ประวัติความเป็นมาของบัยตุลลอฮฺ (บ้านของพระเจ้า) ที่มุสลิมควรรู้


38,033 ผู้ชม

ประวัติความเป็นมาของบัยตุลลอฮฺ (บ้านของพระเจ้า) ที่มุสลิมควรรู้


ประวัติความเป็นมาของบัยตุลลอฮฺ (บ้านของพระเจ้า) ที่มุสลิมควรรู้

ประวัติความเป็นมาของบัยตุลลอฮฺ (บ้านของพระเจ้า) ที่มุสลิมควรรู้

อัลกุรอานได้แจ้งให้เราทราบถึง การเดินทางของท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม (ขอความศานติจงมีแด่ท่าน) มุ่งหน้าสู่ที่ราบระหว่างหุบเขาที่ปราศจากพืชพรรณธัญญาหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของนครมักกะฮฺในปัจจุบันนี้ แต่มิได้แจ้งให้เราทราบถึงสาเหตุแห่งการอพยพเข้าสู่นครแห่งนี้ ถึงแม้ว่าหลักฐานจากแหล่งอื่น ๆ จะได้กล่าวถึงสาเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เพราะความหึงหวงของนางซาเราะฮฺศรีภรรยาที่มีต่อนางฮาญัร ซึ่งให้บังเกิดบุตรสุดที่รัก (คืออิสมาอีล) แก่ท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิมัสสลาม (ขอความศานติจงมีแด่ท่านทั้งสอง) ขณะนั้นปาเลสไตน์(เมืองชาม)ซึ่งเป็นแหล่งพำนักของครอบครัวนี้ได้รับการทดสอบจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม จึงจำต้องอพยพหอบลูกหอบเมียไปยังสถานที่แห่งใหม่ เพื่อให้ห่างไกลเสียจากนางซาเราะฮฺ เพื่อสองแม่ลูกจะได้มีความสุขกันแต่ลำพัง ณ ที่นี้ก็เกิดข้อกังขาขึ้นว่าทำไมท่านนะบีอิบรอฮีม  จึงเลือกสถานที่อันแห้งแล้งและห่างไกล เพื่อใช้เป็นที่พำนักของสองแม่ลูก? ไม่มีสถานที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมกว่านี้อีกหรือ? ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่ที่อุดมสมบูรณ์มีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย และพร้อมที่จะให้การต้อนรับครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวนี้


นอกจากนี้ตามสามัญสำนึกแล้ว สมควรที่ท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม จะนำลูกสุดที่รักไปยังสถานที่ที่อุดมสมบูรณ์และมีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย เพื่อจะได้มีความอบอุ่นใจขึ้นบ้าง แต่อะไรเล่าที่ผลักดันให้ท่านนะบีอิบรอฮีม  ต้องตัดสินใจกระทำเช่นนั้น? เราไม่อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นเพียงการกระทำโดยบังเอิญ หรือเป็นผลอันเนื่องมาจากการนึกคิดเพื่อเลือกสถานที่อันเหมาะสม เพราะมักกะฮฺหรือบะรียะตุฟาราม (ชื่อที่เรียกกันในคัมภีร์ไบเบิล) หาใช่เป็นสถานที่อันเหมาะสมในขณะนั้นไม่ ดังนั้นในทัศนะของผู้ที่มีความเชื่อมั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า ก็จะเห็นว่าเป็นการแนะแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งท่านนะบีอิบรอฮีม  ก็ยอมรับฟังและปฏิบัติตามด้วยการเสียสละทุกวิถีทางเพื่อพระองค์


เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านอิหม่ามอัลบุคอรีย์ได้รายงานไว้ว่า นางฮาญัรได้กล่าวกับท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลามว่า “ท่านจะจากเราไปและทิ้งเราไว้ ณ ที่ราบแห่งนี้โดยปราศจากผู้ให้ความคุ้มกันกระนั้นหรือ?” นางได้กล่าวเช่นนั้นหลายครั้งหลายหน โดยที่ท่านนะบีอิบรอฮีมไม่ยอมให้คำตอบหรือเหลียวหลังมาให้ความสนใจแก่นางเลย ในที่สุดนางก็กล่าวขึ้นว่า “อัลลอฮฺทรงใช้ท่านกระทำเช่นนี้หรือ?” ท่านนะบีอิบรอฮีมจึงได้ตอบขึ้นทันทีว่า “ใช่แล้ว” นางฮาญัรจึงกล่าวเสริมอีกว่า “ถ้าเช่นนั้นพระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งเราเป็นแน่”


ดังนั้นเราจึงสันนิษฐานได้ว่า ตามรายงานของอิหม่ามบุคอรีย์ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นการสอดคล้องกับการวิจัยทางสติปัญญาถึงการมุ่งหน้าของท่านนะบีอิบรอฮีมไปยังสถานที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นผลสรุปได้ว่า พระองค์อัลลอฮฺทรงประสงค์ที่จะให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้วยการดลใจให้ท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม มุ่งหน้าไปพร้อมด้วยบุตรและมารดา เพื่อปล่อยให้สองแม่ลูกอยู่ในความคุ้มกันของพระองค์และขอพรต่อพระองค์ว่า

رَبَّنَا إِنِّي أَسْكَنْتُ مِنْ ذُرِّيَّتِي بِوَادٍ غَيْرِذِيْ زَرْعٍ عِنْدَ بَيْتِكَ المُحَرَّمِ رَبَّنَا لِيُقِيْمُوا الصَّلاَةَ فَاجْعَلْ أَفْئِدَةً مِنَ النَّاسِ تَهْوِيْ إِلَيْهِمْ وَارْزُقْهُمْ مِنَ الثَّمَرَاتِ لَعَلَّهُمْ يَشْكُرُوْن

“พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์ได้นำลูกหลานของข้าพระองค์มาพำนักอยู่ ณ หุบเขาอันปราศจากพืชพรรณ ณ บ้านของพระองค์อัลมุหัรรอม พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์เพื่อให้พวกเขาดำรงการละหมาด ขอพระองค์ทรงให้จิตใจของมหาชนมุ่งสู่พวกเขาเหล่านั้น และทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา หวังว่าพวกเขาจะขอบคุณแด่พระองค์”


ประวัติความเป็นมาของบัยตุลลอฮฺ (บ้านของพระเจ้า) ที่มุสลิมควรรู้
ความอุดมสมบูรณ์ที่ปกคลุมประชากรในอาณาบริเวณนี้ในขณะนี้นั้น มีผลสืบเนื่องมาจากความศิริมงคลของครอบครัวตระกูลนี้ โดยที่พระองค์อัลลอฮฺตะอาลาทรงตอบรับการขอพรของท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ด้วยการประทานธารน้ำซัมซัม (زمزم) มา  ณ สถานที่นั้น เพื่อเป็นการประทังชีพแก่สองแม่ลูกและประชากรในภายหลัง สถานที่ซึ่งมีภูเขาล้อมรอบและแห้งแล้งมาแต่โบราณกาล แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้เป็นเจ้า ทรงบันดาลให้กลับกลายเป็นที่พำนักพักพิงของประชากรหลายชาติหลายภาษา เพราะพระองค์ประสงค์จะให้เป็นบ้านหลังแรก และเป็นศูนย์รวมแห่งการอิบาดะฮฺต่อพระองค์ จึงทรงบัญชาให้ท่านนะบีอิบรอฮีมและอิสมาอีล (ขอความศานติจงมีแด่ท่านทั้งสอง) สร้างบ้านหลังแรกขึ้น เสร็จแล้วท่านทั้งสองก็กล่าววิงวอนขึ้นว่า

