รางทอง บนกะบะห์ ฉบับไม่งมงาย


47,985 ผู้ชม

มักกะห์ในช่วงเวลาที่ตกแบบนี้ มักมีประชาชนจำนวนมากต่างแย่งกันไปอาบและรองน้ำฝนที่ไหลลงมาจากมีซาบ (หรือที่รู้จันกันว่า “รางทอง” ) ซึ่งพวกเขามีความเชื่อกันอย่างฝังใจว่า...


รางทอง บนกะบะห์ ฉบับไม่งมงาย

รางทอง บนกะบะห์ ฉบับไม่งมงาย

มักกะห์ในช่วงเวลาที่ตกแบบนี้ มักมีประชาชนจำนวนมากต่างแย่งกันไปอาบและรองน้ำฝนที่ไหลลงมาจากมีซาบ (หรือที่รู้จันกันว่า “รางทอง” ) ซึ่งพวกเขามีความเชื่อกันอย่างฝังใจว่า ที่รางทองเป็นสถานที่มุสตะญาบ(ตอบรับดุอา) จากอัลลอฮ์เป็นพิเศษ และผลจากการแย่งกันไปอาบและรองน้ำฝนดังกล่าวนี้จึงทำให้มีการเหยียบกันตายหลายคนในแต่ละปี

ความจริงแล้วมีซาบหรือรางทองนี้ เป็นเพียงรางน้ำที่ถูกสร้างขึ้นมาบนหลังคาทางด้านทิศเหนือของตัวอาคารกะอฺบะฮ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นรางน้ำทองคำสีเหลืองอร่ามยื่นยาวออกไปทางด้านบนเหนือหินโค้งหรือหิจญร์อิสมาอีล มีเป้าหมายในการสร้างเพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำฝนและมูลนกพิราบเวลามีฝนตก หรือระบายน้ำเวลามีการทำความสะอาดหลังคาบัยตุ้ลลอฮ์

ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้ว่า ผู้ที่สร้างมีซาบเป็นครั้งแรกก็คือชาวอาหรับกุเรช โดยพวกเขาได้สร้างมันตอนมีการสร้างหลังคากะอฺบะฮ์ (สมัยก่อนกะอฺบะฮ์ไม่มีหลังคา) ก่อนท่านศาสดาจะถูกแต่งตั้งเป็นรอซู้ล 5 ปี โดยสร้างจากแผ่นไม้กระดาน 

ต่อมาในสมัยของคอลีฟะฮ์อัล-วะลีด บินอับดุลมะลิก (ปีฮ.ศ. 91) เจ้าผู้ครองนครมักกะฮ์ในสมัยนั้น คือกษัตริย์คอลิด บินอับดุลลอฮ์ อัล-เกาะซะรีย์ได้ใช้แผ่นทองคำหุ้มไม้กระดานมีซาบไว้

ในปีฮ.ศ. 1273 สุลฏอนอับดุลมะญีด คาน แห่งวงศ์อุษมานีย์ซึ่งครองอำนาจอยู่ในตุรกี ได้ส่งมีซาบที่เป็นแผ่นทองคำมาวางแทนที่มีซาบเก่าที่เป็นไม้หุ้มทอง

จนถึงปี ฮ.ศ. 1417 กษัตริย์ฟาฮัด บินอับดุลอะซีซแห่งสะอุดีอารเบียก็มีบัญชาให้สร้างมีซาบจากทองคำบริสุทธิ์ และถูกนำมาวางไว้บนหลังคากะอฺบะฮ์จนถึงทุกวันนี้ โดยมีความยาวประมาณ 2 เมตร

สรุปแล้ว มีซาบหรือรางทองจึงไม่เป็นอะไรมากไปกว่ารางน้ำจากทองคำ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อใช้รองน้ำฝนหรือรองน้ำเวลามีการชำระล้างหลังคากะอฺบะฮ์เท่านั้น ไม่มีหลักฐานใดๆเลยที่จะบ่งชี้ว่า มีซาบเป็นตำแหน่งมุสตะญาบดุอาใดๆเป็นพิเศษ ดังความเข้าใจผิดๆของพี่น้องมุสลิมจำนวนมาก

เรื่องอะกีดะฮ์หรือความเชื่อใดๆ จะต้องมีหลักฐานที่มาจากอัล-กุรฺอ่านหรือหะดีษเท่านั้น มิฉะนั้นมันจะเปลี่ยนเป็น “ความงมงาย” ไปทันที ดังเช่นในกรณีของรางทองนี้ เป็นต้น

เขียนโดย Anas Abu Al Haq

อัพเดทล่าสุด