คำว่า นัฟซู ตามจุดมุ่งหมายของท่านอิบนุอะฏออิลและฮ์ใน ณ ที่นี้ หมายถึง อารมณ์ธรรมชาติของสัตว์เดรัจฉานที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในศักยภาพของมนุษย์ซึ่งจะชักนำไปสู่อารมณ์นัฟซูใฝ่ต่ำศัพท์
เทคนิคตามหลักศาสนานี้ ได้เอามาจากคำตรัสของอัลเลาะฮ์ ตะอาลา ความว่า
إِنَّ النَّفْسَ لأَمَّارَةٌ بِالسُّوءِ إِلاَّ مَا رَحِمَ رَبِّيَ إِنَّ رَبِّي غَفُورٌ رَّحِيمٌ
"แท้จริง นัฟซูนั้น จะบัญชาใช้ให้ทำความชั่ว นอกจากผู้ที่พระผู้อภิบาลของฉันทรงเมตตา' (ยูซุฟ: 53)
ลักษณะต่างๆ ของบรรดานัฟซู (อารมณ์ใฝ่ต่ำ) ในอิสลาม
1. ขณะที่ปฏิบัติอาม้าล นัฟซูจะชอบ'มองตนเอง'ว่าตนเองนั้นมีศักยภาพ มีความสามารถในการปฏิบัติอาม้าลนั้น ซึ่งจะทำให้เขามีความ 'หลงตนเอง'
2. นัฟซูจะชอบมองที่'ตัวของการกระทำ' โดยคิดว่าอาม้าลที่เขากระทำนั้นมีความสมบูรณ์ ไม่มีความบกพร่องอะไรเลย ซึ่งจะทำให้เขามีความ 'ลำพองตน'
3. นัฟซูจะชอบมอง 'ผู้คนทั้งหลาย' (ไม่มองไปยังอัลลอฮฺตะอาลา) โดยต้องการให้ผู้คนนั้นยกย่องชมเชย ให้การยอมรับต่อการปฏิบัติอาม้าล ซึ่งจะทำให้เขามีความ 'ริยาอฺ(โอ้อวด) ' และอาจไปถึงขั้นตะกับบุร โดยคิดว่าตนเองนั้นดีกว่าผู้อื่น
ซึ่งวิธีการขจัดอารมณ์ใฝ่ต่ำและการทำให้อิบาดะฮฺมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺตะอาลา นั้น ต้องกลับไปหาพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของอารมณ์ใฝ่ต่ำนั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้เขาหลุดพ้นจากมันไปได้ นอกจาก ต้องรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างสม่ำเสมอ จิตคิดว่าพระองค์ทรงเห็นเราอยู่ตลอดเวลา ด้วยการซิกรุลลอฮฺให้มากๆ แต่การซิกรุลลอฮฺในที่นี้ คือการซิกรุลลอฮ์ในใจ เพราะการซิกิรในใจ จะไม่มีการโอ้อวดที่เป็นเหตุของจิตใฝ่ต่ำแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น การซิกิรในใจ ยังถือว่าเป็นการมุญาฮะดะฮ์ต่อสู้ภายใน ซึ่งเป็นอิบาดะฮ์ที่บริสุทธิ์และเป็นยาบำบัดจิตใจอีกด้วย
ถอดความจากการบรรยาย อ.อารีฟีน แสงวิมาน