رَبَّنَاتَقَبَّلْ مِنَّا إِنَّكَ أَنْتَ السَّمِيعُ العَلِيم

 “พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงรับการงานจากข้าพระองค์ แท้จริงพระองค์องค์เดียวเท่านั้นเป็นผู้ทรงได้ยินเป็นผู้ทรงรอบรู้”


นี่คือพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมและแหล่งปลอดภัยของมนุษยชาติ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านนะบีอิบรอฮีมและครอบครัวของท่านก็กลายเป็นการเตือนให้รำลึกถึงอดีตอันยาวนาน พระองค์อัลลอฮฺตะอาลาก็ทรงยกย่องให้มีการรำลึกและให้เป็นสัญลักษณ์เพื่ออิบาดะฮฺต่อพระองค์ อีกทั้งเป็นการแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์ให้บัญญัติศาสนาปัจจุบัน ณ ที่นี้เราก็จะประจักษ์ถึงเคล็ดลับแห่งการมุ่งหน้าของท่านนะบีอิบรอฮีมพร้อมด้วยบุตรสุดที่รักสู่สถานที่แห่งนี้


นักประวัติศาสตร์ได้เขียนเล่าถึงความเก่าแก่ของบ้านหลังแรกนี้ว่า เป็นบ้านที่มีมาก่อนสมัยท่านนะบีอิบรอฮีม จึงเป็นเหตุให้ท่านเลือกเอาสถานที่แห่งนี้ให้แก่สองแม่ลูก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีนักประวัติศาสตร์บางคนได้วาดลวดลายโดยกล่าวถึงว่า บ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยท่านนะบีอาดัม อะลัยฮิสสลาม ต่อมาท่านและบรรดานะบีหลังจากท่านได้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีฮัจญฺ และได้ถูกยกขึ้นไปยังชั้นฟ้าเมื่อสมัยน้ำท่วมและได้ถูกนำกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นิยายต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าจะพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่าเป็นการขัดแย้งซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นยังหาสาระและความแน่นอนอะไรไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นการขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับอัลกุรอานอีกด้วย

ประวัติความเป็นมาของบัยตุลลอฮฺ (บ้านของพระเจ้า) ที่มุสลิมควรรู้
อัลกุรอานได้บันทึกไว้ว่า อัลลอฮฺตะอาลาได้มีบัญชาให้ท่านนะบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม กวาดล้างบ้านของพระองค์ให้พ้นจากความแปดเปื้อนของการชิริกสิ่งคู่เคียงพระองค์ มิให้นำรูปปั้นและสิ่งอื่น ๆ มาประดิษฐานไว้ในบ้านของพระองค์ แต่จัดให้เป็นสถานที่อิบาดะฮฺแด่พระองค์องค์เดียว สำหรับผู้ฏอว้าฟผู้ทำเอี๊ยะติกาฟ และผู้ทำละหมาด


وَطَهِّر بَيتِيَ لِلطَّائِفِينَ وَالقَائِمِينَ وَالرُّكَّعِ السُّجُود

“และจงทำบ้านของฉันให้สะอาด (จากสิ่งที่เป็นชิริก) สำหรับผู้ฏอว้าฟ ผู้ละหมาด ผู้ทำรุกั๊วะและผู้ทำสุญูด”


นี่แหละท่านนะบีอิบรอฮีมและอิสมาอีล (ขอความศานติจงมีแด่ท่านทั้งสอง) ได้วางศิลา์ของการทำฮัจญฺไว้แล้วในอดีตอันยาวนาน ต่อมาชาวอาหรับยุคแล้วยุคเล่าก็ได้ถือปฏิบัติการทำฮัจญฺมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าวิธีการและการปฏิบัติจะผิดแผกแตกต่างไปบ้างก็ตาม
 

ที่มา : หนังสือการทำฮัจญฺและอุมเราะฮฺตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด ยูนุส สมะดี (ร่อหิมะฮุลลอฮฺ)

อัพเดทล่าสุด