ใครกันแน่ ที่จะได้เข้าสวนสวรรค์
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งหนึ่ง ได้แพร่ภาพการเสวนาระหว่างศิลปินนักแสดงที่มาจากต่างศาสนา ต่างความเชื่อถือ และต่างความคิด ภายใต้รายการที่ชื่อว่า “เปิดอกคุยกัน ” นี่เป็นรายการที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องหยุดและพิจารณาชม ด้วยกับคำถามของพิธีกรที่ตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมสนทนาที่ว่า “ ใครกันแน่ ที่จะได้เข้าสวนสวรรค์ ? ” และผู้เข้าร่วมเสวนาบางคนต่างก็ตอบคำถามแบบกว้าง ๆ และบางคนก็ตอบคำถามด้วยความละเอียดรอบคอบ ดังนี้
นักแสดงชาวคริสต์คนหนึ่ง ได้ตอบคำถามนี้ว่า : ใครก็ตามที่มอบความรักให้กับพระเจ้าและมนุษย์ เขาก็สมควรได้เข้าสวรรค์ ถึงแม้ว่า พื้นฐานการศรัทธาของเขาจะแตกต่างกันในเรื่องของการยึดถือพระเจ้า
พิธีกรก็ตั้งคำถามต่อไปว่า : ถึงแม้ว่าบุคคลคนนั้น จะเป็นพวกนอกศาสนาหรือไม่มีศาสนาก็ตาม ?
นักแสดงชาวคริสต์ผู้นั้น ตอบว่า : ใช่ครับ ! ที่ท่านได้ยินนะถูกแล้ว ถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นพวกนอกศาสนา ไม่มีศาสนาหรือไม่นับถืออะไรเลยก็ตาม แล้วเขาก็ยกตัวอย่างมาให้เห็น เช่น มหาตมะ คานธี ผู้นำอินเดีย
พิธีกร จึงถามต่อไปว่า : เมื่อท่านมั่นใจขนาดนี้แล้ว ด้วยเหตุใด ? ศาสนาของท่านจึงทุ่มเทพยายามในการเผยแพร่ของพวกมิชชันนารี ตามสถานพยาบาลต่างๆ และเปิดโรงเรียนในแหล่งที่ความเจริญเข้าไปไม่ถึง เพื่อโน้มน้าวพวกเขาให้เข้ารับแนวทางของท่าน(ศาสนาคริสต์) ในเมื่อพวกท่านมั่นใจว่า ใครก็ตามที่มอบความรักที่แท้จริงให้กับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ เขาจะได้รับสวรรค์เป็นสิ่งตอบแทน ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นมะซีฮีย์ (คริสเตียน) หรือยะฮูดี (ยิว) หรือมุสลิม หรือแม้กระทั่ง จะเป็นพวกที่ไม่มีศาสนาก็ตาม เขาจะได้รับสวรรค์หากเขามีคุณสมบัติดังกล่าว !
นักแสดงชาวคริสต์ผู้นั้น ก็ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ และให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน
ส่วนศิลปิน (ชาวคริสต์) ท่านที่ 2 ได้ตอบคำถาม ด้วยความสุขุมชัดเจนดีเท่าคนแรก ในคำถามเดียวกันที่ว่า “ ใครกันแน่ จะได้เข้าสวรรค์ ? ”
ศิลปิน (ชาวคริสต์) ท่านที่ 2 ตอบว่า : บุคคลใดที่ศรัทธาต่ออัล - มะซีฮฺ (อีซา อะลัยฮิสสลาม) ด้วยใจจริงและบริสุทธิ์ใจ เขาจะได้รับสวนสวรรค์ และผู้ที่ปฏิเสธดังกล่าวก็จะไม่ได้เข้าสวนสวรรค์
ผู้ร่วมเสวนา จึงถามขึ้นมาว่า : ที่ท่านพูดมานั้นมีหลักฐานในคัมภีร์ของท่านบ่งบอกชัดเจนหรือไม่ ?
