สำหรับมุสลิม การมีความรักเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เพราะความรักคือองค์ประกอบสำคัญของความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูต...
วาเลนไทน์ ในหมู่มุสลิม ความพ่ายแพ้ทางวัฒนธรรม
ในยุคที่ผู้คนต่างแข่งขันกันสร้างฐานะทางสังคม และแข่งกันหาความสุขทางโลก ดูเหมือนเราจะหาความรักและความจริงใจต่อกันและกันได้ยากมากขึ้น ยิ่งหายากก็ยิ่งโหยหา จนวันที่ถูกกำหนดขึ้นว่าเป็น “วันแห่งความรัก” กลายเป็นวันที่ผู้คนต่างพากันแสดงออกว่าตนมีความรักให้ใครต่อใคร อย่างไร? แต่ความรักนั้นก็เป็นเพียงความรู้สึกอันล่องลอย และไร้พื้นที่ที่จะลงหลักปักฐานในหัวใจจริง ๆ ด้วยว่าความรักอันเกิดจากความรู้สึกล้วน ๆ ไร้กรอบจริยธรรมและสำนึกผิดชอบชั่วดี มักเป็นความรักที่วูบวาบฉาบฉวย เมื่อเกิดก็พลุกพล่าน แต่ก็มักจางหายอย่างรวดเร็ว วันแห่งความรักถูกกำหนดขึ้น จึงกลายเป็นวันแห่งการปลดปล่อยความต้องการทางเพศของใครต่อใคร ก่อนที่จะผ่านเลยไปอย่างไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี สังคมที่ผู้คนมากด้วยความรู้สึก มักเป็นสังคมที่ขาดเหตุผลและมักจะไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ สังคมไทยดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น จึงรับเอาวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่สอดรับกับความรู้สึกของตนได้ง่ายจนละเลยวัฒนธรรมของตนเอง
สำหรับมุสลิม การมีความรักเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เพราะความรักคือองค์ประกอบสำคัญของความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูต ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นมุสลิมที่สำคัญสูงสุด ท่านศาสนทูตมูฮัมหมัด (ซ็อลลัลลอฮุอลัยวซัลลัม) กล่าวว่า
“พวกท่านแต่ละคนจะเข้าไม่ถึงความศรัทธา จนกว่าฉันจะเป็นที่รักของเขา ยิ่งกว่าที่เขารักลูก รักบิดา และมนุษย์ทุกคน”
จากความรักความศรัทธาที่มีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์นี้เอง เราจึงเผื่อแผ่ความรักของเราไปยังบุคคลรอบข้าง หากปราศจากความรักเหล่านี้ ก็ไม่อาจถือว่าบุคคลนั้นศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ดังที่ รอซูล บอกว่า
“พวกท่านแต่ล้วนจะเข้าไม่ถึงความศรัทธา จนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขา เช่นเดียวกับที่รักตนเอง”
ความรักในอิสลามจึงมีหลักยึดสำคัญ คือ ความศรัทธาและความจงรักภักดีต่ออัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า เป็นความรักที่แม้จะเป็นความรู้สึก แต่ก็กำเนิดจากการรู้จักใช้ความคิดและเหตุผล เป็นความรักที่ก่อให้เกิดความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและคนรอบข้างด้วย
แต่ในวันที่ความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ในจิตใจของมุสลิมลดลง ความรักที่มีจึงไม่ได้มีความศรัทธาเป็นกรอบ กลายเป็นความรักที่ขาดเหตุผลและไร้รากจริยธรรมรองรับ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพอใจ ล้วน ๆ นำมาซึ่งช่องว่างกว้างใหญ่ให้วัฒนธรรมอื่นที่ปฏิเสธอัลลอฮ์หรือวัฒนธรรมของผู้ที่ตั้งภาคีต่อพระองค์สอดแทรกเข้ามาได้ เช่น การร่วมเฉลิมฉลองในวันวาเลนไทน์ เป็นต้น การเฉลิมฉลองเช่นนี้ มีข้อบ่งชี้อยู่หลายประการ อาทิ เป็นการยอมรับรูปแบบการดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมอื่น ซึ่งแตกต่างกับเราทั้งในความคิดและวิถีชีวิต การยอมรับวัฒนธรรมอื่นมาเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตของตน บ่งชี้ความอ่อนแอในความคิดของผู้รับเอง เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้รับไม่มีวัฒนธรรมของตนเอง หรือแม้จะมี แต่ไม่สามารถเชื่อถือได้ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของตนได้อย่างสมบูรณ์ จึงต้องนำเอาวัฒนธรรมอื่นเข้ามาแทน
การรับวัฒนธรรมใดมักหมายถึงการนำเอาความคิดและโลกทัศน์ของวัฒนธรรมนั้นมาด้วย และอาจหมายถึงการละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมบางอย่างของตนไป เช่น การที่คนไทยรับเอาวิธีการมองโลกและชีวิตของชาวตะวันตกมาด้วย เมื่อเรื่องเพศสัมพันธ์ในโลกตะวันตกเป็นเสรีภาพและความพึงพอใจส่วนบุคคล “วาเลนไทน์” จึงกลายเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวไทยใช้เพื่อการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น หมายความว่าสาวไทยได้ละทิ้งวัฒนธรรมการรักนวลสงวนตัวไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว
เหตุนี้เอง อิสลามจึงห้ามลอกเลียนแบบวัฒนธรรมอื่น ดังศาสนทูต บอกว่า
“ใครลอกเลียนแบบอย่างของคนกลุ่มใด ก็ถือว่าเขาเป็นคนกลุ่มนั้น”
เพราะความจริงคือ อิสลามมีความสมบูรณ์แบบแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับเอาวัฒนธรรมอื่นมาเป็นแนวทางอีก ยกเว้นในเรื่องเทคนิควิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ เท่านั้นที่อนุญาตให้
ดังนั้น ในเรื่องความรัก มุสลิมก็ต้องใช้มุมมองความรักของอิสลาม และต้องไม่ใช้มุมมองความรักแบบวาเลนไทน์ เพื่อดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของมุสลิมให้คงความสมบูรณ์ต่อไป
โดย... อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี