ไขข้อข้องใจ สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดากับสวรรค์อยู่ใต้ร่มเงาของคมดาบ คำสอนไหนถูกต้อง?
ไขข้อข้องใจ สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดากับสวรรค์อยู่ใต้ร่มเงาของคมดาบ คำสอนไหนถูกต้อง?
ต่างศาสนิก ถาม: ผมศึกษาอิสลามด้วยตัวเองอยู่และพบว่าคำสอนของอิสลามบางอย่างมีความขัดแย้งกัน เช่น มีคำสอนหนึ่งกล่าวว่า “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา” และอีกคำสอนหนึ่งกล่าวว่า “สวรรค์อยู่ใต้ร่มเงาของคมดาบ” จึงอยากทราบว่าคำสอนไหนกันแน่ที่ถูกต้อง
บรรจง บินกาซัน ตอบ: ขอบคุณครับที่ติดตามคอลัมน์ของเราและมีคำถามมา
คำสอนทั้งสองดังกล่าวเป็นคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัดครับและเป็นคำสอนที่ถูกต้อง หากแต่คำสอนทั้งสองนี้มีขึ้นในสองสถานการณ์ที่ต่างกัน
คำสอนที่ว่า “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา” เป็นคำสอนในยามปกติที่ต้องการให้ลูกเห็นความสำคัญ ให้ความรักและรู้จักสนองคุณพ่อแม่โดยเฉพาะในวัยชราที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ
ดังนั้น อิสลามจึงย้ำให้ลูกแสดงความกตัญญูและสนองคุณพ่อแม่ในขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิต พ่อแม่อยากจะกินอะไรก็จัดหาในตอนที่ท่านยังกินได้ มิใช่ปล่อยให้ท่านอดอยากยากจนและเสียชีวิตอย่างเดียวดายแล้วค่อยมาสนองคุณโดยการทำบุญให้หลังจากตายไปแล้ว
โดยเฉพาะแม่ซึ่งเป็นเพศหญิงนั้น ท่านนบีมุฮัมมัดให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มีชายคนหนึ่งถามท่านว่าเขาควรจะทำดีกับใคร ท่านนบีมุฮัมมัดตอบว่า
“ทำกับแม่ของท่านนั่นแหละ”
ชายคนนั้นจึงถามต่อว่า:
“หลังจากแม่ล่ะ ฉันควรจะทำดีกับใคร ?” ท่านนบีก็ตอบว่า “แม่” อีกเช่นกัน ชายผู้นั้นถามคำถามเดิมอีก และก็ได้รับคำตอบเช่นเดิมอีกถึงสามครั้ง เมื่อชายผู้นั้นถามคำถามเดิมครั้งที่สี่ ท่านนบีมุฮัมมัดจึงได้ตอบว่า “กับพ่อของท่าน”
ส่วนคำสอนที่ว่า “สวรรค์อยู่ใต้ร่มเงาของคมดาบ” นั้นเป็นคำสอนที่พูดในยามสงครามซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่จะต้องพูดปลุกขวัญกำลังใจนักรบมิให้เกรงกลัวความตาย ถ้าศัตรูบุกมารุกราน หากแต่ละคนต่างยึดคำสอนว่า“สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา”เพื่อไม่ยอมออกรบ ประเทศชาติก็ไม่รอดครับ
อย่างไรก็ตาม ท่านนบีมุฮัมมัดก็ยอมรับความเป็นจริงของมนุษย์ ครั้งหนึ่ง ท่านสั่งระดมพลเพื่อออกไปต่อต้านข้าศึกที่กำลังยกทัพมาประชิดดินแดน มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งมาขออนุญาตท่านออกรบด้วย ท่านจึงถามเด็กคนนั้นว่ามีแม่อยู่หรือไม่ เมื่อเด็กหนุ่มตอบว่ามีและเมื่อท่านนบีทราบว่าแม่ของเด็กหนุ่มคนนั้นไม่มีผู้ดูแล ท่านจึงได้บอกเด็กหนุ่มผู้นั้นให้กลับไปดูแลแม่ และเขาจะได้ผลบุญเหมือนกับการออกทำศึกและพลีชีพในสนามรบ
เพราะฉะนั้น คำสอนของทั้งสองจึงไม่ได้ขัดอะไรกันครับ เพียงแต่เป็นคำสอนที่ใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกันเท่านั้นเอง
ยินดีเสมอที่จะให้คำตอบเพื่อความเข้าใจครับ
บทความ: บรรจง บินกาซัน