การดุอาอฺหรือขอพรนั้น คือการขอจากความต้องการของเรา ส่วนเรื่องว่าจะใช้ภาษาใดนั้นในการขอ...
ความหมายของดุอาอฺ
ในทางรากศัพท์ ดุอาอฺ دعاء หมายถึง การขอ การวิงวอน การเรียก
ส่วนความหมายของมันในทางศาสนบัญญัตินั้นหมายถึง การวิงวอนของจากอัลลอฮฺ รวมถึงการสรรเสริญและสดุดีพระองค์ นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ความหมายอื่นอีก แต่ทั้งนี้ลักษณะการให้ความหมายมีความคล้ายกัน เช่น
1.การแสดงความปรารถนาต่ออัลลอฮฺ
2.การขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ
3.การแสดงตนว่าต้องพึ่งอัลลอฮฺ ไม่แสดงทิฐิ สำนึกในความเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อย และยอมรับในความประเสริฐอันมหาศาลของอัลลอฮฺ ด้วยการสรรเสริญพระองค์
4.การขอสิ่งที่เป็นประโยชน์ และให้พ้นจากสิ่งที่เป็นพิษภัย
5.การนอบน้อมวิงวอนต่ออัลลอฮฺ และมอบตนต่อหน้าพระองค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาและให้ปลอดภัยจากสิ่งที่ไม่ประสงค์
คำถาม: มุสลิมต้องขอดุอาร์ (ขอพร) เป็นภาษาอาหรับเท่านั้นหรือ?
คำตอบ:
ไม่จำเป็นจะต้องอ่านดุอาตามบทภาษาอาหรับ เพราะแม้ดุอาอฺกุนูตในนมาซ (ละหมาด) ก็อนุญาตให้กล่าวด้วยภาษาอื่นได้ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะอ่านและพยายามครุ่นคิดในบทดุอาร์ภาษาอาหรับที่บรรดาอิมามได้สอนไว้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเหตุผลที่ว่า:
ดังที่กุรอานคือพระวจนะของอัลลอฮ์ที่ใช้สนทนากับมนุษย์ ดุอาอฺที่บรรดาอิมาม(อ.)สอนเราไว้ก็คือบทเอื้อนเอ่ยที่มนุษย์วอนขอต่ออัลลอฮฺ ดังที่ดุอาอฺได้รับการเปรียบว่าเป็น “กุรอานที่เหิรขึ้นเบื้องบน” นั่นหมายความว่าดุอาอฺเหล่านี้มีเนื้อหาลึกซึ้งแฝงเร้นอยู่ดังเช่น กุรอาน และเนื้อหาเหล่านี้จะได้รับการตีแผ่อย่างสมบูรณ์ด้วยภาษาอาหรับเท่านั้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว มุสลิมจึงควรเรียนรู้ความหมายของนมาซและดุอาอฺต่างๆ เพื่อให้รู้ว่ากำลังเอ่ยขอสิ่งใดจากพระผู้เป็นเจ้า หากทำได้ดังนี้ก็จะส่งผลให้ศาสนกิจของตนอุดมไปด้วยสำนึกทางจิตวิญญาณ และจะทำให้สามารถโบยบินสู่ความผาสุกอันนิรันดร์ได้
นอกเหนือปัจจัยดังกล่าวแล้ว ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่นๆด้วย อาทิเช่น เนื้อหาดุอาอฺไม่ควรขัดต่อจารีตที่พระองค์วางไว้ ควรศอละวาตแด่นบีและวงศ์วานเสมอ ผู้ดุอาร์จะต้องหวังพึ่งพระองค์เท่านั้นมิไช่ผู้อื่น ให้บริสุทธิใจและคำนึงถึงความยากไร้ของตน ปากกับใจต้องตรงกันยามดุอา เคร่งครัดในข้อบังคับและข้อห้ามทางศาสนา กล่าวขอลุแก่โทษต่อพระองค์ พยายามย้ำขอดุอาร์ มั่นใจและไม่สิ้นหวังในพระองค์[1]
[1] มุฮัมมัด ตะกี ฟัลสะฟี,อธิบายดุอามะการิมุ้ลอัคล้าก,เล่ม1,หน้า 2. และ โค้รรัมชอฮี,สารานุกรมกุรอานและกุรอานศึกษา,เล่ม 1,หน้า 1054. และ ซัยยิดมุฮัมมัดบากิร ชะฮีดีและ ฮิบะตุดดีน ชะฮ์ริสทอนี,ดุอาและตะฮ์ลีลจากกุรอาน,หน้า 43. และ ซัยยิดอลีอักบัร,พจนานุกรมกุรอาน,คำว่าดุอาอฺ
ที่มา: https://www.oknation.net/blog/kiattitharai/2011/07/05/entry-2