ศิลปิน (ชาวคริสต์) ท่านที่ 2 ตอบว่า : เงื่อนไขอันนี้เป็นข้อกำหนด(บัญญัติ) หรือกฎที่ทางสำนักโบสถ์ของเราเป็นผู้กำหนดขึ้นมา และสิ่งใดก็ตามที่ทางสำนักโบสถ์กำหนดขึ้นมานั้น สิ่งนั้นถือเป็นข้อปฏิบัติและเป็นความเป็นจริง (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา / การเมืองหรืออะไรก็ตาม)
พิธีกรจึงถามเสริมต่อไปว่า : แต่ว่าสำนักโบสถ์ เมื่อสมัยก่อนมีการแยกแยะระหว่างเรื่องศาสนากับการเมือง โดยมอบพิธีการทางศาสนาเฉพาะวิธีการถ่ายบาปให้กับฝ่ายศาสนา ส่วนทางการเมืองและชีวิตประจำวันมอบให้กับนักปกครอง หรือกษัตริย์เป็นผู้ดูแลปกครอง โดยยึดเอาประมวลกฎที่มีอยู่ในมหาคัมภีร์เป็นหลัก พอผ่านไปสักระยะหนึ่งก็ไปไม่รอด เกิดความเห็นไม่ตรงกัน เนื่องจากชาวคริสต์เตียนไม่พอใจต่อการมีอำนาจในทุก ๆ อย่างของฝ่ายโบสถ์ (ฝ่ายศาสนา) จนนำไปสู่การแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งระบบแบบนี้ถูกเรียกกันในภายหลังว่า อิลมานียะห์ (ลัทธิที่แยกการเมืองออกจากเรื่องราวและกิจการศาสนา)
ศิลปิน(ชาวคริสต์)ท่านที่ 2 ก็ไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนและครบถ้วนมาได้
ส่วนทางด้านผู้เข้าร่วมเสวนาที่เป็นมุสลิมได้กล่าวว่า ในอัลกุรอานได้ระบุว่า อัลมะซีฮฺ (อีซา อะลัยฮิสสลาม) ได้กล่าวกับสานุศิษย์ว่า ใครที่ตั้งภาคีจะไม่ได้เข้าสวรรค์ ดังในซูเราะห์ อัลมาอิดะห์ 72 ที่ว่า
“และอัล-มะซีหฺได้กล่าวว่า วงศ์วานอิสรออีลเอ๋ย จงเคารพอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าของฉัน และเป็นพระเจ้าของพวกท่านเถิด แท้จริงผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮฺ แน่นอนอัลลอฮฺจะทรงให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามแก่เขา และที่พำนักของเขานั้นคือ นรก และสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้นย่อมไม่มีผู้ช่วยเหลือใด ๆ”
ด้วยความมีมารยาทของผู้ร่วมสนทนาที่เป็นมุสลิมจึงมิได้เอ่ยอายะฮฺในตอนต้นครบทั้งหมด และด้วยความเกรงใจและให้เกียรติ ว่าจะเป็นการกล่าวหาพวกเขา(คริสเตียน) ว่าเป็นกุฟรฺ เพราะว่าความในตอนต้นอายะฮฺนี้มีอยู่ว่า
“แท้จริง บรรดาผู้ที่กล่าวว่า อัลลอฮฺ คือ อัล-มะซีหฺบุตรของมัรยัมนั้น ได้ตกเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว และอัล-มะซีฮฺได้กล่าวว่า วงศ์วานอิสรออีลเอ๋ย จงเคารพอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ผู้เป็นพระเจ้าของฉัน และเป็นพระเจ้าของพวกท่านเถิด แท้จริงผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮฺ แน่นอน อัลลอฮฺจะทรงให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามแก่เขา และที่พำนักของเขานั้นคือ นรก และสำหรับบรรดาผู้อธรรมนั้นย่อมไม่มีผู้ช่วยเหลือใด ๆ” ( المائدة : 72 )
