺ แท้จริงพวกนางพูดอย่างนั้นจริงๆ และพวกเขาก็ปฏิบัติเหมือนกัน ท่านศาสดา(ซ.ล.) กล่าวว่า พวกเจ้าทั้งหลายอย่ากระทำ เพราะแท้จริง การดังกล่าวนั้นประดุจดั่งมารร้ายตัวผู้พบกับมารร้ายตัวเมีย ตามถนนหนทาง แล้วร่วมเสพสุขกัน ในขณะที่มนุษย์มุงดูอยู่

อะมานะฮ์ที่พึงมีต่อการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบให้สมบูรณ์ และดีที่สุด : เพราะเหตุว่าอิสลามยกย่องสรรเสริญต่อบุคคลที่บริสุทธิ์ใจ ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ และซื่อสัตย์รับผิดชอบต่อสิทธิหน้าที่ของมนุษย์ให้ครบถ้วน การที่บุคคลใดละเลยต่อหน้าที่รับผิดชอบ มีความบิดพริ้ว คดโกงต่อหน้าที่รับผิดชอบ ย่อมก่อให้เกิดความหายนะต่อเสถียรภาพความมั่นคงของศาสนา สังคม และประเทศชาติ

อะมานะฮ์ดุจดั่งของฝากชั่วคราว

สิ่งของต่างๆ ที่มนุษย์ดูแลนั้น มันเป็นขอฝากชั่วคราวชั่วขณะหนึ่ง ต่อมาสิ่งนั้นก็ถูกส่งคืนเจ้าของ ขณะที่เขาต้องการ สิ่งของชิ้นนี้ คือ “อะมานะฮ์” ที่จะถูกสอบสวน ดังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยบรมศาสดา (ซ.ล.) ว่า ท่านได้แต่งตั้งอาลี บุตรอบีตอลิบ เป็นตัวแทนท่านในขณะที่ท่านจะอพยพไปนครมาดีนะฮ์ เพื่อมอบสิ่งของที่ฝากไว้กับท่านคืนแก่พวกมุชรีกีน.

ท่านอับดุลเลาะฮ์ บุตรมัสอู๊ด (ร.ด.) ได้เล่าว่า : การพลีชีพในหนทางของอัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) จะลบล้างบาปทั้งหมด ยกเว้น อามานะฮฺ ในวันกียามะฮฺ บ่าวจะถูกนำมา แล้วมีผู้กล่าวกับเขาว่า ท่านจงชดใช้อะมานะฮ์ของท่านเถิด บ่าวคนนั้นก็กล่าวตอบว่า “โอ้อัลเลาะฮ์ ฉันจะชดใช้อย่างไรเล่า ในเมื่อฉันได้จากโลกดุนยามาแล้ว” มีผู้กล่าวว่า จะนำเขาไปสู่ขุมนรกญะฮันนัม โดยที่อามานะฮฺ ถูกแปลงรูปให้อยู่ในลักษณะที่เหมือนกับวันที่เขารับฝาก เมื่อเขาเห็นเขาก็รู้จักมัน ต่อมา อิบนูมัสอู๊ด ได้กล่าวว่า : ละหมาด คือ อะมานะฮ์อาบน้ำละหมาด คือ อะมานะฮ์ทุกสิ่งทุกอย่างถูกนับว่าเป็น อะมานะฮ์ทั้งหมด อะมานะฮ์ที่หนักยิ่งคือของฝาก

ขาดอะมานะฮ์แท้จริงคือขาดอีหม่าน

อีหม่าน คือพลังผลักดันบุคคลสู่ความดีงาม อีหม่านที่เข้มแข็งจะก่อเกิดพฤติกรรมที่ศาสนาเชิดชูยกย่อง เช่นรู้จักรักษาอะมานะฮ์มีจิตใจที่รังเกียจ ในเรื่องของการทุจริต ฉ้อโกง บิดพริ้ว ทั้งหมดนั้นคือ โรคร้ายที่กัดกร่อนสังคมมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จะต้องหาทางป้องกัน มิให้พฤติกรรมดังกล่าว กล้ำกรายเข้าสู่ตัวเขาเป็นอันขาด เพราะการศรัทธานั้น มันจะไม่บริสุทธิ์ เว้นแต่เขาจะต้องชำระตัวเองให้บริสุทธิ์ปราศจากความโสมมของการฉ้อฉล บิดพลิ้วใดๆ ทั้งสิ้น อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า : บรรดาผู้ศรัทธานั้นคือ ผู้ที่ไม่นำความฉ้อฉลเข้ามาผสานกับศรัทธาของพวกเขา พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับความปลอดภัยอย่างแน่นอน (ซูเราะฮฺ อัล- อันอาม : 82)

บทความโดย: อ.ปริญญา   ประหยัดทรัพย์

อัพเดทล่าสุด