ด้วยกับอายะฮฺนี้ทั้งหมด เป็นการพอเพียงแล้วที่จะตอบโต้ชาวคริสต์ ในคำกล่าวอ้างของพวกเขาที่ว่า “จะไม่มีใครได้เข้าสวรรค์ นอกจากบรรดาผู้ที่ศรัทธามั่นว่า อัล มะซีฮฺนั้นเป็นพระเจ้า” อายะฮฺนี้ได้บ่งชัดว่า หลักศรัทธาแบบนี้เป็นกุฟรฺแน่นอน และผู้ใดศรัทธาของเขาเป็นแบบนี้จะไม่ได้เข้าสวรรค์เป็นอันขาด ตราบใดที่อูฐยังเข้ารูเข็มไม่ได้ และแน่นอนที่พำนักอันถาวรของเขาก็คือ ไฟนรกอันร้อนแรง และเมื่อข้าพเจ้ารับชมรายการนี้และฟังอยู่ตลอด จึงจุดประกายให้ข้าพเจ้าจับปากกาขึ้นมาเขียนบทความ ภายใต้หัวข้อที่ว่า “ ใครกันแน่คือผู้คู่ควรกับสวรรค์ ? ”
ท่านผู้ศรัทธาทั้งหลาย เป็นธรรมดาของมนุษย์ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หลักศรัทธาแบบไหน หรือแนวทางของแต่ละคนเป็นอย่างไร ทุกคนต่างก็พากันอ้างว่าพวกเขาเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดกว่าแนวทางใด ๆ หรือศาสนาใด ๆ ที่จะได้เข้าสวรรค์แต่เพียงผู้เดียว และพวกเขาเช่นกันสมควรที่สุด ในการจะได้รางวัลชิ้นนี้(สวรรค์) ส่วนพลพรรคอื่นนอกจากพวกเขาแล้ว ชนเหล่านั้นคือ ชาวนรก แต่ทว่าคำกล่าวอ้างของเขานั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เป็นการทึกทักเอาเอง
ความจริงแล้วอัลกุรอานในซูเราะห์ อัล-บากอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 111-113 ได้บรรยายถึงความเพ้อฝันและข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสความว่า
“ และพวกเขากล่าวว่า จะไม่มีใครเข้าสวรรค์เลย นอกจากผู้ที่เป็นยิวหรือเป็นคริสเตียนเท่านั้น นั่นคือความเพ้อฝันของพวกเขา จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า พวกท่านจงนำหลักฐานของพวกท่านมา ถ้าพวกท่านเป็นผู้พูดจริง หาใช่เช่นนั้นไม่ผู้ใดที่มอบใบหน้าของเขาให้แก่อัลลอฮฺ และขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้กระทำความดีแล้วไซร้ เขาจะได้รับรางวัลของเขา ณ ที่พระเจ้าของเขา และไม่มีความกลัวใด ๆ แก่พวกเขา และทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ และชาวยิวกล่าวว่า ชาวคริสต์นั้นมิได้ตั้งอยู่บนสิ่งใด ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นอ่านคัมภีร์กันอยู่ ในทำนองเดียวกัน บรรดาผู้ที่ไม่รู้ก็ได้กล่าวเช่นเดียวกับคำกล่าวของพวกเขา ดังนั้นในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺจะทรงตัดสินระหว่างพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน ”
ยะฮูดี (ยิว) เป็นชนชาติที่หลงตนเอง สำคัญตนผิดว่าพวกเขานั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่อัลลอฮฺ ทรงเลือกสรร เป็นที่รักยิ่ง ณ ที่พระองค์ ปฏิเสธการเป็นนบีของอีซาบุตรมัรยัม พยายามปฏิเสธและสร้างกลอุบายต่าง ๆ นา ๆ และพยายามที่จะตามฆ่าและจับตรึงกับไม้กางเขน พวกเขามีมุมมองที่ว่า ชาวคริสต์นั้นมิได้ตั้งอยู่บนความจริงอันใดเลย(ศาสนาที่ถูกต้อง) และทางตรงกันข้าม ในมุมมองของชาวคริสต์ที่มีต่อชาวยิวก็มิได้แตกต่างกันเลย กล่าวคือ พวกยิวก็มิได้ตั้งอยู่บนศาสนาอันถูกต้องเช่นกัน และยังมองต่ออีกว่า ชาวยิวนั้นเป็นศัตรูต่ออัลมะซีฮฺ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุก ๆ ฝ่ายต่างมองว่าตนเองนั้นเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง เช่น ยะฮูดี กล่าวว่า “จะไม่มีใครได้เข้าสวรรค์นอกจากชาวยิวเท่านั้น" คริสต์ก็เช่นกัน กล่าวว่า "ไม่มีใครได้เข้าสวรรค์นอกจากชาวคริสต์เท่านั้น ”
ในอัลกุรอาน อัลลอฮ์ ได้กล่าวถึงความเขลาเบาปัญญาในคำพูดของพวกเขา(ยิวและคริสต์) พระองค์ได้ลบล้างคำกล่าวอ้างของเขา และยังท้าทายพวกเขาให้นำมาเพียงอันเดียว หากพวกเขานำมาได้ในสิ่งที่เขาได้ต่างพากันกล่าวอ้าง
“ นั่นคือความเพ้อฝันของพวกเขา จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านจงนำหลักฐานของพวกท่านมา ถ้าพวกท่านเป็นผู้พูดจริง ” ( البقرة :111)
ดังนั้น สวรรค์มิได้จะได้มาด้วยความฝันลม ๆ แล้ง ๆ หรือคำพูดเพ้อเจ้อ หรือการเชิญชวนแบบไม่ถูกต้อง แต่สวรรค์นั้น ผู้ที่จะได้รับจะต้องมีความเมตตาและความประเสริฐของอัลลอฮฺ ที่มีต่อมุอฺมินผู้ศรัทธาด้วย
“หาใช่เช่นนั้นไม่ ผู้ใดที่มอบใบหน้าของเขาให้แก่อัลลอฮฺ และขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้กระทำความดีแล้วไซร้ เขาจะได้รับรางวัลของเขา ณ ที่พระเจ้าของเขา และไม่มีความกลัวใด ๆ แก่พวกเขา และทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ” (البقرة : 112 )
ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ ได้ทรงใช้ให้บรรดานักเผยแพร่ ให้ชักชวนในทุก ๆ ครั้งที่ทำการเชิญชวนไปสู่แนวทางที่จะได้รับชัยชนะ(สวรรค์) ในซูเราะห์ อัลบากอเราะฮฺ 136 –137 อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
“ พวกเจ้าจงกล่าวเถิด เราได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เรา และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่อิบรอฮีม และอิสมาอีล และอิสฮาก และยะอฺกูบ และบรรดาวงศ์วานเหล่านั้น และสิ่งที่มูซา และอีซาได้รับ และสิ่งที่บรรดานบีได้รับจากพระเจ้าของพวกเขา พวกเรามิได้แบ่งแยกระหว่างท่านหนึ่งท่านใดจากเขาเหล่านั้น และพวกเราจะเป็นผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์เท่านั้น
แล้วหากพวกเขาศรัทธาอย่างที่พวกเจ้าศรัทธาแล้ว แน่นอน
พวกเขาก็ย่อมได้รับข้อแนะนำที่ถูกต้อง และหากพวกเขาผินหลังให้ แน่นอนพวกเขาย่อมอยู่ในความแตกแยกกัน แล้วอัลลอฮฺก็จะทรงให้เจ้าพอเพียงแก่พวกเขา
และพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งการได้ยิน ทรงไว้ซึ่งความรอบรู้ ”
แต่ทางด้านยะฮูดี ซึ่งต่างก็พร้อมใจกันที่จะปฏิเสธการเป็นนบีของท่านร่อซูล และขัดขวางในทุกรูปแบบ แม้นว่าจะมีการบ่งบอกการเป็นนบีมาในคัมภรีร์ของพวกเขา แต่ด้วยความทนงตนว่าพวกเขาเป็นเผ่าพันธุ์ที่ประเสริฐสุด จึงทำการบิดเบือนและเปลี่ยนแปลงเรื่องราวที่ได้ระบุในคัมภีร์ และพยายามที่จะทำให้มุสลิมนั้น หันกลับไปสู่ความเป็นกุฟร
อัลกุรอานมีอายาตมากมายที่ระบุความต้องการอันนี้ ในซูเราะฮฺอัลบากอเราะฮฺ : 109
"อะฮฺลุลกิตาบมากมายนั้นชอบ หากพวกเขาจะสามารถทำให้พวกเจ้ากลับเป็นผู้ปฏิเสธการศรัทธาอีก ทั้งนี้เพราะความอิจฉาริษยาที่มากจากตัวของพวกเขาเอง หลังจากความจริงได้ประจักษ์แก่พวกเขา
ดังนั้น พวกเจ้าจงให้อภัย และเบือนหน้าเสีย จนกว่าอัลลอฮฺจะประทานคำสั่งของพระองค์มา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง"
ซูเราะฮฺ อาลาอิมรอน : 69
“กลุ่มหนึ่งจากผู้ได้รับคัมภีร์นั้นชอบ หากพวกเขาจะทำให้พวกเจ้าหลงผิด และพวกเขาจะไม่ทำให้ใครหลงผิด นอกจากตัวของพวกเขาเองแต่พวกเขาไม่รู้ ”
ในซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะห์ : 59
“ จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า โอ้บรรดาผู้ได้รับคัมภีร์ทั้งหลาย พวกท่านมิได้ตำหนิติเตียน และปฏิเสธพวกเรา (เพราะอื่นใด) นอกจากว่าพวกเราศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เรา และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนแล้วเท่านั้น และแท้จริงส่วนมากของพวกท่านนั้นเป็นผู้ละเมิด"
ท่านพี่น้องที่เคารพ เรื่องของสวรรค์นี้ มิใช่เรื่องแค่การเรียกร้องเชิญชวน หรือมีความฝันกันเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการอีมานที่แท้จริงต่ออัลลอฮฺ ต่อบรรดามะลาอิกะฮฺ ต่อบรรดาคัมภีร์ ต่อวันฟื้นคืนชีพ ต่อกำหนดสภาวะ ( ทั้งดีและชั่ว ) เราจะไม่ศรัทธาแบบแยกแยะในการศรัทธาต่อบรรดาอัมบิยาอฺ เมื่อมนุษย์เรามีอีมานที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบนี้ อัลลอฮฺ ก็จะตอบแทนผู้ทำคุณความดีด้วยกับความดีงาม ส่วนผู้ประกอบกรรมชั่วก็จะได้รับการลงโทษและความต่ำต้อย พระองค์ คือ ผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ผู้ทรงรอบรู้ในทุกสิ่งอย่าง
อัลกุรอานในซูเราะห์ อันนิซาอฺ :123-125 พระองค์ได้ทรงเตือนบรรดามุสลิมว่าอย่าได้มีความหวัง หรือเพ้อฝันในเรื่องของสวรรค์ โดยไม่ปฏิบัติอามัลที่ซอและห์ ดังเช่นบรรดานะศอรอ และยะฮูดี โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า
"มิใช่ความเพ้อฝันของพวกเจ้า และมิใช่ความเพ้อฝันของผู้ที่ได้รับคัมภีร์ ผู้ใดที่กระทำชั่วเขาก็ถูกตอบแทนด้วยความชั่วนั้น และเขาจะไม่พบผู้คุ้มครอง และผู้ใดกระทำในส่วนที่เป็นสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม ในฐานะที่เขาเป็นผู้ศรัทธาแล้วไซร้ ชนเหล่านี้จะได้เข้าสวรรค์ และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรมแม้เท่ารูเล็ก ๆ ที่อยู่บนหลังเมล็ดอินทผลัม"
และผู้ใดเล่า จะมีศาสนาดียิ่งไปกว่าผู้ที่มอบใบหน้าของเขาให้แก่อัลลอฮฺ และขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้กระทำดี และปฏิบัติตามแนวทางของอิบรอฮีม ผู้ใฝ่หาความจริง และอัลลอฮฺ ได้ถือเอาอิบรอฮีมเป็นสหาย ดังนั้น อีมานมิใช่เรื่องของการเพ้อฝัน หรือหวังเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากอามัล เพราะอีมานที่แท้จริง คือ การที่หัวใจน้อมยอมรับ และแสดงออกด้วยการกระทำที่สัตย์จริงเหมือนกับที่หัวใจยอมรับ
ฉะนั้น จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า การงานที่ซอและห์นั้น ย่อมมาจากหัวใจที่มีอีมานที่แท้จริง
จากนิตยสารรายเดือน อัต- เตาฮีด
ที่มา : อัล-อิศลาห์ สมาคม